"15 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” การจัดประชุมในระดับชาติครั้งที่ 15 เสียงสะท้อนจากชุมชนท้องถิ่นสู่การแก้ปัญหาเชิงนโยบาย (2)

การประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติ  ประจำปี 2566 ครั้งที่ 15  ระหว่างวันที่ 20-21 ธันวาคมนี้

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 15 ปี  มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล  เทศบาล  และเขต (ใน กทม.) ขึ้นมาทั่วประเทศ  รวม7,795 แห่ง  มีสมาชิกที่เป็นองค์กรชุมชนทั้งสิ้น 157,623 องค์กร !!

สภาองค์กรชุมชนตำบลต่างๆ เหล่านี้  มีบทบาทและภารกิจแตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่และสภาพปัญหา  นับตั้งแต่การดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  ป่าไม้  แหล่งน้ำ  แหล่งอาหาร  การส่งเสริมอาชีพ  ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ  วัฒนธรรม  การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน  ที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค  ฯลฯ เป็นภารกิจที่ครอบจักรวาล ด้วยการทำงานเชื่อมประสานกับหน่วยงานภาคีในท้องถิ่น ทั้งหน่วยงานรัฐ  อปท. หรือสิ่งใดที่สภาองค์กรชุมชนตำบลสามารถทำเองได้ก็สามารถทำได้ทันที  ไม่ต้องรอให้หน่วยงานใดสั่งการลงมา...ถือเป็นรากฐานการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่ประชาชนมีส่วนร่วม...เป็นเจ้าของ...เป็นประชาธิปไตยที่กินได้อย่างแท้จริง !!

ดังเหตุผลส่วนหนึ่งในการประกาศใช้ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 ที่ระบุว่า... “เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ การสร้างระบอบประชาธิปไตย และระบบธรรมาภิบาลซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติรับรองสิทธิชุมชนและประชาชนให้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นตามความหลากหลายของวิถีชีวิต วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่น จึงเห็นสมควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กรุงเทพฯ เมื่อหลายปีที่ผ่านมา

จากชุมชนท้องถิ่นสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย

นอกจากภารกิจหน้าที่ของสภาองค์กรชุมชนตำบลที่แตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่และสภาพปัญหาของแต่ละท้องถิ่นแล้ว  สภาองค์กรชุมชนยังมีภารกิจที่สำคัญตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 อีกหลายประการ (ดูรายละเอียด พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนที่ http://web .krisdika.go.th/data /law/law2/% CA77/%CA77-20-2551-a0001.htm)

เช่น  มาตรา 24  ให้มีการประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตำบลอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง   เพื่อเสนอแนวทางการพัฒนาจังหวัดต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อไปประกอบการพิจารณาในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด  เสนอแนะต่อผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวกับปัญหาและแนวทางแก้ไข หรือความต้องการของประชาชนในเรื่องการจัดทำบริการสาธารณะและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม  ฯลฯ

สุวัฒน์  คงแป้น  นายกสมาคมสภาองค์กรชุมชนพัทลุง   ในฐานะผู้มีส่วนในการผลักดัน พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมขน พ.ศ.2551 และส่งเสริมกิจการสภาองค์กรชุมชนตำบลมาอย่างต่อเนื่อง  บอกว่า  การประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตำบลตามมาตรา 24 นั้น  เป็นการยกระดับการทำงานของสภาฯ ในระดับท้องถิ่น  ท้องที่ของตนเอง  มาสู่ระดับจังหวัด  ทำให้สภาองค์กรชุมชนตำบลในจังหวัดต่างๆ สามารถใช้ช่องทางนี้เสนอแนวทางพัฒนาจังหวัดต่อผู้วาฯ และนายก อบจ. ได้  รวมทั้งเสนอแผนงานการพัฒนาที่ตรงต่อความต้องการของประชาชนในด้านต่างๆ ได้  ไม่ใช่รอแต่โครงการที่ทางจังหวัดจัดทำลงมา

“ที่สำคัญก็คือ  ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้  ยังกำหนดให้มีการประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับชาติปีละครั้ง  ทำให้ชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ  สามารถนำปัญหาต่างๆ ที่ชุมชนประสบ  หรืออาจจะได้รับผลกระทบ  รวมทั้งข้อเสนอต่างๆ  เกี่ยวกับปัญหาเรื่องปากท้อง  คุณภาพชีวิต  ความเป็นอยู่ของประชาชนมานำเสนอในที่ประชุมระดับชาติได้  เพื่อรวบรวมข้อมูลนำเสนอรัฐบาลต่อไป”  สุวัฒน์บอก

ทั้งนี้ตามมาตรา 30 กำหนดว่า   “ในปีหนึ่งให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จัดให้มีการประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลอย่างน้อยหนึ่งครั้ง”

มาตรา 32 ให้ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้  (1) กำหนดมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งและการพัฒนาสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบลให้เกิดความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้เพื่อเสนอให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ

(2)ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและกฎหมาย รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลต่อพื้นที่มากกว่าหนึ่งจังหวัดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม

(3) สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลในปี 2565 ที่ผ่านมา (ครั้งที่ 14) ที่ พอช.

การประชุมระดับชาติสภาองค์กรชุมชนครั้งที่ 15

นับตั้งแต่ปี 2551 หลังจากที่ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 ได้ประกาศใช้  เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนทั่วประเทศ  ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  และกระทรวงหารพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะที่ได้รับมอบหมายตาม พ.ร.บ.ให้มีภารกิจในการส่งเสริมกิจการของสภาองค์กรชุมชน  ได้จัดให้มี ‘การประชุมในระดับชาติสภาองค์กรชุมชน’ มาแล้ว 14 ครั้ง  โดยปี 2566 จะเป็นการจัดประชุมครั้งที่ 15            

นายประยูร  จงไกรจักร   ประธานที่ประชุมในระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล  กล่าวว่า  การประชุมในระดับชาติปีนี้  จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 ธันวาคมนี้  โดยจะมีผู้แทนระดับจังหวัดสภาองค์กรชุมชนตำบล  และผู้ทรงคุณวุฒิระดับจังหวัดจากสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ  เข้าร่วมประชุมประมาณ 200 คน   โดยวันแรก 20 ธันวาคม  จะจัดที่ห้องประชุมสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ และวันที่ 21 ธันวาคม  จัดที่รัฐสภา  ห้องประชุมสัมมนาอาคารสัปปายะสภาสถาน ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ

โดยมีคำขวัญในการจัดประชุมครั้งนี้ว่า สภาองค์กรชุมชน เสริมอำนาจชุมชน ประสานความร่วมมือ สร้างโอกาส  ปกป้องสิทธิชุมชน เชื่อมโยงองค์กรชุมชนเพื่อขับเคลื่อนสังคม สู่องค์กรหลักในการกำหนดแผนพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต”

สาระสำคัญของการจัดประชุมในระดับชาติฯ ครั้งนี้  คือ  การนำข้อเสนอของสภาองค์กรชุมชนตำบลจากทั้ง 5 ภูมิภาคที่ได้มาจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากสภาองค์กรชุมชนตำบลทั้ง 7,795 แห่ง (มีสมาชิกที่เป็นองค์กรชุมชนทั้งสิ้น 157,623 องค์กร) โดยผ่านกระบวนการพิจารณา กลั่นกรอง และประมวลเป็นข้อเสนอร่วมกันจนสรุปเป็นข้อเสนอได้ทั้งหมด  3 ส่วน  คือ 1. ข้อเสนอจากสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศต่อสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  2. ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเสนอแก้ไขเร่งด่วน   และข้อเสนอเชิงนโยบายจากแต่ละภูมิภาค  และ 3.สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ประสบและข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ (ต่อไป)

ข้อเสนอจากสภาองค์กรชุมชนตำบลถึง พอช.

ทั้งนี้ตาม มาตรา 32 (1) กำหนดมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งและพัฒนาสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบลให้เกิดความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้เพื่อเสนอให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ สรุปข้อเสนอได้ดังนี้

เพื่อให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.  สนับสนุนงานเพื่อพัฒนาสภาองค์กรชุมชนเข้มแข็ง ตามมาตรา 34 และมาตรา 35 มีการประเมินผลการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนทุกมิติ   สนับสนุนกิจกรรมเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งของสภาองค์กรชุมชน จัดตั้งคณะทำงานสนับสนุนสภาองค์กรชุมชนระดับกลุ่มจังหวัด สนับสนุนการพัฒนาจังหวัดบูรณาการให้ครบทุกจังหวัดในระยะเวลา 5 ปี พัฒนาสภาองค์กรชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งเพื่อให้สภาองค์ชุมชนเป็นกลไกเชิงสถาบัน    พอชมีบทบาทในการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาทางพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย   ‘โครงการบ้านพอเพียงชนบท’ ที่สนับสนุนโดย พอช. โดยเสนอขอให้เพิ่มค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซม เพิ่มค่าแรงช่างในการซ่อมแซมไม่น้อยกว่าร้อยละ 30

ข้อเสนอให้มีนโยบายสนับสนุน ‘กองทุนภัยพิบัติของภาคประชาชน’  ส่งเสริมให้มีกองทุนภัยพิบัติภาคประชาชนระดับจังหวัด โดยให้ขบวนองค์กรชุมชนบริหารจัดการร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง

โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยบ้านพอเพียงชนบท  จังหวัดเชียงราย  ดำเนินการโดยสภาองค์กรชุมชนตำบล 50 ตำบล  รวม 413 หลัง

11 ข้อเสนอจากสภาองค์กรชุมชนตำบลถึงรัฐ

 ข้อเสนอจากสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศตาม มาตรา 32 (2) ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและกฎหมาย รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลต่อพื้นที่มากกว่าหนึ่งจังหวัดทั้งด้านเศรษกิจ สังคม คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

เพื่อนำเสนอให้รัฐบาลและฝ่ายบริหารได้นำไปพิจารณาดำเนินการในการกำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐ และมีกลไกหรือโครงสร้างที่มีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและสภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นกลไกในการติดตามและผลักดันให้เกิดผลในการแก้ไขดำเนินการ สรุปข้อเสนอได้ดังนี้

1.การพัฒนา Soft Power ชุมชน  เสนอให้รัฐบาลสนับสนุนสภาองค์กรชุมชนตำบลที่มีการขับเคลื่อน Soft power ให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถสร้างรายได้ให้คนในชุมชนได้มากขึ้น อย่างน้อย 100,000 ชุมชน    เช่น  เรื่องการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน  การฟื้นฟูศิลปะ  วัฒนธรรม   ภูมิปัญญา     เป็นต้น  และให้มีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาตามนโยบาย Soft Power โดยวางเป้าหมายการพัฒนาระยะเวลา 3 ปี 

การจัดการท่องเที่ยวชุมชนโดยสภาองค์กรชุมชนตำบลตะกุกเหนือ-ใต้  อ.วิภาวดี  จ.สุราษฎร์ธานี

2.การกระจายอำนาจเพื่อเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง   โดยเสนอให้สภาองค์กรชุมชนเข้าไปเป็นองค์ประกอบหนึ่งในคณะกรรมการระดับนโยบายในการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจ   ขอให้มีการเตรียมความพร้อมประชาชนเพื่อรองรับการกระจายอำนาจ   ให้ผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ที่มีความพร้อม  เป็นต้น

3.ข้อเสนอด้านกฎหมายระเบียบการเงินการคลัง   เสนอให้จัดตั้งคณะทำงานศึกษาระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงแก้ไขระเบียบว่าด้วยการเงินการคลังให้สามารถสนับสนุนงบประมาณแก่สภาองค์กรชุมชน   องค์กรชุมชน  และภาคประชาสังคมได้    ให้มีคณะทำงานติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

4.รัฐธรรมนูญฉบับสภาองค์กรชุมชน  เสนอให้มีคณะทำงานเพื่อจัดกรอบในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับสภาองค์กรชุมชนขอให้รัฐสนับสนุนการจัดกระบวนการรับฟังความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับสภาองค์กรชุมชน  ทั้งในระดับอำเภอและจังหวัด  และการปรับปรุงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่ได้

5.การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ  เพื่อให้เกิดพลังภาคประชาชนที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างยั่งยืนส่งเสริมสนับสนุนแผนและงบประมาณต่อการสร้างสังคมสุจริตอย่างต่อเนื่องให้ครอบคลุมทุกพื้นที่  มีข้อเสนอต่อรัฐสภาและคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อขอให้สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารสาธารณะ  เสนอให้รัฐบาลและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์   มีกลไกกลาง  มีบทบาทเชื่อมโยงบูรณาการหน่วยงานภาครัฐทั้งเชิงนโยบายและการปฏิบัติการพื้นที่ขอให้หน่วยงานในจังหวัดเอื้ออำนวยสนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างสังคมสุจริตและต่อต้านการทุจริต  ผลักดันแผนงานสร้างสังคมสุจริตสู่แผนพัฒนาจังหวัด  หรือแผนของ อบจ.  และเสนอต่อสถาบันพระปกเกล้าเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้นำขบวนองค์กรชุมชนภาคประชาสังคมที่ทำหน้าที่เป็น ก.บ.จ.ก.บ.ก.ให้มีความรู้และทักษะด้านการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด

6.ด้านที่ดินที่อยู่อาศัย  เสนอให้เร่งปรับปรุงกฎหมาย  พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562  พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562  และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  และแนวทางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้สอดคล้องกับแนวทางส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน   เสนอให้ชุมชนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตในที่อยู่อาศัยในที่ดินที่ทับซ้อนกับรัฐได้  และขอให้เร่งปรับปรุงระเบียบเกี่ยวกับระบบการจัดการที่ดินในป่าอนุรักษ์  เอื้อให้ชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่นสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้   เร่งถ่ายโอนภารกิจการจัดการไฟป่าให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการ   สั่งการให้ทุกหน่วยงานหยุดการไล่รื้อที่อยู่อาศัยของประชาชนเพื่อดำเนินการโครงการขนาดใหญ่

7.การปกป้องและการจัดการทรัพยากรเพื่อความมั่นคงทางอาหาร เพื่อให้เกิดกองทุนและแผนงานด้านเกษตรปลอดภัยขอให้รัฐออกกฎหมายห้ามจำหน่ายและห้ามนำเข้าสารพิษเกี่ยวกับการเกษตร  ออกกฎหมายกำหนดให้มีแนวกันชนเพื่อป้องกันพื้นที่เกษตรอินทรีย์  สนับสนุนงบประมาณเป็นกองทุนกลางในการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์  สร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์พัฒนาระบบข้อมูลเกษตรอินทรีย์  และขอให้มีคณะกรรมการออกแบบและติดตามอาหารปลอดภัยในระดับตำบล

8.ด้านสวัสดิการชุมชน  การเสริมสร้างสวัสดิการสังคมและรัฐสวัสดิการ  หรือสวัสดิการถ้วนหน้า เสนอให้กำหนดนโยบายและการจัดสรรงบประมาณการพัฒนาสวัสดิการถ้วนหน้าในทุกด้านอย่างน้อย 8 ด้าน   มีการพัฒนาสวัสดิการถ้วนหน้ารองรับสังคมสูงวัยและหญิงตั้งครรภ์   สนับสนุนโครงการเพื่อสร้างระบบสวัสดิการระดับชุมชน พัฒนาปรับปรุงระบบสวัสดิการเดิมให้เกิดประสิทธิภาพเข้าถึงกลุ่มเปราะบาง  ปรับปรุงระบบการกระจายรายได้  กระจายโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรด้วยการปฏิรูปโครงสร้างภาษี  โดยเฉพาะภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ภาษีมรดก ภาษีหุ้น เป็นต้น

9.ด้าน BCG Model กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิทธิชุมชน  โดยเสนอให้กำหนดนโยบายส่งเสริมและพัฒนาระบบกองทุนไม้เศรษฐกิจในพื้นที่เกษตร  การอนุรักษ์พันธุกรรมพื้นบ้านควบคู่กับการสร้างพื้นที่สีเขียวในพื้นที่เกษตร สนับสนุนการพัฒนาระบบแหล่งน้ำขนาดเล็ก  สนับสนุนบทบาทเยาวชนในท้องถิ่นในการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG 11สร้างพื้นที่รูปธรรมตัวอย่างเศรษฐกิจ BCG  1 อำเภอ 1 ตำบล

10.การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน  เสนอให้มีคณะทำงานศึกษาผลกระทบจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติน้ำ พ.ศ. 2561 การทบทวนโครงสร้างการทำงานด้านการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และเครือข่ายลุ่มน้ำ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการแบบบูรณาการ  โดยเสนอให้มีการกระจายอำนาจการบริหารจัดการน้ำให้ชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเท่าเทียม

สภาองค์กรชุมชนตำบลสรอย  อ.วังชิ้น  จ.แพร่   ช่วยกันสร้างฝายชะลอน้ำ  ป้องกันน้ำท่วม  และกักเก็บน้ำในฤดูแล้ง  เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น  ไม่ต้องใช้งบประมาณมาก

ข้อเสนอเชิงนโยบายจาก 5 ภูมิภาค

11.1 ภาคกรุงเทพฯปริมณฑลและตะวันออก มีข้อเสนอด้านการจัดการภัยพิบัติ  การรับมือโรคอุบัติใหม่ การพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองและชนบท

11.2 ภาคกลางและตะวันตก มีข้อเสนอด้านการจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืน การแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อนระหว่างรัฐกับราษฎร  และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม การสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจฐานรากและส่งเสริมสวัสดิการชุมชน 

 11.3 ภาคเหนือ  มีข้อเสนอแผนการบริหารจัดการพื้นที่กับการใช้ประโยชน์ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ปา ผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของรัฐในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย

 11.4  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีข้อเสนอด้านการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ (โขง ชี มูล) การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบเพื่อรับมือกับปัญหาอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

11.5 ภาคใต้  มีข้อเสนอด้านการทำการประมงอย่างยั่งยืน เสนอให้มีการศึกษาสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ขอให้ชะลอกระบวนการดำเนินงานโครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง  และศึกษาใหม่ในระดับยุทธศาสตร์ การสัมปทานเหมืองแร่และแผนแม่บทแร่

ข้อเสนอตามมาตรา 32 (3)

ข้อกำหนดในการประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับชาติ  ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 มาตรา 32 (3) ได้ระบุให้ที่ประชุมดำเนินการ... “สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ประสบและข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไข เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ”    

ทั้งนี้คณะกรรมการดำเนินการจัดประชุมสภาองค์กรชุมชนในระดับชาติครั้งที่ 15 ได้สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ประสบและข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไข เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ  ดังนี้    

1.การพัฒนาเชิงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC และการแก้ไขปัญหาช้างป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก  โดยเสนอให้ยกเลิกผังเมือง EEC  และกลับไปใช้ผังเมืองรวมและผังเมืองย่อยจังหวัดของแต่ละจังหวัด ส่วนปัญหาด้านช้างป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ  เสนอให้มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปร่วมเป็นหนึ่งในกลไกการแก้ไขปัญหาช้างป่าพื้นที่ป่ารอยต่อ และให้ทบทวน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

2.การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอให้กำหนดกระบวนการสันติภาพ มีกฎหมายรับรองและเป็นวาระแห่งชาติ

3.ปัญหาประชาชนยังไม่ได้รับเงินเวนคืนส่วนที่เหลือจากโครงการขยายทางหลวงชนบทสายเชื่อมระหว่างทางหลวงสายมุกดาหาร 3019 กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212  จากหน่วยงานรัฐในจังหวัดมุกดาหาร โดยเสนอให้กระทรวงคมนาคมต้องทบทวนมาตรการชดเชย เยียวยาอย่างเร่งด่วนให้ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการขยายทางหลวงชนบทดังกล่าว…

(ภาพจาก OK Nation)

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเสียงจากประชาชนในนาม ‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จากทั่วประเทศที่รวบรวมเรียบเรียงเป็นเอกสารหนาเกือบ 100 หน้า และจะร่วมกันเติมเต็มในการประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 15   รวมทั้งเตรียมมอบให้แก่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  โดยมีความหวังว่า...

“หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอเหล่านี้ไปดำเนินการ จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เนื่องจากข้อเสนอทั้ง 3 ส่วนจะทำให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและประชาชน  ในการแก้ไขปัญหาและเกิดการพัฒนาที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เพื่อนำสังคมไทยไปสู่สังคมลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มความเป็นธรรม ความเท่าเทียม” 

พี่น้องเครือข่ายริมรางรถไฟย่านราชเทวี  กรุงเทพฯ เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเช่นกัน

(ผู้ที่สนใจรับชมการถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ในวันที่ 20 และ 21 ธันวาคม 2566 นี้  ตั้งแต่เวลา 9.00 น.เป็นต้นไป)                                                    

*******************

(เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พอช. ร่วม 3 พื้นที่รูปธรรมภาคอีสาน ถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2567 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยสำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร ร่วมกับสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ถอดบทเรียน 3 พื้นที่รูปธรรม

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ

มอบรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น 10 ประเภท ตามแนวคิดสวัสดิการสังคมของ ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

ธนาคารแห่งประเทศไทย / แบงก์ชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘ธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2567’ มอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการ SME และ 10

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (10) กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด จ.พระนครศรีอยุธยา “ย้อนรอยวิถีน้ำ คืนชีพเรือเก่า เล่าขานตำนานท้องถิ่น”

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล