12 มี.ค.2568- นายกมล กมลตระกูล นักวิชาการอิสระ และอดีตประธานอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาผู้บริโภค เผยแพร่บทความ เรื่อง บทเรียนการปราบคอร์รัปชั่นของเกาหลีใต้ มีเนื้อหาดังนี้
สื่อบางแห่ง, The Diplomat, เรียกเกาหลีใต้ในช่วงที่อยู่ภายใต้การปกครองของทหารว่า "สาธารณรัฐแห่งการคอร์รัปชั่นทั้งระบบ" เนื่องจากในยุคดังกล่าว การคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ผู้นำใช้อำนาจเพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้ตัวเองและพวกพ้อง การเน้นความจงรักภักดีหรือวัฒนธรรม "บรรษัทวงศ์วาร" (Corporate Monarchies)ในแวดวงผู้บริหารของเกาหลีใต้. ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังคดีอื้อฉาวของการคอร์รัปชั่น เงินที่นักการเมืองได้จากการคอรัปชั่นหรือเงินทอน จะถูกนำมาใช้ในเป็นค่าใช้จ่ายการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง หรือซื้อเสียงเพื่อรับการเลือกตั้งซ้ำ กลายเป็นวังวงของระบบคอรัปชั่นที่แก้ไขได้ยาก
Justin Fendos ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Dongseo ในเกาหลีใต้ อธิบายว่า “เป็นเรื่องปกติที่ผู้บริหารทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐจะจ้างญาติ เพื่อนสนิท คนรู้จัก และเพื่อนร่วมชั้นเรียนมาดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับรองๆลงมา คนเกาหลีเรียกความสัมพันธ์แบบนี้ว่า "เชือก". (Ropes) ซึ่งเทียบเท่ากับ "การเกาะชายเสื้อ" ในวัฒนธรรมอเมริกัน ”(The Diplomat) คล้ายกับระบบอุปถัมภ์ของไทย
ในยุคดังกล่าว รัฐบาลมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับ *Chaebols* (กลุ่มบริษัทเครือญาติหรือครอบครัวขนาดใหญ่) โดยมีการเอื้อประโยชน์ แลกเปลี่ยนการสนับสนุนทางการเมืองกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจซึ่งกันและกัน เช่น การให้สิทธิการผูกขาด ทั้งการผลิต การขายและการส่งออก หรือการได้รับเงินกู้จากธนาคารของรัฐ คดีอื้อฉาวที่เกิดขึ้นมีมากมาย คดีที่สร้างความตกตะลึงไม่เพียงแต่ในเกาหลีใต้แต่ยังรวมถึงทั่วโลก คือ คดีคอร์รัปชั่นของ Daewoo
อันที่ ที่จริงแล้ว การคอร์รัปชั่นทางการเมืองในเกาหลีใต้เป็นปัญหาสำคัญตลอดประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของประเทศ ซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ทั้งในอดีตที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ และช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย
ตามรายงานของ BBC อัยการเกาหลีใต้ได้ยื่นฟ้องกล่าวหาผู้บริหารระดับสูงกว่า 40 คน ในคดีที่ BBC เรียกว่าคดีคอร์รัปชั่น Daewoo ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตรวจพบว่าผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัทปกปิดจำนวนหนี้อันมหาศาล เพื่อกู้เงินจากรัฐบาลมาขยายกิจการ แต่มีการฟอกเงินและใช้เงินอย่างผิดประเภท โดยมีการให้สินบนประมาณ 470 พันล้านวอน (เกือบ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ความเสียหายจากการให้สินบนและการคอร์รัปชั่นในคดีนี้ถูกประเมินไว้ที่กว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
การหลอกลวงมูลค่า 22.9 ล้านล้านวอน (15.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ถูกเรียกว่า "การฉ้อโกงทางบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ แซงหน้า คดี WorldCom และ Enron" อันฉาวโฉ่ในอเมริกา
Daewoo เป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานกว่า 320,000 คน และมีบริษัทสาขาในต่างประเทศ 590 แห่งที่ดำเนินงานในกว่า 110 ประเทศ การจัดการของบริษัทได้รับคำชมและการยอมรับทางวิชาการอย่างกว้างขวางจากความสำเร็จ ในการขยายกิจการไปอย่างหลากหลายธุรกิจ
