จับตานั่งศาลพิจารณาคดีครั้งแรกฟื้นมหากาพย์โฮปเวลล์!

จับตาศาลปกครองนั่งถกคดีนัดแรกที่คมนาคมร้องให้ทบทวนมหากาพย์โฮปเวลล์ใหม่ หลังศาลรัฐธรรมนูญชี้มติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดขัดรัฐธรรมนูญเรื่องการบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ

30 ส.ค.2566 - ในเวลา 13.30 น. ณ ห้องพิจารณาคดี 10 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ศาลปกครองกลางนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ 107/2552 คดีหมายเลขดำที่ 2038/2551 คดีหมายเลขดำที่ 1379/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 366-368/2557 ระหว่าง กระทรวงคมนาคม ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ร้อง) กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด (ผู้คัดค้าน) คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง (พิจารณาคดีใหม่)

คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดง ที่ อ. 221 - 223/2562 ให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการโดยให้ผู้ร้องทั้งสองปฏิบัติตามคำชี้ขาดให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

ต่อมาผู้ร้องทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้รับคำขอพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ของผู้ร้องทั้งสองไว้พิจารณา และให้ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาคำขอให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีของผู้ร้องทั้งสองต่อไป เนื่องจากศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2564 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2564 ที่วินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงเป็นกรณีที่ข้อกฎหมายที่ศาลปกครองสูงสุดใช้ในการทำคำพิพากษาหรือคำสั่งเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ซึ่งทำให้ผลแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงชอบที่จะขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองใหม่ได้ ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แม้ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้นไม่มีผลทำให้คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.221 - 223/2562 ซึ่งทำขึ้นโดยอาศัยมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ใช้บังคับมิได้หรือต้องสิ้นผลบังคับผูกพันลง ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 วรรคสาม แต่มิได้มีผลเป็นการห้ามมิให้คู่กรณีหรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ นำผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้นมาใช้เป็นข้ออ้างในการขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีนี้ใหม่ ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 แต่อย่างใด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เดินหน้า ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ เงินค่าทดแทน เวนคืนอสังหาริมทรัพย์

'รัดเกล้า' เผย คค. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดเงินค่าทดแทนภาระในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน