ระดมความคิด"ถก"กม.โลกร้อน ชี้ทุกประเทศต้องร่วมมือพิทักษ์โลก

การสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อการจัดทำกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนฐานสิทธิมนุษยชน  ณ ห้อง 201 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา มีประเด็นที่น่าสนใจว่าด้วยการนำเสนอร่าง กม.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 4 ฉบับ ซึ่งมี น.ส.นารีรัตน์ พันธุ์มณี ผอ.กองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม, น.ส.ศนิวาร  บัวบาน สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, นายไพบูลย์  นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคและประธานกรรมการด้าน กม. พรรคพลังประชารัฐ, ดร.กฤษฎา บุญชัย ผู้แทนเครือข่ายประชาชนเพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ Thai Climate Justice for All (TCJA) ร่วมสัมมนา

น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ประธานในพิธี กล่าวเปิดงานว่า กสม.ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ในฐานะเป็นคนหนึ่งที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาแล้ว 40 ปี ขอยกตัวอย่างรัฐบาลประเทศบราซิลมีวิสัยทัศน์ที่ดี อนุรักษ์ป่าเขตร้อน คนส่วนใหญ่คิดว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วใกล้ตัว  การที่แผ่นดินทรุดลงไปเรื่อยๆ ดื่มน้ำประปามีรสกร่อย แต่ละบ้านต้องซื้อเครื่องกรองน้ำ กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ ควรจะคุ้มครองสิทธิกลุ่มเปราะบาง ด้วยการคำนึงถึงศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์  สิทธิที่ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ

นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคและประธานกรรมการด้าน กม. พรรคพลังประชารัฐ ตั้งข้อสังเกตว่า คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติชี้ประเด็นว่า กม.สิ่งแวดล้อมอากาศสะอาดเป็นสิทธิมนุษยชน เป็นความก้าวหน้าของคนทั่วโลกและคนไทย การที่อากาศไม่ปลอดภัยส่งผลกระทบต่อเด็ก ผู้หญิง คนชายขอบ ขณะนี้ยกร่าง กม.อยู่ในขั้นตอนคณะกรรมาธิการ ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขอยกร่าง 169 มาตรา หลักการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นกติกาในระดับโลก ไม่ต้องการชี้ช่องให้กลุ่มทุนมือยาวใครสาวได้สาวเอาได้ประโยชน์จากการลดก๊าซคาร์บอนเครดิต แต่เกษตรกรรายย่อยมีกลไกมีส่วนร่วมในร่าง กม.ฉบับนี้ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มงวด เพราะในอดีตบางบริษัทเลือกการทำ CSR ได้ผลน้อย จำเป็นต้องออก กม.ภาคบังคับเหมือนที่ประเทศสิงคโปร์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เครื่องมือผลักดันการลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ จัดอบรมบุคลากรเป็นวิชาชีพให้ทุกคนเข้าถึง ขอยืนยันว่าร่าง กม.ทั้ง 4 ร่างจะไม่ตกหล่นไป จะได้รับการพิจารณาด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดอีก 7 ร่าง

น.ส.นารีรัตน์ พันธุ์มณี ผอ.กองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า เมืองไทยเข้าเป็นภาคีมีการดำเนินงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยความสมัครใจ ขณะนี้อุณหภูมิทั่วทั้งโลกไม่ได้เป็นไปตามข้อกำหนด ผลกระทบรุนแรงและมีความถี่มาก ตระกูลฟ้าฝนพายุน้ำท่วมหนักร้อนแล้งจัด การดำเนินงานแก้ไขปัญหาแต่ละประเทศของทุกประเทศไม่เพียงพอ ประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นคนทำมลพิษก็ส่งผลกระทบต่อประเทศที่กำลังพัฒนา นำทุกภาคส่วนรวนไปด้วย

กรอบการประชุมอนุสัญญาประชาชาติผลสะท้อนปลายปีที่แล้ว สิ่งที่ทำอยู่ยังไม่เพียงพอแต่อย่างใด แม้จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 20-25% ยังต้องยกระดับให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงอีก 40% ในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ทั้งนี้ปี 2035 (พ.ศ. 2578) มองเป้าหมายทั่วโลกให้ยกระดับลดก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 60% แปลว่าเราห่างไกลเป้าหมายที่กำหนดไว้มากๆ แต่เดิมเราคิดกันว่าใครปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากก็ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบให้มาก เพราะผลสะท้อนจะกลับมาถึงพวกเราทุกคน

แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคิดด้วยว่า ทุกคนจะต้องอยู่ได้  ไม่ใช่ทำกันอย่างถล่มทลายกันไปข้างใดข้างหนึ่ง เป็นเรื่องที่ไม่ Make Sense แต่อย่างใด เราต้องพร้อมใจให้ความร่วมมือกันการสร้างความสมดุล คนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปยังคนที่ได้รับผลกระทบจะต้องได้รับการเยียวยา สิทธิและหน้าที่จะต้องควบคู่กันเมื่ออยู่ในสภาพการเปลี่ยนแปลงสร้างภูมิอากาศ ทำอย่างไรให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้ เราวางเป้าหมายสู่ความเป็นกลางคาร์บอนภายในปี 2050 และวางเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2065

การแก้ไขปัญหาอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงว่าทำได้มากหรือน้อยแค่ไหน? เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียน มีความยืดหยุ่นในการดำเนินงานมากน้อยเพียงใด ตราบใดที่เทคโนโลยียังไม่มาก็ต้องใช้ความยืดหยุ่น ระบบการซื้อขายกำไรการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการใช้ระบบภาษีก้าวหน้าเพื่อความเท่าเทียมกัน  ขณะเดียวกันรัฐก็ต้องมีส่วนร่วมสนับสนุนด้วยการเจรจากับกรมสรรพสามิต โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลาการเปลี่ยนผ่าน มีความจำเป็นต้องมีกลไกเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ ส่งผลกระทบเท่าที่มีความจำเป็น ด้วยการตั้งเป้าหมายที่จะลดคาร์บอนเครดิตให้ได้มากที่สุด

ต้องขีดเส้นใต้ประเด็นสำคัญเขียนซ้ำย้ำอีกครั้งหนึ่ง เราทุกคนบนโลกใบนี้อยากได้อากาศสะอาด แต่ปัญหาที่ผ่านมานั้นพี่น้องเกษตรกรที่เป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มชนเผ่าชาติพันธุ์ต้องตกเป็นจำเลยของสังคมทุกปีที่เผาป่าสร้างมลพิษ ทั้งๆ ที่ควรจะโฟกัสไปที่ภาคพลังงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สร้างก๊าซเรือนกระจกมากถึง 60% ก๊าซเรือนกระจกเป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ในการใช้ชีวิตประจำวัน ใช้รถยนต์  เปิดเครื่องปรับอากาศ เปิดไฟฟ้าเพื่อความสะดวกสบาย ล้วนทำร้ายโลก อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ภาคพลังงานปล่อยก๊าซเรือนกระจก คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน โอโซน  ไนตรัสออกไซด์ ซีเอฟซี เมื่อก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากจนเกินไป พลังงานจากดวงอาทิตย์ที่ส่องผ่านบรรยากาศสู่โลกจะถูกดูดซับไว้โดยก๊าซเรือนกระจก และนับวันจะเพิ่มความรุนแรงจนโลกเดือดโลกร้อนอากาศแปรปรวน

ผู้เข้าร่วมสัมมนาจาก อ.นาโยง จ.ตรัง ได้ตั้งข้อสังเกตว่า พื้นที่ป่าชายเลนฟื้นตัวหลังการปิดป่า บริษัทเอกชนหัวใสจับมือหน่วยงานภาครัฐจัดป่าชุมชนทำสัญญา จัดพื้นที่ป่าเข้าสู่โครงการคาร์บอนเครดิต เป็นการเพิ่มมูลค่าป่าชายเลนมากขึ้นถึง 60 เท่า จึงเป็นเรื่องล่อตาล่อใจผลประโยชน์จากกลุ่มทุนเป็นอย่างยิ่ง กลุ่มทุนจึงให้ความสนใจป่าชายเลนมากกว่าพื้นที่ป่าบก ป่าชายเลน 99 ป่าไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรม กลุ่มทุนที่รักสิ่งแวดล้อมนำที่ดินว่างเปล่าเสื่อมโทรม นำพื้นที่ป่าชายเลนเติบโตอุดมสมบูรณ์มาอุปโลกน์หลอกชาวบ้าน ด้วยการทำสัญญาเอกชน 3,000 ไร่ 5,000 ไร่ แบ่งประโยชน์ขายได้กำไร ชุมชนดูแลป่าได้ 20% บริษัทได้ 70% หน่วยราชการได้ 10% (ชุมชน+อบต.) กม.นำไปสู่การรับรองด้วยการใช้ธุรกิจเป็นเดิมพันกับสิ่งแวดล้อม ทุกคนกังวลกับโลกเดือด  แต่เมื่อเอาไปแลกกับธุรกิจ เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองต้องตั้งคำถามด้วยการแปรญัตติในเนื้อหาของ กม.ทั้ง 4 ร่าง

