'อดีตรองอธิการบดีมธ.' จับตาความพยายามล้มล้างสถาบัน ยังคงดำเนินต่อไป

'อ.หริรักษ์'จับตาความพยายามล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้ข้ออ้างปฏิรูป โดยยังคงจัดให้มีการชุมนุมต่อไป หลีกเลี่ยงความรุนแรง พยายามทำลายความน่าเชื่อถือตุลาการศาลรธน.แต่เชื่อพวกเขาไม่มีทางทำสำเร็จ

15 ธ.ค.2564 - รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

ความพยายามในการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้ข้ออ้างว่าเป็นเพียงการปฏิรูป ยังคงดำเนินต่อไป หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการแล้วว่า การกระทำต่างๆเหล่านี้ต้องหยุดลง

แนวทางในการเคลื่อนไหวในช่วงนี้ ดูเหมือนจะใช้แทกติกส์ 2 ประการ

ประการแรกคือ ยังคงจัดให้มีการชุมนุมต่อไปเป็นระยะๆ แต่พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง หลีกเลี่ยงการใช้คำหยาบคาย ยังคงมีการปราศรัย เสวนา เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 และโจมตีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และที่ยังคงใช้วิธีการเดิมก็คือ การบิดเบือน และการพูดความจริงเพียงเสี้ยวเดียว

ตัวอย่างเช่น กล่าวหาว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย ให้ความสำคัญเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยไม่สนใจเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งแท้ที่จริง ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่วินิจฉัยคำร้องของคุณ ณฐพร โตประยูรว่า การกระทำของแกนนำม็อบ "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" วันที่ 10 สิงหาคม 2563 เป็นการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า

"บุคคลจะใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้"
วรรคสองบัญญัตติว่า

"ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่งย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้"

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การปราศรัยและการกระทำของแกนนำการชุมนุมทั้ง 3 คนทั้งในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 และพฤติกรรมต่อๆมาหลังจากนั้น เข้าข่ายเป็นความพยายามที่จะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่เป็นเพียงการปฏิรูป ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ หมายถึงทั้งการปกครองระบอบประชาธิปไตย และทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องไปด้วยกัน ดังนั้นความพยายามล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ย่อมเป็นการลัมล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอ้นมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั่นเอง ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญจึงสามาถสั่งการให้หยุดการกระทำเหล่านั้นเสีย ดังนั้นจึงเป็นการวินิจฉัยบนพื้นฐานของกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

ข้อเท็จจริงง่ายๆเช่นนี้ พวกที่อยู่ในขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ล้วนพยายามที่จะไม่เข้าใจ และพยายามที่จะบิดเบือน เช่น ความเห็นของนักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งในระหว่างการชุมนุมครั้งล่าสุด ที่บอกว่า มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่ใช้ปิดปาก และตบปากประชาชน เพราะเป็นการเอาประชาชาชนเข้าคุก และเป็นการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นที่เป็นสาธารณประโยชน์ นอกจากนี้ยังระบุว่าการดำเนินคดีตามมาตรา 112 ต่อบุคคลต่างๆเป็นการดำเนินคดีอย่างบ้าคลั่ง และล้วนเป็นคดีที่ไม่มีมูล

แทกติกที่ 2 คือ พยายามทำลายความน่าเชื่อถือของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยการขุดคุ้ย หาเหตุโจมตีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นรายบุคคล เริ่มโดยพรรคก้าวไกลอภิปรายโจมตีนายปัญญา อุดชาชน ตุลการศาลรัฐธรรมนูญในสภาผู้แทนราษฎร ในประเด็นเรื่องการเกี่ยวข้องกับกรณีทุจริตการเอื้อประโยชน์ต่อผู้เสนอราคาเพื่อการจัดซื้อคอมพิวเตอร์มูลค่า 13 ล้านบาท และในประเด็นเรื่องวุฒิการศึกษาว่าน่าเชื่อถือหรือไม่

ล่าสุดกลุ่ม Nitihub ซึ่งเป็นชุมชนนักกฎหมายจากหลายสถาบัน ได้ออกจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยุติการเชิญ ศาสตราจารย์ ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ เป็นอาจารย์พิเศษ ด้วยเหตุผลว่า อ.ทวีเกียรติ มีความรู้ความเข้าใจต่อหลักกฎหมายอาญาที่คลาดเคลื่อน ในเรื่องสิทธิในการประกันตัว และยังกล่าวหาว่า อ.ทวีเกียรติ เป็นผู้ที่ไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นการไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นแบบอย่างของนักกฎหมายที่ดี

ดูจากข้อกล่าวหาแล้ว น่าจะบอกได้ว่ากลุ่ม Nitihub ที่บอกว่าเป็นชุมชนของนักกฎหมายจากหลายสถาบัน เป็นกลุ่มนักกฎหมายที่ฝักฝ่ายอยู่กับฝ่ายใด

ผมไม่รู้จักนาย ปัญญา อุชชาชน เป็นส่วนตัว แต่สำหรับอ.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ต้องบอกว่า รู้จักคุ้นเคยกันมาตั้งแต่ปี 2522 เกินกว่า 42 ปีมาแล้ว เพียงแต่ระยะหลังตั้งแต่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องออกจากการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงไม่ค่อยได้ติดต่อกัน

เมื่อสมัยที่ผมทำงานเกี่ยวข้องกับการดูแลกิจกรรมนักศึกษา ซึ่งเรียกว่าฝ่ายการนักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างปี 2522 ถึง 2529 อ.ทวีเกียรติเป็นอาจารย์ที่คณะนิติศาสตร์ เราต้องใช้บริการของอาจารย์ทวีเกียรติค่อนข้างบ่อย โดยเชิญให้มาเป็นประธานคณะกรรมการสอบทางวินัยนักศึกษา ซึ่งหมายถึงการสอบนักศึกษาที่ทำผิดวินัย เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย ซึ่งผู้ร่วมงานทั้งหมดล้วนทราบกันดีว่าอ.ทวีเกียรติเป็นผู้ที่ทำงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการเอนเอียงไปทางฝ่ายใด และไม่มีใครไปสั่งให้พิจารณาไปทางใดทางหนึ่งได้ จนเป็นที่พูดกันว่า หากมีกรณีที่นักศึกษาที่ทำผิดวินัยร้ายแรง และต้องการผู้ที่ทำงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการเกรงใจใคร ต้องเชิญอ.ทวีเกียรติเป็นประธานเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงกล้ารับประกันว่า อดีตเพื่อนร่วมงานผมคนนี้ ไม่มีใครสั่งให้พิจารณาคดีให้ไปในทางใดทางหนึ่งได้แน่นอน

เรื่องข้อล่าวหาว่าว่ามีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับหลักกฎหมายอาญา หากไปดูประวัติการศึกษา ประวัติและประสบการณ์ทำงานของอ.ทวีเกียรติแล้วต้องบอกว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เด็ดขาด

เรื่องการไม่ยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศนั้นเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะไม่ว่าจะจริงหรือไม่ อ.ทวีเกียรติเป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะพอที่จะไม่ให้ความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบส่วนตัวมีอิทธิพลต่อการสอนและการวินิจฉัยคดีต่างๆ

ซึ่งทีการที่มีอาจารย์บางคนป้อนความคิดและความลำเอียงส่วนตัวในทางการเมืองให้กับนักศึกษาจำนวนมากในทุกคาบการสอน มาเป็นเวลานานยาวนานกว่า 10 ปี มีการแนะนำนักศึกษาให้อ่านหนังสือที่สร้างภาพลบต่อพระมหากษัตริย์ ทั้งยังให้นักศึกษาที่เป็นสาวก แนะนำให้รุ่นน้องอ่านหนังสือแบบนี้ด้วย แต่ก็ไม่เห็นคนพวกนี้ไปเรียกร้องให้อาจารย์เหล่านี้หยุดการสอนแต่อย่างใด

ต่อกรณีดังกล่าวข้างต้นนี้ อ.ทวีเกียรติได้แสดงความรู้สึก ด้วยถ้อยคำของอาจารย์เองดังต่อไปนี้

"ถ้าอาจารย์ทวีเกียรติ ตัดสินคดีเพราะกลัวกระแส กลัวเสียชื่อเสียง กลัวเสียผลประโยชน์ กลัวคณะจะไม่เชิญไปสอน นั่นแหละจึงจะไม่สมควรเป็นตุลาการ ความจริงแล้วพวกเขาต่างหากที่กลัวผมมากจนไม่อยากให้เป็นตัวอย่างที่ไม่ยอมต่อสิ่งที่ไร้เหตุผล โดยไม่ให้มาสอน หรือดิสเครดิตในเรื่องต่างๆไงครับ"

ขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ยังจะคงดำเนินต่อไป การหลีกเลี่ยงความรุนแรง การพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อจะทำให้ได้แนวร่วมที่เพิ่มชึ้น ได้ผู้ร่วมชุมนุมเพิ่มขึ้น ซึ่งในระยะหลังที่ผ่านมา ผู้คนจำนวนมากเริ่มไม่เห็นด้วยกับแนวทางการเรียกร้อง ที่มุ่งแต่เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ และมาตรา 112 แกนนำของผู้ชุมนุมก็เริ่มทะเลาะกันเอง ทำให้การชุมนุมแต่ละครั้งมีคนไปร่วมน้อยและขาดพลังอย่างเห็นได้ชัด

ขอบอกว่า ไม่ว่าพวกเขาจะพยายามปรับวิธีการอย่างไร หากจุดหมายของการชุมนุม และการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกันทั้งหมด คือการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือจะอ้างว่าเป็นเพียงการปฏิรูปก็ตาม พวกเขาไม่มีทางทำสำเร็จ เพราะพวกเขาไม่มีทางมีแนวร่วมมากพอที่จะขับเคลื่อนขบวนการนี้อย่างมีพลังได้ มีแต่พวกที่เก่งแต่อยู่แต่กับคีย์บอร์ดหน้าจอเท่านั้น

ดังนั้นผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จึงน่าจะสบายใจได้ครับ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อดีตรองอธิการบดี มธ. หนุนสร้างภาพยนต์ animation 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ภาค2

คณะผู้สร้างภาพยนต์ animation 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ที่จะต้องสร้างภาพยนต์ภาค 2 ต่อจากนี้ เพราะครั้งนี้จะมีคนเสนอตัวสนับสนุนช่วยเหลือมากมาย

'ไอติม' เผยก้าวไกลมีแผนรองรับทุกสถานการณ์ หลังกกต.ชงศาลรธน.ยุบพรรค

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องคดียุบพรรคก้าวไกลให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ว่า ขั้นตอนต่อไปคงต้องรอพรุ่งนี้