ผู้บัญชาการและขุนศึก ในสงครามกลางเมืองซูดาน

อับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน ผู้บัญชาการกองทัพซูดาน (ซ้าย) และ โมฮัมเหม็ด ฮัมดาน ดาโกล หรือ เฮเมติ ผู้บัญชาการกองกำลังกึ่งทหารกึ่งทหารของซูดาน การสู้รบระหว่างนายพลคู่แข่งที่อยู่ในอำนาจตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2564 คร่าชีวิตผู้คนไป 56 ศพและบาดเจ็บเกือบ 600 คน สร้างความตื่นตระหนกให้กับนานาชาติ- AFP

ใครคือ อับเดลฟาตาห์ บูร์ฮาน และโมฮัมเหม็ด ฮัมดาน ดาโกล ที่ยามนี้กำลังพาซูดานดำดิ่งลงเหว? นายพลทั้งสองและกองทัพของพวกเขาเคยขับเคี่ยวและร่วมมือกันหลายต่อหลายครั้ง จนกระทั่งทั้งสองฝ่ายกลายเป็นคู่ต่อสู้ที่ห้ำหั่นกันในวันนี้

ผู้นำของทั้งสองฝ่ายที่กำลังต่อสู้กันนั้น เป็นตัวแทนเพียงไม่กี่คนของประวัติศาสตร์ความรุนแรงในซูดาน พวกเขาเริ่มต้นหน้าที่การงานด้วยการนองเลือดครั้งใหญ่สุดของศตวรรษที่ 21 ตั้งแต่ปี 2003-2008 สงครามเกิดขึ้นในภูมิภาคดาร์ฟูร์ ทางตะวันตกของซูดาน ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปราว 300,000 คน และทำให้พลเมืองประมาณ 3 ล้านคนต้องพลัดถิ่นฐาน ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งแรกในศตวรรษที่ 21 ทั้งบูร์ฮาน และดาโกล หรือที่รู้จักกันดีในชื่อเล่น ‘เฮเมติ’ (โมฮัมเหม็ดน้อย) ต่างก็มีส่วนร่วมในการก่ออาชญากรรมในดาร์ฟูร์

อับเดลฟาตาห์ บูร์ฮาน บัญชาการกองทหารและประสานงานการโจมตีกองทัพติดอาวุธฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลระหว่างปี 2003-2005 เป็นช่วงที่มีการปลุกเร้าให้ทหารมีความโหดร้ายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ได้ตั้งข้อหาจอมเผด็จการ โอมาร์ อัล-บาสชีร์ และผู้บัญชาการหลายคนในข้อหาอาชญากรสงคราม แต่อับเดลฟาตาห์ บูร์ฮานไม่ติดหนึ่งในนั้น

ในช่วงเวลาเดียวกัน เฮเมติก็มุ่งหน้าไปยังดาร์ฟูร์เหมือนบูร์ฮาน ตอนนั้นเขาปฏิบัติหน้าที่เป็นขุนศึกท้องถิ่นที่บัญชาการกองทหารรักษาการณ์ เฮเมติมีพื้นเพมาจากครอบครัวยากจน เขาเคยเล่าในการให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า เขาต้องลาออกจากโรงเรียนตอนชั้นประถมฯ ปีที่ 3 เพื่อไปค้าอูฐ กองทหารรักษาการณ์ที่เขาสั่งการในดาร์ฟูร์เป็นหนึ่งในกลุ่มจันจาวีด (Janjaweed) ที่ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญกรรมที่โหดเหี้ยมที่สุดในสงครามดาร์ฟูร์ พวกเขาเผาหมู่บ้าน ข่มขืน และฆ่าพลเรือนอย่างไม่เลือกหน้า บทบาทของเฮเมติเข้าตาเผด็จการอัล-บาสชีร์ เขาจึงได้รับการสนับสนุน

กองกำลังจันจาวีดได้พัฒนาเป็นกองกำลังเสริมในปี 2013 ซึ่งอัล-บาสชีร์ใช้เพื่อปราบจลาจลในพื้นที่ชนบท อย่างไรก็ตามเขาใช้มันเป็นตัวถ่วงกองทัพประจำและหน่วยสืบราชการลับมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังวางตำแหน่งกองกำลังเสริมไว้ใต้บังคับบัญชาของเขาโดยตรง เพื่อปกป้องตนเองจากการถูกรัฐประหารของกองทัพที่อาจเกิดขึ้นได้ เดิมทีกองทหารรักษาการณ์ประกอบด้วยคนเลี้ยงแกะเสียส่วนใหญ่ก่อนกลายเป็นหน่วยงานกึ่งทหารซึ่งมีกำลังพลใกล้เคียงกับกองทัพ ทุกวันนี้ทหารกองกำลังเสริมมีอยู่ราว 100,000 นาย

ขณะเดียวกันอับเดลฟาตาห์ บูร์ฮานเองก็ประจำการอยู่ในกองทัพและเป็นผู้ภักดีต่อเผด็จการบาสชีร์ ปี 2015 เขาได้พบกับเฮเมติอีกครั้ง เมื่อมีการส่งกองทัพและกองกำลังเสริมไปยังเยเมน เพื่อร่วมทำสงครามปราบกบฏฮูตี บูร์ฮานและเฮเมติประสานงานกันในการจัดกองรบ ซึ่งกองกำลังเสริมของเฮเมติมีจำนวนมากกว่ากองทัพ สำหรับเฮเมติแล้ว สงครามในเยเมนเปรียบเสมือนแหล่งรายได้ให้เขากอบโกย และทำให้พวกเขาแข็งแกร่งมากขึ้น วันนี้เฮเมติอาจจะเป็นหนึ่งในผู้ร่ำรวยที่สุดของซูดาน เพราะเขาคุมการค้าทองคำส่วนใหญ่ในซูดาน ประเทศผู้ผลิตทองคำรายใหญ่อันดับสามในแอฟริกา

ท้ายที่สุด ในปี 2019 ทั้งบูร์ฮานและเฮเมติต่างก็ก้าวออกจากร่มเงาของบาสชีร์-ผู้สนับสนุน ที่ปกครองซูดานมาเป็นเวลา 30 ปี และนำพาประเทศไปสู่ความพินาศทางเศรษฐกิจ พวกเขารอโอกาสจนกระทั่งชาวซูดานหลายแสนคนรวมตัวกันประท้วงต่อต้านบาสชีร์ และในเดือนเมษายน 2019 กองทัพก็เทบาสชีร์

บูร์ฮานดำรงตำแหน่งเป็นนายพลตรวจการของกองทัพในเวลานั้น ซึ่งเท่ากับว่าเขาเป็นนายพลอาวุโสอันดับสามของประเทศ อันที่จริงรัฐมนตรีกลาโหมของบาสชีร์น่าจะได้ครองตำแหน่งผู้นำภายหลังการล่มสลายของเผด็จการ แต่แล้วก็ถูกขัดขวางโดยการประท้วงระลอกใหม่ บูร์ฮานจึงเข้ามาแทนที่และทำหน้าที่เป็นประธานสภาอธิปไตย เตรียมการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย

สองปีครึ่งต่อมา เป็นที่แน่ชัดว่ากองทัพยังไม่ยอมละทิ้งเอกสิทธิ์ของตน ในเดือนตุลาคม 2021 บูร์ฮานทำการยึดอำนาจคืนจากรัฐบาลพลเรือนช่วงเปลี่ยนผ่าน นับแต่นั้นมาซูดานก็ถูกปกครองโดยรัฐบาลทหารอย่างเต็มรูปแบบ เฮเมติ-ในเวลานั้นมีตำแหน่งรองจากบูร์ฮาน ผู้สังเกตการณ์หลายคนมองว่า บูร์ฮานและเฮเมติจับมือเป็นพันธมิตรกันในปี 2021 ก็เพื่อทำรัฐประหาร ทั้งสองต่างเป็นคนมีอำนาจ มีความทะเยอทะยาน และต่างคนต่างมีกองทัพของตนเอง ผู้สังเกตการณ์ยังเชื่อในเวลานั้นด้วยว่า สถานการณ์อาจลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งท้ายที่สุดมันก็เกิดขึ้นจริง

หลังการรัฐประหาร ผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศซึ่งนำโดยสหประชาชาติในซูดาน พยายามเกลี้ยกล่อมให้บูร์ฮานและเฮเมติหยุดขัดขวางกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย หนึ่งในจุดละเอียดอ่อนที่สุดคือการรวมกองกำลังเสริมของเฮเมติ เข้ากับกองทัพประจำการของบูร์ฮาน ในท้ายที่สุดมีการสรุปว่า กองทัพเรียกร้องให้มีการรวมตัวกันภายในเวลาสองปี แต่ทว่าเฮเมติไม่เต็มใจจะทิ้งฐานอำนาจของเขาในเวลาอันสั้น

เดือนธันวาคม 2022 กองกำลังทหารและพลเรือนได้ลงนามในข้อตกลง ซึ่งรวมถึงการแต่งตั้งรัฐบาลชั่วคราวชุดใหม่  แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าความขัดแย้งระหว่างเฮเมติและบูร์ฮานจะได้รับการแก้ไข ความตึงเครียดทวีขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เฮเมติพยายามปรับตัวเองใหม่ในฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อแยกตัวเองออกจากบูร์ฮาน เขายังกล่าวด้วยว่าการรัฐประหารเป็นความผิดพลาด ทั้งสองต่างมีพันธมิตรระหว่างประเทศ บูร์ฮานมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอียิปต์ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ซูดานที่บูร์ฮานนึกถึงเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดกับระบอบเผด็จการทหาร อันมีต้นแบบมาจากประธานาธิบดีอับเดลฟาตาห์ อัล-ซีซี ของอียิปต์ ส่วนเฮเมติมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซีย และบางครั้งกองกำลังเสริมของเขาก็ร่วมงานในธุรกิจทองคำกับบริษัทวากเนอร์ เครือข่ายทหารรัสเซีย ซึ่งมีฐานอยู่ในซูดาน

ตอนนี้ความตึงเครียดระหว่างนายพลทั้งสองได้กลายเป็นสงครามกลางเมือง และความสัมพันธ์ที่เคยมีต่อกันก็ไม่เหลืออีกแล้ว เฮเมติกล่าวหาบูร์ฮานว่าเป็น “สุนัข” และ “อาชญากร” ที่ต้องถูกตามล่า ส่วนกองทัพของบูร์ฮานก็ประกาศว่าจะไม่หยุดจนกว่ากองกำลังของเฮเมติจะถูกสลาย.  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทบ.' เปิดแผนรับมือ สถานการณ์สู้รบชายแดนไทย-เมียนมา

รายงานข่าวจากศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก เปิดเผยแนวทางการปฏิบัติในการรองรับสถานการณ์ความไม่สงบด้านเมียนมา กรณีการปะทะระหว่างทหารเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อย

ทอ. เตรียมส่ง UAV สนับสนุนรักษาความปลอดภัยแนวชายแดน อ.แม่สอด

เพจ กองทัพอากาศไทย Royal Thai Air Force ได้เผยแพร่ภาพ และข้อมูลว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบตามแนวชายแดนด้านตรงข้าม อ. แม่สอด จว.ตาก กองทัพอากาศ โดยศูนย์ยุทธการทางอากาศ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพอากาศ

'เศรษฐา' เตรียมบินไปแม่สอด 23 เม.ย. หลังปะทะเดือดใกล้ชายแดนเมียนมา

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ทวิตข้อความผ่าน x ว่า “จากสถานการณ์การปะทะกันบริเวณสะพานมิตรภาพ 2 ฝั่งเมียนมา