การประชุมสุดยอดภูมิอากาศที่ปารีสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเงินทั่วโลก

ผู้นำระดับโลกหลายสิบคนมารวมตัวกันที่กรุงปารีส ในการประชุมสุดยอดที่มีเป้าหมายเพื่อปรับโฉมระบบการให้กู้ยืมทั่วโลก และช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาที่มีภาระหนี้สินรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความท้าทายอื่น ๆ ได้ดียิ่งขึ้น

ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดสนธิสัญญาการเงินระดับโลกฉบับใหม่ (New Global Financial Pact Summit) ที่พระราชวังบรองเนียร์ ซึ่งเป็นอาคารตลาดหลักทรัพย์อันเก่าแก่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน (Photo by LUDOVIC MARIN / POOL / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน 2566 กล่าวว่า ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เป็นเจ้าภาพเปิดการประชุมสุดยอดสนธิสัญญาการเงินระดับโลกฉบับใหม่เพื่อสภาพภูมิอากาศโลกที่กรุงปารีส ระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน

มาครงกล่าวว่า การประชุมสุดยอด 2 วันนี้จะเป็นเวทีสำหรับแนวคิดก่อนการประชุมกลุ่มเศรษฐกิจและสภาพอากาศที่สำคัญในลำดับต่อไป เขาหวังว่าจะมีการเห็นชอบในสนธิสัญญาการเงินระดับโลกฉบับใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อค้นหาแนวทางทางการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายระดับโลกในการแก้ปัญหาความยากจน, ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปกป้องธรรมชาติ

มาครงเป็นโต้โผในการจัดการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีมีอา มอตต์ลีย์ ของบาร์เบโดส ซึ่งกลายเป็นผู้สนับสนุนที่ทรงพลังในการปรับบทบาทของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศในยุควิกฤตสภาพภูมิอากาศ

"เราสามารถสร้างความแตกต่างอย่างมากให้กับโลกใบนี้และต่อต้านความยากจนได้" มาครงกล่าว

เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19, การรุกรานยูเครนของรัสเซีย, อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น รวมทั้งหนี้สินและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภัยพิบัติสภาพอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากภาวะโลกร้อน

ผู้นำโลกที่เตรียมเข้าร่วมการประชุม ได้แก่ ประธานาธิบดีวิลเลียม รูโต แห่งเคนยา, นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี, นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ของจีน และเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป

นอกจากนี้ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติจะเข้าร่วมการประชุม เช่นเดียวกับเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ, คริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และอาเจย์ แบงกา ประธานกลุ่มธนาคารโลก

เกรตา ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนและวาเนสซา นาคาเต นักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศชาวยูกันดา จะมาปรากฏตัวในกรุงปารีสเช่นกัน

ขณะที่บิลลี ไอลิช นักร้อง-นักแต่งเพลงชาวอเมริกันจะมาแสดงที่คอนเสิร์ต "Power Our Planet" ในเย็นวันพฤหัสบดี และอาจเป็นดาวเด่นที่สุดในการประชุมสุดยอดเศรษฐกิจมหภาคที่ไม่ได้รับความสนใจมากนักในครั้งนี้

การประชุมสุดยอดเกิดขึ้นท่ามกลางการตื่นตัวที่เพิ่มขึ้นต่อความท้าทายทางการเงินที่รออยู่ข้างหน้า

ปีที่แล้ว กลุ่มผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติกล่าวว่า ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (ไม่รวมจีน) จะต้องใช้เงินประมาณ 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาภายในปี 2573

เมื่อวันพุธ สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศกล่าวว่าการลงทุนสำหรับพลังงานเชื้อเพลิงที่ไม่ใช่ฟอสซิลในประเทศเหล่านี้จะต้องเพิ่มขึ้นจาก 260,000 ล้านดอลลาร์เป็นเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์ภายในหนึ่งทศวรรษ และการลงทุนจะต้องอยู่ในระดับดังกล่าวจนถึงกลางศตวรรษเพื่อรักษาเป้าหมายข้อตกลงปารีสในการจำกัดภาวะโลกร้อนให้ "ต่ำกว่า" 2 องศาเซลเซียสตั้งแต่ยุคก่อนอุตสาหกรรม และต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสหากเป็นไปได้

ประเทศต่างๆ เรียกร้องให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคีช่วยปลดล็อกการลงทุนด้านสภาพอากาศและเพิ่มการปล่อยสินเชื่ออย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่เน้นว่าการจัดการหนี้ใหม่ควรรวมถึงมาตราภัยพิบัติที่อนุญาตให้ประเทศหยุดการชำระหนี้เป็นเวลา 2 ปีหลังจากเหตุการณ์สภาพอากาศเลวร้าย

แนวคิดอื่นๆได้แก่ การเก็บภาษีกำไรจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและการทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อระดมทุนด้านสภาพอากาศ

ประธานาธิบดีฝรั่งเศสสนับสนุนแนวคิดเรื่องภาษีระหว่างประเทศเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนจากการเดินเรือ โดยหวังว่าจะมีความก้าวหน้าในการประชุมขององค์การการเดินเรือระหว่างประเทศในเดือนกรกฎาคม

ผู้สังเกตการณ์กำลังรอรายละเอียดของแผนจากประเทศในอเมริกาใต้อย่างใจจดใจจ่อเพื่อสร้างโครงสร้างระดับโลกสำหรับการแลกเปลี่ยนหนี้เพื่อธรรมชาติ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มาครง และเนทันยาฮู ปะทะกันหลังเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพถูกโจมตีในเลบานอน

กองทัพอิสราเอลโจมตีฐานที่ตั้งของกองกำลัง ‘หมวกสีฟ้า’ ในเลบานอนหลายครั้ง ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่ง