คดีอื้อฉาวในเกาหลีใต้ในทำนองนี้มีมากมาย เช่นคดี ที่เกี่ยวข้องกับบรืษัท Korean Airlines, Hyundai, Samsung, Hanjin และ Lotte เป็นต้น
ในยุคผู้นำอย่าง **Park Chung-hee** (1961–1979) และ **Chun Doo-hwan** (1980–1988) ระบบการเมืองของเกาหลีใต้มีการรวมศูนย์และเป็นเผด็จการสูง การให้สินบน การยักยอกทรัพย์ และการเล่นพรรคเล่นพวกเป็นเรื่องแพร่หลาย แต่การคัดค้านถูกปราบปราม ทำให้การตรวจสอบถูกลดทอนลง และทำไม่ได้
Korea Times ได้ประมวลรายงานถึงคดีอื้อฉาวทางการเมืองที่สำคัญในอดีต ได้แก่:
1. คดีกองทุนลับของ Roh Tae-woo (1995)
อดีตประธานาธิบดี Roh Tae-woo ถูกพบว่าสะสมกองทุนลับกว่า 650 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง โดยเงินส่วนใหญ่มาจาก *Chaebols* เพื่อแลกกับการใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ และสิทธิพิเศษ การผูกขาด รวมทั้งการสั่งให้ธนาคารของรัฐปล่อยกู้เงินให้บริษัทครอบครัวเหล่านี้ เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดและต้องโทษจำคุก ถือว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญในการต่อสู้กับการคอร์รัปชั่นในการเมืองของเกาหลีใต้
2. คดีรับสินบนของลูกชาย Kim Young-sam (1997)
Kim Hyun-chul ลูกชายของประธานาธิบดี Kim Young-sam ถูกจับกุมในข้อหารับสินบนจากภาคธุรกิจเพื่อแลกกับการให้สิทธิพิเศษ กับบริษัท คดีนี้ทำลายภาพลักษณ์ของ Kim ในฐานะประธานาธิบดีนักปฏิรูป
3. คดีคอร์รัปชั่นของ Lee Myung-bak (2018)
อดีตประธานาธิบดี Lee Myung-bak (2008–2013) ถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหายักยอกทรัพย์ ให้สินบน และใช้อำนาจในทางที่ผิด ซึ่งเกี่ยวข้องกับเงินหลายสิบล้านดอลลาร์ เขาถูกตัดสินจำคุก 17 ปี ก่อนที่โทษจะถูกลดลงในภายหลัง
4. คดี Park Geun-hye และ Choi Soon-sil (2016–2017)
ประธานาธิบดี Park Geun-hye (2013–2017) ถูกถอดถอนจากตำแหน่งหลังจากคดีคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับ Choi Soon-sil คนสนิทของเธอ ที่ทำหน้าที่เป็นนายหน้าอยู่หน้าฉากแทนประธานาธิบดี Choi ถูกพบว่าใช้ความสัมพันธ์กับ Park เพื่อกรรโชกเงินหลายล้านดอลลาร์จาก บริษัท chaebols ใหญ่ๆ เช่น Samsung และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล Park นางถูกตัดสินจำคุก 24 ปี (ลดเหลือ 20 ปี) ก่อนได้รับการอภัยโทษในปี 2021
อัยการอ้างว่า Lee บริจาค 41 พันล้านวอน (36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ให้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่เชื่อมโยงกับ Choi Soon-sil เพื่อรับการสนับสนุนจากรัฐบาลสำหรับการควบรวมกิจการที่จะช่วยให้เขาได้ขึ้นเป็นประธานกลุ่ม Samsung
นักวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่า การคอร์รัปชั่นส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจกระทบต่อการลงทุน การแข่งขัน การเป็นผู้ประกอบการ ประสิทธิภาพของรัฐบาล และการสร้างทุนมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีผลกระทบสำคัญต่อตัวชี้วัดการพัฒนาทางเศรษฐกิจหลายประการ เช่น คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพส่วนบุคคลและความปลอดภัย การกระจายรายได้ และความไว้วางใจทางสังคม การลดหรือปราบการคอร์รัปชั่นควรเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ
กระบวนการและหน่วยงานปราบปรามการคอรัปชั่น
ในที่สุด ด้วยแรงกดดันอย่างมากจากขบวนการนักศึกษา นักวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชนที่รณรงค์มาอย่างสืบเนื่องตั้งแต่การเกิดการลุกฮือขึ้นสู้ต่อต้านกฎอัยการศึกในยุคประธานาธิบดี ชุน ดูวาน จนมีการใช้กำลังทหารปราบปราม ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า “อุบัติการณ์กวางจู ” (Gwangju Uprising) ในวันที่ 18-27 พฤษภาคม 1980 มีประชาชนและนักศึกษาเข้าร่วมประท้วงไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน และเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 600 คน ซึ่งในเกาหลีใต้เรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “ขบวนการประชาธิปไตย 18 พฤษภา” (May 18 Democratization Movement )
ในเดือนมกราคม 2021 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้จัดตั้งสำนักงานสอบสวนคอร์รัปชั่นเจ้าหน้าที่ระดับสูง ("CIO") อย่างเป็นทางการ มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนการคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งปัจจุบันและอดีต รวมถึงสมาชิกรัฐสภา อัยการ ผู้พิพากษา ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และครอบครัวของเจ้าหน้าที่เหล่านั้น (รวมถึงคู่สมรส พ่อแม่ ลูก และหลาน) ในกรณีของประธานาธิบดี คำจำกัดความของครอบครัวขยายไปถึงลูกพี่ลูกน้อง ด้วย
CIO มีอำนาจสอบสวนอาชญากรรมบางประเภท รวมถึงการให้สินบน การยักยอกทรัพย์ และการละเมิดความไว้วางใจ การใช้อำนาจในทางที่ผิด และการให้การเท็จ CIO ยังมีอำนาจสอบสวนบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมที่อยู่ระหว่างการสอบสวน แม้ว่าบุคคลนั้นจะไม่ใช่เจ้าหน้าที่ระดับสูงก็ตาม หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ที่พบอาชญากรรมที่อยู่ในอำนาจของ CIO ต้องแจ้งให้ CIO ทราบทันที และ CIO สามารถบังคับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโอนคดีให้ตนได้
ที่สำคัญที่สุด บทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลที่มีอำนาจฟ้องร้องการคอร์รัปชั่นเป็นกุญแจสำคัญในการต่อสู้กับการคอร์รัปชั่น คือ สำนักงานอัยการและตำรวจซึ่งเป็นสองหน่วยงานหลักที่ฟ้องร้องคดีคอร์รัปชั่นได้ ทั้งสองหน่วยงานมีแผนกสืบสวนพิเศษที่ทำหน้าที่สืบสวนคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น ขึ้นตรงกับองค์กรที่มีอำนาจอิสระ
อีกหน่วยงานหนึ่งที่มีการจัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรอิสระ คือ คือ คณะกรรมการป้องกันการคอร์รัปชั่นและสิทธิพลเมือง (ACRC) มีหน้าที่รับข้อมูลหรือข้อร้องเรียนที่ส่งโดยผู้แจ้งเบาะแสและประชาชนทั่วไป
ส่วนในด้านภาคการเงิน หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงิน (FSS) และคณะกรรมการบริการทางการเงิน (FSC) มีหน้าที่ดำเนินการสอบสวนในฐานะหน่วยงานบริหาร และอาจกำหนดบทลงโทษทางบริหารต่อนิติบุคคล ตามผลลัพท์ของการสอบสวน
ในด้านการให้สินบนในภาคการแพทย์ คณะกรรมการการค้าที่เป็นธรรมของเกาหลี (KFTC) มีหน้าที่ดำเนินการสอบสวนและอาจกำหนดบทลงโทษทางบริหารต่อนิติบุคคล หน่วยงานเหล่านี้ และส่งผลการสอบสวนให้สำนักงานอัยการเพื่อดำเนินคดีอาญาโดยอัยการที่เชี่ยวชาญคดีที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนและอาชญากรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น
หนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้เกาหลีใต้มีประสิทธิภาพในการปราบคอรัปชั่นที่ดีขึ้น คือพระราชบัญญัติห้ามการคอร์รัปชั่นและการให้สินบนที่มีผลบังคับใช้ในปี 2016 กฎหมายนี้กำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการให้เงินของขวัญ สินค้า และบริการแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ (รวมถึงผู้ที่ทำงานในรัฐวิสาหกิจและสถาบันของรัฐ) พนักงานโรงเรียนเอกชน และนักข่าว การให้ของขวัญเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมเกาหลีเพื่อแสดงความเคารพ ความกตัญญู และสร้างความสัมพันธ์ รวมถึงในที่ทำงาน
กฎหมายนี้ครอบคลุมองค์กรกว่า 40,000 แห่งและประมาณ 9% ของแรงงานเกาหลี ผู้ที่อยู่ภายใต้กฎหมายนี้ไม่สามารถรับอาหารที่มีมูลค่าเกิน 30,000 วอน (26 ดอลลาร์สหรัฐตามอัตราแลกเปลี่ยนปี 2016) ของขวัญที่มีมูลค่าเกิน 50,000 วอน และเงินสดที่มีมูลค่าเกิน 100,000 วอนในงานส่วนตัว รวมถึงงานแต่งงานและงานศพ โดยศาลรัฐธรรมนูญยืนยันรับรองความถูกต้องของกฎหมายนี้ แม้จะมีข้อร้องเรียนว่าอาจส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจบางส่วน
สรุปแล้ว การต่อสู้กับการคอร์รัปชั่นของเกาหลีใต้เกี่ยวข้องกับการผสมผสานระหว่างกรอบกฎหมายที่แข็งแกร่ง นวัตกรรมทางเทคโนโลยี การมีส่วนร่วมของประชาชน และความร่วมมือระหว่างประเทศ แม้จะยังมีอุปสรรค แต่แนวทางเชิงรุกของประเทศนี้เป็นแบบอย่างสำหรับประเทศอื่นๆ ที่ต้องการต่อสู้กับการคอร์รัปชั่นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้มาตรการเหล่านี้
1. การออกกฎหมายต่อต้านการคอร์รัปชั่น: เกาหลีใต้มีกฎหมายต่อต้านการคอร์รัปชั่นที่เข้มงวด เช่น พระราชบัญญัติ Kim Young-ran (หรือที่รู้จักในชื่อ "กฎหมายการขอร้องและรับสินบนที่ไม่เหมาะสม") ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2016 กฎหมายนี้ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักวิชาการ และนักข่าวรับของขวัญ อาหาร หรือเงินที่เกินเพดานที่กำหนด โดยไม่คำนึงว่าสิ่งนั้นจะเกี่ยวข้องกับหน้าที่หรือไม่
2. การตั้งหน่วยงานต่อต้านการคอร์รัปชั่นอิสระ: คณะกรรมการป้องกันการคอร์รัปชั่นและสิทธิพลเมือง (ACRC) เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการสืบสวนสอบสวนการคอร์รัปชั่น ปกป้องผู้แจ้งเบาะแส และส่งเสริมความโปร่งใส หน่วยงานนี้ดำเนินงานอย่างอิสระเพื่อให้เกิดความเป็นกลาง
3. การปกป้องผู้แจ้งเบาะแส: เกาหลีใต้มีกฎหมายปกป้องผู้แจ้งเบาะแสที่แข็งแกร่ง ซึ่งส่งเสริมให้บุคคลรายงานการคอร์รัปชั่นโดยไม่ต้องกลัวการตอบโต้ มีกฎหมายเฉพาะการปกป้องผู้แจ้งเบาะแสเพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้การคุ้มครองทางกฎหมายและรางวัลทางการเงินแก่ผู้แจ้งเบาะแสที่เปิดโปงการคอร์รัปชั่น
4. การสร้างความตระหนักและการศึกษาแก่สาธารณชน: เกาหลีใต้ได้ลงทุนในการศึกษาและรณรงค์ต่อต้านการคอร์รัปชั่นเพื่อสร้างความตระหนักแก่สาธารณชนเกี่ยวกับผลกระทบเชิงลบของการคอร์รัปชั่น โครงการต่างๆ ที่มุ่งเป้าไปที่ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบ
ดังนั้น ตามรายงานของ Transparency International เกาหลีใต้ได้ดำเนินการอย่างครอบคลุมและหลายมิติเพื่อต่อสู้กับการคอร์รัปชั่น ซึ่งมีการพัฒนาอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การคอร์รัปชั่นในเกาหลีลดลงอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ในดัชนีการรับรู้การคอร์รัปชั่น (CPI) เกาหลีใต้ไต่ขึ้นจากอันดับที่ 31 ในกลุ่มประเทศ OECD ในปี 2016 เป็นอันดับที่ 22 ในปี 2023 ในขณะที่อันดับของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นลดลงหรือคงที่
ตัวชี้วัดการควบคุมการคอร์รัปชั่นของ World Bank ก็แสดงแนวโน้มที่คล้ายกัน ภายในปี 2022 อันดับของเกาหลีใต้ใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกา
เกาหลีใต้ได้คะแนน 63 คะแนนในดัชนีการรับรู้การคอร์รัปชั่นปี 2023 ซึ่งต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า โดยอยู่ในอันดับที่ 22 ในกลุ่มสมาชิก OECD ในขณะที่ไทยได้คะแนน 35 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 108 จาก 180 ประเทศ (คะแนนที่ต่ำกว่าหมายถึงการคอร์รัปชั่นที่สูงกว่า)
การคอรัปชั่นถ่วงรั้งความก้าวหน้า และการพัฒนาชาติ ตามงานวิจัยของธนาคารโลกที่ยืนยันว่า
“การคอรัปชั่นสร้างความเสียหายต่อคนจนและกลุ่มเปราะบางมากที่สุด โดยเพิ่มค่าใช้จ่ายและลดการเข้าถึงบริการพื้นฐาน เช่น สาธารณสุข การศึกษา โครงการสังคม และแม้แต่กระบวนการยุติธรรม
มันทำให้ความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้นและลดการลงทุนจากภาคเอกชน ซึ่งส่งผลเสียต่อตลาด โอกาสการจ้างงาน และเศรษฐกิจ
การคอรัปชั่นยังสามารถบ่อนทำลายการตอบสนองของประเทศต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน นำไปสู่ความทุกข์ทรมานที่ไม่จำเป็น และในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดอาจทำให้เสียชีวิตได้
ในระยะยาว การคอรัปชั่นสามารถทำลายความไว้วางใจและความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อผู้นำและสถาบันของพวกเขา สร้างความขัดแย้งทางสังคม และในบางบริบทอาจเพิ่มความเสี่ยงของความเปราะบาง ความขัดแย้ง และนำไปสู่ความรุนแรง”
บทเรียนการปราบปรามการคอรัปชั่นของเกาหลีใต้ซึ่งมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ไม่เลือกปฏิบัติ เกาหลีใต้มีกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส เข้มแข็ง มีอิสระ มีศาลยุติธรรมที่ทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมและเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ไม่ลำเอียง ไม่มีอคติ ยึดหลักนิติธรรมสากล จึงน่าศึกษาและนำมาใช้เพื่อลดการคอรัปชั่นในประเทศไทยให้ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'กมล' ยกตัวอย่างอเมริกา สะกัด 'บริษัทสีเทา' แต่ไทยต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ มิฉะนั้นเปิดกิจการไม่ได้
นายกมล กมลตระกูล นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊ก จากกรณีตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ พังถล่ม ว่า กวาดบ้านให้สะอาดก่อน
'นักวิชาการ' ยก 'สี จิ้นผิง' ปราบคอร์รัปชันในจีน เผยมีผู้ถูกจำคุก-ประหารเพียบ หวั่นไทยสิ้นชาติ
นายกมล กมลตระกูล นักวิชาการอิสระ และประธานอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาผู้บริโภค เผยแพร่บทความ เรื่อง การปราบคอรัปชั่นในจีน มีเนื้่อหาดังนี้
เปิดรายงานยูเอ็น ชำแหละ 'เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์' คือ ศูนย์อาชญากรรมครบวงจร
นายกมล กมลตระกูล นักวิชาการอิสระ และประธานอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาผู้บริโภค โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่าเอ็นเตอร์เทนเม๊นท์คอมเพล็กซ์ คือ ศูนย์อาชญากรรมครบวงจร
'สังศิต' ชี้ 3 จุดอันตรายดันเปิด 'กาสิโน' ข้องใจ ใช้ระบบให้ใบอนุญาตแทนประมูล
'สังศิต' ชี้ 3 จุดอันตรายดันเปิดกาสิโน ข้องใจ ใช้ระบบให้ใบอนุญาตแทนประมูล เตือนเกิดข่าวอื้อฉาว กังขา เขียนล็อคทุนจดทะเบียนหมื่นล้าน กีดกันคนเข้าร่วมธุรกิจแค่ไม่กี่ราย แนะเปิดแค่ 2 ที่ภายใน 20 ปี ไม่ใช่รอบแรกก็ให้แจกบาคาร่า 10 จังหวัดทั่วไทย
กสม.ส่งมอบแผนพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อป้องกันการทรมาน-การปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม
กสม. ส่งมอบแผนพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ตร. ขานรับพร้อมยกระดับการคุ้มครองสิทธิประชาชนในสถานที่ควบคุมตัว
'นักวิชาการ' ค้านตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากจีน แนะรัฐควรช่วยผู้ประกอบการแบบจีน
นายกมล กมลตระกูล นักวิชาการอิสระ และประธานอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาผู้บริโภค โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า