ยก 3 หลักธรรมข้อคิดจาก 'อ.เสกสรรค์' เตือนสติสังคมไทย

‘อดีตรองอธิการ มธ.’ ยกกรณีโซเชียลโจมตี ‘สมรักษ์’ ประกาศลงสมัคร ส.ส. สะท้อนการผูกขาดความเชื่อเป็นความจริงมากเกินไป ชู 3 หลักธรรมข้อคิดจาก ‘อ.เสกสรรค์’ เตือนสติคนไทย

2 พ.ค. 2565 – รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ไม่ว่าใครจะเห็นอย่างไรต่อการตัดสินใจเข้าพรรคพลังประชารัฐ เพื่อลงสมัคร ส.ส. ในบ้านเกิดของคุณสมรักษ์ คำสิงห์ แต่ผมชอบคำถามที่ขอบคุณสมรักษ์ตอบโต้ต่อกระแสการโจมตีใน social media มาก ข้อความที่โจมตีมีทั้งที่ไม่หยาบ เช่น “แค่คิดก็ผิดแล้ว” หรือที่ด่าด้วยคำหยาบไปเลยก็มาก เพราะคุณสมรักษ์ถามว่า

“พวกที่คอมเมนต์ว่าผมเนี่ย คิดนิดนึง ผมไปทำผิดอะไรหรือยัง พอแก่ตัวมาแล้วเราก็อยากไปพัฒนาท้องถิ่นนะครับ………”

พอดีไปหยิบหนังสือเก่าเล่มหนึ่งขึ้นมาอ่าน มีคำปาฐกถาของ อ.ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เพื่อนสนิทของผมคนหนึ่ง ผู้ซึ่งมีผลงานทางวิชาการมากมาย สมควรมีตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ แต่ก็มีตำแหน่งทางวิชาการเป็นเพียงอาจารย์ เนื่องเพราะการจะได้ตำแหน่งทางวิชาการเป็น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ จะต้องรวบรวมผลงานทางวิชาการไปยื่นขอตำแหน่งจากมหาวิทยาลัย แต่ อ.เสกสรรค์ ไม่เห็นว่าการได้ตำแหน่งทางวิชาการไม่ควรจะต้องเป็นการ “ยื่นขอ” อาจารย์จึงไม่ยื่นขอ ดังนั้นจึงมีตำแหน่งทางวิชาการเป็นเพียงอาจารย์จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ซึ่งต้องขอยกย่องในความยึดมั่นในอุดมการณ์แบบยอมหักไม่ยอมงอของ อ.เสกสรรค์ ไว้ในที่นี้ด้วย

การแสดงปาฐกถาดังกล่าว เป็นการปาฐกถาในหัวข้อ “ประชาธิปไตยในระยะเปลี่ยนผ่าน” ในระหว่างช่วงเวลาของความขัดแย้งในบ้านเมือง เมื่อคนเสื้อแดงลุกขึ้นมาประท้วงรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และเกิดวาทกรรม “ไพร่และอำมาตย์” ขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นการปาฐถาที่ลุ่มลึกและเฉียบคมอย่างยิ่ง โดยนำหลักธรรม 3 ข้อมาเป็นแกนหลัก ซึ่งหลักการยังคงใช้ได้กับสถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบัน ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่รวมทั้งสถานการณ์โลกด้วย ผมจึงขอคัดลอกข้อความเฉพาะที่สำคัญของหลักธรรมดังกล่าวมาให้อ่านกันดังนี้

“หลักธรรมข้อแรกเป็นจุดเน้นของพุทธศาสนานิกายเซน ท่านสอนให้มองความจริงตามที่มันเป็นอยู่ โดยไม่ใส่ทัศนะ ทฤษฎี หรือจินตภาพใดๆเข้าไปปะปน พูดอีกอย่างหนึ่งคือ อย่ารีบจับความจริงมาใส่กรอบคิด เพราะจะได้ความจริงไม่ครบ เมื่อข้อมูลหลายอย่างถูกสกัดโดยตะแกรงความคิด สุดท้ายก็จะเห็นแต่โลกที่เราอยากเห็น ไม่ใช่โลกที่คลี่คลายอยู่ในความเป็นจริง หรือพอโลกไม่เป็นไปตามที่คิด ก็จะเกิดอาการผิดหวังไม่พอใจ …….

ถามว่าแล้วตอนนี้ ตัวละครทางการเมืองทั้งหลาย ไม่ว่าฝ่ายค้าน ฝ่ายปกครอง ฝ่ายที่สูญเสียอำนาจ ฝ่ายที่กุมอำนาจ ตลอดจนฝ่ายที่อยากขึ้นสู่อำนาจ พร้อมด้วยเพื่อน มิตร บริวาร และผู้สนับสนุนของทุกฝ่าย คิดสอดคล้องกับความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน

เรียนตรงๆว่า โดยลักษณะของการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจ (หรือการแสดงอำนาจของตนด้วยการต่อต้านอำนาจอื่น) สัจธรรมย่อมถูกทำลายไปตั้งแต่แรกแล้ว ตราบใดที่ทุกฝ่ายต่างชูธงผูกขาดความถูกต้อง ยกความเห็นเป็นความเชื่อ ยึดความเชื่อเป็นความจริง โดยวิธีคิดย่อมไม่อาจสะท้อนโลกได้อย่างแจ่มกระจ่างและครบถ้วน …….

