ทายาททางการเมืองและในชีวิตจริงของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ยืนยันถึงความชอบธรรมของการเลือกตั้งที่พรรคของเขาได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นแบบไม่เหลือที่ว่างให้ระบบคานอำนาจได้ทำงานในสภา ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติว่าการเลือกตั้งไม่เสรียุติธรรม
แฟ้มภาพ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา (ซ้าย) และฮุน มาเนต ลูกชายซึ่งได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป (Photo by TANG CHHIN SOTHY and TANG CHHIN SOTHY / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 24 กรกฏาคม 2566 กล่าวว่าฮุน เซน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของกัมพูชามาเกือบ 40 ปี และทำให้ประเทศเงียบสงัดจากการคัดค้านต่อต้าน, ประชาชนสูญเสียเสรีภาพในการพูด และการปฏิรูปประชาธิปไตยไม่เดินหน้า แต่เมื่อไม่นานมานี้ เขาเตรียมการผลักดันการถ่ายโอนอำนาจสู่ฮุน มาเนต ลูกชายคนโตของเขา
ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 กรกฎาคมสิ้นสุดลง และพรรคประชาชนกัมพูชาของฮุน เซน ได้ออกมาประกาศชัยชนะอย่างถล่มทลาย สหรัฐอเมริกาได้ออกแถลงการณ์ประณามการเลือกตั้งดังกล่าวที่พรรคของนายกรัฐมนตรีกัมพูชากวาดที่นั่งอย่างไม่เป็นทางการในสภาผู้แทนฯ ไปได้กว่า 120 ที่นั่ง จากทั้งหมด 125 ที่นั่ง
แต่ฮุน มาเนต โพสต์ข้อความแห่งชัยชนะบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลายแห่ง และยกย่องการทำงานหนักของพรรคตนจนเป็นที่ยอมรับจากประชาชน
"ชาวกัมพูชาแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนผ่านการลงคะแนนเสียง และคนจำนวนมากแสดงการสนับสนุนพรรคประชาชน ผมขอขอบคุณชาวกัมพูชาที่เลือกลงคะแนนเสียงให้กับเรา รวมทั้งความรักและความเชื่อมั่นในพรรคของเรา" ฮุน มาเนตกล่าว
อย่างไรก็ดี การประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการอาจใช้เวลานานหลายสัปดาห์ แม้พรรคของฮุน เซนและลูกชายจะรีบประกาศชัยชนะไปก่อนแล้ว
พรรคฟุนซินเปกซึ่งเป็นแนวร่วมรัฐบาลที่นำโดยเจ้าชายนโรดม จักราวุธ คาดว่าจะคว้าไปได้ 5 ที่นั่ง และทำให้รัฐสภารอบนี้มีความหลากหลายมากขึ้นเล็กน้อย หลังจากพรรคประชาชนกัมพูชากวาดทุกที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งก่อน
ชาวกัมพูชาออกมาลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งที่ถูกมองว่าเป็นการจัดฉากสานต่ออำนาจ หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้งตัดสิทธิ์ไม่ให้พรรคแสงเทียนลงทะเบียนเข้ารับการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยพรรคแสงเทียนถือเป็นคู่แข่งรายเดียวที่สามารถขับเคี่ยวกับพรรคประชาชนกัมพูชาของฮุน เซนได้
สหรัฐฯ ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ "ไม่เสรีหรือยุติธรรม" โดยชี้ให้เห็นถึงรูปแบบของการคุกคามต่อฝ่ายค้านทางการเมือง, สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม
"การกระทำเหล่านี้ปฏิเสธเสียงและทางเลือกของชาวกัมพูชาในการกำหนดอนาคตของประเทศ" แมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในถ้อยแถลงเมื่อวันจันทร์
เขากล่าวว่า รัฐบาลวอชิงตันกำลังเตรียมออกมาตรการจำกัดวีซ่ากับบุคคลบางคน ในฐานะตัวการบ่อนทำลายประชาธิปไตย และจะระงับโครงการช่วยเหลือบางอย่าง
ในช่วงหลายเดือนก่อนการเลือกตั้งระดับชาติ เสรีภาพในการพูดถูกจำกัดอย่างหนัก โดยหนึ่งในสื่ออิสระที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งอย่าง Voice of Democracy ก็ถูกปิดลงในเดือนกุมภาพันธ์ และฮุน เซน สั่งให้เปลี่ยนกฎหมายเลือกตั้ง โดยห้ามใครก็ตามที่ไม่ได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ไม่ให้มีส่วนร่วมในการลงชิงชัยการเมือง
ประเด็นร้อนจากการเลือกตั้งล่าสุดมีเพียงการสอบสวนคน 27 คนในข้อหายุยงให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทำลายบัตรลงคะแนนในวันเลือกตั้ง ตามรายงานของกระทรวงมหาดไทยฯ
การจงใจทำให้บัตรลงคะแนนเป็นโมฆะเป็นวิธีหนึ่งสำหรับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในการแสดงความไม่พอใจต่อการปกครองของฮุน เซน และการกระทำดังกล่าวได้รับการยุยงปลุกปั่นจากฝ่ายตรงข้ามอย่างสม รังสี หัวหน้าฝ่ายค้านที่ถูกเนรเทศและเป็นศัตรูตัวฉกาจของฮุน เซน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เทพมนตรี' แฉหลักฐาน กัมพูชาไม่เคยยอมรับ 'เกาะกูด' เป็นของไทย
นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา โพสต์เฟซบุ๊ก Thepmontri Limpaphayorm ว่
แฉแผน ผลประโยชน์ทับซ้อน 'ทักษิณ' เคยเป็นที่ปรึกษานายกฯกัมพูชา ที่มีข้อพิพาททางทะเล
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊กกรณี คณะรัฐมนตรี (ครม.) เตรียมแต่งตั้งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็น ประธานคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (JTC) ว่า