'กสม.'จี้สภาเร่งคลอด กม.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน

'กสม.' ออกแถลงการณ์จี้สภาผู้แทนราษฎรเร่งคลอดร่างกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ออกมาบังคับใช้ แม้สาระสำคัญบางเรื่องถูกตัดไป

24 ส.ค.2565 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรเร่งพิจารณาร่างกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ให้ออกมาใช้บังคับได้โดยเร็ว

โดยแถลงการณ์ระบุว่า กสม.ให้ความสำคัญต่อร่างกฎหมายว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่สมควรได้รับการลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 28 ได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ห้ามมิให้กระทำทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม

อีกทั้งเป็นการสมควรที่ประเทศไทยจะต้องมีกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment - CAT) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม มาตั้งแต่ปี 2550 รวมทั้งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้

กสม. ได้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีและวุฒิสภา เพื่อสนับสนุนและผลักดันการตรากฎหมายออกมาใช้บังคับโดยเร็ว โดยได้ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ว่าจะเห็นด้วยกับการแก้ไขของวุฒิสภาหรือไม่ หากไม่เห็นด้วยต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันระหว่าง สส. และ สว. และหากไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในอายุของสภาชุดนี้ ร่างกฎหมายจะต้องตกไปและจะต้องเริ่มกระบวนการใหม่ ซึ่งจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายล่าช้า และไม่สามารถคาดหมายได้ว่าจะดำเนินการตรากฎหมายออกมาใช้บังคับได้เมื่อใด

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้มีกระบวนการ ขั้นตอน และกลไกที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องดำเนินการเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามในระดับหนึ่งแล้ว เช่น ห้ามนำพฤติการณ์พิเศษใด ๆ มาอ้างเพื่อให้การกระทำความผิดเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ให้มีการบันทึกภาพและเสียงขณะจับและควบคุมหรือปล่อยตัวบุคคล ให้มีการบันทึกข้อมูลสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ถูกควบคุมก่อนถูกควบคุมและก่อนปล่อยตัว ให้พนักงานฝ่ายปกครอง พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการ ร่วมเป็นพนักงานสอบสวน และให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมีเขตอำนาจในการพิจารณาคดี เป็นต้น

แม้สาระสำคัญบางประการถูกตัดออกไป เช่น ผู้เสียหายหรือผู้แทนผู้เสียหายในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการห้ามนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิด แต่ กสม. เห็นด้วยและสนับสนุนให้มีกฎหมายดังกล่าวออกมาใช้บังคับโดยเร็ว และขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาโดยคำนึงถึงความเร่งด่วนในการตรากฎหมายฉบับนี้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้มีประชาชนรายใดต้องได้รับผลกระทบจากการกระทำทรมาน และการบังคับให้สูญหาย ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรงได้อีก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟังไว้ 'วันนอร์' ฮึ่ม! ตำแหน่งประธานสภาฯ ใครจะมาแทรกแซงไม่ได้

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวจะมีการขอปรับเปลี่ยนตำแหน่งประธานสภาฯ เพื่อใช้รองรับการ

คุมประพฤติ 'คดีเมาขับ' ฉลองสงกรานต์ 4 วัน พุ่ง 3,737 คดี

เรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติในวันที่ 14 เมษายน 2567 รวมทั้งสิ้น 2,136 คดี

กสม.ชี้ฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อจ.นครปฐม ก่อมลพิษทางกลิ่น จี้อบต. กำกับแก้ไขปัญหา

กสม. ตรวจสอบกรณีฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อจ.นครปฐม ก่อมลพิษทางกลิ่น ส่งผลกระทบต่อสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน แนะ อบต. กำกับแก้ไขปัญหา

'พิธา' เปิดใจอำลาสภา! ทิ้งทวนซักฟอก ครั้งสุดท้ายชีวิตการเมือง

’พิธา‘ ลาสภา เปิดใจ ‘อภิปราย ม.152’ อาจเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตการเมือง ลั่นยิ่งยุบพรรคยิ่งทำให้ถึงเส้นชัยเร็วขึ้น แนะ ‘เศรษฐา’ 3 เรื่อง ปลุกภาวะผู้นำ ‘ปรับ ครม. – มีโรดแมป – ฟังให้มากขึ้น’