เพื่อไทย กับความเชื่อมั่น ชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์ ชูจุดแข็งนโยบาย-แคนดิเดตนายกฯ

สถานการณ์การเมืองเริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ หลายพรรคการเมืองมีการเตรียมพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องนโยบายที่จะใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง การเตรียมประกาศรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค การคัดเลือกและเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์ของแต่ละพรรคการเมือง เป็นต้น

สำหรับ พรรคเพื่อไทย ที่ถูกคาดหมายจากทุกฝ่ายว่าจะเป็นพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ได้เสียง ส.ส.มากที่สุด จะมีทิศทางการขับเคลื่อนของพรรคในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้งอย่างไร เรื่องนี้ พิชัย นริพทะพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย และอดีต รมว.พลังงาน ที่ปัจจุบันมีบทบาทในพรรคสูง ทั้งการเป็นกรรมการยุทธศาสตร์และการเมือง พรรคเพื่อไทย - รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ กล่าวถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นว่า จนถึงตอนนี้เชื่อมั่นว่าด้วยภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  เพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งโดยได้ ส.ส.เกินครึ่งหนึ่งของจำนวนเสียงในสภา เพราะจะเห็นได้ว่าประชาชนลำบากมาก และคนเบื่อรัฐบาล ผนวกกับยังมีเรื่องทางการเมืองของฝั่งพรรครัฐบาลที่มีความแตกแยกกัน จนพลเอกประยุทธ์ต้องออกไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ก็แย่งชามข้าวเดิมกันเอง เพราะเสียง ส.ส.ที่จะได้คงไม่เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว มีแต่จะได้ลดน้อยลง จำนวน ส.ส.พลังประชารัฐเดิมที่เคยมี พอมีการแยกตัวออกไปก็ทำให้ฝ่ายนั้นเสียงก็ต้องลดลง เพราะเขามีฐานเสียงเดียวกัน เมื่อยิ่งหดอยู่แล้ว แต่ยังมาแย่งกันอีก มันก็ยิ่งลำบาก อันนี้พูดกันตามความเป็นจริง มันก็จะไปได้ยาก เราเลยเชื่อว่าเพื่อไทยจะได้โอกาสเยอะจากตรงนี้ เพื่อไทยก็มีโอกาสจะได้เสียง ส.ส.ที่ทำให้ชนะเกินกึ่งหนึ่ง

สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง แม้จะมีเรื่องของสมาชิกวุฒิสภาที่ยังมีอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี   แต่ผมเชื่อว่าสุดท้ายก็สวนกระแสประชาชนไม่ได้ เพราะหากเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ยิ่งชนะได้ ส.ส.เกินครึ่งหนึ่ง ก็เหมือนกับเป็นเสียงสวรรค์ของประชาชน เพราะเท่ากับประชาชนตัดสินใจเลือกแล้ว ซึ่งหากยังจะสวนกระแส จะฝืนอีก มันก็ไปไม่ได้ จึงเชื่อว่ากระแสสังคมจะเป็นตัวบีบบังคับให้สมาชิกวุฒิสภาต้องโหวตตามเสียงประชาชนที่เลือกเพื่อไทย

พิชัย-แกนนำพรรคเพื่อไทย ย้ำว่า จุดแข็งของเพื่อไทยในการเข้าสู่สนามเลือกตั้งรอบนี้ ก็คือเรื่อง เศรษฐกิจ  เพราะคนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และประชาชนเขาเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ยุคไทยรักไทย พลังประชาชน จนมาถึงยุคเพื่อไทย ที่เข้าไปบริหารประเทศเป็นรัฐบาล เศรษฐกิจดีทุกครั้ง ผมว่าอันนี้คือจุดแข็ง  และตอนนี้ที่เศรษฐกิจแย่ ผนวกกับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย หากเรายังเลือกของเดิมเข้ามาอีก ประเทศจะยิ่งมีปัญหามากขึ้น

รวมถึงจุดแข็งในเรื่อง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่ตอนนี้อย่างที่เห็น คุณอุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ผลสำรวจทุกโพลก็พบว่าคะแนนนำมาอันดับหนึ่งตลอด ทำให้เป็นชื่อที่จะชนะใจคนได้ตอนเลือกตั้ง ซึ่งล่าสุดก่อนหน้านี้ ทางหัวหน้าพรรคเพื่อไทยบอกว่าคาดว่าน่าจะภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ พรรคน่าจะประกาศรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ส่วนภาพรวมกระแสพรรคจากที่ได้ลงพื้นที่ไปช่วยผู้สมัคร ส.ส.เขต กทม.ของเพื่อไทยหาเสียงใน กทม. ก็พบว่ากระแสการตอบรับของพรรคก็ดี ผลโพลหลายสำนักเช่นนิด้าโพล เพื่อไทยก็ยังมาอันดับหนึ่งตลอด

สำหรับสถานการณ์การเมืองต่อจากนี้ ที่อายุของสภาเหลืออีกไม่นานก็จะครบสี่ปีในวันที่ 23 มีนาคม แต่หลายฝ่ายมองว่านายกรัฐมนตรีคงตัดสินใจยุบสภานั้น ในมุมมองของ พิชัย-รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ ประเมินว่า การเมืองต่อจากนี้คงเข้มข้นขึ้น ยิ่งเมื่อพลเอกประยุทธ์เปิดตัวสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ยิ่งทำให้มีแรงกดดันทางการเมืองเข้าไปที่นายกฯ เยอะมาก

หากดูจากการเปิดตัวของพลเอกประยุทธ์เมื่อ 9 มกราคมที่ผ่านมา ที่ไปเข้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ตัวแกนนำ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ก็เหมือนกับจะไม่ได้สร้างความหวังอะไรทางการเมืองได้ คือบางคนที่ขึ้นเวทีไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่ว่าไม่เหมาะกับยุคนี้แล้ว ที่หลายอย่างไปไกลแล้ว  เพราะในทางการเมืองถึงแม้ไม่มีการแยกตัวออกไปทำพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่พรรคพลังประชารัฐที่เดิมก็เชื่อว่าเลือกตั้งมา จำนวน ส.ส.ก็จะต้องลดลงจากตอนเลือกตั้งปี 2562  จากปัญหาเรื่องกระแสนิยม และปัญหาภายในพรรค พอพลเอกประยุทธ์ออกไป มันก็เป็นการแยกในส่วนของเสียงที่จะลดลงให้ลดน้อยลงไปอีก ก็ทำให้เสียงของฝ่ายนี้ก็จะยิ่งเล็กลงไปอีก

ซึ่งมองอีกทางก็อาจเป็นประโยชน์กับประเทศ เพราะแสดงว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องตัวผู้นำในอนาคตได้ชัดเจน ที่ผมเชื่อว่าหากเปลี่ยนตัวผู้นำประเทศก็จะมีอนาคตทันที เพราะมันพิสูจน์แล้วว่าแปดปีที่ผ่านมา การบริหารจัดการแนวคิดแบบเดิมๆ ที่เข้ามาหลังรัฐประหาร มันไม่เหมาะกับประเทศในภาวะปัจจุบัน เพราะสถานการณ์ปัจจุบันต้องการคนที่มีความรู้ ความชำนาญเฉพาะด้าน รู้จริงทำจริง และมีประสบการณ์จริง ถึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้

พรรคเพื่อไทยพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นมานานแล้ว เพราะด้วยสภาวะที่คนเบื่อรัฐบาล สภาวะที่คนเจอปัญหาเศรษฐกิจ ก็เป็นโอกาสของเพื่อไทยที่จะเอาชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะประชาชนคงอยากฝากความหวังกับของใหม่ กับรัฐบาลใหม่ที่ในอดีตเคยทำงาน เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว ผมเลยเชื่อว่าเพื่อไทยจะเป็นทางออกของประเทศได้

เดินหน้าชูนโยบาย

ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส

-นโยบายเพื่อไทยที่เคยบอกก่อนหน้านี้บางเรื่อง เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ปริญญาตรีเริ่มต้นที่  25,000 บาทต่อเดือน เป็นสิ่งที่หาเสียงไว้แล้วสามารถทำได้จริงหรือไม่?

ทำได้จริง คือเราไม่ได้บอกว่าจะทำทันที ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน อันนี้คือสี่ปีให้หลัง ต้องเข้าใจก่อนว่าประเทศทุกประเทศในโลกต้องวัดการพัฒนาจากการช่วยคนในระดับล่างให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ไปบอกว่าจะทำให้คนรวย เขารวยขึ้น มันไม่ใช่ คือหากคนที่อยู่ในระดับล่างสุดสามารถมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ระบบเศรษฐกิจของประเทศรับรองได้ว่ามันจะเจริญขึ้น

อย่างที่ประเทศสหรัฐอเมริกา หากวันนี้คนไปทำเสิร์ฟอาหารได้ 16 เหรียญต่อชั่วโมง ก็ตกชั่วโมงละห้าร้อยกว่าบาท ที่เขาทำได้เพราะมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่รองรับ หากเสิร์ฟอาหารได้วันละ 16 เหรียญ หนึ่งวันก็ตกร้อยกว่าเหรียญ หากทำงานวันละแปดชั่วโมง และยังมีทิปต่างหาก ก็เท่ากับวันหนึ่งได้หนึ่งร้อยกว่าถึงสองร้อยเหรียญ หนึ่งเดือนก็ประมาณสามถึงสี่พันเหรียญ อันนี้คือคนระดับต่ำสุดของเขา

หากประเทศไทยสามารถยกระดับให้คนระดับล่างมีรายได้เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจก็สามารถต่อยอดไปได้ ซึ่งทำได้บนข้อแม้ว่าเศรษฐกิจไทยต้องโตปีละห้าเปอร์เซ็นต์อย่างต่ำทุกปี  ต้องบอกว่าเรามีเงื่อนไข เราไม่ได้บอกว่าจะทำได้ทันที  เพราะหากเป็นเศรษฐกิจในสภาวะแบบนี้ หากไปขึ้นค่าจ้างเลยก็คงเจ๊งหมด แต่หากค่อยๆ คอยดูจังหวะ ค่อยๆ ทยอยขึ้น ปีไหนเศรษฐกิจเติบโตได้ดี เราสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้ สามารถรองรับค่าแรงที่สูงขึ้นได้  มันก็จะพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ประเทศก็จะพัฒนาไปเรื่อยๆ  และสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อคนมีค่าจ้างเพิ่มขึ้น เขาก็จะจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ประเทศก็จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น

สำหรับนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่จะประกาศในช่วงเลือกตั้ง ยืนยันได้ว่ามีอีกหลายเรื่องที่เป็นนโยบายสำคัญๆ  แต่ก็ต้องอุบไว้ก่อน แต่จะค่อยๆ ทยอยนำเสนออกมา ส่วนที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ก็คือนโยบายส่วนหนึ่งของพรรคที่สามารถทำได้จริง อย่างเรื่องลดราคาน้ำมัน-ก๊าซ-ค่าไฟฟ้า  ทุกอย่างยืนยันได้ว่าทำได้แน่นอน เพราะเรารู้โครงสร้างราคาที่เราสามารถเข้าไปแก้ไข และทำให้ลดลงได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ขอยืนยันได้ว่าพรรคเพื่อไทยทำได้แน่นอน อย่างเรื่องค่าไฟ ก็ต้องเข้าไปดูรายละเอียด ต้องไม่ให้บริษัทด้านพลังงานของประเทศเอาเปรียบประชาชนเกินไป คือต้องทำให้ดีกับทุกฝ่าย

"นโยบายหลักของเพื่อไทย คือลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส แต่จะมุ่งเรื่องเทคโนโลยีมากขึ้น"

เพราะโลกเปลี่ยนด้วยเทคโนโลยี ก็จะเป็นสิ่งที่เราอยากเห็นการปรับประเทศเพื่อให้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น  อย่างบริษัทเทคโนโลยีในต่างประเทศจะพบว่าในกลุ่มประเทศอาเซียนมีหมด แต่ของไทยยังไม่มี เราก็ต้องมาดูว่าจะส่งเสริมให้เกิดสิ่งนี้ได้อย่างไร โดยหากทำได้มันก็จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล แต่ของไทยมันไม่มี อย่าง  Gojek ที่มีการ merge กับ Tokopedia มีมูลค่าถึงหกแสนล้านบาท แต่ของไทยไม่มีธุรกิจแบบนี้ การส่งเสริมพวกธุรกิจยูนิคอร์น พวกบริษัทเทคโนโลยีดีๆ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น

-บางพรรคการเมืองเริ่มชูนโยบายการแก้ปัญหาหนี้สิน เช่น ภูมิใจไทย ชูเรื่องพักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอกคนละไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือชาติพัฒนากล้า ก็ชูเรื่องยกเลิก "แบล็กลิสต์" หนี้บัตรเครดิตปล่อยกู้ด้วยเครดิตสกอร์ ในส่วนของเพื่อไทยจะมีนโยบายเรื่องแก้ปัญหาหนี้อย่างไร?

เรื่องการแก้ปัญหาหนี้ เป็นนโยบายเรื่องหลักของเพื่อไทยอยู่แล้ว อย่างที่เพื่อไทยแถลงเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เราก็ส่งเสริมให้มีการแก้หนี้ อาจต้องมีการลดหนี้ ยืดหนี้ อย่างเรื่องพักหนี้เราก็ทำมาก่อน คนอื่นก็มาก๊อปปี้เรา แต่เราไม่ได้คิดแค่นั้น แต่เราต้องคิดให้คนสามารถหารายได้มาชดใช้หนี้ด้วย ไม่ใช่หยุดหนี้ แต่ไม่มีรายได้แล้วจะอยู่อย่างไร เราต้องคิดวิธีการหารายได้ใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา

เราต้องมองหนี้แต่ละประเภทให้แยกกัน หนี้สาธารณะ ต้องทำจีดีพีให้โต ที่จะทำให้สัดส่วนของหนี้ต่อจีดีพีจะลดลง  รวมถึงหนี้ครัวเรือนก็จะลดลงหากทำให้จีดีพีโต ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่เข้าใจ เพราะเรื่องนี้หากทำได้มันจะสามารถลดได้เองในสัดส่วนของมันเองที่ทำให้เศรษฐกิจโตได้ แล้วก็จะมีรายได้กลับมาใช้หนี้ด้วย

-หากหลังการเลือกตั้งเพื่อไทยได้เข้ามาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะสามารถทำให้เศรษฐกิจกระเตื้อง  กลับมาฟื้นตัวได้ภายในระยะเวลาเท่าใด?

ก็คงต้องใช้เวลาสักระยะ เราคงไม่สามารถจะบอกได้ว่าจะฟื้นเร็ว เพราะต้องบอกตรงๆ ว่ารัฐบาลชุดนี้ก็ทำเสียหายไว้เยอะ เหมือนกับเครื่องยนต์ที่มันดับ แล้วจะเริ่มต้นใหม่ มันก็ไม่ง่าย แต่เชื่อว่าทำได้ ก็คงใช้เวลาหกเดือนถึงหนึ่งปีที่ต้องเร่งฟื้นเร่งทำอะไรหลายอย่าง แต่มั่นใจว่าหากเพื่อไทยเข้าไปเป็นรัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวเฉลี่ย 5 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เอาง่ายๆ อย่างปี 2555 ที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลปีแรกหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 เศรษฐกิจประเทศไทยเติบโต 7.2 เปอร์เซ็นต์ เราเคยทำมาแล้วไม่ใช่ว่าไม่เคยทำ ซึ่งหากทำต่อเนื่องปี 2556 จะได้ 4 เปอร์เซ็นต์กว่า เพราะตอนหลังมีการเคลื่อนไหวการเมือง มีการประท้วงของ กปปส.ก็เลยทำให้เศรษฐกิจแย่ และพอหลังรัฐประหารปี 2557 เหลือ 0.8 เปอร์เซ็นต์

แน่นอนว่าเมื่อคุยกับ พิชัย รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ และอดีต รมว.พลังงาน เราต้องสอบถามถึงมุมมองของสภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยต่อจากนี้ ที่เป็น ปีแห่งการเลือกตั้ง ว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ จะเป็นอย่างไร

โดยลำดับแรก พิชัย-แกนนำเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ พูดถึงภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ว่า 2566 เป็นปีแห่งการพลิกผัน  เพราะสภาวะเศรษฐกิจโลกก็เริ่มจะไม่ค่อยดี ทางเวิลด์แบงก์ลดการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้เหลือเพียง 1.7% จากเดิม 3.0% และเตือนว่าเศรษฐกิจโลกอยู่บนความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยก่อนหน้านี้องค์การการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ลดการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกลงเหลือ 2.7% จาก 2.9%

