'อ.ศศิน' เผยโจทย์ที่ไม่มีใครคิดจะตอบ 3 ข้อ หากจะสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง

7 ธ.ค.2566 - นายศศิน เฉลิมลาภ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม อดีตประธานมูลนิธิ สืบนาคะเสถียร โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า #กระเช้าภูกระดึง โจทย์ที่ต้องตัดสินใจของประเทศไทย 3 ข้อ ถ้าทำกระเช้าภูกระดึง จะมีสิ่งที่อาจเป็นประโยชน์หลายประการ

ประการแรก ธุรกิจที่สัมพันธ์กับอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน อาคารพาณิชย์ ที่มีคนครอบครองอยู่รอบๆ ภูเขาภูกระดึง และเส้นทางสู่ภูกระดึงจะคึกคัก ทั้งการเพิ่มมูลค่า การหมุนเวียนของเม็ดเงินต่างๆ ในการขยายกิจการเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะมีมากขึ้น และหมุนเวียนมาเยือนเพื่อขึ้นลงกระเช้าไปที่ราบกว้างใหญ่บนยอดเขา ที่ก่อนหน้านี้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้สองเท้าเดิน

ประการที่สอง ทำให้คนที่คิดว่าตัวเองขึ้นไม่ไหว ไม่มีเวลา และไม่กล้าขึ้น รวมถึงผู้มีข้อจำกัดเรื่องอายุและสภาพร่างกายมีโอกาสขึ้นไปได้ และกระเช้าไฟฟ้าอาจช่วยนำคนเจ็บป่วย บาดเจ็บ ขยะ ขนส่งข้าวปลาอาหาร เครื่องใช้ขึ้นไปได้ง่ายขึ้น นี่เป็นเหตุผลง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ทั้งสิ้น

แต่…การสร้างกระเช้าภูกระดึง มีโจทย์ที่ไม่มีใครคิดจะตอบ 3 ข้อ 3 ระดับ

#ระดับที่ 1 ภูกระดึงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเดินขึ้นเขาที่เป็น Trekking trail ที่ดีที่สุดของประเทศ เมื่อประเมินจากระยะทางที่ไม่ไกลมาก แทบไม่มีอันตรายอะไรถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุจากความประมาท การจัดการที่ลงตัว มีค่าใช้จ่ายในการไปเที่ยวไม่แพง รวมถึงเมื่อขึ้นไปแล้วมีที่สวยๆ ให้เดินเที่ยวมากมาย เรียกว่าคุ้มค่าเดินขึ้นและเดินเที่ยว

สิ่งที่ว่ามาทำให้ภูเขาลูกนี้ทำหน้าที่มอบความรักธรรมชาติ ให้เราได้ซึมซับความงามทั้งจากธรรมชาติและมิตรภาพระหว่างทาง รวมถึงการเรียนรู้ที่บังเกิดขึ้นมากมายระหว่างความอดทนตอนเดินขึ้น สถานที่แบบนี้ในไทยมีที่เดียวคือ “ภูกระดึง” ส่วนที่อื่นๆ มีถนนขึ้นถึง หรือเดินไกลเกินไป เดินไปถึงแล้วก็ไม่มีอะไรให้ดูมากนัก

ดังนั้น เมื่อมีกระเช้า ความท้าทายให้ไปถึงเรื่องที่ว่ามา ย่อมสู้ความสบายเย้ายวนจากการขึ้นกระเช้าไม่ได้
คนจะเดินขึ้นก็คงมีน้อยยิ่งกว่าน้อย

พวกที่เลือกเดินจึงเป็นคนที่รักธรรมชาติมากมายอยู่แล้ว คนที่ขึ้นกระเช้าไปก็ไม่ได้ซึมซับอะไร ไม่ต่างจากการขับรถขึ้นภูเรือ ดอยอินทนนท์ หรือภูเขาอื่นๆ ที่กลับมาแล้วไม่มีความหมายอะไร ภูกระดึงทำหน้าที่นี้ให้ประเทศไทยมากว่า 50 ปี ตั้งแต่รุ่นปู่จนถึงปัจจุบัน

การมีกระเช้าหมายถึงเราเลิกใช้ฟังก์ชันนี้ของภูกระดึงแล้ว จะเทียบไปคงเหมือนเปลี่ยนวัด โบสถ์ วิหาร เป็นบอร์ดนิทรรศการพุทธศาสนา

นี่คือเรื่องที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจจะเลือกทิ้งคุณค่าจากสิ่งนี้ไปหรือไม่

#ระดับที่ 2 จากผลการศึกษาและการออกแบบระบบกระเช้า คาดว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย (เช่นตัดต้นไม้ไม่กี่ต้น) แต่ผลที่ตามมาหลังจากมีกระเช้า ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่นเมื่อคนจำนวนมากขึ้นไปข้างบนแล้วจะต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมแน่ๆ เช่น อาคารกลางแหล่งธรรมชาติ

ที่สำคัญคือ ถนนหนทางข้างบนที่ต้องรองรับผู้มาเยือนที่ไม่เตรียมตัวไป “เดิน” และไม่พร้อมจะรับรู้ทั้งนั้นว่าทำไมไม่มีรถวิ่งไปชมที่ท่องเที่ยวที่ห่างจากสถานีกระเช้าหลายกิโลเมตรในแต่ละที่ รวมถึงการจำกัดคนค้างแรม การจัดการขยะ ต่างๆ ภายใต้สถานภาพความเป็นอุทยานแห่งชาติ ที่มีข้อจำกัดเรื่องกฎหมาย กำลังคน งบประมาณในการดูแลให้คงสภาพธรรมชาติ เราพร้อมจะปล่อยให้ที่สวยๆ ข้างบนพังไปอีกที่ใช่หรือไม่

#ระดับที่ 3 ถ้ามีคนขึ้นไปจำนวนมาก เราพร้อมเปลี่ยนพื้นที่อนุรักษ์อันอุดมด้วยธรรมชาติไปรองรับการบริการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวข้างบนในอนาคตเลยหรือไม่

หากนโยบายวันข้างหน้าจะเอาอย่างนั้น ยกเลิกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไปเลย นี่คือเรื่องที่ต้องตัดสินใจตามกระเช้ามาในระดับท้ายสุด

รัฐบาลนี้ต้องตอบทั้ง 3 คำถามก่อนตัดสินใจ ผมรอฟังอยู่ ก่อนตัดสินใจขึ้นกระเช้าไปทำลายภูกระดึงเดิมๆ ด้วยกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติ่งลิซ่า! 'พวงเพ็ชร' ห้อย 'ลาบูบู้' เข้าทำเนียบ เตือนปชช.ตรวจสอบให้ดีก่อนซื้อ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี โดยได้

'พวงเพ็ชร' ติดตามงานประชาสัมพันธ์กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ดนตรีในสวน-ค่ายเยาวชน

นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ การจัดงานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ร่วมประชุมติดตามการดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ

'พวงเพ็ชร' ยันไม่ซีเรียสจะอยู่หรือไป ได้หมด หลังมีชื่อพ้นเก้าอี้รมต.

นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ถึงกระแสข่าวที่มีรายชื่อถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า อยู่ก็ได้