กรุงเทพมหานคร / เวลา 09.00 น. วันที่ 20 ส.ค. 2567 ที่โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในพิธีเปิดเวทีปฐมนิเทศ โครงการ “Movement คนรุ่นใหม่” #คนรุ่นใหม่คืนถิ่น 2 ว่า สสส. ดำเนินงานผ่านแผนหลัก 15 แผน 1 ในแผนที่สำคัญคือ แผนสร้างสรรค์โอกาสสร้างเสริมสุขภาวะ ที่มีพันธกิจในการเปิดโอกาสเข้าถึงการสร้างเสริมสุขภาพ กระจายในพื้นที่ต่างๆ ทุกจังหวัดทั่วประเทศกว่า 2,000 โครงการต่อปี ทำให้ทุกชีวิตได้เข้าถึงทุนการสร้างเสริมสุขภาวะ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพอย่างสร้างสรรค์ ในการนี้ สสส. ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) พัฒนาโครงการ “Movement คนรุ่นใหม่” เพื่อยกระดับและเปิดโอกาส การส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมพัฒนาและแก้ไขปัญหาสุขภาพในชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเปลี่ยนแปลง ทั้งคนรุ่นใหม่เอง ชุมชน และสังคม โดยมีภาคีเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทำหน้าที่เสริมพลังเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดเครือข่ายคนรุ่นใหม่ทั้งในระดับพื้นที่ จังหวัด และเครือข่ายระดับประเทศ เกิดเป็น Movement คนรุ่นใหม่ นำไปสู่การขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะหรือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่อย่างยั่งยืน
“#คนรุ่นใหม่คืนถิ่น 2 มีคนรุ่นใหม่สมัครเข้าร่วมกว่า 200 คน ผ่าน 67 โครงการ ครอบคลุมทุกภูมิภาคในประเทศไทย ได้แก่ ภาคเหนือ 37 โครงการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 โครงการ ภาคใต้ 10 โครงการ และภาคกลาง 6 โครงการ ภายใต้การขับเคลื่อนงาน 5 ประเด็น 1.การส่งเสริมเศรษฐกิจและรายได้ 2.การศึกษาในกลุ่มเด็กและเยาวชน 3.สุขภาวะทางกายและใจ 4.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 5.การจัดการสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยการจัดเวทีปฐมนิเทศ ครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความร่วมมือให้เกิดเครือข่ายคนรุ่นใหม่ ร่วมพัฒนาพื้นที่อย่างสร้างสรรค์ภายใต้ความเชื่อมั่นในทักษะและพลังของคนรุ่นใหม่ เกิดเป็นต้นแบบของการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบัน พอช. กล่าวว่า #คนรุ่นใหม่คืนถิ่น 1 มีคนรุ่นใหม่เข้าร่วมจาก 32 จังหวัด 72 โครงการ เกิดการเชื่อมโยงกลไกคนรุ่นใหม่และภาคีพัฒนาในระดับภาค ผ่านการจัดกิจกรรมย่อยในระดับพื้นที่ เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เวทีพัฒนาศักยภาพ ผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์ เช่น โครงการที่ใช้ระบบเศรษฐกิจชุมชนเป็นฐาน ผ่านการรวมกลุ่มน้องๆ ในพื้นที่ ออกแบบพื้นที่ในลักษณะ “ตลาดสร้างสรรค์” ดึงคนทุกกลุ่มวัยมาทํางานกิจกรรมร่วมกัน ในโรงเรียนร้างหรือโรงเรียนที่ถูกยุบรวมมาเป็นพื้นที่ทำกิจกรรม ซึ่งโครงการดังกล่าวมีแนวคิดว่า หากเปลี่ยนอาคารที่รกร้างมาใช้ประโยชน์กับชุมชนได้ ก็เป็นสิ่งที่ดี เลยใช้โรงเรียนที่ร้างมาให้คนรุ่นใหม่มาร่วมบริหารจัดการในพื้นที่ เกิดเป็นตลาด“ตลาดกลางใจ๋บ้าน” เป็นศูนย์รวมของจิตใจของคนที่อยากทําอะไรร่วมกันมาทําร่วมกัน คนมีใจมาทําร่วมกิจกรรมร่วมกันก็เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ หรือโครงการที่นำความรู้ และความสามารถของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ในด้านการทำกราฟฟิก มาปรับใช้ในการพัฒนาพื้นถิ่นของตนเองส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว และการพัฒนาอาชีพต่างๆในชุมชนของตนเอง ตัวอย่างโครงการดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้สร้างสรรค์งานภายใต้ความท้าทายและบริบทที่แตกต่างกัน #คนรุ่นใหม่คืนถิ่น 2 มุ่งเป้าหมายให้คนรุ่นใหม่เป็นตัวตั้งในการพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วม โดยการนำความร่วมมือของหน่วยงานทั้ง 2 หน่วยงานมาร่วมในการพัฒนา สร้างศักยภาพ และสนับสนุนงบประมาณสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้สามารถลงไปพัฒนาถิ่นของตนเอง และสอดคล้องกับระบบกลไกการทำงานของคนรุ่นใหม่ต่อไป
บรรยายพิเศษ “การสานพลังเครือข่ายภาคียุทธศาสตร์กับการสนับสนุนภาคีคนรุ่นใหม่เพื่อการพัฒนา” นายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการ สสส.
บัณฑิตคืนถิ่น เป็นโครงการที่น่าสนใจมาก เนื่องจากทรัพยากรที่มีคุณภาพจะได้กลับสู่ชุมชน ถิ่นฐานบ้านเกิด เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างให้ชุมชนเข้มแข็ง ปัญหาสำคัญของความไม่เข้มแข็งของชุมชนคือการขาดทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ดังนั้นเมื่อชุมชนเข้มแข็ง สามารถจัดการสุขภาพของตนเอง และคนในชุมชนได้
ในปัจจุบันอายุเฉลี่ยของคนสั้นลง เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากระทบ ประเด็นหลักที่คนทำให้คนเสียชีวิต คือ น้ำตาลในเลือดสูง การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า การมีสุขภาพที่ดีจะส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย ยกตัวอย่างผลกระทบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ในปัจจุบันมีเยาวชนทั้งชายและหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก และมีความถี่ในการสูบมากกว่าบุหรี่มวน สิ่งเหล่านี้สามารถทำให้เป็นมะเร็งปอดได้เช่นกัน สารนิโคตินในบุหรี่กระตุ้นให้เซลล์ประสาทสร้างโดปามีน ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข มากเกินพอดี สิ่งนี้ทำให้คนรู้สึกมีความสุขตลอดเวลาจนไม่อยากทำอะไร ความคิดของคนมี 2 ระดับ ในระดับที่แสดงออก เรียว่า จิตสำนึก จะแสดงออกเพียง 10% ของความคิดทั้งหมด แต่ส่วนสำคัญอีก 90% นั้น เป็นจิตใต้สำนึก ดังนั้นควรเริ่มปลูกฝังและเปลี่ยนแปลงความคิดให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ควรต้องการสร้างจิตใต้สำนึกตั้งแต่เด็ก
ภารกิจการทำงานของสำนักสร้างสรรค์โอกาส ที่เป็นการผนึกกำลังกับภาคีเครือข่าย ยังมีการสนับสนุนแผนงานร่วมทุนกับ อบจ. กระจายอยู่ในทุกภาคทั่วประเทศ ดังนั้นสิ่งที่น้องทําเราต้องเชื่อมั่น และเราก็ต้องแชร์ แบ่งปันอุดมการณ์และประสบการณ์ให้กับน้องรุ่นใหม่ผมก็หวังว่าน้อง ๆจะเป็นพลังที่สําคัญในการทําสิ่งสําคัญให้เกิดขึ้นในบ้านเกิดของเราเองครับ ในการสนับสนุนการทำงานของเยาวชน เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งต่อไป
ล้อมวงเสวนา “บทบาท ความคาดหวัง และทิศทางการขับเคลื่อนงาน คนรุ่นใหม่กับการพัฒนาท้องถิ่น”
นายวัทธิกร ธนกิจกร ตัวแทนคนรุ่นใหม่ ปี 1 (ไนซ์) Project ที่หลบฝน ประเด็นเราคือประเด็นพื้นที่ปลอดภัยทางจิตวิทยา พื้นที่ปลอดภัยทางจิตวิทยาคืออะไร คือพื้นที่ที่กล้าเป็นตัวของตัวเองกล้าถามคำถามที่อยากรู้ เป็นพื้นที่ที่ทำให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่าเป็นตัวของตัวเองได้และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งอบอุ่นใจ อันนี้คือเป้าหมายหลักของ โครงการ “ที่หลบฝน” ของกลุ่มเรา
ผมเคยเป็นคุณครู อยู่ในระบบ แล้วที่เห็นก็คือทำไมสังคมมันต้องพยายามมากขึ้น ต้องพูดให้ดังขึ้นต้องแสดงออกมากขึ้นต้องแข็งแกร่งมากขึ้น แต่สุดท้าย โดยเฉพาะเด็กเด็กลูกศิษย์ เขารู้สึกเหงาขึ้น เขารู้สึกว่างเปล่าขึ้น เขาไม่รู้จักตัวเองมากขึ้น ก็เลยพยายามผลักดันเรื่องพื้นที่ปลอดภัยทางจิตวิทยา ปีแรกที่เราได้ทำคือเราเรานำแกนนำเยาวชนไปทำงานจริงจริงเรียนรู้จริงจริงอยู่กับชุมชนอยู่กับธรรมชาติอยู่กับผู้คนในชุมชนจริงจริง แล้วก็ได้ถอดบทเรียนออกมา โฟกัสไปที่ทักษะทางด้านสังคมและอารมณ์ เราจะเห็นว่าเด็กเด็กยุคนี้ มีโอกาสในการที่จะฝึกทักษะทางด้านสังคมและอารมณ์ค่อนข้างน้อยเราก็เลยมาบ่มเพาะเยาวชนแกนนำที่มีทักษะทางด้านสังคมแล้วมีอารมณ์ดีมีสุขภาพจิตดีในการทำงาน พาเขามาอบรม หลังจากนั้นก็นำไปฝากทำงานกับพี่ผู้ใหญ่ใจดีในพื้นที่เจ้าของธุรกิจที่จะมองเยาวชนเหล่านี้ เป็นเหมือนกับว่าเป็นลูกเป็นหลานที่เขาจะมาพามาสอนงานพามาดูโลกมาเรียนรู้ความจริงที่หลบฝนเป็นพื้นที่อิสระทำกิจกรรม พอช. ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญมาให้ทุนก้อนใหญ่ก้อนแรกมาเป็นพี่เลี้ยงพาไปรู้จักกับหลายหลายคนโดยเฉพาะ คนในพื้นที่
นายชาติชาย ธรรมโม ตัวแทนเครือข่ายพี่เลี้ยงคนรุ่นใหม่ (แคน) สิ่งที่พบจากการเป็นพี่เลี้ยงคือ เด็กอยากทำ แต่ไม่มีพื้นที่แสดงออก ยังไม่มีเพื่อนที่มีความคิดเดียวกันมาร่วมทำงาน ยังขาดทักษะในการวิเคราะห์ปัญหาพื้นที่ ไม่มีทักษะในการทำโครงการ ไม่รู้จะต้องเริ่มอย่างไร พี่เลี้ยงจึงเป็นส่วนสำคัญที่เข้ามาช่วยเติมเต็มสิ่งที่น้อง ๆ ยังขาดอยู่
นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พอช. ทำงานร่วมกับชุมชนมาตลอดชีวิต การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเป็นบทบาทหน้าที่ของ พอช.ในการหนุนเสริม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในงานพัฒนาชุมชนในปัจจุบันในระยะหลังคือคนรุ่นใหม่หายไป ขาดการสืบทอดผู้นำแถวสองที่จะเข้ามาร่วมพัฒนาให้ชุมชนเข้มแข็ง เนื่องจากคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันออกไปทำงานนอกถิ่นฐานจำนวนมาก แต่จะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่กลับไปพัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิด หน่วยงานต่างๆควรต้องช่วยกันร่วมสร้างพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่อย่างจริงจัง เพื่อกลับไปเป็นแรงหนุนและเป็นพลังให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน การเข้ามาร่วมมือกันระหว่าง พอช. และ สสส. ในปีนี้ เป็นการขยายผลการทำงานในปีที่ผ่านมา สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานระหว่างเครือข่ายเยาวชนในพื้นที่ ในอนาคตอยากให้เกิดการเชื่อมโยงกับหน่วยงานในพื้นที่ให้เปลี่ยนระบบต่างๆในเชิงนโยบาย ให้หน่วยงานเห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญในการขับเคลื่อน
นางสาวณัฐชยา บุญมณีประเสริฐ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ ปี 2 โครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนของเด็กในชุมชนห้วยยอด จ.ตรัง เข้าในโครงการ “คนรุ่นใหม่คืนถิ่น” มาเพราะอยากเรียนรู้ และอยากรู้จักเพื่อนๆ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้ามาร่วม คือการได้รับการพัฒนาจากพี่ๆ ให้ลืมสิ่งที่เขียนในโครงการเดิมก่อน แล้วเอาผลลัพธ์สุดท้ายที่อยากเห็นเป็นตัวตั้ง แล้วค่อยๆคิดว่าจะทำอะไรเพื่อให้เกิดเป้าหมายนั้น ซึ่งเป็นหลักคิดที่ดีมากๆที่ได้เรียนรู้ และคิดว่าเรามาถูกทางในการกลับไปพัฒนาพื้นที่ได้จริงๆ
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 6 สสส. ในปัจจุบันมีข่าวเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ในเชิงลบเยอะมาก ตีกัน ฆ่ากัน ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ในวันนี้ทำให้คนรุ่นเก่ามีความหวังเพื่อให้เกิดแนวคิดดีๆเหล่านี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ โจทย์สำคัญในเรื่องนี้คือการจะทำอย่างไรให้คนมีคุณภาพมากขึ้น หากส่งเสริมให้เด็กมีความสามารถทักษะ และทำความฝันความชอบให้สามารถดำรงชีวิตได้ เป็นเรื่องที่ควรส่งเสริม คนรุ่นเก่ามีประสบการณ์ที่สามารถบอกเล่าได้ หากคนรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้จากประสบการณ์นั้นๆได้ในการดำเนินชีวิต ทั้งนี้พวกเราทุกคนเป็นความหวังในการสร้างให้ชุมชนมีความเข้มแข็งได้จากพลังของเรา
โครงการ “คนรุ่นใหม่คืนถิ่น” ที่ สสส.กับ พอช. ร่วมกันทำ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในสิ่งที่เป็นความฝัน ความเชื่อให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีเป้าหมายอยากจะกลับไปพัฒนาพื้นที่ของตนเอง เวทีปฐมนิเทศ โครงการ “Movement คนรุ่นใหม่” #คนรุ่นใหม่คืนถิ่น 2 ที่คนรุ่นใหม่เข้าร่วมกว่า 200 คนในวันนี้ ทุกคนพร้อมพร้อมจะเป็นเครือข่ายคนรุ่นใหม่ ที่จะมาเข้ามาซัพพอร์ตเติมเต็มไม่ว่าจะเป็นการเปิดพื้นที่ ให้ได้มีโอกาสในการฝึกฝนแล้วก็เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ เรื่องราวในวันนี้การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน มันจะทําให้เราเติบโต และสามารถที่จะไปเชื่อมโยงกับคนในพื้นที่ ทําให้ฐานรากเข้มแข็ง แล้วก็พัฒนาไปสู่ความเข้มแข็งของสังคมได้ เรื่องเล็กๆ ที่พวกเรากําลังทํา มันเป็นสิ่งเล็กๆที่เป็นพลังบวก ทําให้สังคมมองเห็นว่าจริงจริงแล้วคนรุ่นใหม่ ที่เค้าผนึกกําลังกันแล้วก็คิดว่ามีความตั้งใจมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เต็มพื้นที่ มีโอกาสที่จะขยายจากสองร้อยเป็นสี่ร้อยหรืออาจจะเต็มพื้นที่ในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"MOU หน่วยงาน ผนึกกำลังขับเคลื่อน ‘ภูเก็ตเกาะสวรรค์’ สู่จังหวัดจัดการตนเอง"
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)หรือ พอช. ร่วมกับ 18 หน่วยงานร่วมจัดเวทีบันทึกความร่วมมือ “ภูเก็ตเกาะสวรรค์จัดการตนเอง”
จังหวัดภาคเหนือก้าวสู่การจัดการตนเอง: ขับเคลื่อนจังหวัดบูรณาการชุมชนเข้มแข็ง
วันที่ 17-18 มีนาคม 2568 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ขบวนองค์กรชุมชนภาคเหนือ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "Kick off แนวทางการขับเคลื่อนงานจังหวัดบูรณาการสู่จังหวัดจัดการ
อึ้ง! โรค Stroke คร่าชีวิตคนไทยสูงเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็ง สสส. สานพลัง อบจ.ขอนแก่น ปักหมุด ชุมชนบ้านกุดโง้ง แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 17 มี.ค. 2568 ที่วัดเหนือสำโรง ชุมชนบ้านกุดโง้ง ต.หนองโน อ.กระนวน จ.ขอนแก่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
สสส. ร่วมกับ จุฬาฯ ร่วมรณรงค์ World Kidney Day สร้างการรับรู้ควบคู่การดูแล เร่งสื่อสารการใช้ยาเพื่อลดความเสี่ยงโรคไต
“วันไตโลก ปี 68” คนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นจาก 9.8 แสนคน เป็น 1.13 ล้านคน สูญเสียปีสุขภาวะเร็วขึ้น 3.14 เท่า! เหตุบริโภคเค็ม-ใช้ยาไม่ถูกต้อง-เกินความจำเป็น เผยประชาชนเข้าใจเรื่องการใช้ยาที่ถูกต้องแค่ 64.9% สสส. สานพลัง จุฬาฯ สร้างการรับรู้ควบคู่การดูแล เร่งสื่อสารการใช้ยาเพื่อลดความเสี่ยงโรคไต
“รักจังสตูล” รวมพลังคนสตูล บูรณาการความรู้ สร้างเครือข่ายหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคมให้ยั่งยืน
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดเวทีคืนข้อมูลโครงการวิจัยบูรณาการภาคีร่วมพัฒนาเพื่อส่งเสริมชุมชนเข้มแข็งสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตทุกช่วงวัย
8กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ปี 2567 ‘ด้านการพัฒนาสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร’ กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองงูเหลือม อ.เมือง จ.นครปฐม (1)
‘กองทุนสวัสดิการชุมชน’ เริ่มจัดตั้งทั่วประเทศในปี 2548 โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และรัฐบาลให้การสนับสนุน