ระเบิดพลีชีพในปากีสถาน สังหารอย่างน้อย 44 ราย

มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 44 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 100 คน จากเหตุระเบิดพลีชีพในระหว่างการชุมนุมทางการเมืองของพรรคอิสลามชั้นนำทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน คาดเป็นฝีมือกลุ่มตอลิบัน

ผู้บาดเจ็บกำลังได้รับการขนย้ายไปยังโรงพยาบาล หลังเกิดเหตุระเบิดพลีชีพในระหว่างการชุมนุมทางการเมืองของพรรคอิสลามชั้นนำทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 44 รายและบาดเจ็บอีกกว่า 100 คน (Photo by Abdul Majeed AFP photographer / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 31 กรกฏาคม 2566 กล่าวว่า เกิดเหตุระเบิดพลีชีพในการประชุมพรรคการเมืองของปากีสถาน ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 44 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 100 คน

การระเบิดมุ่งเป้าไปที่พรรค Jamiat Ulema-e-Islam-F (JUI-F) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่นำโดยนักบวชผู้ทรงอิทธิพล โดยเหตุเกิดขึ้นขณะมีการรวมตัวกันของผู้สนับสนุนหลายร้อยคนในเมืองคาร์ของแคว้นไคเบอร์ปัคตูนควา ใกล้ชายแดนอัฟกานิสถาน

มีรายงานความเสียหายของเต็นท์ในบริเวณเกิดเหตุ, ผู้คนที่หนีตายอลหม่าน และเศษเนื้อ, แขน, ขา และส่วนต่างๆ ของร่างกายมนุษย์กระจัดกระจายไปทั่วบริเวณ เคียงข้างกับร่างผู้เสียชีวิต

ยอดผู้เสียชีวิตยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดเมื่อค่ำวันอาทิตย์ยืนยันแล้วที่ 44 ราย และผู้บาดเจ็บจำนวนมากกว่า 100 คน

สื่อปากีสถานรายงานว่า มีคนประมาณ 400 คนอยู่ในเต็นท์ในขณะที่เกิดการระเบิดซึ่งเป็นการโจมตีด้วยการฆ่าตัวตาย โดยมือระเบิดจุดชนวนตัวเองใกล้กับเวทีจัดงานรวมตัวดังกล่าว

เจ้าหน้าที่กู้ภัยและอาสาสมัครจำนวนมากเร่งช่วยเหลือผู้ที่รอดชีวิต พร้อมนำส่งผู้บาดเจ็บไปยังโรงพยาบาล

สภาแห่งชาติของปากีสถานมีกำหนดจะยุบในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน และพรรคการเมืองต่างๆ ก็กำลังเตรียมหาเสียงอยู่แล้ว

นายกรัฐมนตรีเชห์บาซ ชารีฟ ของปากีสถาน ประณามเหตุระเบิดเมื่อวันอาทิตย์ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมแสดงความเสียใจต่อเหยื่อและสาบานว่าจะลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุอุกอาจครั้งนี้ให้ได้

ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างความรับผิดชอบในการโจมตี แต่คาดการณ์ว่าเป็นฝีมือของกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส

ปากีสถานถูกโจมตีจากกลุ่มติดอาวุธมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นับตั้งแต่กลุ่มตอลิบันกลับมามีอำนาจในอัฟกานิสถานเมื่อปี 2564

เมื่อต้นปี เพิ่งเกิดเหตุระเบิดพลีชีพในมัสยิดภายในที่พักตำรวจในเมืองเปชวาร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตกว่า 80 นาย โดยผู้ก่อเหตุมีความเกี่ยวพันกับกลุ่มตอลิบันปากีสถานเช่นกัน

ทั้งนี้ การโจมตีของกลุ่มติดอาวุธมักมุ่งเน้นภูมิภาคที่อยู่ติดกับอัฟกานิสถาน และรัฐบาลของปากีสถานอ้างว่ามีการวางแผนบางอย่างในดินแดนของเพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตติดกัน ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่กลุ่มตอลิบันปฏิเสธ

ครั้งหนึ่งปากีสถานเคยถูกวางระเบิดเกือบทุกวัน แต่ปฏิบัติการกวาดล้างทางทหารครั้งใหญ่ในพื้นที่ชนเผ่าเดิมที่เริ่มต้นในปี 2557 ทำให้ความสงบเรียบร้อยกลับคืนสู่สภาพปกติ โดยเขตห่างไกล 7 แห่งที่มีพรมแดนติดกับอัฟกานิสถาน ถูกทางการปากีสถานควบคุมไว้ได้ในเวลาต่อมาหลังจากการอนุมัติกฎหมายในปี 2561

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงให้ความเห็นว่า การโจมตีเมื่อวันอาทิตย์น่าจะเชื่อมโยงกับการเลือกตั้งมากกว่าจะมีแรงจูงใจเรื่องความขัดแย้งทางนิกายศาสนาหรือดินแดน.

เพิ่มเพื่อน