'กสม.' บี้แก้ปัญหาดำเนินคดีล่าช้าเนื่องจากการอายัดตัว-ดำเนินคดี

'กสม.'ชงข้อเสนอแก้ไขการดำเนินคดีล่าช้าเนื่องจากการอายัดตัวต่อหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ต้องขัง

24 มี.ค.2565 - นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)​ แถลงข่าวว่า​ กสม.ชงข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม กรณีการอายัดตัวผู้ต้องขังและดำเนินคดีล่าช้า เป็นเหตุให้ผู้ต้องขังเสียสิทธิประโยชน์ที่พึงได้ตามกฎหมาย​ ตามที่ กสม.​ได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ ระบุว่าพนักงานสอบสวนดำเนินคดีล่าช้า โดยเฉพาะกรณีที่มีการอายัดตัวผู้ต้องขังที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในคดีอาญาอื่น โดยพนักงานสอบสวนไม่ได้เร่งรัดดำเนินการสอบสวนและสรุปสำนวนส่งให้พนักงานอัยการ แม้จะทราบว่าผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวไว้ในเรือนจำ หรือพนักงานอัยการรับสำนวนการสอบสวนแล้วแต่ไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาไปฟ้องต่อศาลในเขตอำนาจศาลที่มีการกระทำความผิดได้ โดยความล่าช้าดังกล่าวส่งผลให้ผู้ต้องขังที่ถูกอายัดตัวไม่ได้รับสิทธิหรือประโยชน์ต่างๆ ที่พึงได้รับตามกฎหมายโดยเฉพาะประโยชน์ในการได้รับการลดวันต้องโทษ การได้รับพระราชทานอภัยโทษในโอกาสสำคัญ หรือการเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู นั้น

นายวสันต์​ กล่าวว่า​ กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่าสิทธิในกระบวนการยุติธรรม กรณีการดำเนินคดีล่าช้าอันเกี่ยวเนื่องกับการอายัดตัวมีผลกระทบต่อสิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งไม่สอดคล้องตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ที่ถือว่าสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีโดยไม่ชักช้านั้นเป็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้รับ ประกอบกับในช่วงปี 2559 - 2564 กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเรื่องการดำเนินคดีล่าช้าและการอายัดตัวจำนวน 231 เรื่อง จึงเห็นควรให้มีการศึกษาและรวบรวมข้อเท็จจริง เพื่อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นายวสันต์​กล่าวเพิ่มเติมว่า​ นอกจากนี้พบว่าการดำเนินการที่ผ่านมายังมีปัญหาและอุปสรรคสำคัญหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้ต้องหา ยกตัวอย่าง​ การเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐและการออกหมายจับ พบว่า ในทางปฏิบัติมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการเอาตัวผู้ต้องหาไว้ดำเนินคดี แต่โดยหลักการแล้วรัฐเป็นนิติบุคคลหนึ่งเดียว เมื่อมีการจับกุมผู้ต้องหาหรือคุมขังผู้ต้องหาไว้ในเรือนจำแล้วในคดีหนึ่ง จึงถือเป็นการเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐนั้นแล้ว ในกรณีที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาในคดีอื่นอีก พนักงานสอบสวนในคดีอื่นย่อมไม่มีเหตุจำเป็นที่จะออกหมายจับบุคคลเพื่อประโยชน์ในการสอบสวนอีก เนื่องจากพนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการสอบสวนผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำได้ทันที นอกจากนี้พนักงานสอบสวนควรตรวจสอบฐานข้อมูลสถานะของผู้ที่จะถูกออกหมายจับว่าบุคคลนั้นถูกจับแล้วหรือไม่ก่อนที่จะขอออกหมายจับ และไม่ว่าศาลจะพิจารณาออกหมายจับให้หรือไม่ ก็ไม่ควรเป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนไม่เริ่มทำการสอบสวนผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังไว้แล้ว

