กระบวนการขัดเกลาเยาวชนที่ล้มเหลว

ในขณะที่ผู้ใหญ่ส่วนหนึ่ง ทั้งข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ ผู้ประกอบการ และผู้คนที่รักชาติรักแผ่นดิน กตัญญูต่อแผ่นดิน

ต่างก็มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ของตนตามบทบาทที่มี ใช้ความรู้ ความสามารถ ทักษะสติปัญญาที่มีในการพัฒนาประเทศ หวังที่จะรักษาประเทศชาติให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

เฉกเช่นที่บรรพชนของเราได้สละเลือดเนื้อและพลีชีพในการสร้างบ้านแปงเมือง ปกป้องผืนแผ่นดินไทยให้พวกเราได้อยู่ด้วยความผาสุกและร่มเย็นมามากกว่า 700 ปี

แต่กลับต้องเผชิญกับการด้อยค่าของเด็กรุ่นใหม่ที่คิดว่าตัวเองรู้ดี ทันยุคทันสมัย ต้องการที่จะวางแผนสร้างอนาคตของตนเอง อ้างเสรีภาพ และเรียกขานผู้สูงวัยที่มีความรู้ มีปัญญา มีประสบการณ์ว่าไดโนเสาร์ ดูถูกว่าเป็นคนล้าสมัย ไม่ทันกับสถานการณ์ของโลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นการสรุปที่ง่ายเกินไป เพราะผู้สูงวัยไม่ใช่คนที่ล้าสมัยไปทุกคน ผู้สูงวัยหลายคนเป็น “คนแก่...แต่ไม่เก่า” ติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลกตลอดเวลา และด้วยประสบการณ์ ความรู้ ทักษะและสติปัญญา สามารถปรับตัวตามสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการด้อยค่าผู้สูงวัยของคนรุ่นใหม่จึงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง

ในสถานการณ์เช่นนี้ เราคงต้องตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับเยาวชนของเรา ทำไมเขามีพฤติกรรมดูถูกผู้สูงวัย ทั้งพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ผู้บริหารประเทศ นักธุรกิจ ข้าราชการ และประชาชนในบทบาทต่างๆ ที่ได้อุทิศตนเป็นพลเมืองดีของประเทศตลอดมา และยังคงตั้งหน้าตั้งตาหาความรู้ให้ทันเหตุการณ์และเรียนรู้ที่จะใช้ความรู้ใหม่ๆ เหล่านั้นผนึกกับประสบการณ์ของตนเองพัฒนาประเทศชาติ เพื่อให้เป็น “บ้านเกิดเมืองนอน” ที่ร่มเย็นและผาสุกแก่ชนรุ่นหลังด้วยความรักและห่วงใย ยึดมั่นในค่านิยมของคำว่า “ยั่งยืน” ซึ่งหมายถึงการเก็บรักษาสิ่งดีๆ เอาไว้ให้ลูกหลานได้ใช้ชีวิตด้วยความผาสุกต่อไปในวันข้างหน้า การที่ผู้สูงวัยใช้หลักปรัชญาของความยั่งยืนในการทำงานและดำรงชีวิตนั้น หมายความว่าพวกเขาไม่ได้เสวยสุขในวันนี้โดยไม่มีความห่วงใยว่าเยาวชนรุ่นหลังที่ตามมาจะมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร

เยาวชนจำนวนหนึ่งไม่ตระหนักในความรัก ความหวังดี และความห่วงใยดังกล่าวนี้ จึงเรียกผู้สูงวัยว่าไดโนเสาร์ และไล่ให้ไปตาย อย่ามายุ่งในการกำหนดอนาคตของพวกเขาที่รู้ดีว่าตัวเองต้องการอะไร จริงอยู่พวกเขาอาจจะรู้ว่าพวกเขาต้องการอะไร แต่ก็ควรจะมีคำถามว่าสิ่งที่เขาต้องการนั้นมันเป็นความต้องการที่เหมาะสมหรือไม่ และวิธีการที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นเป็นวิธีการที่ถูกต้องหรือไม่ ความต้องการของคนเราไม่ได้ถูกต้องไปทุกเรื่อง แม้แต่ในยามที่เรามีความต้องการที่ถูกต้อง วิธีการที่เราจะบรรลุเป้าหมายได้สิ่งที่เราต้องการนั้นก็มีทั้งถูกทั้งผิด ตามหลักการของ “จารีต ขนบธรรมเนียม ประเพณี ศีลธรรม จริยธรรม คุณธรรม บรรทัดฐาน แบบแผน ความชอบธรรม และนิติธรรม” ซึ่งเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบสังคมที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้ แต่ปรากฏการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่เวลานี้ก็คือ มีเยาวชนจำนวนหนึ่งมีพฤติกรรม “ชังชาติ ลืมรากเหง้าความเป็นไทย ละทิ้งขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของความเป็นไทย ไม่คำนึงถึงศีลธรรม จริยธรรม บรรทัดฐานและแบบแผน” โดยอ้างเรื่องเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตยที่ไร้ขอบเขต ทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า ทำไมเยาวชนของเราจำนวนหนึ่งจึงเป็นเช่นนี้ พวกเราที่สูงวัยสมควรที่จะต้องทบทวนบทบาทของพวกเราในการอบรมเลี้ยงดู และขัดเกลาพวกเขาให้เติบใหญ่มาใช้ชีวิตในสังคมได้ดีเพียงใด

กระบวนการขัดเกลาเยาวชนให้พร้อมที่จะก้าวสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ (Socialization) เป็นหน้าที่ของครอบครัว การศึกษา ศาสนา การศึกษาและสื่อมวลชน หากพิจารณาจากพฤติกรรมของเยาวชน Gen Y และ Gen Z ในขณะนี้ คงถึงเวลาที่ทุกสถาบันที่เป็น Socializing Agents ตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำหน้าที่นี้ได้ดีเพียงใด พ่อแม่ต้องถามตัวเองว่าเลี้ยงลูกมาอย่างไร อบรมลูกอย่างไร ปลูกฝังค่านิยมอะไรให้แก่ลูก สอนให้ลูกรู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดีเพียงพอหรือไม่ หากจะพูดว่าพ่อแม่บางคนไม่มีความพร้อมที่จะเป็นพ่อแม่คน เพราะมีเพียงความพร้อมด้านเศรษฐกิจในการจะเลี้ยงดูลูก แต่ไม่มีความพร้อมในการจะอบรมให้ลูกเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองดีที่รักชาติ รักแผ่นดิน เป็นคนดีมีความกตัญญูต่อพ่อแม่ ครูบาอาจารย์และแผ่นดิน อีกทั้งยังต้องรู้จักที่จะให้ความสำคัญกับการธำรงรักษาความมั่นคงของสถาบันหลักแห่งประเทศ ได้แก่ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์”

ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนทั้งหลายให้ความรู้อะไรแก่เด็ก นอกจากให้ความรู้และฝึกทักษะในการประกอบอาชีพแล้ว สอนความเป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพให้ลูกศิษย์หรือไม่ การเป็นครูต้องเป็นแสงสว่างนำทางให้ลูกศิษย์เดินบนเส้นทางที่ถูกต้อง เพื่อให้พวกเขามีชีวิตที่ดี ปลูกฝังค่านิยมที่ดีงามให้แก่ลูกศิษย์เพื่อให้พวกเขามีทัศนคติและพฤติกรรมทางสังคมที่เหมาะสมและดีงาม ประพฤติตนเป็นคนที่มีคุณค่าสำหรับแผ่นดิน

พระสงฆ์ และนักศาสนาในศาสนาอื่นๆ ทำหน้าที่ในการเผยแพร่หลักธรรมคำสอนขององค์พระศาสดาของศาสนานั้นๆ ได้ดีเพียงใด จูงใจให้เยาวชนปฏิบัติตามหลักธรรมของศาสนาได้หรือไม่ จริยวัตรในการปฏิบัติตนของผู้ทำหน้าที่ในการเผยแผ่หลักธรรมของแต่ละศาสนานั้นถูกต้องตามพระธรรมวินัยและบทบัญญัติของศาสนาหรือไม่ สามารถปลูกฝังสำนึกด้านศีลธรรมและจริยธรรมให้แก่ศาสนิกชนได้ดีเพียงใด ทำให้สังคมอยู่ร่วมกันด้วยหลักธรรมที่ก่อให้เกิดการคิดดี พูดดี ทำดี เพื่อสังคมที่มีระเบียบที่ดีหรือไม่

นักการเมืองให้ความสำคัญในการปลูกฝังค่านิยมที่ดีงามให้แก่เยาวชนหรือไม่ มีการรณรงค์การปลูกฝังทัศนคติและพฤติกรรมที่ดีงามหรือไม่ มีงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการรณรงค์ปลูกฝังค่านิยมเพียงพอที่จะสู้กับกลุ่มคนที่ใช้อบายมุขมาชักจูงเยาวชนให้หมกมุ่นกับอบายต่างๆ ทั้งหลายหรือไม่ นักการเมืองเป็นตัวอย่างที่ดีของการมีธรรมาภิบาลหรือไม่ เวลานี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือมีนักการเมืองบางคนเอาผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง แสวงหาลาภยศโดยไม่เกี่ยงวิธี จนทำให้เยาวชนของเราก็กลายเป็นคนที่ปรารถนาความสำเร็จด้านลาภยศ ชื่อเสียง ทรัพย์ศฤงคารโดยไม่เกี่ยงวิธีกันมากขึ้น

สื่อมวลชนนำเสนอข่าวสารที่ชี้นำพฤติกรรมที่เหมาะสมหรือไม่ ตระหนักในความเป็นครูของแผ่นดินในการทำหน้าที่หรือไม่ มีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพหรือไม่ สื่อมวลชนต้องตระหนักว่าพวกเขานั้นเป็นทั้งองค์กรทางเศรษฐกิจและองค์กรทางสังคม ในแง่เศรษฐกิจ เขาต้องทำธุรกิจสื่อให้มีกำไร แต่ต้องไม่ลืมในแง่สังคมนั้น พวกเขามีหน้าที่เป็นครูของสังคมที่จะชี้นำให้ประชาชนทำสิ่งที่ถูกต้องดีงามให้แก่สังคม ลองทบทวนกันดูนะคะ ถ้าหากอยู่กันไปวันๆ ไม่ประเมินการทำหน้าที่ตามบทบาทของตนเอง อนาคตของประเทศน่าเป็นห่วงนะคะ เมื่อเยาวชนเหล่านี้เติบโตมาบริหารประเทศไทยอันเป็นที่รักของเรา.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยโสโอหังไม่ฟังใคร ไม่สนใจกระแส...คิดว่าแจงได้

อ่อนอกอ่อนใจจริงๆ กับสถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้ ตั้งแต่ถ้อยคำ วาจา ท่าที ลีลาการหาเสียงของคนที่ถูกวางตัวว่าวันหนึ่งจะได้เป็นผู้นำประเทศ ตะโกนด้วยสุ้มเสียงมั่นอกมั่นใจในสิ่งที่พูด ท

สูตรแต่งตั้งตำรวจ

กว่าจะเคาะ กว่าจะคลอด ก็นั่งนับนิ้วกันแทบหงิก เพราะ 180 วัน ตามเงื่อนไขการบังคับใช้กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2567

'ดร.เสรี' ข้องใจ 'นักโทษทิพย์' หายป่วยทิพย์กระทันหัน หรือต้องการเย้ยไยไพ

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า ผู้คนจำนวนมากสงสัยอาการป่วยไข้ การได้อยู่ห้อง VV