‘นครศรีฯเมืองโกโก้’ชูเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้เกษตรกร

“ช็อกโกแลต” ที่ขึ้นชื่อได้ว่าเป็นขนมแห่งความสุขและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากผู้บริโภคทั่วทุกแห่งบนโลก รวมทั้งยังมีรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตอบสนองความต้องการของคนทุกเพศทุกวัยได้เป็นอย่างดี และในประเทศไทยเองความนิยมของช็อกโกแลตก็มีมาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นหนึ่งในรสชาติที่ถูกนำไปพัฒนาเป็นสินค้าต่างๆ มากมาย รวมทั้งยังเป็นส่วนผสมสำคัญของทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และขนมอีกด้วย ซึ่งเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ลองลิ้มชิมรสชาติของช็อกโกแลตกันมานานแล้วตั้งแต่วัยเด็ก

“อาทิตย์เอกเขนก” ฉบับนี้จึงอยากพาไปถึงแหล่งผลิตช็อกโกแลต หรือสารตั้งต้นอย่าง “โกโก้” ในแหล่งผลิตที่มีคุณภาพอย่างจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมถึงไปติดตามแนวคิดของรัฐบาลที่จะเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ของประเทศไทยให้สามารถเติบโตได้ในระดับโลก โดยที่ผ่านมาได้ร่วมทริปการเดินทางไปกับ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่พาคณะกลับบ้านเกิดอย่างจังหวัดนครศรีธรรมราช แถมยังได้โชว์ของดีของเด็ดผ่านการจัดงาน “อุตสาหกรรมแฟร์เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช” อีกด้วย

จากการเดินทางครั้งนี้ทำให้เห็นว่า จริงๆ แล้วช็อกโกแลตหรือโกโก้ของประเทศไทยนั้นมีคุณภาพไม่ต่างจากของนอกประเทศ แถมยังได้รับรางวัลการันตีระดับโลกมามากมาย โดยทางคณะได้เดินทางไปยังโรงงานที่เป็นแหล่งผลิตโกโก้ชั้นดีของเมืองนครฯ อย่าง One More Thai craft chocolates ที่เป็นผู้ประกอบการตัวอย่างที่สามารถยกระดับโกโก้ให้กลายมาเป็นพืชท้องถิ่นซึ่งสร้างรายได้ของจังหวัด โดยมีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม เข้ามาให้การสนับสนุน

และ One More Thai craft chocolates ก็ได้พาไปเห็นถึงกรรมวิธีการผลิตช็อกโกแลตจากผลโกโก้ โดยต้องมาผ่านจุดแรกสุดอย่างการปลูกต้นโกโก้ จนถึงการเก็บเกี่ยวผลสุกที่เริ่มมีสีเหลืองอ่อน หลังจากนั้นนำมาผ่าผลเพื่อนำเมล็ดโกโก้ที่อยู่ด้านในมาหมัก แน่นอนว่าหลายคนอาจจะไม่ทราบถึงวิธีการผลิต และยังไม่เข้าใจว่าจริงๆ แล้วโกโก้คือการนำเมล็ดของผลโกโก้มาผ่านวิธีการ คล้ายคลึงกับผลิตภัณฑ์กาแฟ ซึ่งเมื่อผ่าผลโกโก้ออกมาแล้วจะเห็นเม็ดที่มีสีขาว มีเนื้อเป็นปุยออกมา ในส่วนนี้สามารถทานได้ทันทีเช่นเดียวกับผลไม้ทั่วไป และมีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน

ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีร้านค้านำเนื้อโกโก้ไปคั้นเป็นนำออกมา เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์คือน้ำโกโก้สดแล้วด้วย แต่การทำช็อกโกแลตนั้นจะนำผลเหล่านี้ไปบ่มทิ้งไว้ ให้เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และนำผลที่บ่มแล้วไปตากแห้งแล้วนำมาอบ ซึ่งต้องยอมรับเลยว่าวิธีการทำนั้นละเอียดอ่อนอย่างมาก หลังจากอบแล้วจะต้องนำมากะเทาะเปลือกออกเพื่อใช้เนื้อข้างในเมล็ดที่ตอนนี้จะมีสีน้ำตาลเข้มมาก ก่อนจะนำเนื้อเหล่านั้นไปคั่วให้มีกลิ่นและสีที่เข้มขึ้น จากนั้นจะนำมาปั่นเป็นเป็นผง และนำไปบดให้เนียนเป็นเนื้อเหลวๆ สามารถนำไปผสมกับนม น้ำตาล หรือวัตถุดิบอื่นๆ ได้ ก่อนนำไปขึ้นรูปเป็นทรงต่างๆ และเข้าสู่กระบวนการแพ็กเกจจิ้ง

