เมื่อเศรษฐกิจไทยมองเห็นแสงสว่าง

มีข่าวดีสำหรับคนไทยและเศรษฐกิจไทย เมื่อทางกระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ออกมาแถลงข่าวถึง ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) ในเดือน ก.พ.2566 ซึ่งพบว่ามีตัวเลขอยู่ที่ 108.05 เทียบกับ ม.ค.2566 ลดลง 0.12% และเมื่อเทียบกับ เดือน ก.พ.2565 เพิ่มขึ้น 3.79% ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน

 โดยปัจจัยหลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของบ้านเราปรับตัวลดลง มีสาเหตุสำคัญมาจากการชะลอตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง อาหารบางประเภท โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปและอาหารสด ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อปี 2565 อยู่ในระดับสูง มีส่วนทำให้เงินเฟ้อไม่ขยายตัวมากนัก และเงินเฟ้อเฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) เพิ่มขึ้น 4.40%

พร้อมกันนี้ทางกระทรวงพาณิชย์ยังมีการคาดการณ์แนวโน้มเงินเฟ้อเดือน มี.ค.2566 คาดว่าจะชะลอตัวลงตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดหลายรายการที่คาดว่าจะลดลงต่อเนื่อง และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมา

 ขณะเดียวกัน มุมมองของนายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ประเมินว่า เงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ และกำลังเข้าสู่ช่วงขาลงชัดเจน น่าจะเห็นชัดในช่วงกลางปีถึงปลายปี โดยเงินเฟ้อตั้งแต่เดือน ต.ค.2566 อาจใกล้กับ 0% หรืออาจจะติดลบก็ได้ ถ้าช่วงนั้น น้ำมันยังลดลง แต่ถ้าน้ำมันขึ้น เงินเฟ้อก็ไม่ลด ส่วนเงินเฟ้อทั้งปี ขณะนี้ยังคงเป้า 2-3% แต่จะมีการพิจารณาปรับเป้าและสมมติฐานใหม่ หลังได้ตัวเลขไตรมาสแรกแล้ว โดยแนวโน้มน่าจะลดลง หรือกรอบแคบขึ้น หรือปรับค่ากลางลดลง

แน่นอน การประกาศตัวเลขดังกล่าวนั้นย่อมส่งผลบวกหลายประการ อันดันแรกคือ เรื่องของ ราคาสินค้าและค่าครองชีพมีแนวโน้มจะคงที่และถูกลง ย่อมส่งผลดีต่อการจับจ่ายของประชาชนที่มากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในอีกทางหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีการใช้เงินเพิ่มขึ้น การผลิตก็ย่อมมากขึ้น การจ้างงานก็ดีขึ้น ถือเป็นห่วงโซ่ที่เกื้อหนุนกัน

และที่สำคัญเงินเฟ้อมีสัญญาณที่ลดลง ก็จะส่งผลตรงต่อการประเมินเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารด้วย ล่าสุด ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ก็ประเมินว่า อย่างน้อยในปีนี้ทาง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งติดต่อกัน ในการประชุมเดือน มี.ค. และเดือน พ.ค. โดยคาดว่าระดับราคาสินค้าจะยังปรับขึ้นตามต้นทุนที่สูงและทยอยเพิ่มต่อเนื่อง เช่น การปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มในเดือน มี.ค. ขณะที่การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอาจส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้ สะท้อนจากราคาสินค้าในเดือน ก.พ. ที่ปรับเพิ่มขึ้น เช่น หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า และหมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา เป็นต้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีมุมมองที่ยังไม่ตรงกัน ในเรื่องของทิศทางเงินเฟ้อในอนาคต แต่สำหรับตัวเลขของเดือน ก.พ.ที่ออกมา ถือเป็นสัญญาณบวกที่ชัดเจนต่อเศรษฐกิจไทย และในช่วงไตรมาสที่ 2 ยังมีเรื่องดี อย่างการจัดการเลือกตั้งทั่วไปปี 66 เพื่อหารัฐบาลใหม่บริหารประเทศ ซึ่งในช่วงนี้จะทำให้มีเม็ดเงินในช่วงการหาเสียงลงมาในระบบเศรษฐกิจอีกจำนวนหนึ่งเลยทีเดียว และทั้งหมดก็จะส่งผลดีด้วย

 ดังนั้นการที่อัตราเงินเฟ้อที่เคยเป็นอุปสรรคสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น ย่อมทำให้คาดหวังได้ว่า ประชาชนคนไทยจะสามารถลืมตาอ้าปากได้เสียที หลังต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจมากมาย นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 และการทำสงครามระหว่างรัสเชียและ ยูเครน ซึ่งเป็นตัวฉุดภาวะเศรษฐกิจมาตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา.

 

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

“หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท

เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหนต่อ

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเวลานี้เหมือนคนป่วยโรคเรื้อรัง ที่อาการแค่ดีขึ้นเล็กน้อย แต่รักษายังไม่หายขาด ส่งผลให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ยังคงติดๆ ขัดๆ นับตั้งแต่ผ่านพ้นจากวิกฤตโควิดมากว่า 2 ปี

ไทยจะเป็นฮับเอทานอล

ประเทศไทยหลังจากที่ผลัดเปลี่ยนรัฐบาลชุดนี้ ก็ตั้งเป้าการทำงานที่หลากหลายและแปลกตามากขึ้น แน่นอนว่าหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล