ปมถอดสัมปทานสายสีเขียว

เป็นประเด็นมาตลอดทั้งสัปดาห์ กรณีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โดยวาระที่กระทรวงมหาดไทยเสนอขออนุมัติเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยต่อขยายสัญญาสัมปทานให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบ BTS ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS อีก 30 ปี จากเดิมสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดในปี 2572 ขยายต่อไปให้สิ้นสุดในปี 2602 แต่มีรายงานว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ขอถอนวาระดังกล่าวออกไปก่อน
แน่นอนว่า วาระดังกล่าวเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณามาเป็นเวลานาน โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2563 ได้เคยมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ต่อมามีรายงานว่าได้ถอนเรื่องออกจากการพิจารณาเช่นกัน เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ไปศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนก่อนนำเสนอใหม่อีกครั้งหนึ่ง

เรื่องนี้ดูเหมือนว่าจะอยู่ในความสนใจของใครหลายๆ คน และได้มีการสอบถามไปยังนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กรณี ครม.ถอดวาระดังกล่าว ซึ่งก็ได้รับการยืนยันว่าสาเหตุการถอนเรื่องไม่ได้มาจากกระทรวงคมนาคมขัดขวางการนำเสนอ ครม. โดยเลขาธิการ ครม.ได้แจ้งก่อนเข้าวาระว่า กระทรวงมหาดไทยขอถอนเรื่องแต่ไม่ได้แจ้งสาเหตุ แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของกระทรวงคมนาคมยังยืนยันประเด็นที่เคยเสนอทักท้วงการต่อสัญญา ซึ่งมีด้วยกัน 4 เรื่องที่เสนอไปก่อนหน้านี้


เนื่องจากกระทรวงคมนาคมเห็นว่ามีข้อมูลบางเรื่องที่ยังต้องทำให้ครบถ้วนก่อน เช่น เรื่องการดำเนินการตามมติ ครม.ปี 2561 เรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ รวมถึงข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในปี 2558 ซึ่งเรื่องยังอยู่ที่ ป.ป.ช. และล่าสุดทาง BTS ได้ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานครอยู่ ควรฟังคำสั่งศาลว่าจะเป็นอย่างไรด้วย เพราะหากกลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก ต่อไปก็จะเป็นปัญหาไปด้วย


สำหรับข้อทักท้วง 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ความครบถ้วนตามหลักการของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 2.การคิดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการ เพื่อส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการ รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดได้ต่ำกว่า 65 บาท 3.การใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรพิจารณาให้ถ่องแท้ถึงการใช้สินทรัพย์ว่ารัฐควรได้ประโยชน์จากการขยายสัญญาสัมปทานเป็นจำนวนเท่าไร อย่างไร จนกว่าจะครบอายุสัญญา
4.ประเด็นข้อพิพาททางกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากกรณี กทม.ได้ทำสัญญาจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ไปจนถึงปี 2585 และได้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดังนั้นจึงสมควรรอผลการไต่สวนข้อเท็จจริงก่อนเพื่อให้เกิดความชัดเจน


ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงของ BTS ยืนยันว่า ไม่ได้มีการกดดันให้มีการต่อสัมปทานเพื่อแลกกับมูลหนี้ที่ กทม.ค้างจ่ายอยู่รวม 3.2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเรื่องการติดตามหนี้สินค้างจ่ายเป็นเรื่องที่ BTS ดำเนินการมานานแล้ว เป็นการดำเนินการตามระเบียบข้อกฎหมายที่สามารถทำได้ เนื่องจากบริษัทต้องแบกรับต้นทุนการเดินรถมาเป็นเวลานาน
สำหรับภาระหนี้สะสมที่ กทม.มีต่อ BTS แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.หนี้ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายตั้งแต่เดือน เม.ย.2560 จนถึงเดือน ก.ค.2564 ประมาณ 12,000 ล้านบาท 2.หนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่ง BTS ยอมรับว่าการค้างจ่ายค่าจ้างดังกล่าวที่มีมูลค่ามากกว่า 3 หมื่นล้านบาทนั้น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทำให้ BTS จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อนำมาบริหารจัดการ


สำหรับประเด็นเรื่องต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยังเป็นที่น่าจับตามองจากหลายฝ่าย รวมถึงประชาชนที่ต้องใช้บริการ ที่สุดแล้วบทสรุปสุดท้ายจะออกมาในทิศทางใด ประชาชนที่ใช้บริการรถไฟฟ้าจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด ข้อตกลงร่วมกันใครได้ใครเสีย เรื่องนี้ประชาชนควรได้รับรู้รายละเอียด สุดท้ายเชื่อว่ารัฐบาลต้องทำให้ชัดเจน วางนโยบายแล้วกำหนดหลักเกณฑ์ เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียตามมาภายหลัง ด้วยการที่ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าโดยสารที่แพงเกินความจำเป็น.

กัลยา ยืนยง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เดินให้สุดทำอย่างจริงจัง

ปัจจุบันพบปัญหาถังก๊าซหุงต้มในท้องตลาดเสื่อมสภาพและหมดอายุตกค้างอยู่ในระบบจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการลักลอบนำถังก๊าซหุงต้มมาเติมในสถานีบริการ LPG เป็นระยะ ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว

ดันสงกรานต์ไทยสู่เทศกาลโลก

หลังจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงมหาดไทย จับมือจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567”

เน้นเชิงรับมากกว่าเชิงรุก

ก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas) หรือก๊าซ LPG ด้วยคุณสมบัติพิเศษของมันก็คือ การที่มีสารโพรเพนและบิวเทนอยู่ในตัว ซึ่งสารสองนี้เป็นสารที่ติดไฟง่าย

เจาะลึกพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวไทย

ในช่วงที่ผ่านมาได้มีผลการวิจัยของมินเทล (Mintel) พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยหันมาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้นในการหาแรงบันดาลใจด้านการท่องเที่ยว และแบ่งปันประสบการณ์ท่องเที่ยวของตนเอง

วิกฤตเลวร้ายกว่าต้มยำกุ้ง?

ตกเป็นประเด็นอีกครั้ง สำหรับเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจของไทย เพราะล่าสุด 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรีได้มาพูดย้ำว่า ประเทศไทยตอนนี้มันยากกว่าสมัยช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะมีความซับซ้อนและยากมากกว่า และมองว่าการแก้ไขมันต้องมีการเปลี่ยน เพราะโลกมันเปลี่ยนไม่เหมือนเดิม

จับชีพจร“ท่องเที่ยวไทย”เริ่มฟื้นตัว

“ท่องเที่ยว” ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนและกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ เรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมหลักๆ ที่สร้างรายได้มหาศาลให้ประเทศตลอดช่วงที่ผ่านมา