....โดยไอเอ็มเอฟยังลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี  2566 ลงเหลือเพียง 3.7% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 4% ในขณะที่ธนาคารโลกลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยเหลือ 3.6%  จากที่คาดการณ์ไว้ 4.3% ซึ่งปรับลดค่อนข้างมาก ซึ่งหากยังบริหารแบบเดิมๆ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยก็จะถูกปรับลดการเติบโตลงเรื่อยๆ เหมือนตลอด 8 ปีที่ผ่านมาที่ประเทศไทยขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพมาโดยตลอด จากที่ไอเอ็มเอฟและเวิลด์แบงค์วิเคราะห์ไว้เอง ซึ่งปีนี้การส่งออกของไทยจะขยายตัวได้น้อยมากและอาจจะถึงกับติดลบได้เลย จากที่การส่งออกได้ติดลบในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนของปีที่แล้ว ดังนั้นรัฐบาลใหม่จะต้องมีแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกด้าน ไม่ใช่คิดแค่คนละครึ่ง เที่ยวด้วยกัน ชิม ช้อป ใช้ ฯลฯ ซึ่งแทบไม่ได้เกิดผลอะไรเลย

สำหรับไทยเองต้องมองย้อนหลังไปด้วยว่า เราเองยังไม่ได้ฟื้นจากผลกระทบเรื่องโควิดที่ทำให้ในปี 2563 เศรษฐกิจอยู่ที่ -6.2 พอปี 2564 เราขึ้นมาแค่ 1.5 ปีนี้  2566 ก็น่าจะได้ 3 เปอร์เซ็นต์กว่า ที่หมายถึงว่าสามปีที่ผ่านมาเราอยู่ในแดนลบตลอด ประเทศไทยก็ลำบาก ประชาชนก็ยังลำบาก จากภาวะที่ติดลบดังกล่าว พอปีนี้ 2566 ก็อาจจะฟื้นจากเดิม แต่หมายถึงว่า 3-4 ปีที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจไทยติดลบ มันได้สร้างความยากลำบากให้ประชาชนอย่างมาก ที่จะมาอ้างว่าประเทศไทยพัฒนาทุกอย่าง แต่หากเศรษฐกิจไม่พัฒนาก็พัฒนาเรื่องอื่นได้ยาก  เพราะความลำบากของคนก็จะมีเยอะ

ที่บอกว่าเป็นปีแห่งการพลิกผัน เพราะว่าปีนี้ที่จะมีการเลือกตั้ง ก็จะเป็นปีที่ประชาชนจะตัดสินใจว่าจะเลือกอนาคตอย่างไร ถ้าแปดปีที่ผ่านมาบอกว่าพอใจแล้วกับการที่เศรษฐกิจจะโตแค่ปีละหนึ่งเปอร์เซ็นต์กว่า โดยที่เฉลี่ยแปดปี ก็เลือกอย่างเก่า แต่หากเห็นว่ามันต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีวิธีคิดแบบใหม่ โลกที่มีการเปลี่ยนแปลง

เราจึงต้องมีผู้นำที่ฉลาดและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลก ก็ควรที่จะเลือกคนใหม่เข้าไปบริหารราชการแผ่นดินแทน เพราะแปดปีที่ผ่านมามันพิสูจน์แล้วว่ามันแย่ขนาดไหนสำหรับประเทศไทย หากดูจากองค์ประกอบต่างๆ เช่น ขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศก็ลดลง จาก 28  หล่นมาอันดับที่ 33 โครงสร้างพื้นฐานของประเทศก็แย่  คอร์รัปชันเราก็สูง ความเสื่อมของประเทศมันสะท้อนออกมาในหลายรูปแบบ

ปี 2566 เศรษฐกิจของประเทศไทยจะต้องเจอกับปัญหาอีกหลายเรื่อง เช่นเรื่องปัญหาหนี้สินที่มีมากมาย เช่น  หนี้ของประเทศ ที่ทะลุไปแล้วกว่า 10 ล้านล้านบาท หรือหนี้ครัวเรือน ที่จะทะลุไปอีก 15 ล้านล้านบาท เรื่องหนี้เสียของสถาบันการเงิน-ปัญหาหนี้นอกระบบที่มีการติดตามทวงหนี้ให้เห็นกันในช่วงปัจจุบัน แม้ว่าเรื่องการท่องเที่ยวที่ตอนนี้ดีขึ้นบ้าง จะมีส่วนช่วยเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ แต่ก็เหมือนกับ หยดน้ำในทะเลทราย ที่มันแห้งไปหมดแล้ว  แล้วน้ำเพิ่งหยดลงมา ตอนนี้ก็อาจทำให้ดีใจขึ้นมาได้บ้าง แต่ไม่ได้แปลว่าประเทศเราจะอยู่ในร่องรอยที่ถูกต้อง

เราต้องนำเอาความจริงมาคุยกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำก็คือต้องคิดหลายๆ เรื่องพร้อมกัน ทำหลายเรื่องให้เกิดขึ้นเหมือนกับที่พรรคเพื่อไทยได้เสนอนโยบายในการแก้ปัญหาประเทศออกมาหลายเรื่อง ที่ได้ประกาศไปก่อนหนานี้และหลังจากนี้จะมีการเปิดนโยบายในด้านต่างๆ  ออกมาอีก เพื่อให้เศรษฐกิจโดยภาพรวมฟื้นตัวขึ้นมาพร้อมๆ กัน ซึ่งหากผู้นำที่เข้าใจจะรู้ว่านโยบายการบริหารประเทศในด้านต่างๆ จะต้องสอดประสานกัน เพื่อให้การทำงานของระบบต่างๆ ไปด้วยกันได้ เช่นทำให้เกิดเงินทุนไหลเวียนทั้งระดับล่างและระดับบน ที่จะทำให้ประเทศฟื้นตัวขึ้นมาได้พร้อมกันทีเดียว

เพราะหากคิดทีละอย่างทำทีละอย่างแบบที่พลเอกประยุทธ์ทำเมื่อ 7-8 ปีที่ผ่านมา มันไม่ได้ พลเอกประยุทธ์ไม่เข้าใจ เขาเข้าใจแค่ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นก็แก้ไขไปแต่ละเรื่อง  ทั้งที่คนเป็นนายกรัฐมนตรีต้องคิดล่วงหน้า ปัญหาของนายกฯ คือเป็นคนที่ไม่เคยคิดล่วงหน้า ไม่รู้ว่าปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าคืออะไร แต่ใช้วิธีมีปัญหาเกิดขึ้นแล้วค่อยแก้ไข มันก็เลยทำให้เศรษฐกิจของไทยเหมือนกับตามหลังคนอื่นตลอด จนถูกประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามแซง เห็นได้จากส่งออกตอนนี้เวียดนามแซงไทยไปแล้ว ขีดความสามารถในการแข่งขันก็แซงหน้าไทยไปแล้ว แม้กระทั่งฟุตบอลก็แซงหน้าไทยไปแล้ว สิ่งนี้คือเรื่องที่เราต้องนำกลับมาพิจารณาตัวเอง

พิชัย-แกนนำพรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ กล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจากปัญหาหนี้สินที่น่าเป็นห่วงและสภาวการณ์เศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำที่ไอเอ็มเอฟเตือนมาแล้ว  ก็ยังมีเรื่องของ ราคาพลังงาน ที่ยังผกผันว่าจะขึ้นหรือลงอย่างไร ที่ก็มีโอกาสจะขึ้นสูงเพราะจีนเริ่มเปิดประเทศ การใช้พลังงานก็จะกลับมาใช้มากขึ้น ก็ทำให้ราคาพลังงานอาจจะกลับมาพุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่อง อัตราดอกเบี้ย ที่ก็จะเป็นปัญหาระดับหนึ่งที่อัตราดอกเบี้ยจะขึ้น ซึ่งจากการที่เรามีปัญหาเรื่องหนี้ที่เยอะอยู่แล้ว พออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นก็ทำให้เกิดปัญหาเรื่องภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ที่ผมไม่เข้าใจว่าพลเอกประยุทธ์เข้าใจเรื่องพวกนี้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้ก็อยากเตือนพลเอกประยุทธ์ว่า บางครั้งก็ต้องรู้จักพอ ต้องดูว่าความสามารถตัวเองในการพัฒนาประเทศตรงนี้ สามารถพัฒนาไปได้หรือไม่ อยากให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ให้ชัดเจน  เพราะหากไม่เข้าใจปัญหา ไม่รู้ปัญหา ก็จะแก้ปัญหาได้ยาก

เมื่อถามถึงว่า การที่ตอนนี้จีนเปิดประเทศและมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาเที่ยวในไทยจำนวนมากหลังจากนี้ จะมีผลทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยกระเตื้องขึ้นหรือไม่ พิชัย-รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ มองว่า ที่มีการคาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจประเทศไทยจะเติบโตขึ้น 3  เปอร์เซ็นต์กว่าในปีนี้ ทั้งที่หลายประเทศทั่วโลกอาจจะอยู่ในสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะกลับเข้ามา เพราะส่งออกของไทยช่วงเดือนตุลาคมกับพฤศจิกายนก็ติดลบมาสองเดือน ก็เป็นสัญญาณว่าการส่งออกของไทยในปีนี้อาจจะไม่ค่อยดีนัก และยังมีปัญหาเพิ่มเติมเข้ามาคือเรื่อง "อัตราเงินเฟ้อ" ซึ่งเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ 6.08 เปอร์เซ็นต์ ที่แสดงถึงว่าค่าใช้จ่ายของประชาชนในการดำเนินชีวิตก็มีมากขึ้น แต่รายได้ลดลง อันเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนอยู่จนถึงทุกวันนี้

โดยเฉพาะปัญหาอีกเรื่องหนึ่งที่คนไม่ค่อยพูดถึงคือ เรื่อง ค่าไฟฟ้า ที่เพิ่มขึ้นสูง หลังปีใหม่มีการปรับขึ้นมา 5.33  บาท ซึ่งหากพรรคเพื่อไทยและฝ่ายต่างๆ เช่นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไม่ออกมาทักท้วง ก็ขึ้นไป  5.72 บาท แต่พอถูกทักท้วงมากก็เลยลดลงมาเหลือ 5.33  บาทเฉพาะของภาคธุรกิจ ส่วนค่าไฟสำหรับบ้านเรือนประชาชนก็คงเกรงใจเลยยังไม่กล้าขึ้น แต่ไม่ได้หมายถึงว่ารัฐบาลแก้ปัญหาถูกจุด มองว่ารัฐบาลยังแก้ปัญหาไม่ถูกจุด  เพราะไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะที่ลากไปตอนนี้ยังไงก็ต้องไปขึ้นราคาในอนาคตอยู่ดี เพราะปัญหาหลักๆ ของเรื่องไฟฟ้าคือไปบริหารจัดการเรื่องพลังงานเชื้อเพลิงที่ไม่ถูกต้อง  การจัดการมีปัญหาเยอะ ก๊าซจากพื้นที่อ่าวไทยก็ลดน้อยลง เนื่องจากมีปริมาณลดลงอยู่แล้วเพราะถูกนำมาใช้หลายปีแล้ว

รวมถึงยังมีปัจจัยเรื่องการส่งมอบสัมปทานระหว่าง บริษัท เชฟรอนฯ กับบริษัท ปตท.สผ.มีปัญหา ที่ไม่รู้ว่าตอนเปิดประมูลใหม่ไปตกลงกันอย่างไร จนไม่สามารถจัดการส่งมอบสัมปทานได้ ก็ทำให้ก๊าซจากพื้นที่อ่าวไทยมีปริมาณน้อยลง รวมถึงก๊าซจากเมียนมาก็มีปริมาณน้อยลง เพราะใช้มานานแล้วเช่นกัน อีกทั้งมีปัญหาภายในประเทศเมียนมา  ทำให้การเข้าไปขอสัมปทานเพิ่มหรือสำรวจเพิ่มเลยมีปัญหา เพราะทั้งโลกกำลังต่อต้านเมียนมาอยู่ ผมถึงได้เสนอให้ เร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นเรื่องที่อยากให้มีการดำเนินการโดยด่วน เพราะเรื่องนี้เป็นประโยชน์กับประเทศไทยอย่างจริงจังใน 8 ด้าน

การจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง แม้จะมีเรื่องของสมาชิกวุฒิสภาที่ยังมีอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่เชื่อว่าสุดท้ายก็สวนกระแสประชาชนไม่ได้ เพราะหากเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ยิ่งชนะได้ ส.ส.เกินครึ่งหนึ่ง ก็เหมือนกับเป็นเสียงสวรรค์ของประชาชน เพราะเท่ากับประชาชนตัดสินใจเลือกแล้ว หากยังจะสวนกระแส จะฝืนอีก มันก็ไปไม่ได้  กระแสสังคมจะเป็นตัวบีบบังคับให้สมาชิกวุฒิสภาต้องโหวตตามเสียงประชาชน

ย้ำ 8 เหตุผลหนุ

เร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อน

ทางทะเลไทย-กัมพูชา

      พิชัย-อดีต รมว.พลังงาน ให้รายละเอียดในการสนับสนุนให้มีการเร่งเจรจาแหล่งพลังงานพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ว่ามีดังนี้

      1.ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชามีปริมาณมาก ซึ่งจะมีมากกว่าหรือเท่ากับแหล่งเดิมในอ่าวไทยที่ไทยใช้มาแล้วกว่า 30 ปี ทั้งนี้จะเจรจาเฉพาะการแบ่งพลังงานเท่านั้น ไม่มีการพูดถึงการแบ่งดินแดน เพื่อหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งที่คงหาข้อยุติไม่ได้

      2.ปริมาณก๊าซที่ได้จากอ่าวไทยและจากประเทศเมียนมาลดลง โดยในปัจจุบันแหล่งพลังงานของไทยในอ่าวไทยเริ่มลดลงมาก แถมยังมีปัญหาการส่งมอบสัมปทานยิ่งทำให้ปริมาณก๊าซที่ส่งมอบยิ่งลดลง อีกทั้งประเทศเมียนมามีความขัดแย้งอย่างมากภายในประเทศและมีการวางระเบิดท่อส่งก๊าซ จึงยิ่งทำให้ปริมาณก๊าซจากเมียนมายิ่งลดลง ทั้งนี้ ราคาก๊าซจากอ่าวไทยและราคาก๊าซจากเมียนมามีราคาถูกกว่าราคาก๊าซ LNG ที่นำเข้ามามาก ซึ่งทำให้ได้ต้นทุนพลังงานที่ถูกกว่า โดยเฉพาะราคาไฟฟ้า ก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อนจะแก้ปัญหานี้ได้ แถมยังมีปริมาณมากเกินพอที่จะไม่ต้องนำเข้าก๊าซเพิ่ม

      3.ก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อนจะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชน อีกทั้งเพิ่มความสามารถแข่งขันของประเทศ  เพราะในปัจจุบันราคาค่าไฟฟ้าประเทศไทยแพงกว่าราคาค่าไฟฟ้าของประเทศเวียดนามมาก อีกทั้งจะมีการขึ้นค่าไฟฟ้ากันอีกในเดือนมกราคม ซึ่งจะมากกว่าหน่วยละ 5.37 บาท  และอาจพุ่งถึงหน่วยละ 6.03 บาทเลย ประชาชนจะยิ่งเดือดร้อนกันมาก

      4.ในอนาคตการใช้พลังงานจากฟอสซิลทั้งก๊าซ น้ำมัน  และถ่านหิน จะใช้ลดลงมากเนื่องจากปัญหาโลกร้อน อีกทั้งคนจะใช้พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาด พลังงานสีเขียวกันมากขึ้น ก๊าซและน้ำมันในอนาคตอาจจะไม่มีราคาเลยก็เป็นได้

      5.ก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนเป็นก๊าซเปียก (Wet  Gas) ที่สามารถนำมาเข้าโรงแยกก๊าซและนำไปทำธุรกิจปิโตรเคมีได้ ซึ่งไทยมีโรงแยกก๊าซอยู่แล้ว 6 โรง อีกทั้งมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่รองรับอยู่แล้ว การนำก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชาขึ้นมาได้  ไทยจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 6-20 เท่า ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์อย่างมาก

      6.นอกจากจะได้ก๊าซในราคาถูกเพื่อลดต้นทุนพลังงานแล้ว รัฐยังจะได้ค่าภาคหลวงมาแบ่งกันระหว่างไทยและ  กัมพูชา โดยในอดีตรัฐเคยเก็บค่าภาคหลวงได้ถึงปีละเกือบ  2 แสนล้านบาท และยังไม่นับธุรกิจต่อเนื่องทั้งธุรกิจขายก๊าซ  ธุรกิจปิโตรเคมี โรงงานพลาสติก ฯลฯ ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่ม จ้างงาน และจ่ายภาษีให้รัฐทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีรายได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาให้กับรัฐได้อย่างมหาศาล ซึ่งรัฐสามารถนำไปใช้ในโครงการสวัสดิการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและผู้สูงอายุได้

      7.ค่าภาคหลวงที่จะได้รับน่าจะได้ในอัตราส่วนที่มากกว่าเดิม เนื่องจากบริเวณดังกล่าวพิสูจน์แล้วว่ามีก๊าซธรรมชาติอยู่ในปริมาณมากอย่างแน่นอน ทำให้สามารถปรับค่าภาคหลวงให้มากกว่าเดิมได้ ซึ่งจะทำให้รัฐได้เงินมากขึ้น

      8.การสำรวจและขุดเจาะก๊าซธรรมชาติที่จะนำขึ้นมาใช้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-8 ปี ไม่ใช่เจรจาจบแล้วจะได้ก๊าซธรรมชาติขึ้นมาในทันที ดังนั้นจึงควรเร่งเจรจาให้จบตั้งแต่ตอนนี้

ถ้า พท.เป็นรับาล ลดลงได้ทันที

ค่าไฟฟ้า-น้ำมัน-ก๊าซหุงต้ม

      พิชัย-อดีต รมว.พลังงาน-รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ ย้ำว่า ในภาวะที่ราคาพลังงานแพง ไฟฟ้าแพง ก๊าซหุงต้มแพง น้ำมันแพง  รัฐบาลควรมีแนวทางทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อหาทางแก้ไขและช่วยประชาชน เรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์คือได้ทั้งราคาก๊าซถูกและได้เงินเข้ารัฐ เพื่อช่วยประชาชนด้วยและพัฒนาประเทศด้วย หากยิ่งทำช้าก๊าซก็จะมีราคาลดลง จึงควรรีบเจรจา

 โดยเท่าที่ทราบมาคือ กระทรวงพลังงานได้มีการเจรจาแล้ว โดยทางกัมพูชาก็อยากทำเพราะก็จะได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่กระทรวงการต่างประเทศยังมีปัญหา ยังไม่ยอมสรุปเรื่องนี้ ที่ขอยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องเขตแดน แต่แค่คุยกันเรื่องนำก๊าซมาแบ่งกันก็เพียงพอแล้ว  เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาระหว่างกัน อยากให้คิดแบบนี้คือให้ผลประโยชน์ร่วมกัน เพราะหากไม่ขุดตอนนี้ แล้วต่อไปไปขุดในอนาคตแล้วมันไม่มีมูลค่าแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์

      ดังนั้นจึงอยากขอสนับสนุนให้รัฐบาลได้เร่งเจรจาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชานี้ให้จบโดยเร็ว เพราะจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับทั้งสองประเทศ ในภาวะที่ราคาพลังงานได้พุ่งขึ้นสูงนี้ โดยเฉพาะประเทศไทยจะได้ประโยชน์มากกว่าเพราะมีประชากรมากกว่า และมีโรงแยกก๊าซ 6 โรงพร้อมธุรกิจปิโตรเคมีมูลค่าเป็นล้านล้านบาทรองรับพร้อมแล้ว โดยจะทำรายได้ให้กับประเทศและมีเงินหมุนเวียน และมีการจ้างงานในธุรกิจต่อเนื่องอีกมาก จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

      "ยืนยันว่าหากเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซหุงต้ม จะลดลงได้ทันที ขอยืนยัน"

      ...คือพลเอกประยุทธ์อาจยังไม่เข้าใจ เขาอาจคิดว่าค่าไฟฟ้าก็คือค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันก็คือค่าน้ำมัน ค่าก๊าซก็คือค่าก๊าซ แต่จริงๆ แล้วค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซ คือปัจจัยการผลิตของสินค้าทุกชนิด หากปล่อยให้ขึ้นมากไปสูงเกินไป โดยที่ไม่ได้ มันจะทำให้ของแพง ประชาชนก็จะลำบาก เพราะต้องแบกรับภาวะค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะฉะนั้นการเข้าไปควบคุมค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซ เป็นเรื่องสำคัญให้มันอยู่ในหลักที่เหมาะสม คือยอมรับว่าเหตุหนึ่งที่ทำให้ที่ผ่านมาราคาสูงขึ้นเพราะปัจจัยจากต่างประเทศ ที่ทำให้ราคาสูงขึ้นก็จริง แต่ไม่ใช่ว่าปล่อยให้เลยตามเลย ต้องมีระบบในการควบคุม

อย่างก่อนหน้านี้เพื่อไทยเสนอให้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ตั้งแต่แรกๆ เลยเสนอให้ลดห้าบาท แต่พลเอกประยุทธ์ตอนแรกบอกว่าลดไม่ได้ แต่พอราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ  สุดท้ายก็ยอมลด ซึ่งผลของการที่ไม่ยอมลดตั้งแต่แรกๆ แล้วนำเงินจากกองทุนน้ำมันไปอุ้ม ก็ทำให้หนี้กองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้น แล้วตอนนี้พอราคาน้ำมันลดลง ที่เป็นราคาเท่ากับก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ราคาอยู่ที่เจ็ดสิบกว่าเหรีญ แต่ทำไมเรายังจ่ายค่าน้ำมันอยู่ที่ 35 บาท แต่ตอนก่อนเกิดรัสเซีย-ยูเครนยังเก็บอยู่ที่ 29 บาทกว่า

      รัฐบาลที่ดีอย่างที่ผมบอกมาตลอดคือ รัฐบาลต้องคิดอะไรล่วงหน้าก่อน ต้องคิดว่าอะไรจะเกิดขึ้น เช่นก่อนหน้านี้เมื่อดูแล้วราคาน้ำมันจะขึ้นสูงแน่ ก็ควรต้องรีบลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน เพราะในช่วงที่ประชาชนลำบาก ในต่างประเทศอย่างที่สหรัฐอเมริกาหรือในยุโรป เวลาเศรษฐกิจแย่เขาใช้วิธีลดภาษี ไม่ใช่ขึ้นภาษี  แต่สำหรับประเทศไทย ต้องยอมรับว่าคนจ่ายภาษีน้อย จะมีก็ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์ การไปลดภาษีในส่วนนี้ก็ไม่ค่อยเกิดประโยชน์เท่าไหร่ แต่หากไปลดภาษีโดยตรงอย่างภาษีน้ำมัน เมื่อลดแล้วคนก็จะเดือดร้อนน้อยลง พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นก็ค่อยไปเก็บเพิ่ม แต่รัฐบาลไม่เข้าใจ พอเห็นว่าเศรษฐกิจแย่ เกรงว่าจะไม่มีรายได้เข้ารัฐ เลยอยากยิ่งเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนก็เดือดร้อน ที่รัฐบาลไม่เข้าใจว่า ต้องมีการอัดฉีดเข้าไปก่อน ให้เศรษฐกิจทั้งระบบดีก่อน ต้องยอมลดภาษี แล้วอัดเม็ดเงินเข้าไปเพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียน แล้วพอเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นก็ค่อยมาเก็บภาษีคืนเพื่อนำเงินมาบำรุงประเทศ นี้คือหลักคิดที่ทั้งโลกเขาทำแบบนี้

 เพราะประเทศต้องเอาความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นหลักก่อน ไม่ใช่เอารัฐบาลหรือเอาทหารเป็นหลัก แล้วไปซื้ออาวุธก่อน

      -การที่ปีนี้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น จะมีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างไรหรือไม่?

