ค่าครองชีพสูงกระทบเชื่อมั่น

แอบกังวลเล็กๆ สำหรับภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ อันมีสาเหตุมาจากราคาสินค้า-บริการที่แพงขึ้นจากต้นทุนราคาพลังงานซึ่งยังอยู่ในช่วงขาขึ้น

จากภาวะดังกล่าว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างในปัจจุบันรัฐก็พยายามที่จะประคองราคาดีเซลไม่ให้กระชากขึ้นไปมากกว่านี้ ซึ่งตอนนี้ก็ยืนที่ระดับเกือบ 33 บาท/ลิตร และแนวโน้มอาจจะต้องมีการขยับขึ้นไปอีก เพราะราคาจริงๆ นั้นอาจจะถึงหลัก 40 บาท/ลิตรเลยทีเดียว

แน่นอน จากการขยับขึ้นจากเพดานเดิมมาเกือบ 3 บาท/ลิตร ก็ย่อมเป็นการเพิ่มภาระของผู้ประกอบการที่จะต้องผลักภาระมายังผู้บริโภคหรือประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังที่เห็นจากข่าวในช่วงที่ผ่านมาที่บรรดาผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค

ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ของใช้จำเป็น ประกาศที่จะขึ้นราคาสินค้ากันแล้ว ขณะเดียวกันในเรื่องของค่าบริการต่างๆ ทั้งค่าไฟ ค่าโดยสารต่างๆ ก็มีการขยับตามไปเป็นลูกโซ่

และจากปัญหานี้ ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentment Index : RSI) ประจำเดือน พ.ค.2565 ทั้งภาวะปัจจุบันและในระยะ 3 เดือนข้างหน้า พบว่าดัชนีเชื่อมั่นมีการปรับตัวลดลงอันเนื่องมาจากภาวะค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น แม้ว่าผู้บริโภคจะคลายความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนจากกิจกรรมนอกบ้านที่มากขึ้น แต่เป็นผลมาจากการปรับขึ้นราคาสินค้าหลายรายการตามต้นทุน และค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น ขณะที่มาตรการกระตุ้นการบริโภคจากภาครัฐหมดลง ซ้ำเติมกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ และกดดันการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีก

โดยความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการประเภทห้างสรรพสินค้า ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหารปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิม (SSSG) และความถี่ของผู้ใช้บริการ (Frequency) ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดการใช้จ่ายต่อครั้ง (Spending per bill) ปรับลดลง เพราะผู้บริโภคคลายความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาด จึงเริ่มออกมาใช้จ่ายเพื่อการบริโภค ลดการประกอบอาหารในบ้าน ท่องเที่ยวและทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น อย่างไรก็ดีราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นนั้นคาดว่าจะยังเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของกำลังซื้อของผู้บริโภค

นอกจากนี้ ในส่วนของการประเมินการใช้จ่ายของผู้บริโภค พบว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะราคาสินค้าขั้นพื้นฐานหลายหมวดที่ปรับแพงขึ้น โดยเฉพาะในหมวดสินค้าจำเป็น อีกทั้งยังพบว่าผู้บริโภคออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น ทั้งการท่องเที่ยว การกลับเข้าทำงานที่บริษัท และการเปิดภาคการศึกษา

แน่นอน เมื่อประชาชนมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่รายได้ไม่ปรับเพิ่มขึ้นตาม ย่อมส่งผลที่จะทำให้ประชาชนต้องลดการใช้จ่ายลงและประหยัดมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่ตามมาอาจส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดภาวะฝืดเคืองได้ในระยะยาว

และสิ่งที่อาจจะซ้ำเติมเศรษฐกิจต่อจากเงินเฟ้อก็คือ การที่ภาครัฐจะต้องบริหารจัดการลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งทาง ธปท.ก็จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 8 มิ.ย.2565 โดยจะพิจารณาปัจจัยเสี่ยงซึ่งจะมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ และอาจจะปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยตามสถานการณ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงพิจารณาเรื่องทิศทางดอกเบี้ยด้วย

หากค่าครองชีพสูงแล้วยังเจอดอกเบี้ยขาขึ้นด้วย คนไทยก็อาจจะต้องประหยัด มัธยัสถ์เพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งก็จะไปกระทบกับภาวะเศรษฐกิจภาพรวมเพิ่มเติมก็เป็นได้.

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

“หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท

เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหนต่อ

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเวลานี้เหมือนคนป่วยโรคเรื้อรัง ที่อาการแค่ดีขึ้นเล็กน้อย แต่รักษายังไม่หายขาด ส่งผลให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ยังคงติดๆ ขัดๆ นับตั้งแต่ผ่านพ้นจากวิกฤตโควิดมากว่า 2 ปี

ไทยจะเป็นฮับเอทานอล

ประเทศไทยหลังจากที่ผลัดเปลี่ยนรัฐบาลชุดนี้ ก็ตั้งเป้าการทำงานที่หลากหลายและแปลกตามากขึ้น แน่นอนว่าหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล