
เป็นเรื่องทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตาม หลังผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่องชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา และตัวเลขประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า สูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่เคยตกลงกันไว้
เดิมกระทรวงการคลังและ ธปท.ตกลงกันไว้ว่าจะดูแลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัวในช่วง 1-3% ซึ่งจะเกณฑ์ที่อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ แต่จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2564 - กันยายน 2565) อยู่ที่ 5.23% สูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายที่วางไว้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า (ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ถึงไตรมาสที่ 3 ปี 2566) ที่ ธปท.ได้ประเมินล่าสุดจะอยู่ที่ 3.9% ซึ่งสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายเช่นกัน
ดังนั้นทาง ธปท.จึงจำเป็นต้องชี้แจงสถานการณ์เงินเฟ้อใหม่หมดต่อกระทรวงการคลัง และได้ให้รายละเอียดใน 3 ประเด็นคือ 1.ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยสูงกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน 2.ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และ 3.การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม
ซึ่งสามารถสรุปคร่าวๆ ได้ดังนี้ 1.ในส่วนปัจจัยทำให้เงินเฟ้อพุ่ง เกิดมาจากแรงกดดันด้านอุปทาน (Cost-Push Inflation) เกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกปรับสูงขึ้นมาก และมีผลต่อเนื่องให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ก๊าซหุงต้มและค่าไฟฟ้าปรับขึ้นตามไปด้วย และยังเสริมจากปัจจัยด้านอุปทานในประเทศ (Domestic Supply Shocks) ที่เกิดจากโรคระบาดในสุกร ทำให้ราคาเนื้อสุกรเพิ่มขึ้นมากตามอุปทานที่ลดลง ขณะที่ราคาอาหารสดหมวดอื่นๆ ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนราคาอาหารสัตว์และปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้น
สำหรับประเด็นที่ 2 เรื่องการคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย โดย ธปท.ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในระดับสูงสุดในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 และมีแนวโน้มทยอยลดลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566
และประเด็นสุดท้าย เรื่องแนวทางในการแก้ไขเงินเฟ้อ ทาง ธปท.ระบุว่า จะดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งก็คือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะดูแลให้เกิดความสมดุล ทั้งการคุมเงินเฟ้อ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
แต่ประเด็นสำคัญที่ ธปท.แสดงความเป็นห่วงมากที่สุด คงหนีไม่พ้น ภาระหนี้สินของประชาชน ที่จะได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในช่วงขาขึ้น ซึ่งก็มีแนวคิดที่จะสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว
ล่าสุดทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้มีการเผยแพร่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) สำหรับเดือน ก.ย.และ 3 เดือนข้างหน้า พบว่าตัวเลขอยู่ในระดับที่ทรงตัวอยู่ที่ 33.9 และ 35.2 แต่ก็ยังถือว่ามีความเปราะบาง โดยสถานการณ์ราคาพลังงานที่เริ่มทรงตัว ส่งผลให้ครัวเรือนมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อระดับราคาสินค้าในหลายหมวด ยกเว้นในส่วนของอาหารและเครื่องดื่มที่ครัวเรือนกลับมามีความกังวลเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้สถานการณ์ฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ และสร้างความเสียหายแก่พื้นที่เกษตรต่างๆ ยังส่งผลให้ครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์รายได้และการจ้างงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นหลังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ทั้งนี้ จากการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม พบว่า ครัวเรือนร้อยละ 19.2 มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 5,000 บาท (ผลสำรวจจัดทำขึ้นในช่วง 21-27 ก.ย.65).
ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จับตาทิศทางดอกเบี้ยไทย
เสถียรภาพทางการเงินโลกขณะนี้ถือว่าอยู่ในจุดสุ่มเสี่ยง หลังจากเริ่มเห็นสถาบันการเงินหลายแห่งเข้าสู่ภาวะล้มละลายและต้องปิดตัวลง ไล่มาตั้งแต่สหรัฐอเมริกาจนถึงยุโรป
“ตลาดรถยนต์ไทย”ช่วงเปลี่ยนผ่าน
ประเทศไทย ถือเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาตลาดรถยนต์ทั้งในและต่างประเทศก็เริ่มมีทิศทางการฟื้นตัวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
จัดทัพกำชับนโยบายอุตสาหกรรม
จากการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านมาหลายเดือนก็เริ่มเห็นนโยบายที่ชัดเจนขึ้น และการบูรณาการการทำงานของหลายๆ หน่วยงานไปพร้อมๆ กัน จากสิ่งแรกที่เห็นคือการปรับปรุงนโยบายของกระทรวงภายใต้คำว่า MIND “ใช้หัวและใจ” ทำงาน โดยแบ่งเป็น 4 มิติ ได้แก่
ปีนี้ได้ใช้แน่รถไฟฟ้าสายใหม่
จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ หลายสายทาง โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง และสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี
ป้องกันกลโกง“แอดมินปลอม”ให้อยู่หมัด
คงต้องยอมรับว่าเหล่ามิจฉาชีพบนโลกออนไลน์นับวันนั้นยิ่งแพร่ระบาดไปทั่วทุกแพลตฟอร์ม เรียกได้ว่าคนอยู่ที่ไหน
ลดค่าก๊าซ-ค่าไฟ ไม่ต้องรอพรรคไหนทั้งนั้น
ทุกครั้งที่จะมีการเลือกตั้ง จะได้เห็นนโยบายหาเสียงของบรรดาพรรคการเมือง ให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำสิ่งนั้น ทำเรื่องนี้ให้ทันที