ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่ใช่แค่เรื่องของอากาศที่เป็นพิษ แต่ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ ซึ่งข้อมูลล่าสุดระบุว่า มีประชาชนถึง 38 ล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน ส่งผลให้อายุเฉลี่ยของคนไทยลดลงถึง 1.78 ปี นอกจากนี้ มลพิษทางอากาศยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 5 ของโลก
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิปลูกต้นไม้ ปลูกธรรมะ และ 17 หน่วยงานพันธมิตร ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ขับเคลื่อน "โครงการทำบุญวิถีใหม่ เวียนเทียนด้วยต้นไม้ ลดฝุ่น PM2.5" โดยรณรงค์ให้งดจุดธูปเทียนในวันสำคัญทางพุทธศาสนา และส่งเสริมการใช้ต้นไม้เป็นสัญลักษณ์แทนศรัทธา พร้อมปลูกเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว
ดร. นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. เผยว่า การลดมลพิษทางอากาศต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในระดับบุคคลและสังคม หนึ่งในแนวทางสำคัญคือ งดการจุดธูปเทียน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนหันมาเวียนเทียนด้วยต้นไม้ และนำกล้าไม้ไปปลูกในพื้นที่สาธารณะ เช่น วัด ชุมชน และโรงเรียน
หากวัดทั่วประเทศเพียง 1 ใน 4 จัดกิจกรรมเวียนเทียนต้นไม้ตลอดปี 2568 จะสามารถเพิ่มต้นไม้ได้มากกว่า 3 ล้านต้น ซึ่งช่วยกรองฝุ่นและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงอย่างกรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคกลาง และภาคเหนือ ที่ประสบปัญหาฝุ่นควันรุนแรง
นายธวัชชัย โตสิตระกูล ผู้อำนวยการมูลนิธิปลูกต้นไม้ ปลูกธรรมะ กล่าวว่า พระพุทธศาสนามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หากวัดทั่วประเทศช่วยกันส่งเสริมค่านิยมการทำบุญด้วยต้นไม้ แทนธูปเทียน จะสามารถสร้างประโยชน์ทั้งทางศาสนาและธรรมชาติไปพร้อมกัน "เมื่อประชาชนเวียนเทียนต้นไม้เสร็จแล้ว สามารถนำกล้าไม้กลับไปปลูกที่บ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล หรือถวายให้วัดเพื่อนำไปปลูกในพื้นที่วัด เป็นการสร้างร่มเงาและลดมลพิษไปพร้อมกัน"
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่า ปัจจุบันมี 250 วัดที่เข้าร่วมโครงการเวียนเทียนต้นไม้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่หากสามารถขยายแนวคิดนี้ไปยังวัดกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ จะทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นมหาศาล "เราสามารถเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ เช่น ปลูกต้นไม้ที่บ้าน ปลูกไม้กระถางในเทศบาล อบต. หรือพื้นที่สาธารณะ เปลี่ยนวัดให้เป็น Global Destination ของการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติธรรมในสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น".
ต้นไม้: พลังแห่งศรัทธา ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
ในโอกาสนี้ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และพระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท นำคณะร่วมเวียนเทียนปลูกต้นไม้ บริเวณอาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ โดยมีภาคีเครือข่าย ได้แก่ กทม., กรมป่าไม้, กรมอุทยานแห่งชาติฯ, กรมควบคุมมลพิษ, มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และศูนย์คุณธรรม ร่วมเป็นสักขีพยาน
"ต้นไม้เป็นสัญลักษณ์ของความสงบ ความร่มเย็น และปัญญา เช่นเดียวกับแนวทางพระพุทธศาสนา เมื่อเราปลูกต้นไม้ เรากำลังเกื้อกูลศาสนาและธรรมชาติไปพร้อมกัน" พระไพศาลกล่าว และตอกย้ำว่า
"เราต้องช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียว ตัดต้นไม้ให้น้อยลง สร้างธรรมเนียมการปลูกต้นไม้ให้แพร่หลายขยายวงกว้างให้เป็นถิ่นรมณีย์ ชาวพุทธตระหนักดีว่าการปลูกต้นไม้มีคุณค่าต่อกายและจิตใจ โลกจะน่าอยู่ยิ่งขึ้น สิ่งแวดล้อมก็จะดีขึ้น ขอย้ำว่าการปลูกต้นไม้เสมือนหนึ่งการปลูกต้นบุญ การทำบุญในพุทธศาสนา เริ่มต้นด้วยการทำบุญด้วยต้นไม้ อาตมาเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมในเมืองไทยจะดีขึ้นมาก ปัจจุบันเรามีงานบุญวิถีใหม่ คือการเวียนเทียนด้วยกล้าไม้ ทำให้เห็นว่าต้นไม้มีส่วนสำคัญต่อความเจริญงอกงามทางพุทธศาสนา ต้นไม้มีคุณค่า น้อมรำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ผู้คนตระหนักว่า ต้นไม้เป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ถ้าเราจะบำรุงพระพุทธศาสนาก็ต้องปลูกต้นไม้เพื่อให้เกิดถิ่นรมณีย์"
"วัดเป็นถิ่นรมณีย์ สงบ ร่มรื่น ธรรมชาติเขียวขจี ใครที่มาจะสัมผัสได้ถึงความสดชื่น ความเบิกบาน ใจน้อมรับธรรมะ ถ้าใครมีความทุกข์ในจิตใจมากๆ เมื่อได้มีโอกาสสัมผัสกับธรรมชาติ ต้นไม้เขียวขจี จะส่งผลให้จิตใจเบิกบานขึ้น มนุษย์มีความผูกพันกับต้นไม้มาก ถ้าเราเหินห่างต้นไม้ จิตใจก็จะแห้งผาก ใจโหยหาธรรมชาติ เรามีวัดก็ต้องช่วยกันสร้างถิ่นรมณีย์ ผู้คนที่มาวัดแม้จะยังไม่ได้ฟังธรรมะของพระสงฆ์ เมื่อสัมผัสธรรมชาติ จิตใจก็เติมเต็มแล้ว ขณะนี้หลายประเทศเยียวยาจิตใจผู้คนด้วยการให้สัมผัสธรรมชาติ กิจกรรมอาบป่าในวัดคลายความโศกเศร้าได้ หายหม่นหมอง มีความชื่นบาน คนที่เป็นโรคซึมเศร้า หมอจะให้ยา ทั้งๆ ที่ยาก็ไม่ได้ช่วยเท่าไหร่ แต่ถ้าให้ยา Green Description ที่ไม่ใช่ใบสั่งยาเม็ด แต่ให้อยู่กับธรรมชาติ 20-30 ชั่วโมง ได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติทุกอย่างก็จะดีขึ้น"
"เราชาวพุทธช่วยกันปลูกต้นไม้เยอะๆ เพื่อสร้างถิ่นรมณีย์ เมื่อมีการทำบุญในเทศกาลสำคัญๆ ทางพุทธศาสนา เปลี่ยนมาทำบุญด้วยการปลูกต้นไม้ จะช่วยทำให้โลกน่าอยู่มากขึ้น บำรุงต้นไม้อยู่ในจิตใจของเราด้วย วัดจะได้มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น มาช่วยกันปลูกต้นไม้ทั้งครอบครัว ไม่ต้องปลูกต้นไม้คนเดียว เย็นกายในร่มไม้ เย็นใจในร่มธรรม เบิกบานงดงามในใจเรา เราน้อมใจเพื่อจะได้สัมผัสกับธรรมชาติ เมื่ออยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ใจสงบร่มเย็น อาศัยธรรมะเป็นเครื่องปรับทุกข์ มีกำลังใจ เป็นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เป็นนิมิตหมายที่ดีที่เราจะร่วมอนุโมทนาบุญกัน ด้วยการทำให้กายใจมีความสุข โลกจะได้น่าอยู่มากขึ้นด้วย"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อึ้ง! โรค Stroke คร่าชีวิตคนไทยสูงเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็ง สสส. สานพลัง อบจ.ขอนแก่น ปักหมุด ชุมชนบ้านกุดโง้ง แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 17 มี.ค. 2568 ที่วัดเหนือสำโรง ชุมชนบ้านกุดโง้ง ต.หนองโน อ.กระนวน จ.ขอนแก่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เหนืออ่วม! ฝุ่น PM2.5 ท่วมเกือบทุกพื้นที่ ทะลุ 143 ไมโครกรัม
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 17 มีนาคม 2568 ณ 07:00 น. สรุปดังนี้
สสส. ร่วมกับ จุฬาฯ ร่วมรณรงค์ World Kidney Day สร้างการรับรู้ควบคู่การดูแล เร่งสื่อสารการใช้ยาเพื่อลดความเสี่ยงโรคไต
“วันไตโลก ปี 68” คนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นจาก 9.8 แสนคน เป็น 1.13 ล้านคน สูญเสียปีสุขภาวะเร็วขึ้น 3.14 เท่า! เหตุบริโภคเค็ม-ใช้ยาไม่ถูกต้อง-เกินความจำเป็น เผยประชาชนเข้าใจเรื่องการใช้ยาที่ถูกต้องแค่ 64.9% สสส. สานพลัง จุฬาฯ สร้างการรับรู้ควบคู่การดูแล เร่งสื่อสารการใช้ยาเพื่อลดความเสี่ยงโรคไต
เช็กเลย! ค่าฝุ่น PM2.5 ทั่วไทย พร้อมคาดการณ์ 7 วันข้างหน้า
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 14 มีนาคม 2568 ณ 07:00 น สรุปดังนี้
รวมพลังชุมชน ขับเคลื่อนการจัดการป่า ลดฝุ่นควัน สร้างสุขภาวะที่ดี
กรุงเทพฯ/12 มีนาคม 68 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)หรือ พอช. จับมือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ การขับเคลื่อนการจัดการป่าชุมชนเพื่อลดฝุ่นตวันและสร้างสุข
สสส.-พอช. ผนึกกำลัง 16 จังหวัด เดินหน้าป่าชุมชน ลดเผา-แก้ PM2.5 อย่างยั่งยืน
สสส. จับมือ พอช. และภาคีเครือข่าย เดินหน้าบริหารจัดการป่าชุมชน 60 แห่งใน 16 จังหวัดทั่วประเทศ เร่งแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เสริมศักยภาพชุมชนลดการเผา พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการป่าอย่างยั่งยืน มุ่งสู่สังคมอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพประชาชน