ตีแผ่ขยะใต้พรม กทม. ชี้จุดหมกเม็ดงบประมาณ ผู้ว่าฯ-ส.ก.ชุดใหม่ต้องสะสาง

นับจากวันอาทิตย์ที่ 24 เม.ย.นี้ นับถอยหลังไปอีกสี่สัปดาห์ ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ที่จะเลือกกันในวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค.นี้ โดยคาดกันว่ายิ่งเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง จะทำให้การหาเสียงยิ่งเข้มข้นขึ้น อาจมีแคมเปญหรือนโยบายการหาเสียงจากผู้สมัครบางคนที่เรียกเสียงฮือฮาตามมาในช่วงหลังจากนี้

อย่างไรก็ตาม จุดหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอย่าง กรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมามักมีข่าวเรื่องความไม่โปร่งใส การขาดธรรมาภิบาล  ตลอดจนการตรวจสอบพบการทุจริตในโครงการต่างๆ ของ กทม.หลายครั้ง จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามว่า ผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก.ที่จะเข้าไปทำงานหลังเลือกตั้ง จะมีแนวทางการบริหารงาน กทม.อย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องการทุจริตและการใช้อำนาจโดยมิชอบ

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ให้ความเห็นเชิงตีแผ่ปัญหาของ กทม.ในช่วงที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นกล่าวปูพื้นว่า  กรุงเทพมหานครคือเมืองหลวงของประเทศไทย แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราเผชิญปัญหาหลายอย่าง ทั้งการดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ การบริหารจัดการแบบต่อเนื่องของกรุงเทพมหานคร ที่แยกเป็นสองส่วน

คนที่เป็นผู้ว่าฯ กทม.ต่อจากนี้ต้องวางรากฐานของ กทม.ว่า เจ้าหน้าที่ ผู้มีอำนาจใน กทม.ทุกคนต้องโปร่งใส  มีธรรมาภิบาล โกงไม่ได้ทั้งวันนี้และในอนาคต คนที่สมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม.ต้องบอกมาว่าจะทำอย่างไร อย่าพูดแค่ว่า ตัวเองไม่โกง ผมไม่โกง แต่ปล่อยลูกน้องโกง เพื่อนโกง คนในพรรคโกง ปล่อย ส.ก.โกง ปล่อยข้าราชการโกง ถ้าทำแบบนี้ไม่เกิดประโยชน์

ส่วนแรกเป็นเรื่อง การใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานคร ส่วนที่สองเรื่อง การใช้อำนาจในการบริหารจัดการ ของ กทม.

ซึ่งการใช้อำนาจบริหารจัดการเป็นเรื่องใหญ่ของคนกรุงเทพฯ โดยเรื่องที่คน กทม.ต้องเผชิญแบบชัดเจนที่สุดคือ เวลาคนจะสร้างบ้านหรือต่อเติมบ้าน มักจะต้องมีการ จ่ายเงิน เพื่อให้ได้ใบอนุญาตในการก่อสร้างและใบอนุญาตให้ใช้อาคาร เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ทุกคนรับรู้แต่แก้ไม่ตก ซึ่งไม่ใช่แค่ประชาชนทั่วไปที่เดือดร้อน แต่รวมถึงนักธุรกิจ  คนที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สร้างบ้าน สร้างคอนโดมิเนียม ต่างเจอปัญหาแบบนี้ ถือเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งปัญหานี้เป็นหน้าที่ของคนที่จะมาเป็นผู้บริหารกรุงเทพมหานครต้องแก้ไข

"โดยจากการศึกษาข้อมูลและงานวิจัยต่างๆ พบว่า ในพื้นที่ กทม.มันเกิดคอร์รัปชันขึ้นจากส่วนต่างๆ  นักการเมือง, เจ้าหน้าที่ จากเขตต่างๆ และจากส่วนกลาง ก็อีกเรื่องหนึ่งมีการแบ่งแยกกันในเรื่องของผลประโยชน์ ปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งจะเกิดขึ้นโดยการกระทำของใครก็แล้วแต่ เป็นเรื่องที่น่าอาย ซึ่งใครที่อาสาตัวจะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.จะต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้เสียที"

ส่วนการใช้งบประมาณในโครงการขนาดใหญ่ของ กทม. พบว่าโครงการที่สร้างข้อกังขามากก็คือ โครงการศูนย์กำจัดขยะที่หนองแขมและอ่อนนุช ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดคำถามขึ้นมากมายถึงความไม่โปร่งใสหรือความไม่ชอบมาพากล ซ้ำร้ายก็คือโครงการเหล่านี้พอเข้าไปในโครงการ ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity  Pact) ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ พบว่า กทม.ยังตามไปเดินเรื่องเพื่อขอถอนเรื่องออกมา ทั้งที่โครงการข้อตกลงเพื่อคุณธรรมเป็นโครงการเพื่อความโปร่งใสในการใช้งบประมาณที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ในประเทศไทยก็พิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่ทำไม กทม.ถึงถอนตัวทั้งที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ เป็นเรื่องที่้ต้องคำถาม ที่ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีคำอธิบายจาก กทม. มีแค่คำพูดเล็กน้อยที่ตอบมา ก็ยังไม่น่าเชื่อถือไม่น่าไว้วางใจ คือเดิมทีโครงการกำจัดขยะที่หนองแขมและอ่อนนุชเข้าข้อตกลงคุณธรรมไปแล้ว แต่พอเริ่มไปก็ไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามข้อตกลงคุณธรรม แล้วผ่านไปสักระยะก็ไปทำเรื่องขอถอนออกมา โดยอ้างเรื่องข้อกฎหมายอะไรต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 2564

