ทิศทาง'ซอฟต์เพาเวอร์'ไทย

อย่างที่ทราบกันดีว่า 'ซอฟต์เพาเวอร์' หรือพลังอ่อน สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน รวมถึงยังดึงดูดเม็ดเงินเข้ามาในประเทศอย่างมหาศาล เห็นตัวอย่างได้ชัดจากประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงจีน ที่มีการส่งเสริมการสร้าง 'ซอฟต์เพาเวอร์' อย่างจริงจัง

ขณะที่ไทยเองก็เริ่มเห็นถึงกระบวนการนำ 'ซอฟต์เพาเวอร์' มาเป็นตัวเสริมสำหรับการสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยล่าสุดทางรัฐบาลก็เพิ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้วย Soft Power ขึ้นมา ซึ่งกรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่วางกรอบการทำงาน และสร้างยุทธศาสตร์การส่งเสริมเรื่องของซอฟต์เพาเวอร์แบบไทยๆ

ซึ่งก็โชคดีที่ไทยเราได้ความเก่งกาจและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่เปรียบเสมือนพื้นฐานที่ดีและสร้างความนิยมจากต่างประเทศอยู่แล้ว นั่นก็คือ ซอฟต์เพาเวอร์ในส่วนของศิลปะและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น อาหารไทย มวยไทย แพทย์แผนไทย ซึ่งในปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ก็มีชื่อเสียงในตัวของมันอยู่แล้ว แต่ต่อจากนี้มันอาจจะถูกยกระดับเพิ่มเติมเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ต่อไป

และเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ “CEA” ซึ่งจะเป็นหนึ่งในองค์กรที่จะช่วยผลักดันซอฟต์เพาเวอร์ของไทยให้ออกไปตีตลาดโลก ในฐานะที่เป็นหนึ่งในกรรมการและเลขานุการร่วมของบอร์ดซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ ก็ได้แชร์มุมมองสำคัญสำหรับการสร้างซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศ

โดยชาคริตระบุว่า ในบทบาทของ CEA มีแนวคิดที่จะผลักดันอุตสาหกรรมคอนเทนต์ ซึ่งก็จะประกอบไปด้วย ดนตรี ภาพยนตร์ ละครซีรีส์ต่างๆ เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน ในการสร้างกระแสซอฟต์เพาเวอร์ของไทย โดยเป้าหมายของการผลักดันอุตสาหกรรมนี้ไม่ได้อยู่ที่เงินหรือว่ายอดขายจากการขายคอนเทนต์ แต่มองว่าอุตสาหกรรมคอนเทนต์จะเป็นอุตสาหกรรมที่นำพา ซอฟต์เพาเวอร์ที่อยู่ในเนื้อหานั้นมาสร้างภาพลักษณ์ หรือการโฆษณาประเทศมากกว่า

"ผมมองว่าอุตสาหกรรมคอนเทนต์จะเปรียบเสมือนตัวกลางที่จะนำพาเนื้อหาหลักที่เป็นซอฟต์เพาเวอร์ ที่ประเทศไทยต้องการจะสื่อออกไปเพื่อโปรโมตให้คนกลับมาบริโภคสินค้าหรือบริการต่างๆ มากมายที่ซ่อนไว้ในนั้น" 

จากเป้าหมายดังกล่าว ทำให้ CEA จำเป็นต้องสร้างอุตสาหกรรมคอนเทนต์ของไทยให้แข็งแกร่งขึ้น และมีความสากลมากขึ้น ซึ่งคุณชาคริตเล่าว่า หลังจากที่ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการที่ผลิตคอนเทนต์ส่งออก พบว่าไทยมีจุดอ่อนเกี่ยวกับเรื่องของบุคลากรที่ทำหน้าที่โปรดิวเซอร์และนักเขียนบท ที่มีน้อยและยังไม่เก่งพอ ดังนั้นทาง CEA ก็เห็นว่าควรจะสร้างบุคลากรส่วนนี้ก่อน จึงนำไปสู่การผลักดันโครงการคอนเทนต์แล็บขึ้นมา ซึ่งจะเป็นการบ่มเพาะโปรดิวเซอร์และนักเขียนบทในเชิงลึก โดยทาง CEA ไม่ได้ทำเพียงหน่วยงานเดียว แต่จะมีการร่วมกันทำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จึงมีการจับมือกับ NetFlix ประเทศไทย, บีอีซี สตูดิโอ, ผู้ผลิตหนังอย่างจีดีเอช รวมถึงหน่วยงานราชการอย่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)

ทั้งนี้ มองว่าหากทำให้อุตสาหกรรมคอนเทนต์ของไทยเข้มแข็ง การต่อยอดในเรื่องของการผลักดันซอฟต์เพาเวอร์ต่างๆ ก็จะเป็นเรื่องง่ายขึ้น แต่ที่สำคัญ ก็จะต้องติดตามภาคใหญ่ที่เป็นยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศด้วยว่าจะเน้นการส่งเสริมในด้านไหนกันแน่

แต่ ณ จุดนี้ก็ถือว่าไทยเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และกำลังจะคิกออฟโครงการใหม่ๆ มากมายเพื่อนำซอฟต์เพาเวอร์ไทยตีตลาดโลกต่อไป.

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

“หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท

เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหนต่อ

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเวลานี้เหมือนคนป่วยโรคเรื้อรัง ที่อาการแค่ดีขึ้นเล็กน้อย แต่รักษายังไม่หายขาด ส่งผลให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ยังคงติดๆ ขัดๆ นับตั้งแต่ผ่านพ้นจากวิกฤตโควิดมากว่า 2 ปี

ไทยจะเป็นฮับเอทานอล

ประเทศไทยหลังจากที่ผลัดเปลี่ยนรัฐบาลชุดนี้ ก็ตั้งเป้าการทำงานที่หลากหลายและแปลกตามากขึ้น แน่นอนว่าหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล

เดินให้สุดทำอย่างจริงจัง

ปัจจุบันพบปัญหาถังก๊าซหุงต้มในท้องตลาดเสื่อมสภาพและหมดอายุตกค้างอยู่ในระบบจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการลักลอบนำถังก๊าซหุงต้มมาเติมในสถานีบริการ LPG เป็นระยะ ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว

ดันสงกรานต์ไทยสู่เทศกาลโลก

หลังจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงมหาดไทย จับมือจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567”