มาเลเซียบ่นอุบ 'ฮุน เซน' เยือนเมียนมาไม่ปรึกษาอาเซียน

รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซียแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเดินทางเยือนเมียนมาของฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยไม่มีการปรึกษาหารือกับสมาชิกอาเซียนชาติอื่นก่อนไป ระบุหลายชาติมีความกังขาและห่วงว่าจะถูกตีความเป็นการยอมรับรัฐบาลทหาร

ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2565 นายกฯ ฮุน เซน (ขวา) จับมือกับพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ระหว่างงานเลี้ยงรับรองมื้อค่ำที่กรุงเนปยีดอ (Photo by An Khoun SamAun / National Television of Cambodia (TVK) / AFP)

ปัจจุบันกัมพูชาเป็นประธานของกลุ่มอาเซียน โดยรัฐบาลของนายกฯ ฮุน เซน แสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องการดึงเมียนมากลับเข้าเกี่ยวพันกับอาเซียนอีกครั้ง หลังจากอาเซียนที่บรูไนเป็นประธานเมื่อปีที่แล้ว ปฏิเสธเชิญพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำสูงสุดของเมียนมา ร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อเดือนตุลาคม เนื่องจากเมียนมาไม่ปฏิบัติตามฉันทมติ 5 ข้อที่เคยตกลงไว้กับอาเซียน

ฮุน เซน เดินทางเยือนเมียนมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อพบปะกับมิน อ่อง หล่าย โดยสื่อของทางการเมียนมากล่าวว่า ผู้นำเมียนมาขอบคุณฮุน เซน สำหรับ "การยืนหยัดเคียงข้างเมียนมา"

รายงานเอเอฟพีและรอยเตอร์เมื่อวันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2565 กล่าวว่า ไซฟุดดิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อคืนวันพฤหัสบดีว่า ในอาเซียนมีทัศนะที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการเยือนของฮุน เซน โดยมีบางประเทศวิตกกังวลว่า การเยือนอย่างเป็นทางการของฮุน เซน จะถูกมองเป็นการให้ความชอบธรรมต่อรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร

"มีคนที่คิดว่าเขาไม่ควรไปเยือน เพราะการเยือนของเขาถูกตีความหรือแปลความว่าเป็นการยอมรับทหารในเมียนมา" รัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวถึงฮุน เซน "มาเลเซียมีความเห็นว่า เขามีสิทธิเยือนเมียนมาในฐานะผู้นำรัฐบาลกัมพูชา อย่างไรก็ตาม เรารู้สึกเช่นกันว่า เพราะเขารับตำแหน่งประธานอาเซียนแล้ว บางทีเขาควรจะปรึกษาหารือกับผู้นำอาเซียนคนอื่นๆ เพื่อสอบถามทัศนะว่า เขาควรทำอย่างไรหากเขาจะเดินทางไปเมียนมา"

และเมื่อผู้สื่อข่าวถามไซฟุดดินว่า เขาคิดว่าการเยือนของฮุน เซน ประสบความสำเร็จหรือไม่ เขาตอบว่า "ไม่"

มาเลเซียเป็นหนึ่งในหลายประเทศอาเซียนที่วิจารณ์การก่อรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และสนับสนุนการบอยคอตผู้นำเมียนมาหลังจากความล้มเหลวในการปฏิบัติตามโรดแม็ปสันติภาพของอาเซียน ประเทศอื่นที่มีจุดยืนคล้ายกันได้แก่ อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์

เดิมรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนมีกำหนดหารือกันที่กัมพูชาสัปดาห์หน้า การประชุมถูกเลื่อนออกไป ไซฟุดดินปฏิเสธว่าเกิดจากเหตุผลเรื่องความตึงเครียดเกี่ยวกับเมียนมา โดยกล่าวว่าเป็นเพราะตารางเวลาและความกังวลเรื่องโควิด-19.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“เมืองเมียวดี”ถูกโจมตี ผลกระทบต่อชายแดนไทย?

สถานการณ์ในเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามกับ อ.แม่สอด จ.ตาก ขณะนี้หลังกองกำลังผสม นำโดยกองทัพปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army-KNLA) ยึดฐานทหารพม่าได้ 3 ฐาน และในฐานบัญชาการมีการมอบตัวซึ่งกองกำลังผสมสามารถควบคุมเมืองเมียวดีได้ 90%

ตรวจเข้ม! แรงงานไทยแห่กลับจากมาเลย์ ฉลองวันฮารีรายอ

ชาวไทยมุสลิมที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งได้เดินทางข้ามแดนไปขายแรงงานตามเมืองต่างๆ ของมาเลเซีย ได้ทยอยเดินทางกลับบ้าน