อีกทั้งเงื่อนไขการสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ นอกจากปัญหาการเริ่มการสอบสวนที่ล่าช้าแล้ว พนักงานสอบสวนยังประสบปัญหาไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังในเรือนจำมาอยู่ในเขตอำนาจศาลของคดีอื่นที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้พนักงานอัยการไม่อาจรับสำนวนการสอบสวนและไม่สามารถฟ้องคดีต่อศาลได้ ทำให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม ซึ่ง กสม. เห็นว่า ควรมีการแก้ไขระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดโดยเมื่อพนักงานอัยการทราบแล้วว่าผู้ต้องหาที่ถูกฟ้องได้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำแล้วให้พนักงานอัยการรับสำนวนการสอบสวนไว้เพื่อพิจารณาและฟ้องคดีต่อศาลได้ ด้วยเหตุข้างต้นประกอบกับปัญหาและอุปสรรคอื่น ๆ ทั้งในชั้นพนักงานสอบสวน ชั้นอัยการ ชั้นศาล และในชั้นการดำเนินงานของกรมราชทัณฑ์ เช่น ความล่าช้าในการย้ายผู้ต้องขังไปดำเนินคดีในเรือนจำของเขตอำนาจศาลอื่น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2565 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหา/ผู้ต้องขังให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนต่อคณะรัฐมนตรี กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานศาลยุติธรรม สรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

1.คณะรัฐมนตรีขอให้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรม โดยคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) ประสานความร่วมมือหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเร่งรัดบันทึกข้อมูลของผู้ต้องหา/ผู้ต้องขังในระบบฐานข้อมูลศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการยุติธรรม (Data Exchange Center: DXC) เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน พร้อมประสานความร่วมมือไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมราชทัณฑ์ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานศาลยุติธรรม ในการใช้ฐานข้อมูลหรือส่งต่อข้อมูลร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

2. สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอให้กำชับให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบฐานข้อมูลสถานะของผู้ต้องหาก่อนที่จะขอออกหมายจับ และเร่งรัดดำเนินการสอบสวนในทันทีที่สามารถกระทำได้เนื่องจากผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำแล้ว ทั้งนี้ หากพนักงานสอบสวนไม่รีบดำเนินการให้ถือเป็นความผิดเฉพาะตัว และให้พิจารณาแก้ไขคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 419/2556 เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวน และมาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา บทที่ 4 ข้อ 4.4.2 วรรคสอง หากผู้ต้องหานั้นถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำแล้ว พนักงานสอบสวนไม่จำเป็นต้องขอออกหมายจับก่อนการประสานขออายัดตัว โดยให้เริ่มสอบสวนผู้ต้องหาที่เรือนจำในโอกาสแรก

3.สำนักงานอัยการสูงสุดในกรณีที่ผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำต่างท้องที่กับเขตอำนาจศาลที่พนักงานอัยการจะฟ้องคดีได้และคดีก่อนคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้ว และได้ส่งสำนวนการสอบสวนมาให้พนักงานอัยการแม้ไม่ได้มีการย้ายตัวผู้ต้องหามาอยู่ในเขตอำนาจศาลเดียวกันก็ตาม ให้พนักงานอัยการรับสำนวนการสอบสวนไว้เพื่อพิจารณาสั่งคดีและฟ้องคดีต่อศาลต่อไปได้ และในขั้นการสั่งฟ้องต่อศาล ให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังอยู่แล้วในเรือนจำต่อศาลในเขตอำนาจที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ซึ่งต่างท้องที่กับเรือนจำที่จำเลยถูกคุมขังอยู่ได้ด้วยวิธีการบรรยายฟ้องให้ศาลทราบว่าจำเลยนั้นถูกคุมขังอยู่แล้ว นอกจากนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดควรพิจารณาแก้ไขระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2563 ข้อ 212 (2) ในคดีอื่นได้มีคำพิพากษาแต่คดียังไม่ถึงที่สุด ให้พนักงานอัยการรับสำนวนการสอบสวนไว้เพื่อพิจารณาและฟ้องคดีต่อศาลได้

4.สำนักงานศาลยุติธรรม ขอให้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ว่า การพิจารณาออกหมายจับ ให้ศาลตรวจสอบฐานข้อมูลสถานะของผู้ที่จะถูกออกหมายจับจากระบบฐานข้อมูลต่าง ๆ เช่น ระบบฐานข้อมูลศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการยุติธรรม (DXC) ระบบฐานข้อมูลหมายจับ ระบบฐานข้อมูลหมายขัง หมายจำคุกและหมายปล่อย เพื่อใช้ข้อมูลประกอบดุลพินิจในการพิจารณาออกหมายจับด้วย และในชั้นพิจารณารับฟ้อง ให้สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอเรื่องต่อ ก.ต. แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบในการพิจารณารับฟ้องของพนักงานอัยการได้โดยถือว่ามีตัวจำเลย (ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ) เพื่อดำเนินคดีแล้ว โดยหากศาลต้องการสอบถามจำเลยอาจดำเนินการโดยใช้การประชุมทางจอภาพหรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น หรือมีคำสั่งให้เรือนจำพาตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมายังศาลได้ นอกจากนี้ ควรพิจารณาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาตรา 172/1 (ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมอยู่ในระหว่างดำเนินการ) และกฎหมายลำดับรองเพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ระบบการประชุมทางจอภาพในการพิจารณาคดี เพื่อให้ครอบคลุมเหตุที่ไม่สามารถย้ายตัวจำเลยมาอยู่ในเขตอำนาจศาลที่รับฟ้อง เพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการดำเนินคดีในกรณีที่จำเลยถูกคุมขังอยู่ต่างเขตอำนาจศาลรวมครอบคลุมถึงเหตุจำเป็นอื่น ๆ ในการอำนวยความยุติธรรมด้วย

5.กรมราชทัณฑ์ ต้องแจ้งให้ผู้ต้องขังทราบข้อมูลเกี่ยวกับการอายัดตัวในโอกาสแรกที่กระทำได้ โดยเห็นควรให้จัดทำเป็นคู่มือการแจ้งสิทธิของผู้ต้องขังเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินคดีและข้อมูลเกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินคดี รวมทั้งควรมีการจัดทำแนวปฏิบัติร่วม (Guideline) เพื่อให้พนักงานสอบสวนและกรมราชทัณฑ์บูรณาการข้อมูลร่วมกัน ในส่วนของการอนุมัติย้ายตัวผู้ต้องหา กรมราชทัณฑ์ควรพิจารณาอนุมัติการย้ายตัวผู้ต้องหาให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น ให้มีการขอย้ายตัวผู้ต้องหาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ในหลักเกณฑ์การย้ายผู้ต้องขัง ให้กรมราชทัณฑ์แก้ไขระเบียบกรมราชทัณฑ์ให้สามารถขออนุมัติย้ายผู้ต้องขังได้ในทุกกรณี ไม่ใช่เพียงเฉพาะกรณีของผู้ต้องขังที่คดีเสร็จเด็ดขาดและไม่มีคดีอื่นที่ต้องดำเนินการแล้วเท่านั้น

นอกจากนี้ กรมราชทัณฑ์ควรแก้ไขระเบียบให้ผู้ต้องขังที่ถูกอายัดได้มีโอกาสรับการฝึกอาชีพและรับการศึกษาอบรมนอกเรือนจำ หากข้อหาและโทษในคดีอายัดไม่ใช่ความผิดอันร้ายแรงที่จะสุ่มเสี่ยงต่อการหลบหนีและทำให้สังคมไม่ปลอดภัย และสุดท้ายให้กรมราชทัณฑ์ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดทำบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการประสานการอายัดตัวที่มีทั้งกรณีที่มีหมายจับและไม่มีหมายจับ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลในการพิจารณาถึงความจำเป็น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม. เชื่อมีการใช้ 'สปายแวร์ เพกาซัส' เสนอ ครม. สั่งการตรวจสอบ หาทางป้องกัน

กสม. เชื่อมีการใช้สปายแวร์เพกาซัสละเมิดสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสนอ ครม. สั่งการตรวจสอบ หาทางป้องกันการใช้งานในทางมิชอบ

เอาแล้ว 'ธงทอง' เผยคนในกระบวนการยุติธรรม บ่นให้ฟังต้องทำคดีตาม 'ธง' ที่ผู้ใหญ่ปรารถนา!

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษานายกฯ อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม และ ศาสตราภิชานประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์