      เศรษฐกิจของประเทศจะมีการพลิกผัน ก็คือหากเลือกการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี มีรัฐบาลใหม่ที่ดี เศรษฐกิจก็จะฟื้นได้ แต่หากยังเลือกแบบเก่า ทำแบบเก่า มันก็จะมีผลออกมาแบบเดิมๆ ที่พิสูจน์แล้วว่ารัฐบาลไม่ได้มีวิธีคิดที่ดีพอในการแก้ไขปัญหาของประเทศ  โดยหากประชาชนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ก็จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่

      โดยปกติแล้วเวลามีการเลือกตั้ง ก็จะทำให้มีเงินไหลเวียนก็จะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น ขณะเดียวกันหากมีรัฐบาลใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ คิดใหม่ทำใหม่ และสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการในการดำเนินการเรื่องเศรษฐกิจของประเทศได้ เศรษฐกิจก็จะฟื้นได้เร็ว

      ประเทศไทยหากเราดูในอดีตที่ผ่านมา เวลาฟื้นจะฟื้นตัวได้เร็ว ถ้ามีคนเก่งที่พอเข้าใจและสร้างระบบที่ทำหลายๆ อย่างได้ เพราะอย่างปัจจุบันที่รัฐบาลทำทีละอย่าง คิดแบบเก่าๆ ทำแบบเดิมๆ ที่มันไปไม่ได้ มันต้องคิดใหม่ทำใหม่ คิดแหวกแนว คิดอะไรที่มันใหญ่ๆ คิดในสิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงประเทศได้เยอะๆ

 ผมว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ประเทศต้องการ เป็นเรื่องที่คนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงระดับนี้ โดยหากยังคงปล่อยให้เป็นปัจจุบันมันก็ลำบาก เพราะพูดกันตรงๆ วิธีคิดของพลเอกประยุทธ์เขามาจากทหาร ไม่ได้มาจากภาคธุรกิจ แล้วตอนนี้โลกมันแข่งกันด้วยความฉลาด แข่งกันด้วยวิธีคิดใหม่ๆ วิธีคิดที่ฉีกแนวไป หากเราคิดไม่ได้ ทำไม่ได้ เราก็สู้เขาไม่ได้

ที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ ที่เวียดนามแซงเราไปทุกเรื่อง มีอิเล็กทรอนิกส์ มีธุรกิจใหม่ๆ ทุกอย่างแห่ไปลงทุนที่เวียดนามหมด ขณะที่เราไม่ค่อยมี คนที่เคยลงทุนกับเรา อย่างญี่ปุ่นเองก็ย้ายไปเวียดนาม เราจึงต้องกลับมาดูตัวเองว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น หากเราไม่สามารถชักจูงให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยได้เพิ่มขึ้น เราก็ไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจได้ อย่างคนไทยเองก็มีที่ไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่าลงทุนในไทย ก็แสดงว่าเขามีความเชื่อมั่นกับต่างประเทศมากกว่าไทย แม้แต่กับนักลงทุนไทย อันนี้คือปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' เผยเรียก 'สุชาติ' เข้าพบ ถามเรื่องพื้นที่จันทบุรี ไม่มีคุยปรับครม.

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ขึ้นรถเดินทางกลับบ้าน เมื่อเห็นกลุ่มสื่อมวลชนที่ดักรออยู่จึงเดินลงมาทักทายอย่างอารมณ์ดี

หวั่นดึงคนภาพลักษณ์ไม่ดี นั่งครม.เศรษฐา 1/1 กระทบรัฐบาล

นายสุระ เตชะทัต เลขาธิการพรรคพลังบูรพา กล่าวถึงกระแสข่าวการปรับครม.เศรษฐา 1/1ว่า รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ทำงานมา 7-8 เดือน หลายเรื่อง

'เสี่ยเฮ้ง' เข้าทำเนียบฯ ดอดขึ้นหลังตึกไทยคู่ฟ้า พบนายกฯ หลังมีชื่อนั่ง รมต.

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศทำเนียบรัฐบาล ในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่คาดว่ารายชื่อใกล้จะแล้วเสร็จ ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวบนตึกไทยคู่ฟ้าในช่วงบ่ายว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เรียกรัฐมนตรีที่มีรายชื่อติดโผเข้าพบ

ด็อกเตอร์ป้ายแดง 'ขวัญ อุษามณี' ลุ้นอนาคตลงเล่นการเมือง!

ตำนานแฮชแท็กดัง #ขวัญรักโรงเรียน สานต่อด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดนางเอกหน้าแขก "ขวัญ-อุษามณี ไวทยานนท์" จุดพลุฉลองตำแหน่งด็อกเตอร์จบการศึกษาปริญญาด้านการเมืองเรียบร้อยแล้ว งานนี้ตั้งโต๊ะเคลียร์ผ่านรายการดัง โต๊ะหนูแหม่ม กับพิธีกรตัวแม่ หนูแหม่ม สุริวิภา ถึงเส้นทางอนาคตที่แว่วว่ามีลุ้นลงสนามการเมือง