หลักธรรมข้อที่ 2 พระท่านสอนไว้ว่า ในการพิจารณาปรากฏการณ์ใดๆ เราควรมองเห็นความเชื่อมโยงของเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์นั้นๆ ไม่ใช่มองแบบแยกส่วน ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินผิดถูกแบบตัดตอน ……..

การมองโลกแบบแยกส่วนและตัดตอน ไม่เพียงทำให้บุคคลชอบตั้งตนเป็นแกนหมุนของจักรวาลเท่านั้น (ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว ) หากยังนำไปสู่ทัศนะแบบขาวล้วนดำล้วน แยกคนแยกโลกออกเป็นสองส่วนเสมอ …..

หลักธรรมข้อที่สาม …… คือโดยหลักอนิจจังซึ่งเป็นหนึ่งในไตรลักษณ์ เราควรต้องมองเห็นการเปลี่ยนแปลงเลื่อนไหลของสรรพสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นสถานการณ์การเมือง อย่าไปคิดว่าสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องไม่ดีตลอดเวลา กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ เราไม่ควรมองคำนิยาม คุณค่าความหมาย หรือบทบาท ตัวแสดงตลอดจนองค์ประกอบทางการเมืองทั้งหลายอย่างหยุดนิ่งตายตัว …….”

ใช่หรือไม่ว่า ทุกวันนี้เรามักผูกขาดความถูกต้อง ยกความเห็นเป็นความเชื่อ ยึดความเชื่อเป็นความจริงกันมากเกินไป กรณีของคุณสมรักษ์ คำสิงห์ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน

ใช่หรือไม่ว่า ทุกวันนี้เรามักมองปรากฏการณ์ต่างๆ แบบแยกส่วน ตัดตอน ไม่พยายามเชื่อมโยงเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์นั้นๆ สงครามรัสเซีย ยูเครน เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนเช่นกัน

ใช่หรือไม่ว่า ทุกวันนี้เรามักมององค์ประกอบทางการเมืองทั้งหลายอย่างหยุดนิ่งตายตัว เช่น ประชาธิปไตยต้องดีเสมอ การรัฐประหารต้องเลวเสมอไม่ว่าจะทำเพื่ออะไร

ประเทศจีนเป็นตัวอย่างของระบอบการปกครองที่เกิดจากการวิวัฒนาการของจีนเอง ซึ่งไม่ใช่ทั้งประชาธิปไตย และก็ไม่ใช่ทั้งเผด็จการเต็มตัว แต่ระบอบการปกครองของจีนมีความเหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพปัจจุบันของจีน ที่สำคัญคือประชาชนมีความพอใจ แต่ในสายตาของประเทศตะวันตกกลับมองอีกอย่าง ในทำนองว่าหากประเทศใดไม่ใช้ระบอบการปกครองที่เป็นแบบเดียวกับประเทศของตัวล้วนเป็นเรื่องผิดและล้าหลัง

หากเราพยายามยึดหลักธรรม 3 ข้อนี้ เป็นบรรทัดฐานในการตัดสินเรื่องราว การกระทำ และสถานการณ์ต่างๆ ประเทศเราก็จะมีปัญหาความขัดแย้งน้อยลง ความวุ่นวายน้อยลง นี่คือจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของการมีสังคมที่ดีขึ้นกว่าเดิม แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า การจะให้คนส่วนใหญ่หันกลับมามองตัวเองและพวกตัวเองอย่างไม่มีอคติ และตระหนักถึงความผิดพลาดต่างๆ ที่ผ่านมา แล้วเปลี่ยนมุมมองของตัวเองต่อสรรพสิ่งทั้งหลายเสียใหม่ เป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา กระทั่งเป็นไปไม่ได้

เช่นนี้แล้ว สังคมที่ดีขึ้นกว่าเดิม จะเกิดขึ้นได้อย่างไร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พรรคกล้าธรรม พร้อมรับ 20 สส.กลุ่มผู้กองธรรมนัส

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคกล้าธรรม กล่าวภายหลังพรรคพลังประชารัฐเตรียมประชุมร่วมกรรมการบริหารพรรค และสส. เพื่อขอมติในขับสส. 20 คน ที่สังกัดกลุ่ม

'เบสท์' อัปเดตอาการป่วย 'พ่อบาส'

ก่อนหน้านี้ เบสท์-รักษ์วนีย์ คำสิงห์ ได้ออกมาแจ้งข่าวว่าคุณพ่อบาส-สมรักษ์ คำสิงห์ ถูกนำตัวส่งห้องไอซียู ตรวจพบเส้นเลือดในสมองตีบ ล่าสุดในงานเปิดตัว เอ็นโดลิฟท์ เอ็กซ์ เทคโนโลยีแปลงโฉมระดับโลก อย่างเป็นทางการ ณ ชั้น 4 สถาบันสุขภาพและความงามตรัยญา พระราม 9 ก็ได้เปิดใจถึงเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งยังได้อัปเดตอาการป่วยล่าสุดของคุณพ่อ

ศาลรับฟ้อง 'บิ๊กป้อม' ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 'สิระ' เรียก 50 ล้าน

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค พปชร. เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค พปชร.ได้มอบอำนาจให้ตน ให้ทนายความ ฟ้อง

ปูด 3 บอส กำจัด 'บิ๊กป้อม' พ้นวงจรการเมือง-จ้องขโมย สส.

นายไทกร พลสุวรรณ แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ถึงขบวนการกำจัดพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) พ้นจากการเมือง ว่ามี 3 บุคคล คือ 1.ผู้นำสูงสุดของพรรคเพื่อไทย

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก