'นักวิชาการอิสระ' ดีใจนักศึกษายุคนี้หาความหมายเจอแล้วว่า ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร

'อ.กมล' ย้อนประวัติศาสตร์การลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาทั่วโลกต่อต้านความไม่เป็นธรรม เริ่มต้นหาความหมาย ครบรอบ 50 ปี14ตุลาฯ ดีใจนักศึกษายุคนี้ หาความหมายเจอแล้วว่าต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร

10พ.ย.2566 - กมล กมลตระกูล นักวิชาการอิสระ เผยแพร่บทความ เรื่อง ยุคกบฏ มีเนื้อหาดังนี้

จากหนังสือ: อนุสรณ์รุ่น 50 ปี TU 13 (ธรรมศาสตร์ 13) – มรดกความคิด ( หนา 800 หน้า)
ทศวรรษ 60-70 ( ค.ศ. 1960-1970) โลกตะวันตกเรียกว่า Revolt Generations) เพราะสถานการณ์โลก เต็มไปด้วยความปั่นป่วนในท่ามกลางสงครามเย็นที่เข้มข้น จนหมิ่นเหม่เกือบจะเกิดสงครามโลกในกรณีที่ครุสชอฟ ประธานาธิบดีโซเวียตส่งจรวดไปติดตั้งยังเกาะคิวบา และประธานาธิบดีเคนเนดี้ยื่นคำขาดให้ถอน แลกกับสัญญาลับว่าจะไม่ส่งกำลังทหารรุกรานและยึดครองคิวบา มีสงครามเวียดนาม มีการปฏิวัติรัฐประหารทั่วโลกในหลายๆทวีป เช่น การโค่นล้มรัฐบาลของนายอาเยนเด้ ประเทศชิลีที่ขึ้นดำรงตำแหน่งจากการเลือกตั้ง โดยซีไอเอ รวมทั้งการปฏิวัติตัวเองของจอมพล ถนอม กิตติขจร ในประเทศไทยด้วย

ในสถานการณ์เช่นนี้ คนหนุ่มสาวที่เป็นนักศึกษาทั่วโลก โดยเฉพาะในอเมริกา และฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ ได้ลุกขึ้นมาเดินขบวนประท้วงต่อต้านความไม่เป็นธรรม ต่อต้านรัฐบาลทหาร ต่อต้านสงครามรุกรานในเวียดนาม ต่อต้านลัทธิและนโยบาย จักรวรรดินิยม ( Imperialism )
เกิดการประท้วงและลุกฮือปิดกรุงปารีสในเดือนพฤษภาคม 1968 ( May 1968) โดยนักศึกษาและกรรมกรกว่า 10 ล้านคนเข้าร่วม มี Daniel Cohn-Bendit เป็นผู้นำนักศึกษา ( ขบวนการซ้ายใหม่ - New Left)

สาเหตุของการลุกฮือปิดกรุงปารีส และหยุดงาน คือ การต่อต้านผู้นำ นายพลเดอโกลด์ ที่ครองอำนาจติดต่อกันมา 10 ปี โดยไม่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ
เหตุการณ์ครั้งนี้จุดประกายให้เกิดการประท้วงขึ้นทั่วโลก โดยหนุ่มสาว เยาวชนนักศึกษา
แม้แต่ นักคิดนักเขียนและนักปรัชญารางวัลโนเบลปี 1964 Jean-Paul Sartre และ นักปรัชญาที่มีชื่อเสียง ชาวอังกฤษ Bertrand Russell ก็ยังออกมาร่วมประท้วงลัทธิจักรวรรดินิยมและสงครามอธรรมในเวียดนาม

ขบวนการนักศึกษาส่วนใหญ่สนับสนุนรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน คิวบา และรัฐบาลเวียดนามเหนือที่มีโฮจิมินต์ เป็นผู้นำ ความคิดของประธานาธิบดีเหมา เจ๋อตง หรือ Maoism กระจายไปทั่วโลก เช กูวารา คือ วีรบุรุษของคนหนุ่มสาวในยุคนั้น.

ยุค "Give Peace a Chance"

เกิดขบวนการฮิปปี้ หรือบุปผาชน เกิดวงดนตรี The Beatle ได้แต่งเพลงต่อต้านสงครามออกมาชื่อ "Give Peace a Chance" ซึ่งเป็นเพลงที่ไม่เคยตาย ตราบเท่าที่โลกยังไร้สันติภาพ. เกิดนักร้อง และวงดนตรีเพื่อชีวิตขึ้นทั่วโลก เช่น Bob Dylan, Joan Baez , Peter Paul and Mary , Pete Seeker etc. John Lennon ได้แต่งเพลง Imagine อันมีความหมายลึกซึ้ง เรียกร้องและใฝ่ฝันถึงโลกที่ไร้ความขัดแย้ง ไร้ความแตกต่าง ไร้ลัทธิความเชื่อและศาสนาที่แตกต่าง ไร้พรมแดน

ในประเทศไทยเกิดวงเดนตรีเพื่อชีวิต เช่น วงต้นกล้า วงคาราวาน วงกรรมาชน วงคุรุชน เป็นต้น
เป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่านักศึกษาไทยในยุคนี้ได้รับอิทธิพลจาก ข่าวสารต่างๆของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะสงครามเย็นแย่งพันธมิตร และหาแนวร่วม ของค่ายประชาธิปไตยเสรี ที่มีอเมริกาเป็นผู้นำ กับค่ายสังคมนิยมที่มีโซเวียตและจีนเป็นผู้นำ

เหมาเจ๋อตงประกาศนโยบาย “ กูไม่กลัวมึง(อาวุธนิวเคลียร์) “ เพราะจีนมีประชากร 1000 ล้านคน หากตายสักครึ่งหนึ่งก็ยังเหลืออีก 500 ล้านคนที่สามารถเอาชนะอเมริกาได้

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพิ่งผ่านพ้นยุค “ สายลมแสงแดด” มาสู่ยุค “ ฉันจึงมาหาความหมาย” อันเป็นยุคที่เป็นที่มาของหนังสืออนุสรณ์เล่มนี้ คือ มีกลุ่มอิสระเกิดขึ้นมากมายมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น สภาหน้าโดม พรรคพลังธรรม กลุ่มเศรษฐธรรม พรรคยูงทอง พรรคพิทักษ์ธรรม ของนักศึกษา และชมรมต่างๆ ซึ่งได้เบิกทาง และเป็นประกายไฟดวงน้อยๆที่ลุกลามทุ่งเป็นประกายใหญ่ของขบวนการนิสิตนักศึกษาในยุคต่อมา

ศิษย์เก่ามากหน้าหลายตา ที่กลายเป็นผู้มีชื่อเสียง ผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตราชการ หรือด้านธุรกิจมีทั้งนักการทูต นักการเมือง ผู้พิพากษา ผู้ว่าราชการจังหวัด ครูบาอาจารย์ นักเขียน ทนาย ที่ต่างช่วยกันบันทึกเส้นทางเดินชีวิต บันทึกความทรงจำบทเรียนและประสบการณ์ในการทำงาน แนวคิด ประสบการณ์ชีวิต เกร็ดประวัติศาสตร์ในยุคนั้น ซึ่งล้วนมีคุณค่า น่าอ่าน และหาอ่านจากที่อื่นๆไม่ได้

กำลังสำคัญที่เป็นต้นคิดและในการหาทุนและบริจาคเงินในการทำหนังสือเล่มนี้ คือ บุญยงค์ มหาวิเศษศิลป์ รองประธานรุ่น ภูมิสัน เลิศโรจน์จรรยา และ พีรพล ตริยะเกษม ศิริศักดิ์ ศุภมนตรี ประธานรุ่น โดยมี ปฏินันท์ สันติเมทนีดล พิชิต จงสถิตวัฒนา เป็นหัวเรือใหญ่ของกองสาราณียกร

และคณะกองบรรณาธิการ อันประกอบด้วย ดร. วนิดา ศิริลาภอนันต์ นงลักษณ์ หาราชัย ผศ. ทิพยวรรณ สุขีโมกข์ รุจี ยุวดี สมบัติ สุวรรณกยะวิกย์ สุนิสา กองนาวี อารีย์ กังวานเนาวรัตน์ ปาริชาติ ประคองจิตร์ และ ศิริวรรณ สุขวิเศษ

น่าเสียดาย และน่าเศร้าอย่างสุดซึ้ง ที่ หัวหน้าคณะสาราณียกร คือ คุณ ปฏินันท์ สันติเมทนีดลได้เสียชีวิตไปก่อนที่หนังสือเล่มนี้จะสำเร็จพิมพ์เป็นรูปเล่มออกมาสมบูรณ์เพียงประมาณ 1 อาทิตย์
ผลงานที่เปรียบเสมือนเป็นมรดกผลงานสำคัญชิ้นสุดท้ายของชีวิต แต่เขากลับไม่ได้เห็น ไม่ได้จับต้อง

ปี พ.ศ. 2513 นักศึกษารุ่นนี้อยู่ในบรรยากาศทางการเมืองที่ 50 ปีเต็มผ่านไป ยังพายเรืออยู่ในอ่างกลับมาที่เดิม โดย มีนายกรัฐมนตรีที่เป็นทหาร คือ จอมพลถนอม กิตติขจร และมาจากการรัฐประหารในยุคนั้น และ พล อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใน พ.ศ 2563 ในยุคนี้

ในขณะที่ หลายประเทศมีกฎหมายห้ามทหารเข้ามาก้าวก่ายการเมือง เพราะทหารมีหน้าที่เป็นรั้วของชาติ เพื่อต่อสู้กับการรุกรานของศัตรูภายนอกเท่านั้น เช่น สหรัฐอเมริกา มีกฎหมายชัดเจนว่า ทหารห้ามใช้อาวุธกับพลเมือง ทหารใช้อาวุธกับศัตรูภายนอกได้เท่านั้น เวลาเดินทางก็ห้ามแต่งเครื่องแบบทหาร ต้องแต่งกายเป็นพลเรือนได้เท่านั้น

ข้อที่น่าดีใจ ที่เปลี่ยนแปลงไป ใน 50 ปี จากเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ที่เพิ่งจัดงานรำลึกถึงอย่างเอิกเกริก คือ

นักศึกษาในยุคนั้น เริ่มต้นหาความหมาย แต่ นักศึกษายุคนี้ หาความหมายเจอแล้วว่า ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นักวิชาการ' ยกเคสอเมริกา 'เงินดิจิทัล' ควรโอนเข้าบัญชีให้คนจน นำไปล้างหนี้จะเพิ่มกำลังซื้อ

นายกมล กมลตระกูล นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึง โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่า

'นักวิชาการอิสระ' เตือนไทยไม่เข้าร่วม 'BRICS' หายนะศก.ยิ่งกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง จับตา 'SCO'

'กมล' วิเคราะห์ อำนาจภูมิรัฐศาสตร์ของไทย เตือนหากไม่เข้าร่วม BRICS ยังผูกอยู่กับดอลลาร์ เงินบาทจะไร้ค่าไปด้วย หายนะทางเศรษฐกิจยิ่งกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง จับตา องค์กรความร่วมมือเชี่ยงไฮ้ SCO จะแทนยูเอ็น

นักวิชาการ ฟันเปรี้ยง 'กระเช้าขึ้นภูกระดึง' เอื้อนายทุนผูกขาด มุ่งกำไรสูงสุด คนเที่ยวเดือดร้อนถูกโขกราคา

นายกมล กมลตระกูล นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า โครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงกำลังมาแรง!

'ชัชชาติ' เป็นหนี้บุญคุณ 14 ตุลา 16 บอกถ้าไม่มีวันนั้นก็ไม่มีเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ มูลนิธิ 14 ตุลา และญาติวีรชน จัดงานรำลึกครบรอบ 50 ปี เหตุการณ์

'เจ้าฝันถึงโลกสีใด' งานมอบรางวัลประกวดเรื่องสั้น-บทกวี 14 ตุลา

มูลนิธิ 14 ตุลา ร่วมกับ สมาคมนักเขียนฯ และ สมาคมภาษาและหนังสือฯ จัดงานมอบรางวัลประกวดเรื่องสั้น-บทกวี “เจ้าฝันถึงโลกสีใด” 50 ปี 14 ตุลา จิตวิญญาณประชาธิปไตย มิตรน้ำหมึกร่วมงานอบอุ่น