WHO ชี้ 'โอมิครอน' ไม่ได้ดุกว่าสายพันธุ์อื่น เชื่อวัคซีนที่มีรับมือไหว

ใจชื้นขึ้นหน่อย ผู้บริหารโครงการฉุกเฉินด้านสาธารณสุขขององค์การอนามัยโลกและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ชั้นนำของสหรัฐเผยกับเอเอฟพีว่า ไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนไม่ได้เลวร้ายกว่าสายพันธุ์อื่นๆ หรือก่อโรครุนแรงกว่า และเชื่อว่าวัคซีนที่มีอยู่ยังป้องกันได้

รายงานเอเอฟพีเมื่อวันพุธที่ 8 ธันวาคม 2564 กล่าวว่า การประเมินที่ให้ความหวังนี้มีออกมาหลังจากทั่วโลกวิตกกังวลกันมากขึ้นเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่มีการกลายพันธุ์มากกว่า 30 ตำแหน่งในส่วนของโปรตีนหนาม ซึ่งทำให้หลายสิบประเทศกลับไปใช้ข้อกำหนดควบคุมพรมแดนอีกครั้ง และเพิ่มความเป็นไปได้ของการกลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่ทำร้ายเศรษฐกิจ

ไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการบริหารโครงการแผนฉุกเฉินด้านสาธารณสุขขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ซึ่งเป็นผู้บริหารอันดับสองขององค์การนี้ ให้สัมภาษณ์เอเอฟพีเมื่อวันอังคาร กล่าวถึงโอมิครอนว่า แม้มีความเป็นไปได้ที่สายพันธุ์นี้จะแพร่เชื้อได้มากขึ้นกว่าสายพันธุ์ก่อนๆ แต่ข้อมูลเบื้องต้นที่มีชี้บ่งชี้ว่า โอมิครอนไม่ได้ทำให้ผู้ติดเชื้อป่วยรุนแรงกว่าเดลตาหรือสายพันธุ์อื่นๆ "จะว่าไปแล้ว แนวโน้มไปในทางรุนแรงน้อยลง" เขากล่าว พร้อมกับย้ำว่ายังจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม

ไรอันกล่าวด้วยว่า ยังไม่พบสัญญาณที่บ่งชี้ว่าโอมิครอนสามารถหลบหลีกการป้องกันของวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างสิ้นเชิง

"เรามีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ที่พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสทุกสายพันธุ์ถึงขณะนี้ ในแง่ของการป่วยรุนแรงและการรักษาในโรงพยาบาล ไม่มีเหตุผลให้คาดหมายว่ามันจะไม่เป็นเช่นนั้น" กับโอมิครอน เขากล่าวโดยอ้างข้อมูลเบื้องต้นจากประเทศแอฟริกาใต้ที่พบสายพันธุ์นี้ครั้งแรก แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่วัคซีนที่มีอยู่อาจจะมีประสิทธิภาพน้อยลงกับไวรัสโอมิครอนที่มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งมาก ซึ่งทำให้มันสามารถบุกรุกเข้ามาในเซลล์ได้

ด้านแอนโทนี เฟาซี นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของสหรัฐ สะท้อนมุมมองในแบบเดียวกับดับเบิลยูเอชโอ โดยกล่าวกับเอเอฟพีว่า โอมิครอนไม่ได้เลวร้ายไปกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ โดยอ้างอิงจากสิ่งบ่งชี้เบื้องต้น และเป็นไปได้ว่าอาจเบากว่าด้วย

นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อของสหรัฐผู้นี้ยอมรับว่า โอมิครอนสามารถแพร่เชื้อได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด น่าจะมากกว่าเดลตาซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบส่วนใหญ่ในโลกขณะนี้ แต่ "เกือบจะแน่นอนว่ามันไม่ได้รุนแรงกว่าเดลตา" เฟาซีเสริม "มีข้อชี้แนะบางอย่างว่ามันอาจรุนแรงน้อยกว่าด้วย"

กระนั้น เฟาซีให้ข้อสังเกตว่า สิ่งสำคัญคือต้องไม่ตีความข้อมูลเกินเลย เพราะประชากรในกลุ่มที่เฝ้าติดตามนี้ค่อนข้างเป็นคนหนุ่มสาวและมีความเป็นไปได้น้อยกว่าที่จะต้องรักษาในโรงพยาบาล โรครุนแรงอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการก่อตัว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นพ.ธีระ' แนะยังต้องป้องกันตัวเองเพราะไทยมีผู้ติดโควิดระดับเกินพันต่อวัน

'หมอธีระ' เผยตัวเลขล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก โอมิครอนยึดแล้ว 99.6% โดยสายพันธุ์ที่แรงที่สุดยามนี้คือ XBB.1.5 เผยไทยยังพบผู้ติดเชื้อใหม่ในระดับเกินพันต่อวัน

'หมอยง' แจง 'วัคซีนโควิด' กับความต้องการที่น้อยลง

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19 วัคซีน ความต้องการที่น้อยลง

WHO ประเมิน XBB.1.5 ไม่ต่างจากสายพันธุ์ก่อนหน้า

หมอธีระเผย WHO ออกรายงานประเมินความเสี่ยงโอมิครอนสายพันธุ์ XBB.1.5 แล้ว ชี้ความรุนแรงไม่ต่างจากสายพันธุ์ก่อนหน้า ย้ำยังต้องป้องกันตัวเองให้ตระหนักเรื่อง Long COVID ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

โควิดเปลี่ยน! ระบาดแบบ 'ซุปสายพันธุ์' WHO จับตาไวรัส 7 ตัว

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 87,384 คน ตายเพิ่ม 445 คน รวมแล้วติดไป 678,189,735 คน เสียชีวิตรวม 6,786,760 คน