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวปิดการสัมมนาว่า สสส.สนับสนุนงบประมาณที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องหนึ่งที่ สสส.ให้ความสำคัญ มนุษย์เรามีสุขภาพกาย ใจ  สังคม จิตปัญญา แต่สิ่งที่เหนือกว่าโลกใบนี้คือสิ่งแวดล้อมสุขภาพดี อายุยืน 100 ปีโลกเดือด โลกร้อน โลกป่วย มนุษย์ สัตว์ก็อยู่ไม่ได้ ดีใจที่ กสม.จัดสัมมนาเรื่องนี้ เรามีกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนฐานของสิทธิมนุษยชน คนบนโลกมีความหลากหลาย อากาศร้อน คนรวยอยู่ในห้องแอร์หลบร้อนรอดได้อยู่เสมอ คนที่เป็นกลุ่มเปราะบางไม่ได้มีฐานะทางเศรษฐกิจมากพอ ยิ่งคนที่อยู่ในสลัม

เรามาช่วยกันคิดสภาพอากาศที่เปรียบเทียบเหมือนสะพานพัง มีสัญญาณเตือนมีรอยร้าวเวลาจะพัง ก้อนหินก้อนเดียวเมื่อเพิ่มน้ำหนัก ทำให้พังได้ เราอยู่กับอากาศอย่างนี้มานานมาก เหมือนจะไม่มีอะไร โลกร้อนก็ดูจะไม่เห็นจะมีอะไร อุณหภูมิจะเป็นจุดที่พลิกการเปลี่ยนแปลงจนเราอยู่ไม่ได้ ถ้าเราเตรียมความพร้อมไว้ก่อน ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตมลภาวะ 1% เป็นอันดับ 20 ของโลก แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์โลกร้อนโลกเดือด ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ดังนั้นเราต้องเตรียมความพร้อมด้วยการร่วมมือร่วมใจ สสส. กสม. หลายหน่วยงานที่จะต้องร่วมกันคิดแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เพื่อให้คนในประเทศไทยและโลกนี้ยังคงอยู่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โชว์ต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ลดฝุ่นอากาศสะอาดทุกลมหายใจ

"อากาศบริสุทธิ์ใน กทม.เป็นจริงได้ ด้วยจุดเปลี่ยนร่วมมือร่วมใจ ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้" ด้วยแนวคิดข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ทำความรู้จัก “เชื้อดื้อยา” จากผลงานประกวดภาพวาดการ์ตูนคอมมิค

การสื่อสารในประเด็น “เชื้อดื้อยา”เพื่อให้คนส่วนใหญ่ รับรู้ เข้าใจ ถึงผลกระทบ และร่วมกันป้องกัน เป็นเรื่องที่องค์กรที่ทำงานด้านนี้ได้พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง

โฟกัสเชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ งดขายเหล้าเทศกาลพร้อมเป็นตาสับปะรด

เชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ ทุกเทศกาลประกาศงดขายงดดื่มเหล้า ทราบล่วงหน้า 15 วัน ประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ ภาคประชาสังคมพร้อมใจเป็นตาสับปะรดร้องเรียน

'สมศักดิ์' ดึง สสส. ช่วย 'นับคาร์บ' ชวนคนไทยลดโรค NCDs ต้นเหตุคร่าชีวิตคนไทยชั่วโมงละ 45 คน ผจก.สสส.เดินหน้าพัฒนาฐานข้อมูลเชื่อมท้องถิ่นลดเสี่ยง

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวในการเป็นประธานประชุมกรรมการกองทุนฯ ครั้งที่ 8/2567 ว่า จากข้อมูลพบว่ามีผู้เสียชีวิตจาก NCDs 400,000 คนต่อปี คิดเป็นชั่วโมงละ 45 คน

‘สมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 17’ ปิดฉากชื่นมื่น บรรลุ 2 นโยบายฯ สร้างเศรษฐกิจยุคใหม่

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ปิดฉากลงอย่างชื่นมื่น สมาชิกกว่า 3,000 ชีวิต ให้การรับรอง 2 ระเบียบวาระ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ - การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจ

จับตาปลดล็อก..ควบคุมเหล้าเบียร์ กฎหมายใหม่เปิดช่องขายได้ทั่วถึง

รายงานองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2567 ชี้ว่าแนวโน้มการบริโภคแอลกอฮอล์/หัวประชากร และผลกระทบต่อสุขภาพมีความซับซ้อนและแตกต่างกันตามภูมิภาคต่างๆ ที่น่ากังวลคือ ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีแนวโน้มจะมีการดื่มที่สูงขึ้น