‘ยุทธศาสตร์เม่น’ ของไต้หวัน จะสู้มังกรยักษ์พ่นไฟได้หรือ?

ในแวดวงนักวิเคราะห์ทางทหารของสหรัฐฯ และไต้หวันมีการพูดถึง “กลยุทธ์การตั้งรับแบบเม่น” หรือ Porcupine Defence Strategy ในการเผชิญหน้ากับปักกิ่ง

หากเป็นภาษาชาวบ้านความหมายก็คงจะเป็นการทำตัวแบบเม่น...นั่นคือมีหนามรอบตัวที่คอยป้องกันไม่ให้ศัตรูมาจู่โจมได้

หรือหากฝ่ายตรงกันข้ามคิดจะเข้ามาทำร้ายก็จะถูกหนามแหลมรอบตัวของเม่นสกัดกั้นจนต้องถอยร่นไปเอง

หรือจนกว่าจะมีเพื่อนมาช่วยสู้รบตบมือกับศัตรู

นักวิเคราะห์ทางทหารที่คิดแนวนี้เสนอแนะว่า ไต้หวันควรจะสร้างสิ่งที่เรียกว่า “กลยุทธ์เม่น” เพื่อให้จีนแผ่นดินใหญ่ได้รับรู้ถึงการสร้างความสามารถในการป้องกันตนเองสูงพอที่จะทำให้ “กองทัพปลดแอกประชาชน” ของจีนต้องคิดหนักหากเตรียมจะบุกยึดเกาะไต้หวัน

จุดมุ่งหมายที่สำคัญที่สุดของกลยุทธ์นี้คือการให้การป้องปรามเบื้องต้นต่อการบุกรุก และทำให้การเข้ายึดจากฝ่ายตรงกันข้ามต้องล้มเหลว

ตามมาด้วยการตอบโต้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

กลยุทธ์เม่นหมายถึงกลยุทธ์การป้องกัน “แบบอสมมาตร” (asymmetric defence strategy)     โดยมาตรการป้องกันตนเองนั้นจะทำให้ผู้บุกรุกต้องมีต้นทุนสูงมากจนไม่คุ้มกับการจะรุกราน             

สำหรับผู้ป้องกันตนเองแล้ว กลยุทธ์นี้ต้องใช้วิธีการลงทุนจำนวนมากในด้านความสามารถในการป้องกัน เช่น อาวุธต่อต้านอากาศยาน ต่อต้านเรือรบ และต่อต้านรถถัง

เพื่อสร้างความเสียหายสูงสุดแก่กองกำลังของฝ่ายโจมตี

ตรรกะของแนวคิดนี้คือจะต้องทำให้ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการบุกรุกสูงมากจนผู้รุกรานจะต้องทบทวนว่ามันคุ้มค่าในการสั่งปฏิบัติการทางทหารอย่างจริงจังหรือไม่

หัวใจอยู่ที่การสามารถระงับยับยั้งการโจมตีระลอกแรกของฝ่ายรุกราน

หรือไม่ก็ทำให้การโจมตีนั้นชะงักลง

เพื่อให้สามารถเสริมกำลังของตนหรือรอการเสริมกำลังจากพันธมิตร

นักวิเคราะห์กลุ่มนี้บอกว่าสิงคโปร์ใช้แนวคิดมาเป็นหลักวางยุทธศาสตร์ของตนมาตลอด

แม้ว่าเราจะไม่เคยได้ยินรัฐบาลสิงคโปร์พูดเรื่องนี้อย่างเปิดเผยก็ตาม

แนววิเคราะห์นี้บอกว่า สถานการณ์ของไต้หวันมีความคล้ายคลึงกับสิงคโปร์

นั่นคือไต้หวันเป็นเกาะเล็กๆ ที่มีเพื่อนบ้านขนาดใหญ่ และอาจเป็นศัตรูที่สามารถเอาชนะได้ง่ายในกรณีที่มีการจู่โจม

ดังนั้นคำถามสำคัญคือ กลยุทธ์เม่นจะได้ผลจริงหรือ?

ตามหลักทฤษฎีแล้ว กลยุทธ์ของเม่นจะใช้กับประเทศเล็กที่มีอาวุธขนาดเล็กและมีอาวุธน้อยกว่า แต่ต้องเผชิญกับผู้รุกรานทางทหารที่ใหญ่กว่ามาก

มีผู้เตือนปักกิ่งว่า หากตัดสินใจบุกไต้หวันด้วยกำลังจะคุ้มค่ากับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นด้านการเมืองและชื่อเสียงในเวทีระหว่างประเทศหรือไม่

ความเสี่ยงของสงครามนองเลือด และการล่มสลายของไต้หวันจะทำให้จีนต้องคิดหนักว่าจะใช้กำลังเพื่อบรรลุเป้าหมายการรวมชาติจริงหรือ

และจะคุ้มค่ากับความเสี่ยงแค่ไหน

ดังนั้นกลยุทธ์ของเม่นจึงเป็นไปตามเกณฑ์หลักของการบุกรุกที่มีค่าใช้จ่ายสูงเกินไปสำหรับผู้บุกรุก

แต่หากเกิดกรณีการบุกรุกจริง “ยุทธศาสตร์เม่น” คือความสามารถของไต้หวันในการขับไล่กองกำลังรุกรานขั้นต้นเพื่อรอการเสริมกำลังจากพันธมิตร

แต่สหรัฐฯ ก็ไม่เคยให้คำมั่นว่าจะส่งกำลังมาสู้กับจีนหากปักกิ่งบุกไต้หวัน

กฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์กับไต้หวันของสหรัฐฯ เขียนไว้ “คลุมเครืออย่างจงใจ” เพื่อไม่ผูกมัดว่าวอชิงตันจะต้องส่งทหารมาช่วยรบจริงๆ

แต่ในฉากทัศน์ที่อเมริกาจะเข้ามาช่วยจริง “กลยุทธ์ของเม่น” ก็จะพยายามสร้างความเสียหายและการบาดเจ็บล้มตายในกองกำลังที่บุกรุกมากที่สุด

แต่ในเมื่อไต้หวันไม่อาจจะหวังพึ่งการแทรกแซงของสหรัฐฯ ได้แน่นอน นโยบายนี้จึงขึ้นอยู่กับปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของไต้หวันอย่างมาก

และความสามารถของรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในการโน้มน้าวใจประชากรของกลยุทธ์การเสียสละเหมือนที่กำลังถูดทดสอบในยูเครน

แต่เอาเข้าจริงๆ เมื่อไต้หวันไม่อาจจะเชื่อได้ว่าสหรัฐฯ จะมาช่วยตัวเองรบกับจีนในกรณีมีการโจมตีจากแผ่นดินใหญ่ แนวคิดเรื่อง “กลยุทธ์เม่น” ก็อาจจะเป็นเพียงทฤษฎีบนกระดาษเท่านั้น

ในทางปฏิบัติแล้ว ไต้หวันเองคงจะสร้างระบบป้องกันตัวเองแบบ “เม่น” เพราะความจำเป็นอยู่แล้ว

ส่วนตัวเม่นจะสู้กับมังกรพ่นไฟได้อย่างไร เป็นคำถามใหญ่ที่ผู้นำไต้หวันจะต้องใคร่ครวญพิจารณา

และสหรัฐฯ เองก็จะต้องถามตัวเองว่า หากส่งเสริมให้ไต้หวันทำตัวเป็น “เม่น” แล้ว อินทรียักษ์จะมาช่วยเม่นสู้กับมังกรหรือไม่อย่างไร

นั่นก็เป็นปริศนาใหญ่ที่ชวนคิด

ท่ามกลางความตึงเครียดเพิ่มขึ้นทุกวัน ณ บริเวณช่องแคบไต้หวันและเพื่อนบ้านแถบนั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งบมะกันก้อนใหม่จะช่วยยูเครน พลิกสถานการณ์สู้รบได้แค่ไหน?

แม้ว่ารัฐสภาสหรัฐฯจะเปิดไฟเขียวให้งบประมาณช่วยเหลือทางทหารก้อนใหม่ แต่ยูเครนก็ยังต้องดิ้นรนไม่ให้แพ้สงครามกับรัสเซีย

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร