8 หน่วยงาน พม.มอบของขวัญปีใหม่ 2565 ให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ด้าน พอช.ผลิตช่างชุมชนสร้างอาชีพทั่วประเทศ 5,570 คน สร้างรายได้ 375 ล้านบาท

รมว.พม. และผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดร่วมแถลงข่าวมอบของขวัญปี 2565 ให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย

กระทรวง พม. / 8 หน่วยงาน พม.มอบของขวัญปีใหม่ 2565 ให้ประชาชนครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ   รวม 34,362 คน  ตั้งแต่เด็ก   เยาวชน  สตรี  ผู้พิการ  ผู้มีรายได้น้อย    เน้นการสร้างโอกาส  สร้างอาชีพสมัยใหม่ตามนโยบายรัฐบาล  เช่น  ธุรกิจออนไลน์  พัฒนาอาชีพคนพิการในยุคดิจิทัลให้มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ จุติย้ำสร้างโอกาสให้ทุกคนมีอาชีพ  ช่วยกันสร้างประเทศให้มั่งคั่ง  ด้าน พอช.ยกระดับช่างอาสาชุมชนให้เป็นช่างมืออาชีพ  รับซ่อมสร้างบ้าน  สร้างอาชีพทั่วประเทศ 5,570 คน  สร้างรายได้รวม 375 ล้านบาท 

ตามที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  มอบนโยบายให้ทุกกระทรวงจัดหาของขวัญเนื่องในโอกาสปีใหม่ 2565  มอบให้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ  และช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนในช่วงที่ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19  เช่น  กรมธนารักษ์มีมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้เช่าที่ราชพัสดุ  โดยยกเว้นการเรียกเก็บค่าเช่าปี พ.ศ.2565  สำหรับผู้เช่าเพื่อการ เกษตร  กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับเอกชน  ห้างค้าปลีก   ห้างสรรพสินค้า  ร้านสะดวกซื้อ  โรงพยาบาล โรงแรมทั่วประเทศ  ลดราคาและและค่าบริการ   รวม  30,575 แห่ง  สินค้า 25,000 รายการ  ฯลฯ

วันนี้ (22 ธันวาคม) เวลา 9.30 น. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  ได้จัดแถลงข่าวการมอบของขวัญปีใหม่ 2565  ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม.ให้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย  โดยมีนายจุติ  ไกรฤกษ์ รมว.พม.เป็นประธาน  มีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ร่วมแถลง  และถ่ายทอดผ่านระบบซูมไปยังสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) 76 จังหวัด  และหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ  รวม  300 หน่วยงาน

พม.สร้างอาชีพสมัยใหม่ให้กลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ 34,362  คน

นางพัชรี  อาระยะกุล  ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า  ของขวัญปีใหม่ 2565 นี้  กระทรวง พม. จะเน้นการสร้างโอกาส  สร้างงาน  สร้างอาชีพสมัยใหม่ตามนโยบายรัฐบาลให้แก่กลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ  รวมทั้งหมด  34,362  คน   เช่น  กรมกิจการเด็กและเยาวชน  จัดอบรม เส้นทางสานฝัน  สู่นักธุรกิจรุ่นเยาว์ให้ความรู้ทางด้านการวิเคราะห์ตลาด  เพื่อการพัฒนาแผนธุรกิจและผลิตภัณฑ์ตามที่ตนเองสนใจแก่เด็กและเยาวชน  จำนวน 200 คน/ปีรวมทั้งสิ้น 5 ปี  จำนวน  1,000 คน

นางพัชรี  อาระยะกุล  ปลัดกระทรวง พม.

ร่วมกับบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์  ให้ทุนเรียนฟรีแก่กลุ่มเด็กและเยาวชนที่อยู่ในความดูแลของกรมกิจการเด็กและเยาวชนตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)   ประเภทวิชาพาณิชย กรรม  สาขาวิชาธุรกิจค้าปลีก  สาขางานธุรกิจ  และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)  ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์และศูนย์การเรียนปัญญาภิวัฒน์ 20 แห่งทั่วประเทศ

ส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพ  สร้างรายได้ให้กับแม่วัยรุ่นและครอบครัวจากกลุ่มเป้าหมาย  แม่วัยรุ่น (อายุไม่เกิน 20 ปี) ที่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562-2565 จำนวน  14,100 คน   เช่น  การส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพร่วมกับ AIS จำนวน 1,000 คน   ฝึกอบรมอาชีพที่สนใจทางออนไลน์   การอบรมฝึกทักษะอาชีพตามบริบทท้องถิ่น  จำนวน 4,560  คน 76  จังหวัด ๆ  ละ 60 คน   

ช่างตัดผม/ ผู้เชี่ยวชาญด้านทรงผม  อบรมให้ความรู้และทักษะอาชีพช่างผมแก่ช่างผมในร้านขนาดเล็ก  และประชาชนที่สนใจ  จำนวน 2,000 คน   อบรมให้ความรู้และทักษะในการซ่อมกระเป๋า  การทำสปากระเป๋าให้แก่แม่เลี้ยงเดี่ยว พ่อเลี้ยงเดี่ยว  ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบถูกเลิกจ้าง  ว่างงาน  จากสถานการณ์โควิด 19 จำนวน 200 คน  ฯลฯ

พัฒนาอาชีพคนพิการในยุคดิจิทัล  โดยพัฒนาหลักสูตรเพื่ออบรมคนพิการที่มีศักยภาพ  ให้มีความรู้ในการใช้ คอมพิวเตอร์  สามารถทำเป็นอาชีพ และทำงานที่บ้านได้  โดยร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ  และบริษัทวัลแคน  โคอะลิชั่น จำกัด  จำนวน 4 หลักสูตร  เป้าหมายจำนวน 2,500 คน   ฯลฯ

นายจุติ  ไกรฤกษ์  รมว.พม.

นายจุติ  ไกรฤกษ์  รมว.พม. กล่าวว่า  วันนี้จะพลิกโฉมประเทศไทยตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี  คือให้คิดนอกกรอบ  ทำนอกกรอบ  ทำอย่างไรก็ตามเพื่อให้ประชาชนมีความสุข  โดยการเลิกพึ่งพา  ไปสู่ความพอเพียง  โดยการสร้างโอกาส  สร้างอาชีพ  ทำให้ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์   และมีความภูมิใจ  ทำให้ทุกคนมีอาชีพเป็นของตัวเอง  เป็นอาชีพที่สุจริต  และช่วยกันสร้างประเทศให้มีความมั่งคั่ง  มั่นคง  และยั่งยืน

พอช.สร้างอาชีพช่างชุมชนทั่วประเทศ 5,570 คน

นายปฏิภาณ  จุมผา  รักษาการผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.  กล่าวว่า  กระทรวง พม.มอบนโยบายให้ พอช.แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้ประชาชนกลุ่มเปราะบาง  คนชายขอบ  ชุมชนแออัด  ชุมชนบุกรุก  คนไร้บ้าน  ทั่วประเทศประมาณ  1 ล้าน  5 หมื่นครัวเรือน  โดย พอช.ได้ดำเนินการตามโครงการบ้านมั่นคง  โครงการคลองลาดพร้าว  พื้นที่ชายแดนภาคใต้  ฯลฯ  โดยแก้ไขปัญหาไปแล้วประมาณ  240,000 ครัวเรือน  ส่วนในปี 2564 ได้รับมอบหมาย 23,000 ครัวเรือน  แต่ทำได้จริงประมาณ  29,000 ครัวเรือน

“กุญแจแห่งความสำเร็จก็คือช่างอาสาชุมชน  เป็นช่างที่ทำงานด้วยจิตอาสา  เดิมช่างชุมชนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเอง   อยากจะมีบ้านที่มั่นคง  มีชุมชนที่ช่วยเหลือเอื้ออาทรกัน  เมื่อพวกเขามีบ้านแล้ว  พวกเขาจึงอาสามาช่วยกันสร้างบ้านให้คนอื่น  ขณะเดียวกันรัฐมนตรีกระทรวง พม.  ได้ปรารภว่าอยากจะยกระดับช่างอาสาเหล่านี้ให้เป็นช่างอาชีพ  พอช.จึงนำเรื่องนี้มาขับเคลื่อนนำร่องในปี 2565  เพื่อเป็นของขวัญ  ยกระดับช่างชุมชนทั่วประเทศ  จำนวน 5,570 คนให้เป็นช่างอาชีพ  มีรายได้วันละ  250 -350-450 บาท”  นายปฏิภาณกล่าว

นายปฏิภาณ  จุมผา  รักษาการ ผอ.พอช.

ทั้งนี้พอช. ได้จัดเตรียมของขวัญด้านที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อยในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ  เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้  และพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนหลังโควิด-19  โดยมีเป้าหมายพัฒนาฝีมือและยกระดับช่างอาสาในชุมชน  รวมทั้งประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด  ต้องตกงาน  หรือกลับคืนถิ่นให้เป็น ช่างอาชีพ ในพื้นที่โครงการ บ้านมั่นคง และ บ้านพอเพียงชนบท ที่ พอช. สนับสนุนทั่วประเทศในปี 2565  รวม 28,450 ครัวเรือน

โครงการบ้านมั่นคงและบ้านพอเพียงชนบทเป็นโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในชุมชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ  ทั้งในเมืองและชนบท  เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2546  ปัจจุบัน พอช. ดำเนินการไปแล้วทั่วประเทศกว่า 240,000 ครัวเรือน โดย พอช.สนับสนุนสินเชื่อและงบประมาณบางส่วน  รวมทั้งส่งสถาปนิกและวิศวกรชุมชนเข้าไปเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบและก่อสร้าง  ขณะที่ชุมชนผู้เดือดร้อนจะต้องรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา  เช่น  จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ  มี ช่างชุมชนซึ่งเป็นช่างก่อสร้างอาสามาช่วยก่อสร้างบ้าน

ช่างชุมชนสร้างบ้านมั่นคง 3,750 หลัง  สร้างรายได้ 375  ล้านบาท

ในปี 2565 พอช. มีเป้าหมายในการพัฒนาและยกระดับช่างอาสาในชุมชนทั่วประเทศ  รวม 5,570 คน  แบ่งเป็น 1.Re skill, Up Skill  ครูช่าง จำนวน 386 คน  2.Training ช่างปฏิบัติ  จำนวน 2,339 คน  และเปิดรับสมัครช่างฝึกหัด  จำนวน 2,845 คน   โดย พอช.จะดำเนินการผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีต่างๆ

เช่น   กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน  มหาวิทยาลัยนเรศวร  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร, นครสวรรค์, นครราชสีมา  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย  เพื่อวางแผนงานสร้างงาน  สร้างอาชีพ  สร้างรายได้  โดยหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้จะออกแบบและพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน  ทั้งในรูปแบบ online  และ onsite  เพื่อพัฒนาและยกระดับช่างอาสาให้เป็นช่างอาชีพที่มีมาตรฐาน  โดยจะพัฒนาศักยภาพและปฏิบัติการจริงในพื้นที่  และเปิดช่องทางให้บริการรับงานก่อสร้างบนแพลตฟอร์ม https://www.ตลาดนัดองค์กรชุมชน.com

ทั้งนี้ทีมช่างชุมชนจะมีรายได้จากการคำนวณเบื้องต้นดังนี้   1.ครูช่าง  จะมีรายได้ 450 บาท/วัน   2.ช่างปฏิบัติจะมีรายได้ 350 บาท/วัน   และ  3.ช่างฝึกหัด จะมีรายได้ 250 บาท/วัน

ช่างชุมชนจิตอาสาที่ช่วยสร้างบ้านให้ผู้มีรายได้น้อย   โดย พอช.จะยกระดับให้เป็นช่างมืออาชีพ

กรณีก่อสร้างบ้านมั่นคง 1 หลัง  มีค่าก่อสร้าง (ค่าวัสดุ+ค่าแรง) ต่อหลังประมาณ300,000 บาท  แบ่งเป็น  ค่าวัสดุเฉลี่ย  200,000 บาท   ค่าแรงเฉลี่ย 100,000 บาท  มีช่างในชุมชนมาช่วยสร้าง 10 คน (ผสมช่าง 3 ระดับ) ใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน  ซึ่งตามแผนงานของ พอช. ในปี 2565  มีเป้าหมายสนับสนุนการสร้างบ้านมั่นคงทั่วประเทศจำนวน 3,750 หลัง  จะทำให้ทีมช่างชุมชนทั่วประเทศมีรายได้รวมกันประมาณ  375  ล้านบาท

นอกจากนี้ พอช. ยังสนับสนุนโครงการบ้านพอเพียงชนบท  ซึ่งเป็นโครงการซ่อมสร้างบ้านให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ   โดยในปี 2565 พอช. มีเป้าหมายรวม  24,700 หลัง  จะช่วยให้ช่างชุมชนมีรายได้อีกเช่นกัน  รวมทั้งยังสามารถรับงานจากภายนอกได้  เช่น  รับซ่อมแซมบ้าน  ซ่อมหลังคา  ประปา  ไฟฟ้า  ผ่านแพลทฟอร์มตลาดนัดองค์กรชุมชนออนไลน์  จึงขอเชิญผู้ที่สนใจจะใช้บริการติดตามข้อมูลและรายละเอียดได้ที่แพลทฟอร์มดังกล่าว

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วราวุธ' ชี้ปมน้องไนซ์เชื่อมจิต ส่งทีมประเมินสภาพจิตใจ ยึดพรบ.คุ้มครองเด็ก

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์กรณีความคืบหน้า กระทรวง พม. กับ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ. ) ดำเนินการตรวจสอบเรื่องน้องไนซ์เชื่อมจิ

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

เช็กเงื่อนไข 'ครอบครัวอุปถัมภ์' ผู้สูงอายุ รับเดือนละ 3 พัน

'รองโฆษกรัฐบาล' เผยเงื่อนไขคุณสมบัติ 'ครอบครัวอุปถัมภ์' ผู้สูงอายุ มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 3 พันบาท เริ่มยื่นเรื่องได้ตั้งแต่เดือน พ.ค.

'กลุ่มผู้สูงวัย' จี้ 'วราวุธ' เพิ่มเบี้ยคนชรา 1,000 บาทถ้วนหน้าในปีนี้ จ่อบุกทำเนียบฯหลังสงกรานต์

กลุ่มเครือข่ายผู้สูงอายุประมาณ 35 คน นำโดย น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ได้เดินทางไปยังกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตั้งแต่เวลา 10.00 น. โดยได้มีการชูป้ายเรียกร้องให้รัฐเห็นความสำคัญของการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ

'ผู้สูงวัย' นัดรวมตัวบุก พม. ทวงถามเบี้ยคนชรา 1,000 บาทถ้วนหน้า

ศูนย์ประสานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ได้ทำหนังสือถึงนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ เพื่อทวงถามถึงมติเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า 1,000 บาท/คน/เดือน ที่ประกาศไปเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2567