
ส่งเสียงร้องระงมกันไปหมดสำหรับภาคเอกชน ที่ล่าสุดกำลังจะต้องเผชิญกับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากค่าใช้ไฟฟ้า
หลังจากที่ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. มีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ประจำงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 อยู่ที่อัตรา 190.44 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทเอกชน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม การค้า การเกษตร การบริการทั้งหมด ทั้งกิจการขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ โรงแรม กิจการไม่แสวงหากำไร สูบน้ำเพื่อการเกษตร ไฟฟ้าชั่วคราวระหว่างก่อสร้าง ก็จะถูกเรียกเก็บค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 5.69 บาทต่อหน่วย
โดยเหตุผลในการขึ้นค่าไฟในครั้งนี้ ทาง กกพ.ให้เหตุผลว่ามาจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้ามาทดแทนการลดลงของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและก๊าซธรรมชาติในสหภาพเมียนมา และภาระการทยอยจ่ายคืนหนี้เอฟทีให้ กฟผ. โดยส่วนนี้ให้ใช้ราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool Gas ส่วนเหลือ) ในราคา 542 บาทต่อล้านบีทียู ทดแทนราคาก๊าซธรรมชาติเดิม
แน่นอนหลังมีมติดังกล่าวออกมาก็มีเสียงร้องจากภาคเอกชนว่า การปรับขึ้นค่าเอฟทีในครั้งนี้ส่งผลรุนแรงเกินไป โดยในส่วนของนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การขึ้นค่าเอฟทีในครั้งนี้จะกดดันให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าโดยเฉลี่ยราว 5-12% ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ รวมถึงการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ที่กำลังย้ายฐานท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย โดยเฉพาะคู่แข่งจากเวียดนามที่ค่าไฟเพียง 2.88 บาท/หน่วย ทำให้ความสามารถในการดึงดูดนักลงทุนลดลงไปอีก
อย่างไรก็ดีมีหลายคนยังคงไม่รู้ว่าค่าไฟฟ้าของไทยสูง ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตอย่างไร ล่าสุดสำนักวิจัย Krungthai COMPASS ก็มีการคำนวณชัดเจนว่า ค่าไฟฟ้าเอกชนที่จะถูกเรียกเก็บที่ราคาเฉลี่ย 5.57 บาท/หน่วยไฟฟ้า จะส่งผลต่ออัตรากำไรสุทธิของอุตสาหกรรมการผลิตในภาพรวม คาดลดลงราว 0.03% โดยทุก 1% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าอย่างเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมผลิตเคมีภัณฑ์ ซึ่งประเมินว่าอัตรากำไรของผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะลดลงราว 0.04%-0.14% หากค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 1%
ซึ่งแนวโน้มทิศทางค่าไฟยังคงเป็นขาขึ้น ทางกรุงไทยก็มีข้อแนะนำว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตจึงควรปรับตัว เพื่อลดผลกระทบจากค่าไฟฟ้า ดังนี้ 1.ควรติดตั้ง Capacitor Bank ในระบบจ่ายไฟฟ้าของหม้อแปลง ซึ่งช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าถึง 46% 2.ควรติดตั้ง Solar Cell ที่มีกำลังการผลิตเท่ากับปริมาณใช้ไฟฟ้าทั้งหมด และติดแบตเตอรี่ Lithium (ESS) เพราะ ESS ช่วยกักเก็บไฟฟ้าส่วนเกินในช่วงเวลาที่มีความเข้มแสงเพียงพอเพื่อใช้ในช่วงเวลาอื่น จึงทำให้ได้รับผลประโยชน์จากการติดตั้ง Solar Cell มากที่สุด
ขณะเดียวกันในส่วนของภาคการเมืองเอง ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยก็มีการเสนอในการตรึงค่าไฟฟ้าออกไปก่อน โดยเชื่อว่าหลังฤดูหนาวและภาวะเศรษฐกิจถดถอยน่าจะทำให้ราคาพลังงานลดลง และข้อต่อมาคือ เสนอให้รัฐบาลต้องเข้าไปเจรจาหาข้อยุติในกรณีพิพาทเรื่องการส่งมอบสัมปทานในพื้นที่อ่าวไทย เพื่อให้การนำก๊าซขึ้นมาใช้ผลิตไฟฟ้าไม่หยุดชะงัก ข้อเสนอที่ 3 คือเจรจาลดค่าความพร้อมของโรงไฟฟ้าที่สร้างเสร็จแล้ว แต่ไม่ได้จ่ายไฟฟ้า เพราะมีกำลังผลิตเกินความต้องการมาก 4.หยุดการให้ใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าทุกชนิด จนกว่าความต้องการไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น และ 5.เร่งเจรจาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา เพื่อนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง
ทั้งหมดทั้งมวลนี่คือเรื่องค่าไฟฟ้า ที่ภาคเอกชนจำเป็นต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้.
ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จัดทัพกำชับนโยบายอุตสาหกรรม
จากการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านมาหลายเดือนก็เริ่มเห็นนโยบายที่ชัดเจนขึ้น และการบูรณาการการทำงานของหลายๆ หน่วยงานไปพร้อมๆ กัน จากสิ่งแรกที่เห็นคือการปรับปรุงนโยบายของกระทรวงภายใต้คำว่า MIND “ใช้หัวและใจ” ทำงาน โดยแบ่งเป็น 4 มิติ ได้แก่
ปีนี้ได้ใช้แน่รถไฟฟ้าสายใหม่
จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ หลายสายทาง โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง และสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี
ป้องกันกลโกง“แอดมินปลอม”ให้อยู่หมัด
คงต้องยอมรับว่าเหล่ามิจฉาชีพบนโลกออนไลน์นับวันนั้นยิ่งแพร่ระบาดไปทั่วทุกแพลตฟอร์ม เรียกได้ว่าคนอยู่ที่ไหน
ลดค่าก๊าซ-ค่าไฟ ไม่ต้องรอพรรคไหนทั้งนั้น
ทุกครั้งที่จะมีการเลือกตั้ง จะได้เห็นนโยบายหาเสียงของบรรดาพรรคการเมือง ให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำสิ่งนั้น ทำเรื่องนี้ให้ทันที
เมื่อเศรษฐกิจไทยมองเห็นแสงสว่าง
มีข่าวดีสำหรับคนไทยและเศรษฐกิจไทย เมื่อทางกระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ออกมาแถลงข่าวถึง ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) ในเดือน ก.พ.2566 ซึ่งพบว่ามีตัวเลขอยู่ที่ 108.05 เทียบกับ ม.ค.2566 ลดลง 0.12% และเมื่อเทียบกับ เดือน ก.พ.2565 เพิ่มขึ้น 3.79% ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน
“ธุรกิจขนส่งพัสดุ”ยังโตแรง
“โควิด-19” ถือเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป นอกเหนือจากเทคโนโลยีในทุกมิติ