อดีตสู่ปัจจุบัน ปฏิรูปตำรวจ (2)

วันนี้ อดีตสู่ปัจจุบัน การปฏิรูปตำรวจ เป็นตอนที่ 2 ตอนแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  ได้เล่าให้ฟังว่าการปฏิรูปตำรวจครั้งแรก สมัยนายกฯ สุรยุทธ์ ตั้งแต่เริ่มตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ ได้ข้อสรูปการปฏิรูปตำรวจเรื่องสำคัญๆ หลายเรื่อง เสนอร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ…. (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) เข้าสภานิติบัญญัติ และไปค้างการพิจารณาในสภาจนกฎหมายตกไป

สมัยนายกฯ อภิสิทธิ์ ดำเนินการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ครั้งที่ 2 แต่ไม่มีความคืบหน้าเสนอกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจอย่างใด

ต่อมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงปลายปี พ.ศ.2556 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2557 มีการชุมนุมประท้วงของกลุ่ม กปปส. ขับไล่รัฐบาล เรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งรวมทั้งการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจด้วย

ตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ท่ามกลางความขัดแย้ง เหตุการณ์ทวีความรุนแรง มีการใช้อาวุธปืนและระเบิดทำร้ายผู้เข้าร่วมในการชุมนุม จนเป็นสาเหตุนำไปสู่การปฏิวัติ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการปฏิรูปตำรวจอย่างจริงจังอีกครั้ง นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การปฏิรูปตำรวจที่มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 มาตรา 258 ง (4) บัญญัติให้ปฏิรูปตำรวจปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องหน้าที่ อำนาจ ภารกิจให้เหมาะสมปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลให้มีประสิทธิภาพ แต่งตั้งโยกย้ายตำรวจอย่างเป็นธรรม คำนึงอาวุโสและความเหมาะสม ตำรวจปฏิบัติหน้าที่อิสระ ไม่ตกอยู่ในอาณัติของบุคคลใด และกำหนดเวลาต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

นายกฯ ประยุทธ์ ได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ครั้งที่ 3 โดยแต่งตั้ง พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน,พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รอง ผบ.ตร.เป็นเลขานุการ, พล.ต.ท.สุรพล พินิจ

ชอบ เป็นผู้ช่วยเลขาฯ ฯลฯ

องค์ประกอบ มีคณะกรรมการโดยตำแหน่งจำนวนหนึ่ง คณะกรรมการฝ่ายตำรวจ และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อย่างละเท่าๆ กัน คณะกรรมการโดยตำแหน่งจำนวน 5 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงมหาดไทย, ปลัดกระทรวงยุติธรรม, เลขาธิการศาลยุติธรรม และอัยการสูงสุด

คณะกรรมการฝ่ายตำรวจ จำนวน 15 คน อาทิ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ชาญชิต เพียรเลิศ, พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์,  พล.ต.อ.บุญชัย ชื่นสุชน, พล.ต.อ.สมศักดิ์ แขวงโสภา ฯลฯ

คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 15 คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ อธิการบดี อาทิ ศ.ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์, ดร.สมคิด เลิศไพฑรูย์, ดร.ศุภชัย ยาวะประภาษ, อาจารย์เข็มชัย ชุติวงศ์ ฯลฯ

คณะกรรมการรวม 36 คน เป็นคณะใหญ่พอๆ กับคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ สมัยนายกฯ สุรยุทธ์ ผมก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการฝ่ายตำรวจด้วย

คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ มีหน้าที่และอำนาจตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญดังกล่าว ประธานได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางและข้อเสนอแนะการปฏิรูปตำรวจด้านต่างๆ จำนวน 6 คณะ

คณะอนุกรรมการด้านการบริหารงานบุคคล พล.อ.บุญสร้าง เป็นประธาน  พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ เป็นเลขาฯ, คณะอนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมายและการสอบสวนคดีอาญา นายธานิศ เกศวพิทักษ์ อดีตรองประธานศาลฎีกา เป็นประธาน, คณะอนุกรรมการด้านรับฟังความคิดเห็น พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์  เป็นประธาน พล.ท.เจิดวุธ คราประยูร เป็นเลขาฯ, คณะอนุกรรมการด้านวิชาการ ศ.ดร.ศุภชัย ยาวะประภาษ เป็นประธาน พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย เป็นเลขาฯ,  คณะอนุกรรมการด้านอำนาจหน้าที่ตำรวจ นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร เป็นประธาน พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว เป็นเลขาฯ

คณะอนุกรรมการแต่ละคณะได้นำเสนอผลการดำเนินการให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาร่วมกัน ได้ข้อสรุปดังนี้

ด้านบริหารงานบุคคล เสนอแก้ไขกฎหมาย องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ก.ต.ช. โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก.ต.ช. รองนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธาน ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกจำนวน

4 คน มีอำนาจและหน้าที่กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้น โดยตัดอำนาจ ก.ต.ช.ในการแต่งตั้ง ผบ.ตร.

ส่วน ก.ตร. ให้ ผบ.ตร.เป็นประธาน ก.ตร. มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้ง ผบ.ตร. (เดิมเป็นอำนาจ ก.ต.ช.) กรรมการ ก.ตร.ประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง เลขาธิการ ก.พ. รอง ผบ.ตร. และกรรมการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 6 คน (ตำรวจเลือกตั้ง)

ให้ ก.ตร.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการโยกย้ายตำรวจทุกระดับ เป็นกฎ ก.ตร. ยึดระบบคุณธรรม

ผมเคยทำหน้าที่เลขานุการ ก.ต.ช.เลขานุการ ก.ตร. และเป็น ก.ตร.โดยตำแหน่งอยู่หลายปี ได้ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการด้านการบริหารงานบุคคล

ปัจจุบันกฎหมายที่ใช้อยู่ มีทั้ง ก.ต.ช.และ ก.ตร. มีข้อจำกัดในการดำเนินการต่างๆ หลายประการ ทำให้มีปัญหาทั้งเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายและอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อการบริหารงานตำรวจทั้งหมด

ผมมีความเห็นส่วนตัว ที่ผ่านมา ก.ต.ช.ประชุมเพียงปีละครั้งเท่านั้นเพื่อแต่งตั้ง ผบ.ตร. อำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ให้ ก.ต.ช.พิจารณาดำเนินการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ ฯลฯ ก.ตร.สามารถดำเนินการได้ ควรยกเลิก ก.ต.ช.

ก.ตร.ควรปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ประธาน ก.ตร.ควรแต่งตั้งจากกรรมการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ (แบบ ก.ต.และ ก.อ.) กรรมการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ (ตำรวจเลือกตั้ง) ควรมีจำนวนสัดส่วนมากกว่าหรือเท่ากับกรรมการตำรวจโดยตำแหน่ง เพื่อถ่วงดุล มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้ง ผบ.ตร. และตำรวจระดับผู้บัญชาการขึ้นไป

ให้มี ก.ตร.ระดับกองบัญชาการ โดยแต่งตั้ง ก.ตร.ตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คนเป็นประธาน ส่วนคณะกรรมการอื่น (อดีตตำรวจ) มาจากการเลือกตั้งของตำรวจแต่ละกองบัญชาการ และกรรมการบุคคลภายนอกจำนวนหนึ่ง เพื่อพิจารณาแต่งตั้งตำรวจในสังกัดกองบัญชาการต่างๆ เป็นการกระจายอำนาจ และให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมบริหารงานตำรวจ

ด้านอำนาจหน้าที่ตำรวจและภารกิจตำรวจ เสนอแก้ไขกฎหมายกระจายอำนาจแบบบูรณาการให้กองบัญชาการ ให้มีคณะกรรมการอิสระพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (กอ.ตร.) เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้หน่วยงานอื่นๆ เพื่อลดภาระงานของตำรวจด้านบังคับใช้กฎหมายและการสอบสวนคดีอาญา เสนอแก้ไขกฎหมาย ปรับปรุงโครงสร้างและระบบตำแหน่งของพนักงานสอบสวนทุกระดับ แยกออกจากสายงานอื่น โดยมีเส้นทางเจริญเติบโตอย่างชัดเจน

คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจคณะนี้ ยังมีข้อเสนอแนะอื่นๆ โดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย เช่น ให้การพัฒนาฝึกอบรมตำรวจทุกตำแหน่งต่อเนื่องตลอดเวลารับราชการ จัดตั้งประชาคมและเครือข่ายตำรวจในจังหวัดและชุมชนต่างๆ จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนกิจการรักษาความสงบเรียบร้อย คณะกรรมการติดตามตรวจสอบการบริหารงานตำรวจที่ดีประจำจังหวัด คณะกรรมการส่งเสริมกิจการสถานีตำรวจ

การเพิ่มประสิทธิภาพงานตำรวจ พัฒนาสถานีตำรวจ จัดขนาด SML มีมาตรฐานการปฏิบัติงาน SOP ประเมินผล จัดตั้งสำนักงานยุทธศาสตร์และพัฒนาระบบงานตำรวจ เพิ่มขีดความสามารถนิติวิทยาศาสตร์ ฯลฯ

คณะกรรมการฯ ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ…. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 จำนวน 2 ฉบับ ฉบับแรก เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ก.ต.ช. ก.ตร. การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ฯลฯ จำนวน 25 มาตรา ฉบับที่สอง เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และภารกิจตำรวจ การกระจายอำนาจ  คณะกรรมการอิสระพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (กอ.ตร.) การกำหนดตำแหน่งพนักงานสอบสวน ฯลฯ จำนวน 10 มาตรา เพื่อให้รัฐบาลนำเสนอเข้าสภาพิจารณาต่อไป

นายกฯ ประยุทธ์ได้แต่งตั้งอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน และกรรมการประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ นักกฎหมาย นักวิชาการและตำรวจหลายคน ร่วมพิจารณากลั่นกรองปรับปรุงกฎหมายปฏิรูปตำรวจอีกครั้งเพื่อความรอบคอบ

อาจารย์มีชัย และคณะ ได้ดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติขึ้นใหม่ทั้งฉบับ เมื่อประกาศใช้บังคับ จะยกเลิก พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และ (ฉบับที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม) ทั้งหมด โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญจากข้อเสนอของคณกรรมการปฏิรูปตำรวจที่ พล.อ.บุญสร้าง จัดทำไว้ประกอบกับการปรับปรุงเพิ่มเติมให้สมบรูณ์ยิ่งขึ้น

หลักการกฎหมายฉบับนี้ ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจและการพิจารณาบำเหน็จความชอบ มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้

เหตุผลและความจำเป็นเพื่อให้การบริหารงานบุคคลทั้งหลายของข้าราชการตำรวจเป็นไปตามหลักคุณธรรม มีมาตรการป้องกัน มิให้ผู้ใดใช้อำนาจหรือกระทำโดยมิชอบ และให้ข้าราชการตำรวจประพฤติปฏิบัติตนเหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจ และอยู่ในจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ

เรื่องสำคัญ เช่น คณะกรรมการมีเพียง ก.ตร.คณะเดียว นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการที่ตำรวจเลือกตั้ง มีหน้าที่และอำนาจกำหนดนโยบายและแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ

คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) เพื่อพิจารณาเรื่องอุทธรณ์ ร้องทุกข์ของตำรวจคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) เพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมของประชาชนจากการกระทำหรือไม่กระทำการของข้าราชการตำรวจ

บทเฉพาะกาล ให้พิจารณาดำเนินการโอนย้ายภารกิจตำรวจบางหน่วยที่มิใช่ภารกิจหลักของตำรวจ

ภาพรวมร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจ ฉบับอาจารย์มีชัย มีโครงสร้างคณะกรรมการต่างๆ ก.ตร., ก.พ.ค.ตร., ก.ร.ตร.มีหน้าที่อำนาจ เนื้อหาสาระหลายประการทำนองเดียวกันกับร่างกฎหมายปฏิรูป ฉบับแรก

ข้อแตกต่างสำคัญคือ ร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจฉบับอาจารย์มีชัย ยังคงให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก.ตร.และมีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งโยกย้าย ผบ.ตร. โดยให้เหตุผลสำคัญว่า นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชา กำกับการดูแล รับผิดชอบตำรวจ ต้องเข้ามาดำเนินการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ตั้งแต่แรก

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ….. จำนวน 172 มาตรา เข้าสู่การประชุมร่วมของรัฐสภา ผ่านการพิจารณาในวาระที่ 1 พิจารณารับหลักการแล้ว และได้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม

คณะกรรมาธิการร่วมฯ จำนวน 46 คน มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปฝ่ายรัฐบาลเป็นประธาน, พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ เป็นรองประธาน, นายนพดล เภรีฤกษ์ รองเลาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นเลขานุการ กรรมาธิการร่วม ประกอบด้วย ผู้แทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 34 คน (สัดส่วนมาจากพรรคการเมืองต่างๆ), ผู้แทนสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 14 คน และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล จำนวน 8 คน

มีอดีตตำรวจและตำรวจหลายคน เช่น พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์, พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน, พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ, พล.ต.ท.วิศณุ ม่วงแพรสี,  พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง, พล.ต.ท.สมบัติ มิลินทจินดา, พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย

พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร สมาชิกวุฒิสภา อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล สมญานาม "น.1 บึ่งทุกที่" ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ ในการสืบสวนสอบสวนและการบริหารงานตำรวจ ได้รับการยกย่องชมเชยว่าเป็นตำรวจน้ำดีคนหนึ่ง ตลอดเวลา เป็น สนช.  ส.ว. ได้ขอแปรญัตติ แสดงความคิดเห็นในร่างกฎหมายสำคัญๆ หลายฉบับ

พล.ต.ท.ศานิตย์ เล่าให้ฟังว่า เพื่อน ส.ว. ส.ส. และบุคคลภายนอก สงสัยสอบถาม ทำไมไม่ได้เป็นกรรมาธิการร่วมชุดนี้ด้วย ซึ่ง พล.ต.ท.ศานิตย์ได้ตอบไปว่า ได้ขอเป็นกรรมาธิการร่วมด้วยแล้ว แต่ไม่ได้รับการแต่งตั้ง ทุกคนต่างเสียดายกันหมด

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท.ศานิตย์ได้ใช้สิทธิ์ขอแปรญัตติไว้ถึง 19 มาตรา เพื่อขอปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ ในเรื่ององค์ประกอบ ก.ตร. การแต่งตั้งตำรวจให้เป็นธรรม ฯลฯ

คณะกรรมธิการร่วมฯ ได้ดำเนินนัดหมายประชุม แต่การประชุมช่วงแรกๆ เป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ไม่สามารถนัดหมายประชุมได้อย่างต่อเนื่อง

เรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญคือเรื่อง ก.ต.ช.และ ก.ตร. องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ มีผู้ขอแปรญัตติไว้หลายคน โดยมีความเห็นแตกต่างกัน จะให้มีทั้ง ก.ต.ช.และ ก.ตร. หรือมี ก.ตร.เพียงอย่างเดียว จะมีองค์ประกอบและมีอำนาจหน้าที่อย่างไร และเรื่องการแต่งตั้งตำรวจอย่างเป็นธรรม

คณะกรรมาธิการร่วมฯ ได้แต่งตั้งพล.ต.อ.ชัชวาลย์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการ และอนุกรรมการจำนวนหนึ่งไปพิจารณาเรื่อง ก.ต.ช., ก.ตร. และการแต่งตั้งตำรวจโดยเฉพาะ เพื่อนำข้อพิจารณามาเสนอกรรมาธิการร่วมฯพิจารณาต่อไปอีกครั้ง

คาดว่าคณะกรรมาธิการร่วมฯ จะพิจารณากฎหมายเสร็จสิ้น และนำกฎหมายเข้าสู่การประชุมของรัฐสภาร่วมพิจารณาในวาระที่ 2 และที่ 3 ต่อไปภายในปลายปีนี้

การปฏิรูปตำรวจ กฎหมายตำรวจ ฉบับอาจารย์มีชัย จะสามารถเปลี่ยนแปลงปรับปรุงตำรวจให้ดีขึ้นอย่างที่ประชาชน ตำรวจ คาดหวังไว้หรือไม่ ก็คงต้องดูบทสรุปเมื่อกฎหมายคลอดออกมาใช้บังคับประมาณปีหน้าครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตำรวจนักเก็บกู้ระเบิด (EOD)

สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การก่ออาชญากรรม ก่อวินาศกรรม หรือก่อการร้าย หากคนร้ายใช้วัตถุระเบิดเป็นอาวุธ แรงระเบิด สะเก็ดระเบิดและความร้อน จะเป็นภยันตรายก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สินอย่างร้ายแรงที่สุด

ตำรวจ ศชต.

“ท่ามกลางสถานการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ทรงตัวมานานเกือบ 20 ปี สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ต้องอาศัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น”

ตชด.กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“เศรฐกิจพอเพียงจริงๆ คือหลักการดำเนินชีวิตที่จริงแท้ที่สุดกรอบแนวคิดและปรัชญามุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนาคือ สามารถประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตลอดจนให้ความสำคัญกับคำว่าพอเพียง ที่ประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไข ความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม”

ตำรวจพลร่ม

ตำรวจพลร่มเป็นตำรวจซึ่งมีการฝึกอบรมอย่างหนัก ทำให้ตำรวจหน่วยนี้มีวินัย เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ชื่นชมและยกย่องตลอดมา

หมอนิติเวชตำรวจ

พลตำรวจโทนายแพทย์ประเวศน์ คุ้มภัย อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิต

เครื่องจับเท็จ

มหากาพย์คดีฆาตกรรม น้องชมพู่ เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ สื่อมวลชนให้ความสนใจ