แนวคิดของหลี่ เค่อเฉียง ต่ออาเซียน ก่อนก้าวลงจากตำแหน่งนายกฯ จีน

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และการตั้งวงสนทนากับ “คู่เจรจา” ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา ในช่วงวันที่ 12-13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีหลายแง่มุมที่ควรจะย้อนกลับไปอ่านทำความเข้าใจ

โดยเฉพาะท่าทีลีลาของมหาอำนาจ เช่น สหรัฐฯ และจีนต่ออาเซียน

สังเกตได้ว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน ต่างก็แสดงความมุ่งมั่นที่จะแสดงความเป็นมิตรและหุ้นส่วนกับอาเซียนอย่างชัดเจน

สะท้อนถึงการที่มหาอำนาจทั้ง 2 แข่งกันสานประโยชน์กับอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม

เพราะจะว่าไปแล้ว อาเซียนวันนี้เป็นกลุ่มก้อนของประเทศในเอเชียที่มีเสถียรภาพมากที่สุด

อีกทั้งยังเป็นกลุ่มประเทศที่ไม่มีความขัดแย้งโดยตรงกับมหาอำนาจใด

และพร้อมจะเสนอตัวเป็นสะพานเพื่อเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ที่มีความขัดแย้งกันอยู่

แม้ว่าอาเซียนเองจะมีปัญหาของความเป็นเอกภาพในหลายๆ ประเด็นระดับโลก และยังต้องหาทางออกจากวิกฤตพม่าอย่างเป็นรูปธรรม แต่ในภาพรวมแล้วอาเซียนก็ยังมี “เสน่ห์” ของความเป็นกลไกภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคนี้อย่างปฏิเสธไม่ได้

ผมสนใจคำกล่าวของนายกฯ หลี่ เค่อเฉียง ของจีนต่ออาเซียนในประเด็นต่างๆ ที่สะท้อนถึงความคาดหวังและแนวทางของจีนต่อกลุ่มประเทศนี้

จึงขอนำเอาคำปราศรัยของนายกฯ จีนที่สถานทูตจีนประจำประเทศไทยได้ถอดความเป็นภาษาไทยบันทึกไว้เป็นหลักฐานเพื่อการวิเคราะห์จุดยืนของปักกิ่งต่ออาเซียน

และเพื่อนำไปเปรียบเทียบกับท่าทีของสหรัฐฯ ต่ออาเซียนในโอกาสต่อไป

เนื้อหาของคำปราศรัยวันนั้นบอกว่าอย่างนี้

เช้าวันที่ 13 พฤศจิกายน 2565 ตามเวลาท้องถิ่น นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 17 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง กล่าวว่า สถานการณ์ระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคในปัจจุบันมีความซับซ้อน ความท้าทายที่เกิดจากความเสี่ยงด้านพลังงาน อาหาร และการเงินเกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง

ในเวลาเดียวกัน ภูมิภาคนี้ยังคงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพโดยภาพรวม และการบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคก็ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคง เสียงเรียกร้องสันติภาพและการพัฒนาของประชาชนในภูมิภาคมีความเข้มแข็งมากขึ้น ดังนั้นประเทศต่างๆ ในภูมิภาคควรเคารพซึ่งกันและกัน กระชับความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับความเสี่ยงและความท้าทาย                     นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง เสนอข้อเสนอ 3 ข้อ ดังนี้

ประการแรก ยึดมั่นในหลักการประสานยุทธศาสตร์และดำเนินการปฏิสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ ในฐานะเป็นฟอรัมเชิงยุทธศาสตร์ที่นำโดยผู้นำ

การประชุมสุดยอดควรกลายเป็นเวทีสำหรับการเจรจาพูดคุย และมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการเจรจาและการปรึกษาหารือระหว่างประเทศในภูมิภาค เพิ่มเพิ่มพูนความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และจัดการกับความแตกต่างอย่างเหมาะสม ไม่ควรสร้างความแตกแยกและไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเดินไปสู่การปะทะกัน จีนยินดีที่จะทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการขยายและกระชับความร่วมมือเชิงปฏิบัติที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และร่วมกันทำให้รากฐานแห่งสันติภาพและเสถียรภาพที่ยั่งยืนในเอเชียตะวันออกให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

ประการที่สองคือ การยึดมั่นในความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ร่วมกัน และร่วมมือกับความเสี่ยงและความท้าทาย ยึดมั่นในทิศทางที่ถูกต้องของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ยึดมั่นการเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน ดำเนินการตามข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมระดับภูมิภาค รักษาความปลอดภัย ความมั่นคง และความราบรื่นของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน และส่งเสริมกระบวนการรวมกลุ่มเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง รักษาความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร ร่วมกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยา และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาค

ประการที่สามคือ การยึดมั่นในหลักการส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนและสร้างกรอบระดับภูมิภาคที่ครอบคลุม กรอบความร่วมมือเอเชียตะวันออกที่นำโดยอาเซียนครอบคลุมผลประโยชน์ของทุกฝ่าย และสอดคล้องกับความเป็นจริงในภูมิภาค

กรอบนี้สามารถปรับให้เหมาะสมและปรับปรุงอย่างต่อเนื่องตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ แต่ศูนย์กลางของอาเซียนซึ่งเป็นฐานรากจะไม่สั่นคลอน ทุกฝ่ายควรสนับสนุนบทบาทผู้นำของอาเซียนในความร่วมมือในเอเชียตะวันออก จีนสนับสนุนการธำรงไว้ซึ่งเอกภาพและความร่วมมือของอาเซียน และประชาคมระหว่างประเทศควรสร้างสภาพแวดล้อมภายนอกที่เอื้ออำนวยสำหรับสิ่งนี้ด้วย

นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง กล่าวว่า การปกป้องเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย ในฐานะผู้ค้าสินค้ารายใหญ่ที่สุด 60% ของการค้าของจีนผ่านทะเลจีนใต้ จีนมีจุดยืนชัดเจนว่าจะรักษาสันติภาพ เสถียรภาพของทะเลจีนใต้ และเส้นทางการเดินเรือที่ปราศจากสิ่งกีดขวางในทะเลจีนใต้ จีนยินดีที่จะเร่งผลักดันการหารือ "จรรยาบรรณในทะเลจีนใต้" (COC) โดยเร็วตามจิตวิญญาณของประกาศจรรยาบรรณในทะเลจีนใต้ (DOC) ที่ลงนามไปแล้ว ซึ่งมีผลบังคับใช้ 20 ปี      และหลักการกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรวมไปถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล สนับสนุนประเทศในภูมิภาคในการสร้างทะเลจีนใต้ให้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ มิตรภาพ และความร่วมมือ   

นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง เน้นย้ำว่าความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาของการปฏิรูปและการเปิดประเทศนั้นได้รับประโยชน์จากสภาพแวดล้อมภายนอกที่สงบสุข และสภาพแวดล้อมในภูมิภาคที่มีเสถียรภาพ ซึ่งสอดคล้องกับผลประโยชน์หลักของจีน จีนดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่ยึดมั่นในหลักการสันติภาพ อิสรภาพอย่างแน่วแน่ ยึดมั่นในวิถีแห่งการพัฒนาอย่างสันติ ดำเนินยุทธศาสตร์การเปิดประเทศที่เอื้อประโยชน์ร่วมกันอย่างแน่วแน่ สร้างโอกาสสำหรับการพัฒนาของทุกประเทศในโลกผ่านการพัฒนาของจีนเอง จีนยินดีที่จะเสริมสร้างการเจรจาและความร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันสร้างบ้านสวนที่สวยงามของเอเชียตะวันออก และร่วมกันรักษาสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของโลก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้