ผู้นำอาเซียนพบกันในการประชุมสุดยอดที่อึมครึมด้วยวิกฤตเมียนมา

บรรดาผู้นำอาเซียนพบกันที่อินโดนีเซีย เพื่อขอมติที่เป็นเอกภาพเกี่ยวกับวิกฤตการณ์เมียนมาที่ยืดเยื้อมานานหลายปี ในขณะที่ฟิลิปปินส์ยืนยันพร้อมรับตำแหน่งประธานกลุ่มแทนรัฐบาลทหารในปี 2569

(จากซ้ายไปขวา) ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์, นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุงของสิงคโปร์, ศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของไทย, นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม, ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย, นายกรัฐมนตรีสอนไซ สีพันดอน ของลาว, สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ แห่งบรูไน, นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ของกัมพูชา, นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย และนายกรัฐมนตรีซานานา กุสเมา ของติมอร์-เลสเต ถ่ายภาพร่วมกันระหว่างการประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ครั้งที่ 43 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 5 กันยายน (Photo by Achmad Ibrahim / POOL / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 5 กันยายน 2566 กล่าวว่า อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน โดยมีประเด็นหลักอยู่ที่วิกฤตการณ์ในเมียนมาที่ยืดเยื้อมานานหลายปี

เมียนมาได้รับความเสียหายจากความวุ่นวายนับตั้งแต่การทำรัฐประหารในปี 2564 เพื่อโค่นล้มรัฐบาลของอองซานซูจี และรัฐบาลทหารเปิดฉากปราบปรามนองเลือดต่อผู้เห็นต่าง

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกนักวิจารณ์ประณามมาตลอดว่าไม่มีความเป็นเอกภาพในการจัดการสถานการณ์เมียนมาอย่างจริงจัง รวมถึงประเด็นอิทธิพลจีนที่เพิ่มมากขึ้นในทะเลจีนใต้

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย เปิดการประชุมในกรุงจาการ์ตา พร้อมกล่าวว่า "อาเซียนได้ตกลงที่จะร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง แต่เหนืออื่นใด เราต้องขับเคลื่อนด้วยตัวเองจึงจะบรรลุเป้าหมายได้"

ร่างแถลงการณ์ร่วมของบรรดาสมาชิกได้เว้นว่างในส่วนของเมียนมาไว้ แสดงให้เห็นถึงการขาดฉันทามติในกลุ่มสมาชิก 10 ประเทศที่ความพยายามสร้างสันติภาพยังไม่ประสบผลสำเร็จ

ขณะที่ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์ กล่าวว่ารัฐบาลของเขาพร้อมที่จะก้าวเข้ามาเป็นประธานกลุ่มในปี 2569 แทนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งยังคงถูกแบนจากการมีส่วนร่วมของประชาคม

"ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะประกาศว่าฟิลิปปินส์พร้อมที่จะรับตำแหน่งผู้นำและเป็นประธานอาเซียนในปี 2569 เพื่อนำทางอาเซียนสู่การเริ่มต้นบทใหม่" มาร์กอสกล่าวกับบรรดาผู้นำ ซึ่งมีรายงานว่าประเทศสมาชิกชาติอื่นเห็นชอบกับการเสนอตัวครั้งนี้

ในฐานะประธานกลุ่ม อินโดนีเซียได้ผลักดันให้รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาบังคับใช้แผนสันติภาพฉันทามติ 5 ประการที่ได้ตกลงกันไว้เมื่อ 2 ปีก่อน เพื่อยุติความรุนแรงและเปิดการเจรจาสันติภาพกับทุกฝ่ายในประเทศ

ในขณะที่การประชุมสุดยอดดำเนินไปโดยไม่มีตัวแทนทางการเมืองจากเมียนมา เจ้าหน้าที่จากพรรคการเมืองที่ทหารคว่ำบาตรในประเทศบอกกับเอเอฟพีว่า รัฐบาลทหารมีแนวโน้มที่จะจัดการเลือกตั้งในปี 2568 แต่สหรัฐฯ ระบุว่าการเลือกตั้งใดๆ ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารถือเป็น "เรื่องหลอกลวง"

ประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งอ้างสิทธิ์เกือบทั้งหมด ก็เป็นประเด็นในการหารือเช่นกัน

จีนเพิ่งเผยแพร่แผนที่อย่างเป็นทางการฉบับใหม่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ ทำให้เกิดความแตกแยกที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างรัฐบาลปักกิ่งและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีน่านน้ำคาบเกี่ยวกัน

แผนที่ดังกล่าวทำให้เกิดการตำหนิอย่างรุนแรงจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ทั้งมาเลเซีย, เวียดนาม และฟิลิปปินส์

แหล่งข่าวทางการทูตกล่าวว่า บรรดาผู้นำตั้งเป้าสรุปการเจรจากับจีนเกี่ยวกับหลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้ภายในปี 2569

หลังจากนี้ อินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก 18 ชาติ ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น, อินเดีย และรัสเซีย

โดยจีนจะส่งนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง มาเป็นผู้แทนในการประชุม ขณะที่กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเข้าร่วมการประชุมแทนไบเดน เช่นเดียวกับรัสเซียที่จะส่งเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศ มาแทนปูติน.

เพิ่มเพื่อน