คนละครึ่งจะได้ไปต่อไหม?

ช่วงนี้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจปากท้องกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลที่จะต้องเร่งแก้ปัญหา เพราะในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเจอปัจจัยรุมเร้าจากภายนอกเข้ามากระตุกอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน, ปัญหาการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะในจีน ยังไม่นับรวมภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ แถมไทยเจอปัญหาค่าเงินบาทอ่อน และอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงสวนทางกับรายได้

เมื่อเจอมรสุมที่ถาโถมเข้ามาไม่หยุด ทำให้ล่าสุด กระทรวงการคลังได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ใหม่มาอยู่ที่ 3.5% ลดลงจากเดิมที่ 4% ตัวเลขดังกล่าวเมื่อมาประเมินกับอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะอยู่ที่ 5% ต่อไป ซึ่งตีความง่ายๆ ก็คือ ในปีนี้รายได้ของคนไทยเฉลี่ยจะเติบโตน้อยกว่าราคาสินค้าที่แพงขึ้น ประเด็นนี้ส่งผลโดยตรงกับกำลังซื้อของคนไทยอย่างแน่นอน

 นี่คือจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญว่ารัฐบาลจะช่วยประคองกำลังซื้อของคนไทยต่อไปอย่างไร เมื่อต้องเผชิญกับภาวะรายได้น้อยกว่ารายจ่าย

แน่นอนที่ผ่านมารัฐบาลพยายาม (เติมกระสุน) ให้ประชาชนโดยตรง ผ่านโครงการร่วมจ่าย อย่างโครงการเพิ่มกำลังซื้อและคนละครึ่ง ซึ่งผ่านมาถึง 4 เฟสก็กระตุ้นการใช้จ่ายรวมๆ 4-5 แสนล้านบาท โดยครึ่งๆ เป็นงบประมาณโดยตรงจากทางรัฐบาล

แต่วิธีการนี้แม้จะเป็นการอัดฉีดเงินโดยตรงลงถึงประชาชน และได้ผลดี แต่มันก็เป็นภาระงบประมาณที่มหาศาลมาก ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลนำเงินส่วนนี้มาจากการกู้เงิน เป็นภาระที่ประเทศจะต้องใช้คืนหนี้ต่อไป

ดังนั้น จึงเป็นคำถามที่ยังต้องลุ้นว่ารัฐบาลจะมีการต่ออายุโครงการคนละครึ่งเฟสใหม่อีกหรือไม่? และด้วยความไม่ชัดเจนนี้เองก็เป็นช่องทางให้ข่าวเฟกนิวส์ออกมา ที่มีการระบุว่ารัฐบาลจะลดการสนับสนุนลงเหลือ 25% ไม่ใช่คนละครึ่ง 50% เหมือนแต่ก่อน

ประเด็นนี้ร้อนไปถึงนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้ออกมาชี้แจงว่าไม่เคยมีการพูดเรื่องการปรับสูตร และไม่เคยพูดว่าจะมีการต่อมาตรการคนละครึ่งเฟส 5 ด้วยซ้ำ

เจ้าตัวทิ้งท้ายว่า การจะต่ออายุมาตรการหรือไม่ ต้องประเมินอีกครั้ง ซึ่งต้องดูหลายองค์ประกอบ อาทิ การเพิ่มขึ้นของรายได้สำหรับผู้มีรายได้ประจำ ผู้มีรายได้รายวันนั้นเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพิ่มขึ้นอย่างไร หรือการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาจะมีผลทำให้เงินหมุนเวียนอย่างไร

สาเหตุที่ต้องประเมินรอบด้านก็เพราะว่า กระสุนที่รัฐบาลเคยเติมให้เริ่มร่อยหรอลง โดยเฉพาะฐานะการคลังที่เริ่มตึงตัวไปทุกที

จากข้อมูลล่าสุด ปัจจุบันการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทยังมีวงเงินคงเหลืออยู่ประมาณ 7.4 หมื่นล้านบาท และงบกลางเหลืออยู่ 6 หมื่นล้านบาท (กันไว้ใช้สำหรับภัยพิบัติ 3-4 หมื่นล้านบาท) ทั้งนี้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะประเมินว่า หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เพิ่ม จะยังสามารถมีพื้นที่ทางการคลังกู้เงินเพิ่มได้อีกประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท ถึงจะเต็มเพดานหนี้สาธารณะที่ขยายกรอบจาก 60% เป็น 70% ต่อ GDP (ล่าสุด ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 60.17% ของ GDP)

คงต้องวัดใจว่า รัฐบาลจะกล้ากู้เงินมาเพิ่มเพื่อใส่ในโครงการกระตุ้นใช้จ่ายอีกหรือไม่ เพราะแนวทางนี้ไม่ใช่การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มันเหมือนเป็นน้ำยาหล่อลื่นให้เศรษฐกิจทำงาน แต่ถ้าหล่อลื่นมากไปจนทำให้เกิดความเคยชิน ระยะยาวก็ย่อมส่งผลเสีย ทั้งต่อตัวประชาชนและรัฐบาล ที่สุดท้ายก็จะต้องมาร่วมชะตากรรมในการชดใช้หนี้กันหัวโต

จากนี้ก็คงต้องเฝ้ารอว่ารัฐบาลจะเดินหน้ากับเรื่องนี้อย่างไร.

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เดินให้สุดทำอย่างจริงจัง

ปัจจุบันพบปัญหาถังก๊าซหุงต้มในท้องตลาดเสื่อมสภาพและหมดอายุตกค้างอยู่ในระบบจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการลักลอบนำถังก๊าซหุงต้มมาเติมในสถานีบริการ LPG เป็นระยะ ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว

ดันสงกรานต์ไทยสู่เทศกาลโลก

หลังจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงมหาดไทย จับมือจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567”

เน้นเชิงรับมากกว่าเชิงรุก

ก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas) หรือก๊าซ LPG ด้วยคุณสมบัติพิเศษของมันก็คือ การที่มีสารโพรเพนและบิวเทนอยู่ในตัว ซึ่งสารสองนี้เป็นสารที่ติดไฟง่าย

เจาะลึกพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวไทย

ในช่วงที่ผ่านมาได้มีผลการวิจัยของมินเทล (Mintel) พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยหันมาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้นในการหาแรงบันดาลใจด้านการท่องเที่ยว และแบ่งปันประสบการณ์ท่องเที่ยวของตนเอง

วิกฤตเลวร้ายกว่าต้มยำกุ้ง?

ตกเป็นประเด็นอีกครั้ง สำหรับเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจของไทย เพราะล่าสุด 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรีได้มาพูดย้ำว่า ประเทศไทยตอนนี้มันยากกว่าสมัยช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะมีความซับซ้อนและยากมากกว่า และมองว่าการแก้ไขมันต้องมีการเปลี่ยน เพราะโลกมันเปลี่ยนไม่เหมือนเดิม

จับชีพจร“ท่องเที่ยวไทย”เริ่มฟื้นตัว

“ท่องเที่ยว” ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนและกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ เรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมหลักๆ ที่สร้างรายได้มหาศาลให้ประเทศตลอดช่วงที่ผ่านมา