ข้องใจ กทม.ไม่เปิดเผย

ข้อมูลการใช้งบประมาณ

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวถึงเรื่องงบประมาณของ กทม.ว่า งบของ กทม.ที่ปีหนึ่งเฉลี่ยตกอยู่ที่ประมาณ 70,000 กว่าล้านบาทต่อปี ซึ่งตลอดช่วงที่ผ่านมาอย่างสมัยอดีตผู้ว่าฯ กทม.คนก่อนที่อยู่ในตำแหน่งมาห้าปี ก็เท่ากับร่วมๆ 350,000 ล้านบาท โดยยังไม่รู้ว่ามีเรื่องของงบต่างๆ เช่นเงินกู้ หรือการทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชนเข้ามาอีกด้วยหรือไม่

สิ่งที่เราพบอีกอย่างหนึ่งก็คือ การใช้งบของ กทม.มีการเปิดเผยรายละเอียดน้อยมาก ยกตัวอย่างเรื่องที่คนตั้งคำถามกันแล้วก็ยังหาคำตอบไม่ได้ เช่นงบที่ใช้ในการ ปรับปรุงภูมิทัศน์ ตามจุดต่างๆ เช่น คลอง, สวนสาธารณะ เราจะไม่เห็นรายละเอียดพวกนี้ ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสงสัย

ดร.มานะ ยกตัวอย่างอธิบายประกอบว่า การใช้งบประมาณของ กทม.ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา จากข้อมูลเบื้องต้นเราพบว่ามีการใช้เงินในการปรับปรุงสัญญาณไฟจราจร ที่ให้ประชาชนไปกดปุ่มแล้วเดินข้ามถนน ซึ่งใน กทม.ยังขาดแคลน อย่างตอนที่มีข่าวหมอกระต่าย (พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล) ประสบอุบัติเหตุขณะข้ามถนน  คนก็พูดกันว่าทำไม กทม.ไม่มีสิ่งเหล่านี้

...จริงๆ แล้วตั้งแต่ปี 2558 กทม.ใช้งบพวกนี้ไปร่วมห้าร้อยล้านบาท เรามีข้อมูลเบื้องต้นว่ามีการทำโครงการประเภทนี้อยู่สิบโครงการ โดยมีผู้รับเหมาเกี่ยวข้องอยู่ไม่กี่ราย แต่ถามว่าวันนี้ประชาชนคน กทม.ได้ใช้สิ่งเหล่านี้หรือไม่ และทั่วถึงหรือไม่ตามจุดสำคัญ รายละเอียดพวกนี้ยังต้องเก็บข้อมูลกันต่อไป เพราะอย่างที่บอกข้อมูลการใช้งบประมาณของ กทม.ยังขาดแคลนการให้รายละเอียด ไม่มีความชัดเจน เพราะสิ่งที่คน กทม.ต้องการจาก กทม.คือความสะอาด การดูแลเรื่องมลภาวะ ความปลอดภัย การใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ การปรับปรุงสวนสาธารณะต่างๆ แต่มันถูกตั้งคำถามว่างบประมาณถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่าจริงหรือไม่

การใช้งบของ กทม.มีการเปิดเผยรายละเอียดน้อยมาก ยกตัวอย่างเรื่องที่คนตั้งคำถามกันแล้วก็ยังหาคำตอบไม่ได้ เช่นงบที่ใช้ในการปรับปรุงภูมิทัศน์ตามจุดต่างๆ เช่น  คลอง สวนสาธารณะ เราจะไม่เห็นรายละเอียดพวกนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าสงสัย..ปัญหาใหญ่คือ "การใช้อำนาจที่ไม่ตรงไปตรงมา" จนทำให้นักลงทุน นักธุรกิจ ประชาชนเดือดร้อน

"เราได้รับข้อมูลว่าตั้งแต่ปี 2558 มีการใช้งบประมาณเพื่อซื้อต้นไม้ถึง 700 ล้านบาท เราใช้งบมากขนาดนั้นจริงหรือ มีเจ้าหน้าที่ของ กทม.ให้ตัวเลขนี้มา ผมเองยังไม่อยากจะเชื่อว่าเราต้องใช้งบขนาดนี้เลยหรือ ซึ่ง 700 ล้านบาทดังกล่าว ยังไม่รวมงบในด้านการดูแลรักษา  สิ่งเหล่านี้ประชาชนจำเป็นต้องรู้และคลี่ตัวเลขมาให้ประชาชนเห็น ไม่ใช่อย่างสภาพปัจจุบัน"

-ที่ผ่านมาการใช้งบของ กทม.ถูกวิจารณ์เยอะ  เช่นการใช้งบเดินทางไปต่างประเทศของ ส.ก.และสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) สมัยที่ยังมี ส.ข. ที่มีข่าวว่ามักเดินทางไปต่างประเทศกันบ่อย?

ก่อนหน้านี้มีปัญหามากในเรื่องการใช้งบดูงาน สิ่งที่เราได้ยินก็คือว่า ส.ก.-ส.ข.ที่ตัวเองเป็นนักการเมืองอยู่ในพื้นที่ ก็ใช้อิทธิพลที่ตัวเองมีทางการเมืองและอิทธิพลที่ตัวเองมีต่อข้าราชการของ กทม.ทั้งในเขตและใน กทม.ก็แล้วแต่ ใช้อิทธิพลเหล่านี้ในการหาผลประโยชน์ส่วนตัว เพราะฉะนั้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้สมัครที่เข้าไปเป็น ส.ก.ต้องขจัดข้อครหาเหล่านี้ให้หมด

-คิดว่าผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนกับที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาด้วยมาตรา 44 ในยุครัฐประหารก่อนหน้านี้ เรื่องความโปร่งใสมีความแตกต่างกันหรือไม่?

ผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากการเลือกตั้ง ผมเชื่อว่าต้องดีกว่าผู้ว่าฯ ที่มาจากการประเคนตำแหน่งให้แน่นอน เพราะคนเหล่านี้จะมาได้เขาต้องให้สัญญากับประชาชนตอนหาเสียง และประชาชนคือผู้ให้เขาเข้าสู่ตำแหน่ง ทำให้ความรับผิดชอบต่อสิ่งที่พูด สิ่งที่หาเสียงไว้ และความเชื่อมโยงกับประชาชนจะมีมากกว่า

-การที่ก่อนหน้านี้ กทม.ไม่มีระบบตรวจสอบกันเอง เพราะสภา กทม.ช่วงก่อนหน้านี้ร่วมห้าปีก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มองว่าทำให้ประชาชนเสียโอกาส  มีการรั่วไหลคอร์รัปชันเกิดขึ้นหรือไม่?

ฟันธงไม่ได้ว่าการคอร์รัปชันช่วงดังกล่าวกับช่วงก่อนหน้านั้นเยอะกว่าหรือน้อยกว่าหรือไม่ เพราะตอนนั้นก็มีส.ก.อยู่ แต่เป็น ส.ก.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการสรรหาแต่งตั้ง แต่ว่าสิ่งที่เราได้เห็นจากการร้องเรียนจากนักธุรกิจและประชาชน มันเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสไม่ต่างจากอดีต อาจจะเลวร้ายกว่าที่เคยเกิดขึ้นมาก็ว่าได้ ผมจึงไม่ฟันธง

ผู้ว่าฯ กทม.หลังเลือกตั้ง

ตัวเองไม่โกงไม่พอ คนอื่นต้องไม่ทุจริตด้วย

-อยากเห็นอะไรในการเลือกตั้ง กทม.รอบนี้ ทั้งการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก. โดยเฉพาะเรื่องหลักการสร้างธรรมาภิบาลใน กทม.?

ทุกคนที่อาสาตัวเข้ามาเป็นคนของประชาชนในการบริหารกรุงเทพมหานคร ผมเชื่อว่าคนจะเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถ และด้วยปัญหาที่คน กทม.ประสบอยู่  ความคาดหวังในการพัฒนาเมืองที่ประชาชนต้องการ ประเทศชาติต้องการ เราเชื่อว่าคนที่มีความสามารถเหล่านี้จะเขียนนโยบายที่เชื่อมโยงกับประชาชน ที่แน่นอนว่าเรื่องคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจในหลายๆ เรื่อง ดังนั้นคนที่ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.จำเป็นต้องบอกมาว่า เขาจะแก้ปัญหาเรื่องคอร์รัปชันในประเด็นต่างๆ อย่างไร และจะมีมาตรการในการสร้าง หรือการวางพื้นฐานเพื่อความโปร่งใส การมีธรรมาภิบาลของ กทม.ต่อไปในอนาคต

เราไม่คาดหวังเพียงว่าเราจะได้ผู้ว่าฯ ที่เป็นอัศวินขี่ม้าขาวมาสักคนหนึ่ง โดยที่ช่วงสี่ปีต่อจากนี้เขาจะไม่โกงเลย  แบบนั้นถ้าได้ก็ดี แต่ยังไม่พอ เพราะอย่างที่บอกปัญหาคอร์รัปชันมันมีทั้งในเขต ส่วนกลาง ทั้งนักการเมืองและตัวข้าราชการ

ดังนั้นคนที่เป็นผู้ว่าฯ กทม.ต่อจากนี้ต้องวางรากฐานของ กทม.ว่า เจ้าหน้าที่ ผู้มีอำนาจใน กทม.ทุกคนต้องโปร่งใส มีธรรมาภิบาล โกงไม่ได้ทั้งวันนี้และในอนาคต คนที่สมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม.ต้องบอกมาว่าจะทำอย่างไร อย่าพูดแค่ว่าตัวเองไม่โกง ผมไม่โกง แต่ปล่อยลูกน้องโกง  เพื่อนโกง คนในพรรคโกง ปล่อย ส.ก.โกง ปล่อยข้าราชการโกง ถ้าทำแบบนี้ไม่เกิดประโยชน์ เหมือนหน้าไหว้หลังหลอกมากกว่า

ถามถึงสิ่งที่ต้องการเห็นจากผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ประกาศนโยบายเกี่ยวกับเรื่องธรรมาภิบาลสิ่งที่ต้องการเห็นคือด้านไหน เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ประเทศไทย ตอบว่า เรื่องการเปิดเผยข้อมูล การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจสอบ เทคโนโลยีที่ทำให้คนเข้ามาดูและเข้ามาใช้บริการด้านต่างๆ ได้เต็มที่อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ โดยให้ประชาชนเข้ามาใช้ได้สะดวกทั้งการบริการและการตรวจสอบ และสิ่งที่ กทม.เคยทำมาอย่างเรื่องการไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล  การไม่ให้ความร่วมมือกับประชาชนที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ ขอให้เลิก เช่นการไม่เปิดเผยข้อมูลการใช้งบประมาณต่างๆ หรือการถอนตัวออกจากโครงการข้อตกลงคุณธรรม มันเป็นเรื่องน่าละอาย

-ในส่วนของผู้สมัคร ส.ก.อยากเห็นเขาแสดงความคิดนโยบายเรื่องการตรวจสอบการใช้งบของส.ก.บ้างหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็มีข้อวิจารณ์กันหลายเรื่อง เช่นงบไปต่างประเทศของ ส.ก.?