หลังจากผ่านกระบวนการปั่นแล้วสามารถทำให้โกโก้แยกออกมาเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ นั่นก็คือ ผงโกโก้ที่สามารถนำไปชงกับน้ำร้อนและใส่นมเป็นเครื่องดื่มได้ หรือนำไปเป็นวัตถุดิบในส่วนผสมของขนมต่างๆ ด้วยเช่นกัน และหลังจากที่ได้รับรู้กระบวนการทั้งหมดนี้ก็อาจจะทำให้เห็นถึงความยากลำบาก ซึ่งต้องชื่นชมในความชาญฉลาดของมนุษย์มากในการแปรรูปผลไม้ชนิดนี้ให้กลายมาเป็นขนมที่หลายคนชื่นชอบได้ และด้วยความชำนาญของกลุ่มผู้ผลิตในประเทศไทยนั้น ก็สามารถสร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับอุตสาหกรรมช็อกโกแลตของประเทศไทยได้อย่างกว้างขวาง

โดยที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลังเองก็เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าว จึงได้มีแผนการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อน ส่งเสริม และพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากโกโก้ให้ประเทศไทยกลายมาเป็นศูนย์กลางการผลิต หรือโกโก้ฮับ (THAI COCOA HUB) ให้ได้ เพื่อหวังผลักดันให้โกโก้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศและสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

ซึ่งนางสาวพิมพ์ภัทราเองก็ได้เห็นว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพืชโกโก้ถูกจับตามองว่าเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจใหม่ และได้รับกระแสความนิยมเพิ่มมากขึ้น สะท้อนได้จากการเติบโตของร้านคาเฟ่ ขนมหวาน ช็อกโกแลตพรีเมียม รวมถึงเทรนด์รักสุขภาพ เนื่องจากโกโก้สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพชั้นดีเยี่ยม ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกโกโก้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับโอกาสในอนาคต

และประเทศไทยเองก็มีความได้เปรียบด้านพื้นที่ สามารถปลูกโกโก้ได้ทุกภาค โดยที่น่าจับตามองคือ ภาคตะวันออก ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ที่มีพื้นที่การปลูกโกโก้และเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะมุ่งเน้นการตั้งโรงงานแปรรูปโกโก้ขนาดเล็กเพื่อสนับสนุนให้มีการปลูกโกโก้ให้มากขึ้น รวมถึงภาคใต้ ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ปลูกโกโก้มากกว่า 1,600 ไร่ เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ปลูกโกโก้ทั้งสิ้นกว่า 3,000 ครัวเรือน ถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิตโกโก้คุณภาพดีของไทย

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้นำร่องยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมโกโก้ไทยในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชสู่โกโก้ฮับ ภายใต้ชื่อ “นครศรีเมืองโกโก้” เพื่อเป็นศูนย์กลางรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมโกโก้ในไทย อีกทั้งเป็นแหล่งความรู้และลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ และสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีศักยภาพ ขีดความสามารถในการส่งออกสู่ตลาดโลกได้ในอนาคต โดยคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 4,000 ล้านบาท.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บุกเมืองโคโลญจ์ส่องมหาวิหารสูงเสียดฟ้า ตะลุยปราสาทกลางหุบเขาและวังมังกร

ช่วงที่อากาศประเทศไทยร้อนจนต้องร้องขอชีวิตแบบนี้ ไม่ต่างกับการเอาตัวเองไปอยู่ในตู้อบ เพราะอุณหภูมิทะลุ 40 องศาเซลเซียสเกือบทุกวัน หลายคนคงวางแผนหาวิธีดับร้อนกันหลากหลายวิธี

ช็อก! อธิบดีกรมโรงงาน ยื่นหนังสือลาออกฟ้าแลบ ก่อนเกษียณอายุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม ที่มีนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นประธาน ซึ่งมีระเบียบวาระพิจารณากรณีการขนกากแร่อุตสาหกรรม บริษัท ผาแดง อินดัสทรี จำกัด(มหาชน)

กมธ.ที่ดิน บี้รัฐชี้แจงปมขนย้ายกากแคดเมียม ไฟไหม้โรงงานสารเคมีระยอง

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกมธ. , นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส.ภูเก็ต พรรคก้าวไกล

สะสางปัญหา กากแคดเมียม เดิมพันการเมืองครั้งสำคัญ พิมพ์ภัทรา-รมว.อุตสาหกรรม

ปัญหาการพบกากแร่อันตรายแคดเมียม ที่มีการขนย้ายมาจากจังหวัดตาก ซึ่งปัจจุบันมีการยึดอายัดได้ประมาณ 12,500 ตัน หลังพบที่สมุทรสาคร ชลบุรี และกรุงเทพฯ

‘อ้วยอันโอสถ’ภารกิจปั้นแบรนด์สู่นิวลุกส์ พัฒนาสินค้ารับเทรนด์สมุนไพรมาแรง

สำหรับ บริษัท อ้วยอันโอสถ จำกัด นั้น นับเป็นแบรนด์ยาสมุนไพรที่อยู่คู่คนไทยมายาวนาน 77 ปี ที่ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรในหลายหมวดและมีมากกว่า 100 รายการ