ไบเดนยกย่องความร่วมมือ 'บทใหม่' กับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ในการเผชิญหน้าจีนและเกาหลีเหนือ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ พร้อมผู้นำของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ยกย่อง "บทใหม่" ของความร่วมมือด้านความมั่นคงแบบสามทางอย่างใกล้ชิด ในการประชุมสุดยอดเพื่อรับมือภัยคุกคามจากจีนและเกาหลีเหนือ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ (กลาง), นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น (ขวา) และประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล ของเกาหลีใต้ แถลงร่วมกันในการประชุมสุดยอดไตรภาคี ที่แคมป์เดวิด ในรัฐแมรี่แลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม (Photo by Kent Nishimura / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2566 กล่าวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพการประชุมไตรภาคีร่วมกับนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น และประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล ของเกาหลีใต้ ซึ่งต่างเป็นพันธมิตรสำคัญในเอเชีย

ในการประชุมที่แคมป์เดวิด ซึ่งเป็นสถานตากอากาศของผู้นำสหรัฐฯ ชานกรุงวอชิงตัน ไบเดนได้กล่าวชื่นชม "ความกล้าหาญทางการเมือง" ของทั้งผู้นำญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ในการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ความเกลียดชังอันยาวนานของสองชาติเพื่อนบ้าน ให้กลายเป็นความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้นในโลกยุคใหม่

"ความเป็นผู้นำของพวกคุณ พร้อมการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสหรัฐฯ ได้นำพาเรามายังจุดนี้ที่พวกคุณได้แสดงให้ทุกคนเห็นแล้วว่าโลกของเราอยู่ในจุดที่เปลี่ยนไปมากเพียงใด" ไบเดนกล่าวในการแถลงข่าวร่วมกันบนเนินเขาที่ปกคลุมด้วยป่านอกกรุงวอชิงตัน

ผู้นำสหรัฐฯยืนยันว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ประเด็นเกี่ยวกับจีน ซึ่งได้แผ่ขยายอิทธิพลและบทบาทมากขึ้นในเอเชียภายใต้ยุคสมัยของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง รวมถึงการแสดงออกทางทหารที่มีต่อไต้หวัน

แต่ในแถลงการณ์ร่วม ผู้นำทั้งสามกล่าวว่าพวกเขาต่อต้าน "พฤติกรรมที่เป็นอันตรายและก้าวร้าว" ของจีนในข้อพิพาททางทะเลในทะเลจีนตะวันออกและทะเลใต้

"พวกเราขอคัดค้านความพยายามฝ่ายเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่ในน่านน้ำของอินโด-แปซิฟิก" แถลงการณ์ร่วมระบุ

ทั้งนี้ พันธมิตรเอเชียทั้งสองต่างร่วมกันเป็นฐานสำหรับกองทหารสหรัฐฯ ประมาณ 84,500 นาย และการที่เกาหลีใต้ยอมลดความขัดแย้งจากประเด็นประวัติศาสตร์อันขมขื่นช่วงจักรวรรดิญี่ปุ่น รวมทั้งแก้ไขข้อพิพาทเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานในช่วงสงคราม โดยการร่วมเป็นพันธมิตรอย่างใกล้ชิดมากขึ้นกับญี่ปุ่นในช่วงเวลาที่มีความตึงเครียดสูงจากทั้งจีนและเกาหลีเหนือ ถือเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจในทางที่ดีต่อรัฐบาลวอชิงตันเป็นอย่างมาก จนเรียกได้ว่าการประชุมสุดยอดนี้เป็นวันประวัติศาสตร์ที่จะนำพื้นฐานทางสถาบันที่มั่นคงมาสู่ความสัมพันธ์ร่วมกันของทั้งสามประเทศ

จากการประชุมหารือ ผู้นำทั้งสามชาติยังเห็นพ้องกับแผนการฝึกทหารร่วมกันในระยะยาวอย่างถาวร โดยไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการซ้อมรบร่วมเพื่อตอบโต้รับมือเกาหลีเหนือ รวมทั้งการลงนามคำมั่นสัญญาที่จะปรึกษาหารือร่วมกันอย่างเป็นทางการในช่วงวิกฤต โดยอาจมีการเปิดสายด่วนระหว่างกัน

ทั้งสามผู้นำยังตกลงที่จะแบ่งปันข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับเกาหลีเหนือ และจะจัดให้มีการประชุมสุดยอดในทุกปี

การใช้แคมป์เดวิดเป็นสถานที่ประชุม ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้นำทั้งสามประเทศพบปะกันเพื่อการประชุมสุดยอดแบบเฉพาะกิจ ไม่ใช่การประชุมขนาดใหญ่ระดับนานาชาติ และเป็นงานทางการทูตครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2558 ที่สถานที่แห่งนี้ ซึ่งสื่อความหมายว่าการประชุมครั้งนี้สำคัญพอๆกับการสร้างสันติภาพในตะวันออกกลางเลยทีเดียว

ในอีกฟากฝั่งหนึ่ง จีนกำลังจับตาความเคลื่อนไหวครั้งนี้ พร้อมออกมาเรียกร้องให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ สร้างความร่วมมือกับจีนเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาภูมิภาคเอเชียตะวันออกไปด้วยกัน

หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนกล่าวว่า "ไม่ว่าคุณจะย้อมผมเป็นสีบลอนด์หรือทำจมูกให้โด่งแค่ไหน คุณก็ไม่มีวันเป็นชาวยุโรปหรืออเมริกา คุณไม่มีวันเป็นชาวตะวันตกได้ เราต้องรู้ว่ารากของเราอยู่ที่ไหน"

แต่กลยุทธ์กดดันของจีน ไม่ได้กระตุ้นให้เกิดความสนใจต่อทั้งสองประเทศ กลับกันยิ่งทำให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ตีตัวออกห่างไปหาสหรัฐฯมากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น ความตึงเครียดในภูมิภาคยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากฝั่งเกาหลีเหนือ ซึ่งได้ยิงขีปนาวุธหลายลูกในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และเกรงกันว่าจะหามาตรการใหม่มาใช้ตอบโต้การประชุมสุดยอดไตรภาคีครั้งนี้อีกด้วย

แถลงการณ์ร่วมของผู้นำทั้งสามยังได้เรียกร้องให้เกาหลีเหนือเลิกใช้อาวุธนิวเคลียร์ และเรียกร้องให้ทุกประเทศบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรอย่างเข้มข้นเพื่อกดดันคิมจองอึนและรัฐบาลเปียงยาง

ประเด็นสงครามในยูเครนก็มีการร่วมหารือเช่นกัน โดยรัฐบาลโตเกียวและโซลได้เสนอการสนับสนุนครั้งใหญ่แก่ยูเครน เพื่อเป็นหัวหอกชาติมหาอำนาจที่ไม่ใช่ชาติตะวันตกในการกดดันรัสเซีย

การประชุมสุดยอดที่จัดขึ้นครั้งนี้ หวังให้มีการวางรากฐานในฐานะพันธสัญญาของสามชาติที่จะยึดถือความร่วมมือสามทางไว้ตลอด ไม่ว่าวันข้างหน้าจะเกิดการพลิกผันทางการเมืองในระดับผู้นำของแต่ละประเทศอย่างไรก็ตาม เช่น เกาหลีใต้อาจได้ประธานาธิบดีคนใหม่ที่กลับมายึดถือความเกลียดชังที่มีต่อญี่ปุ่นอีกครั้ง หรือการกลับมาของประธานาธิบดีสหรัฐฯ แบบโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ไม่นิยมนโยบายการทหารในต่างประเทศ.

เพิ่มเพื่อน