คือจะใช้งบประมาณในการไปดูงานก็ได้ แต่ต้องมีความชัดเจนว่าแต่ละครั้งที่ไป ใช้เงินใครไป ใช้เงินหลวงหรือเงินเอกชน แล้วไปแล้วได้อะไร ประชาชนได้อะไรจากสิ่งที่สูญเสียไป

-สรุปแล้วปัญหาของ กทม.หลักๆ คืออะไร มีเรื่องงบประมาณรั่วไหลเยอะหรือไม่?

ปัญหาใหญ่คือ การใช้อำนาจที่ไม่ตรงไปตรงมา จนทำให้นักลงทุน นักธุรกิจ และประชาชนเดือดร้อน

ส่วนเรื่องงบของ กทม.รั่วไหลมากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้น่าเสียดายว่ายังไม่มีตัวเลขยืนยัน ซึ่ง ตรวจไม่เจอ ไม่ใช่ว่าไม่โกง แต่เพราะเราเชื่อว่าการเปิดเผยข้อมูลการใช้งบประมาณ การตั้งงบประมาณแต่ละเรื่องมันซับซ้อน ไม่ชัดเจน ทำให้คนเข้าถึงการตรวจสอบได้ยาก ขอย้ำจับไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าไม่โกง

-ที่ผ่านมามักมีข่าวเรื่องผู้บริหารและนักการเมืองในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมักมีปัญหาข่าวทางลบเรื่องการทุจริต จุดนี้เกิดจากอะไร และระบบตรวจสอบปัจจุบันเป็นอย่างไร?

ก็เหมือนกันเลย คือหน่วยตรวจสอบเข้าถึงข้อมูลยาก  ประชาชนเข้าถึงไม่ได้ และอำนาจอิทธิพลของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้คนเกรงกลัว ไม่อยากยุ่งเกี่ยว แต่หลายเรื่องที่ประชาชนต้องจ่ายเงินจ่ายทองเป็นเพราะว่าสมประโยชน์กัน อันนี้ก็เกิดขึ้นได้ในหลายกรณี ผมยกตัวอย่างให้เห็น น่าจะประมาณปี 2558-2559 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเคยออกรายงานฉบับหนึ่งว่า โรงภาพยนตร์ใน กทม.ส่วนใหญ่ประมาณสัก 90 เปอร์เซ็นต์ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยด้านอัคคีภัย รายงานนี้คือตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นบางอย่างว่าแล้วฝ่ายโยธา หรือหน่วยงานด้านอนามัยของ กทม.ปล่อยให้ประชาชนเสี่ยงชีวิตอยู่ได้อย่างไร จน สตง.ไปตรวจสอบเจอ จนถึงวันนี้ไม่รู้ว่ามีการแก้ไขปรับปรุงไปถึงไหน แต่เราไม่อยากเห็นมีการตรวจสอบเจอเรื่องเหล่านี้อีกแล้ว

-ลักษณะการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นอย่างไร?

วันนี้บ้านเรา หากเราดูจากตัวอย่าง โครงการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมกินรี (อบต.ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ) หรือกรณีโกงถุงมือยางขององค์การคลังสินค้าและอีกหลายกรณี เราจะเห็นได้ว่าคนโกงยุคนี้มันไม่เกรงกลัวอะไรเลย ไม่เกรงกลัวที่จะถูกจับได้ มันเป็นเพราะอะไร เพราะมีนายคุ้มครองดี หรือเพราะเครือข่ายขบวนการสืบทอดบทเรียนจนทำให้โกงได้แนบเนียนมากยิ่งขึ้น  สามารถช่วยเหลือกันจนปกปิดข้อมูลได้มากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่เราเห็นเวลาเกิดเรื่องขึ้นมาแล้ว สื่อกับประชาชนตั้งคำถาม  คำตอบที่ออกมาเป็นเรื่องน่าประหลาดใจมาก ที่คนพวกนี้ไม่ละอายแก่ใจที่พูดในสิ่งเหล่านั้น เช่น ถูกแล้ว ใช่แล้ว ถูกทุกอย่างตามระเบียบ ไม่มีการโกง แต่สุดท้ายได้ของที่จัดซื้อมาที่ห่วย ได้ของไม่คุ้มค่า สุดท้ายคนเสียหายก็คือประเทศชาติและประชาชน

จับไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าไม่โกง แต่เราก็เห็นอยู่ อย่างที่ตกเป็นข่าวผ่านเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ขององค์กรต่อต้านคอรัปชันหรือผ่านโซเชียลมีเดีย ที่เราจะเห็นว่าปัจจุบันคนมีความตื่นตัว โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ช่วยกันเปิดโปง แต่พอเปิดโปงแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถตามไปเอาผิดไปเล่นงานคนที่ทำผิดได้ ที่อาจเป็นเพราะว่ามันเยอะมากจนเกินกำลัง หรือว่ามีการวางเครือข่ายกันจนแน่นหนาจนจับไม่ได้ อันนี้เราก็ยังไม่แน่ใจ แต่อย่างกรณีเสากินรีทั่วประเทศที่มีเป็นหมื่นต้น ก็มีทั้งที่ตรงไปตรงมา โดยอย่างน้อยที่สุดระบบการจัดซื้อ หากเช็กด้วยระบบ ACT Ai พบว่ามีประมาณ 15,000 ต้น ซึ่งล่าสุดที่พบเสาไฟพญานาค พวกนี้พบว่าไปเขียนซ่อนอยู่ในงบปรับปรุงภูมิทัศน์ ทำให้ระบบตรวจไม่เจอ ซึ่งเสาไฟพวกนี้ที่มีมากและราคาแพงมีมหาศาล

-สรุปแล้วเรื่องการใช้งบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากข้อมูลที่มีพอสรุปได้ไหมว่ามีความเสียหายมากน้อยแค่ไหน?

หากดูจากตัวเลขการร้องเรียนที่ร้องไปที่สำนักงาน ป.ป.ช.ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่าอยู่ในลำดับต้นๆ โดยเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนก็เช่นการใช้อำนาจไม่เป็นธรรม เช่น การออกใบอนุญาต การอนุมัติต่างๆ และ การทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างที่ทำให้เกิดการรั่วไหลของงบประมาณ

ส่วนตัวเลขเยอะหรือไม่ ก็พบว่าเยอะ เพียงแต่ว่า ณ ตอนนี้สถิติยังไม่ออกมาชัดเจน การจับได้ยังน้อยอยู่ คือคนโกงก็พยายามจะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ มีการพยายามช่วยเหลือจากพวกเครือข่ายด้วยกัน หน่วยงานต่างๆ ในภาครัฐ เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน, สำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ท.ก็พัฒนาตัวเอง แต่คนโกงเมื่อมันจะโกงก็ตั้งหลักดี ไม่ให้โดนจับได้ง่ายๆ

ทางเดียวที่จะทำได้คือ การเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ประชาชน สื่อมวลชนได้เข้าร่วมตรวจสอบ คอยเป็นหูเป็นตา มีทางนี้ทางเดียว สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน แล้วก็นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้มากขึ้น

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นรากฐานการบริหารจัดการของแผ่นดิน การใช้อำนาจรัฐของแผ่นดิน เราต้องช่วยกันทำตรงนี้ให้เข้มแข็งและมั่นคง แต่ประชาชนจะมีความศรัทธาต่อระบบนี้ได้ทุกอย่างต้องโปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่าการที่จะมีการปกครอง มีการใช้อำนาจรัฐที่มากระทบถึงตัวเขา มันสมเหตุสมผล เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ประชาชนเชื่อมั่นได้ ถ้าทำได้ประชาชนก็จะศรัทธา ทำให้เวลาภาครัฐจะไปเรียกร้องขอให้ประชาชนร่วมมือทำอะไรสักอย่าง มันก็จะง่าย  เวลาเกิดวิกฤตขึ้นมาเช่นโควิด เวลาไปขอความร่วมมือ ประชาชนก็พร้อมจะให้ความร่วมมือ รัฐบาลกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพูดอะไร ประชาชนก็จะเชื่อ และปฏิบัติตาม สถานการณ์บ้านเมืองก็จะสงบ

 เราดูได้จากตัวอย่างเช่น ประเทศที่มีเรื่องคอร์รัปชันน้อยอย่างพวกประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ประชาชนเขาสงบมากเลย เวลารัฐบาลเรียกร้องหรือขอให้ทำอะไร  ประชาชนก็ให้ความร่วมมือเช่นตอนโควิด ก็ใส่หน้ากาก  ฉีดวัคซีน รักษาตัวอยู่ที่บ้าน ประชาชนให้ความร่วมมือดี.

ผ่ากลวิธีหลบเลี่ยงตรวจสอบ 

ซุก-ตั้งงบ ไว้ใน

โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์

หลังเมื่อวันที่ 7 มี.ค.62 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน  (ประเทศไทย) จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว เครื่องมือสู้โกง  (ACT Ai) ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก 3 หน่วยงานรัฐ  ได้แก่ 1.ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของกรมบัญชีกลาง  2.คลังข้อมูลธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 3.ศูนย์กำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการป้องกันและตรวจสอบการทุจริต

ดร.มานะ เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวถึงความคืบหน้าการใช้ระบบ เครื่องมือสู้โกง (ACT Ai) มาช่วยตรวจสอบการใช้งบประมาณของภาครัฐ เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใสและสร้างหลักธรรมาภิบาลว่า การที่มีการใช้เครื่องมือ ACT Ai เกิดขึ้น เพราะหากไปดูรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ว่า รัฐมีหน้าที่ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในทุกเรื่องๆ ในการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นหลักการที่ต้องยกย่อง เพราะหากทำได้ประชาชนก็จะมีความมั่นใจ ทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างสงบสุข  สังคมก็จะมีความมั่นคง

ซึ่งในเรื่องการ จัดซื้อจัดจ้าง พบว่าเรามีงบประมาณในด้านนี้เพิ่มมากขึ้นทุกปี อย่างปี 2564 ใช้งบในส่วนนี้ถึง 1.5 ล้านล้านบาท จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ประมาณ 1.1  ล้านล้านบาท แล้วก็ขึ้นมาเป็น 1.3 ในช่วงก่อนโควิด แต่พอมามีโควิดเราใช้งบส่วนนี้ 1.5 ล้านล้านบาทที่ทำลายสถิติ ที่ถือเป็นครึ่งหนึ่งของงบประมาณประจำปี

โดยการที่มีเงินจำนวนมากขนาดนี้เข้ามาได้ แปลว่ามีเรื่องเงินกู้และการนำเงินสะสมในบัญชีของหน่วยงานเข้ามาใช้ด้วย แต่ว่าในช่วงโควิดก็ต้องเข้าใจว่า เรามีความจำเป็นในการใช้งบดังกล่าว เพราะมีเรื่องของความปลอดภัยของประชาชน การดูแลสุขภาพประชาชน การกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งผมเห็นด้วยเพราะมีความจำเป็น

...อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อที่มันกระจายไปทั่วประเทศ  แล้วคอร์รัปชันก็เป็นเรื่องที่พูดกันไม่จบสิ้น เราก็คิดว่าในเมื่อข้อมูลก็มีอยู่ เราก็นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาจัดข้อมูลชุดนี้ เราจึงสร้างเว็บไซต์ที่เรียกว่า ACT Ai ขึ้นมา เพื่อไปดึงข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างย้อนหลังไปเจ็ดปี ไปจนถึงปี 2558 ซึ่งข้อมูลที่เรามีอยู่ตอนนี้มีอยู่ 24 ล้านรายการจัดซื้อที่ย้อนหลังไป ด้วยข้อมูลดังกล่าวจะทำให้เราเห็นทั้งหมดว่าเงินถูกใช้ไปกับอะไร ลงทุนไปกับอะไรบ้าง  โดย ACT Ai เป็นการนำข้อมูลมาจากกรมบัญชีกลาง ที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์เชื่อถือได้

ประโยชน์ที่ได้คือ ช่วยในการพัฒนาประเทศ ช่วยในการตรวจสอบป้องกันคอร์รัปชัน ยกตัวอย่างประเทศไทยใช้งบประมาณในการอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ มีทำมานานมากแล้ว เช่น เงินมิยาซาวา และอีกหลายโครงการ แต่ถามว่าเรามีสถิติไหมว่าเงินที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวที่ทำมานับสิบครั้ง เราหมดเงินไปทางด้านไหน เราลงทุนไปด้านไหน ใช้เงินไปกับอะไรกันบ้าง และเรื่องไหนคุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่า ทำให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่องหรือไม่?

...เราไม่มีสถิติตรงนี้ เพราะไม่เคยมีการเก็บข้อมูลไว้  แต่โดย ACT Ai มีการเก็บ เริ่มตั้งแต่ในช่วงการใช้งบโควิดสองรอบ คือสี่แสนล้านบาทกับสามแสนล้านบาท อยู่ในส่วนที่เราเรียกว่า Covid Ai ทำให้จะเป็นสถิติให้นักวิชาการ นักวิจัยเข้ามาศึกษาได้ว่า เราใช้เงินรอบนี้หมดไปกี่แสนล้านบาท จ่ายจริงเท่าไหร่ จ่ายไปทางด้านไหน จ่ายผ่านหน่วยงานรัฐหรือภาคประชาชน

 เราเห็นทุกอย่างเลย ระบบนี้บอกได้ เมื่อเห็นแล้วเราจะเห็นได้ว่า งบที่จ่ายไปส่วนไหนคุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่า ซึ่งไม่ใช่แค่นักวิชาการเห็น ภาครัฐก็เห็น ประชาชนก็เห็น เพราะด้วยระบบ โดย ACT Ai ประชาชนหยิบโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ตขึ้นมาแล้วเข้าไปดู เขาจะรู้ได้ เช่นจังหวัดหรืออำเภอของเขาได้งบจากโควิดหรือไม่ หรือประชาชนทำไร่ข้าวโพด อุตสาหกรรมเกี่ยวกับข้าวโพดได้ในส่วนนี้หรือไม่  หรือด้านการท่องเที่ยว ประชาชนอยู่นครนายก เขาอยากรู้ว่านครนายกกับบางจังหวัดเช่นปราจีนบุรี ใครได้มากกว่ากัน บุรีรัมย์กับกาฬสินธุ์ใครได้มากกว่ากัน มีการจัดสรรงบอย่างทั่วถึงเป็นธรรมหรือไม่ ข้อมูลส่วนนี้จะมีผลในวันข้างหน้า เช่นหากเกิดวิกฤตอะไรขึ้นแล้วรัฐบาลต้องการจัดสรรงบเพื่อไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะมีฐานข้อมูลให้รู้แล้วว่างบแบบนี้อย่าไปใช้ ควรใช้แบบอื่นจะดีกว่า และควรจัดสรรงบประมาณในส่วนไหนมากกว่าส่วนไหน

ส่วนเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง อย่างที่ผ่านมาเรื่องการล็อกสเปก อย่างพวกหน่วยงาน เช่น อบจ., อบต., เทศบาล  จะมีสักกี่แห่งที่จะมีศักยภาพในการเขียนทีโออาร์ อย่างไป อบต.จะไปให้เขาเขียนทำถนนสักหนึ่งเส้น ความยาวสองกิโลเมตร แบบนี้ อบต.เขียนได้เพราะมีการทำกันมาเยอะมาก แต่หากจะสร้างอาคารหลังใหญ่หรือสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ ต้องถามว่าจะเกินศักยภาพเขาหรือไม่ หรือหากเขาจะซื้อรถดับเพลิงสำหรับฉีดอาคารสูงสิบชั้น ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาตลอดหลายปี ก็คือว่าเมื่อเขียนไม่เป็น ก็จะไปเรียกเอกชนมาแล้วบอกว่าจะทำโครงการนี้ มีงบสี่สิบล้านบาท  ให้เขียนทีโออาร์ให้

...พอให้เอกชนมาเขียน เขาก็จะล็อกสเปก แต่ด้วย  ACT Ai ข้าราชการทุกคนสามารถไปเปิดโดย ACT  Ai โดยไม่ต้องขออนุญาตใคร แล้วค้นหาคำว่ารถดับเพลิง จะรู้ได้ทันทีว่าประเทศไทยในรอบสามปี หน่วยงานไหนซื้อรถดับเพลิง ซื้อกี่คัน ใครขาย และขายในราคาเท่าไหร่ มีทีโออาร์อย่างไร การชำระเงินทำอย่างไร เพราะข้อมูลอยู่ในระบบ แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าทุกหน่วยงานต้องใส่ข้อมูลจริง ใส่ข้อมูลถูกต้องครบถ้วน แต่ทุกวันนี้ยังไม่มี ยังไม่ครบ  แต่ไม่เป็นไรเรากำลังเริ่มต้น

หรืออย่างเรื่องการประมูลงาน ที่คนพูดกันมากเรื่อง การฮั้วประมูลงาน ซึ่งก็ฮั้วกันจริงๆ เราก็รู้กันอยู่ทั้งโครงการเล็กใหญ่ทั่วประเทศ ซึ่งการประมูลงานตามระบบจะเปิดเผยผู้ชนะและราคาที่ประมูล ถ้าเราเอาใหม่โดยเปิดเผยข้อมูลว่า ใครชนะการประมูล และข้อมูลคู่เทียบการเสนอราคาว่าใครอันดับหนึ่งกับอันดับสอง แล้วเสนอราคาเท่าไหร่ ด้วยวิธีนี้จะทำให้รู้ได้ว่าจากพฤติกรรมของคนที่มีการฮั้ว หากตั้งราคากลางสิบล้านบาท ก็จะชนะการประมูลที่ 10,000,000 บาท หรือไม่ก็ 999,000 บาท  แล้วคู่เทียบคือใคร โดยหากเปิดเผยคนที่เสนอราคาในอันดับที่สองสาม ระบบนี้จะสามารถเช็กได้ว่าเวลาก่อสร้างถนนเช่นที่นครนายก หรือกลุ่มจังหวัดนั้น อย่างปราจีนบุรี  สระบุรี สามบริษัทที่เข้าประมูลดังกล่าว บริษัทใดได้งานมากหรือน้อยในพื้นที่ ก็จะทำให้เห็นได้ว่าทำไมโครงการนี้ในจังหวัดนั้น บริษัท ก.ได้งาน โดยมีบริษัท ข.กับบริษัท ค.เป็นคู่เทียบ และไปดูอีกโครงการบริษัท ข.ได้งาน โดยมีบริษัท ก.และบริษัท ค.เป็นคู่เทียบ ทำให้เราไล่จับการฮั้วประมูลได้ง่ายมากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้คือคุณประโยชน์ของการเปิดเผยข้อมูลและ ACT Ai

-แบบนี้หากต้องการตรวจสอบงบของหน่วยงานรัฐต่างๆ เช่น อยากรู้ว่าหน่วยงานบางแห่งใช้งบด้านการประชาสัมพันธ์ไปเท่าไหร่ นำไปทำอะไร ก็ค้นหาได้เลย?

ได้ ยกเว้นแต่มีการเขียนงบซ่อนไว้ อย่างเช่นไปเขียนไว้ในงบ ปรับปรุงภูมิทัศน์ เราก็จะไม่เห็นรายละเอียดส่วนนี้แล้ว

ทุกวันนี้เป็นเรื่องตลกร้ายมากเลย เอาแค่ซ่อมสร้างถนน เขาเขียนชื่อโครงการด้วยวิธีการแตกต่างกัน อย่างที่เราตรวจสอบพบคือ มีหกพันรูปแบบการเขียนชื่อ เช่น  ซ่อมสร้าง-บูรณะถนนซีเมนต์ หรือซ่อมสร้างถนนแล้วปูทับด้วยยางมะตอย คือมีวิธีการเขียนให้ต่างกันถึงหกพันวิธี

 เพราะฉะนั้นการให้ระบบไปตรวจจับ ACT Ai ก็จับไม่เจอ อันนี้คือระบบที่เป็นสีเทาของประเทศไทย แล้วเราจะอยู่กับมันแบบนี้หรือ

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวว่า ถึงตอนนี้นับตั้งแต่มีการพัฒนาทำระบบ ACT Ai ยังไม่เจอปัญหาอะไร หน่วยงานภาครัฐอย่างกรมบัญชีกลางใจกว้างมาก สภาพัฒน์ก็ให้ความร่วมมือดีมาก ทั้งสองหน่วยงานเข้าใจเรื่องความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูล แต่หน่วยงานอื่นที่ต้องป้อนข้อมูลเข้าไปกลับไม่ทำ ไม่เปิดเผย ส่วนว่าหน่วยงานรัฐจะทำซิกแซ็กไม่เปิดเผยข้อมูลก็ทำได้ และทุกวันนี้ก็ทำอยู่ อย่างงบจัดซื้อเสาไฟกินรีปรับปรุงภูมิทัศน์บางแห่ง ที่มีเสาไฟไก่ รูปปั้นไก่ ระบบตรวจไม่เจอเพราะไปซ่อนอยู่ในเรื่องงบปรับปรุงภูมิทัศน์ แล้วก็ไปเอาข้ออ้างเรื่องงานศิลปกรรมทำให้ราคาแพงขึ้น หรืองานนวัตกรรมที่ทำให้ราคาแพงขึ้นไปอีก จากเสาละหนึ่งหมื่นกลายเป็นห้าหมื่น จากเจ็ดหมื่นกลายเป็นหนึ่งแสน อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้น

สิ่งเหล่านี้ภาครัฐเช่น กระทรวงมหาดไทย ช่วยได้โดยการให้ทุกหน่วยงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเปิดเผยข้อมูล ต้องใจกว้างเหมือนกรมบัญชีกลาง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งจะช่วยรักษาผลประโยชน์ประชาชนได้มาก เพราะถ้าเราลดทุจริตได้ ทุกบาททุกสตางค์ที่เราป้องกันการรั่วไหลได้ มันก็จะถูกนำมาใช้ในการดูแลประชาชน การพัฒนาบ้านเมือง

-คิดว่าในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  ตั้งแต่ยุคสมัย คสช.มาถึงปัจจุบันร่วมเจ็ดปีกว่าเกือบแปดปี ส่วนตัวแล้วกับเรื่องการปราบโกง การสร้างธรรมาภิบาลต่างๆ พอใจหรือไม่?

จากหลักฐานข้อมูลที่ปรากฏในช่วงที่ผ่านมา เรามีมาตรการในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน การสร้างความโปร่งใส และการให้บริการประชาชนเพิ่มมากขึ้น สูงสุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย อันนี้เป็นเรื่องจริง หากไปดูรายงานการวิจัยของหลายที่ มีข้อมูลพวกนี้อยู่ชัดเจน

แต่หากถามว่าวันนี้สถานการณ์ดีขึ้นหรือลดลง อันนี้ตอบได้ยาก แต่สิ่งที่เลวร้ายหลายอย่าง เคยเป็นก็ยังเป็นอยู่ วันนี้จึงยังตอบได้ยากว่าคอร์รัปชันเพิ่มขึ้นหรือลดลง  แต่มาตรการและเครื่องมือในการควบคุมคอร์รัปชันเรามีมาก มากเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ในด้านการต่อต้านคอร์รัปชันก็ถือว่าดี โดยเฉพาะสิ่งที่เราได้สัมผัสก็คือ การตื่นตัวของประชาชน นักธุรกิจ และคนรุ่นใหม่ และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่เรายังต้องแก้ไขกัน แต่การทำงานของ ป.ป.ช.และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน พบว่ามีผลงานเชิงรุกเพิ่มมากขึ้นชัดเจน  เราก็ต้องปรบมือให้เขา แต่จะบอกว่ายังเยอะ อันนี้ก็ต้องอาศัยเวลาต้องให้โอกาส แต่วันนี้การทำงานเชิงรุกผลงานพบว่าชัดเจน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“มิจฉาธรรม .. ในอสัตบุรุษที่น่ากลัวยิ่ง”

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา สงกรานต์ร้อนที่เข้าสู่จุลศักราช ๑๓๘๖ เถลิงศกตรงกับ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๗ นับว่าร้อนแล้ง ตรงกับคำพยากรณ์ที่พร้อมเกิดพายุร้อนได้ในทุกพื้นที่ เป็นการแสดงสภาวะผันผวนที่เนื่องมาจากวิกฤตร้อนของโลก (Climate Change) ที่หลายฝ่ายเฝ้าสังเกตการณ์ด้วยความเป็นห่วงว่า มนุษยชาติจะผ่านวิกฤตโลกร้อนไปได้หรือไม่..

สงกรานต์'รางน้ำ' พิกัดใหม่เล่นน้ำสุดฉ่ำ

สงกรานต์กรุงเทพฯ จุดเล่นน้ำสงกรานต์ยอดฮิตที่มีคนไทยและชาวต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวอย่างคับคั่งเป็นประจำทุกปี คนจะนึกถึงถนนข้าวสาร เขตพระนคร หนึ่งในย่านท่องเที่ยวและจัดงานเล่นน้ำสงกรานต์ยอดนิยมเสมอมาของกรุงเทพฯ  รองลงมาสงกรานต์สีลมซึ่งปิดถนนให้เล่นน้ำสงกรานต์กันตลอดเส้นสีลม ยังมีพื้นที่ของคนกลุ่มความหลากหลายทางเพศ LGBTQ ที่จัดประกวดเทพีสงกรานต์ เดินขบวนพาเหรด การแสดงศิลป

'แม้ว' หักหลังเสื้อแดง ฟันธงเลือกตั้ง 'เพื่อไทย' แพ้ 'ก้าวไกล'

ความพยายามของคุณทักษิณ ชินวัตร ที่ออกมาปฏิเสธภาพลักษณ์ของพรรคเพื่อไทยว่า ไม่ใช่พรรคอนุรักษ์นิยมใหม่ แต่เป็นพรรครีฟอร์มมาจากพรรคไทยรักไทย และพรรคพลัง

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า น้อมถวายเป็นพระราชกุศลฯ

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาที่อากาศร้อนจัด จนเข้าสู่วิกฤตการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานของประเทศ

กทม.เนรมิตเมือง 15 นาทีเป็นจริง สร้างพื้นที่สีเขียวอิ่มเอมใจทั่วกรุง

กทม.ทวีความรุนแรง เมืองจมฝุ่น การจราจรติดขัด ขาดแหล่งอาหาร สำรวจคนกรุงเผชิญรถติดเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง หรือใน 1 ปีชีวิตติดหนึบอยู่บนรถเท่ากับ