ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ ๓๔): การสละราชสมบัติ

 

ในหนังสือ “เอกสารการเมือง-การปกครองไทย” ที่ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๘   ชัยอนันต์ สมุทวนิช และ ขัตติยา กรรณสูตรได้รวบรวมเอกสารสำคัญในการเมืองการปกครองไทยระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๗-๒๔๗๗  เอกสารเหล่านี้เป็นเอกสารชั้นต้นที่ถูกใช้อ้างอิงในการเขียนงานวิจัย หนังสือ ตำราต่างๆที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองไทยในช่วงเวลาดังกล่าว                                                 

เรื่องสุดท้ายในหนังสือ คือ เรื่องที่ ๑๒ ว่าด้วยการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์ขัตติยาได้ค้นคว้าและนำเอกสารสำคัญมาตีพิมพ์ไว้ นั่นคือ เอกสารพระราชบันทึกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อนการสละราชสมบัติและคำสนองพระราชบันทึกของคณะรัฐบาล 

ในตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้นำเสนอพระราชบันทึกข้อ ๑  ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว,  “สนองพระราชบันทึก” ที่ฝ่ายรัฐบาลทำหนังสือทูลเกล้าฯตอบพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, “พระราชกระแสที่ทรงไขความแก้คำสนองของรัฐบาลในข้อ ๑”,  “สนองพระราชกระแสที่ทรงไขความข้อ ๑” ที่รัฐบาลได้ทำหนังสือทูลเกล้าฯตอบ, “พระราชบันทึก ข้อ ๒” (ที่ทรงตอบกลับ), “สนองพระราชบันทึก” หรือข้อโต้แย้งของฝ่ายรัฐบาลที่มีต่อ “พระราชบันทึก ข้อ ๒”,  “พระราชกระแสที่ทรงไขความแก้คำสนองของรัฐบาลในข้อ ๒”, “สนองพระราชกระแสที่ทรงไขความในข้อที่ ๒”  (รัฐบาลตอบ), สนองพระราชบันทึก (ข้อ ๒), พระราชกระแสที่ทรงไขความแก้คำสนองของรัฐบาลในข้อ ๒, สนองพระราชกระแสที่ทรงไขความในข้อที่ ๒ (รัฐบาลตอบ), “พระราชบันทึก ข้อ ๓” ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงตอบรัฐบาล, และ “สนองพระราชบันทึก” (รัฐบาลตอบ พระราชบันทึก ข้อ ๓)   

ในตอนนี้ ผู้เขียนจะได้นำ “พระราชกระแสที่ทรงไขความแก้คำสนองของรัฐบาลในข้อ ๓” ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงตอบรัฐบาล และ “สนองพระราชกระแสที่ทรงไขความข้อ ๓”  และ “พระราชบันทึกข้อ ๔”  มานำเสนอแด่ท่านผู้อ่าน           

---------

พระราชกระแสที่ทรงไขความแก้คำสนองของรัฐบาลในข้อ ๓                        

“(ก)  ถ้าลักษณะการณ์เช่นนี้ได้ปฏิบัติไปแล้ว เรื่องนี้ก็เป็นอันตกไปเองในตัว พึงสังเกตว่า อันบทแก้ไขประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา พ.ศ. ๒๔๗๑ มาตรา ๔ วรรค ๑ [1] (ค)

ซึ่งได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ณ บัดนี้ขัดกับความต้องการของรัฐบาลซึ่งตั้งอยู่ในรัฐธรรมนูญ เหตุที่มาตรานี้อาจแปลความไปในทำนองหนึ่ง ซึ่งถึงแก่จะจัดตั้งคณะพรรคการเมืองและทำการเผยแผ่หลักการใดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลใดซึ่งกำลังมีอำนาจอยู่แทบไม่ได้เลย ผู้หนึ่งผู้ใดที่จัดตั้ง คณะขึ้นดั่งนี้ อาจถูกจำคุกตามมาตรานี้ ดั่งเช่น พระยาเทพหัสดินฯ เป็นต้น ถ้าหากตั้งใจจริงๆในอันที่จะปกครองประเทศตามหลักแห่งประชาธิปไตยแล้ว เป็นการสมควรแล้วมิใช่หรือที่จะเปลี่ยนลักษณะการณ์เช่นนี้เสีย

(ค) ข้าพเจ้าชอบที่จะให้มีคณะพรรคการเมืองขึ้น จดหมายของข้าพเจ้ามีถึงพระยามโนฯนั้นได้เขียนไปในคราวที่รัฐบาลในครั้งแรกนั้นไม่ยอมอนุญาตให้คณะชาติตั้งขึ้น ข้าพเจ้าจึงแนะนำไปว่า ถ้าคณะชาติไม่ได้รัฐอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นแล้ว ก็ควรที่จะเลิกล้มคณะราษฎรเสียเหมือนกัน อันที่จริง อาจแก้ได้ว่า สำหรับการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรครั้งแรกนั้น ไม่พึงประสงค์ที่จะให้มีคณะพรรการเมือง  ข้าพเจ้าเห็นว่า ณ บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่จะอนุญาตให้คณะกรรมการเมืองจัดตั้งขึ้นโดยเปิดเผย หาไม่แล้ว ก็คงจะจัดตั้งโดยลับๆ และคงจะมีความประสงค์และความมุ่งหมายไปในทางเข้ายึดอำนาจโดยใช้กำลังในเมื่อวิธีการอันถูกต้องตามกฎหมายไม่มีทางที่จะเอามาใช้ได้เสียแล้ว  ถ้าหากไม่อนุญาตให้มีหนทางอันถูกต้องตามกฎหมายเพื่อคัดค้านการกระทำของรัฐบาลเสียเลย จุดประสงค์ในอันที่จะมีการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญก็ย่อมสูญหายไปหมดทีเดียว

การเปลี่ยนแปลงในบทรัฐธรรมนูญซึ่งข้าพเจ้าได้ขอมานั้น ก็มีผลกระทบกระเทือนเพียงข้อที่เป็นบทเฉพาะกาล เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงแลไม่เห็นเหตุว่า ทำไมความศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญจึงจะถูกกระทบกระเทือนไปด้วย

ในตัวบทรัฐธรรมนูญเอง ก็มีวิธีการให้แก้ไขได้อยู่แล้ว ฉะนั้น รัฐธรรมนูญจึงไม่เป็นสิ่งที่ต้องสักการะจนถึงกับเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทำไมจึ่งจะต้องปล่อยให้ลักษณะการณ์อันไม่น่าพึงพอใจคงอยู่ต่อไป การที่จะเคารพบูชารัฐธรรมนูญด้วยธูปเทียนและโดยไม่ปฏิบัติตามความมุ่งหมาย และความประสงค์อันแท้จริงของรัฐธรรมนูญนั้น ก็เท่ากับเป็นการเล่นตลก”

---------------

สนองพระราชกระแสที่ทรงไขความข้อ ๓ (รัฐบาลตอบ)      

“ก. รัฐบาลได้ตกลงไว้แล้วว่า จะตั้งกรรมการขึ้นพิจารณาสะสางบทกฎหมายที่ออกในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งขัดต่อระบอบรัฐธรรมนูญ                                         

ข. ตามที่ทรงรับสั่งว่าได้ทรงส่งจดหมายถึงพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ให้เลิกล้มคณะราษฎร เพราะรัฐบาลในครั้งนั้นไม่ยอมอนุญาตให้คณะชาติตั้งขึ้น ความข้อนี้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดาจะกราบบังคมทูลไว้อย่างไรก็ยังทราบไม่ได้ แต่ความจริงเรื่องนี้ รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้นัดประชุมผู้ก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญทั้งหมด ที่ประชุมส่วนมากเห็นควรให้ตั้งคณะชาติ และยังไม่ทันที่รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร ก็มีพระราชหัตถเลขาถึงพระยามโนปกรณ์นิติธาดาดั่งได้กล่าวแล้ว ข้อนี้หลวงวิจิตรวาทการ เลขาธิการคณะชาติในเวลานั้นย่อมทราบได้ดี

ที่ทรงรับสั่งมาว่า การขอเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ก็เพียงกระทบกระเทือนเพียงบทเฉพาะกาล ไม่ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญกระเทือนไปด้วยนั้น ที่จริงได้ทรงขอแก้การบทถาวรว่าด้วย ‘วีโต’ ด้วย และแม้บทเฉพาะกาลก็สำคัญเหมือนกัน เพราะการที่มีบทเฉพาะกาลนั้น ก็เพื่อจะประคับประคองให้ความเรียบร้อยในสมัยหัวต่อหัวเลี้ยวเช่นนี้ได้เป็นไปโดยราบรื่นเพื่อความศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญถาวรนั่นเอง ฉะนั้น ถ้าไม่จำเป็นแล้ว ก็ไม่ควรแก้รัฐธรรมนูญไม่ว่าในมาตราใดๆ”

---------                                   

ในตอนต่อไป จะนำเสนอ “พระราชบันทึกข้อ ๔” และ “สนองพระราชบันทึกฯ”

_________________________________________

[1] มาตรา ๔………….                       

๑) ผู้ใดกระทำการอย่างใดๆ ก็ตามสนับสนุนหรือสั่งสอนลัทธิหรือวิธีการเมือง หรือเศรษฐกิจว่าด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรหรือเอกสารใดตีพิมพ์หรือด้วยอุบายใดๆก็ตาม ด้วยเจตนาหรือคำนวณว่าจะเกิดผลอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ คือ

………                                           

……… 

ค. เพื่อให้เกิดความไม่พอใจและกระด้างกระเดื่องในหมู่คนทั้งหลาย ถึงอาจเกิดเหตุร้ายขึ้นในแผ่นดินของท่านก็ดี

………                 

ท่านว่ามันมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่าสิบปี และให้ปรับไม่เกินกว่าห้าพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง                         

ประกาศมา ณ วันที ๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๑ เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลปัจจุบัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 16: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 3)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 15: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 2)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 14: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490