พิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน

หลายท่านอาจไม่ทราบว่า ตำรวจมีพิพิธภัณฑ์ และ พิพิธภัณฑ์ตำรวจ ตั้งอยู่ในโบราณสถานที่สำคัญคือ ตำหนักจิตรลดา วังปารุสกวัน ที่มีความสวยงาม และมีประวัติศาสตร์เรื่องราวที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

พิพิธภัณฑ์ เป็นสถานที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งต่างๆ ที่มีความสำคัญด้านวัฒนธรรมหรือด้านวิทยาศาสตร์ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา ก่อให้เกิดความเพลิดเพลินใจ หากเราไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เราจะก้าวหน้าไปได้อย่างไร

วังปารุสกวัน เป็นชื่อสวนของพระอินทร์สวนหนึ่งในสี่สวน ได้แก่ นันทวัน ปารุสกวัน จิตรลดาวัน และมิสกวัน เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 33 ไร่เศษ ตั้งอยู่ในเขตพระราชวังดุสิต ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร

เมื่อปี พ.ศ.2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระสถิตย์นิมานกร เจ้ากรมโยธาธิการ สร้างตำหนักสวนจิตรลดา (ชื่อเดิม) ในวังปารุสกวัน เพื่อเป็นที่ประทับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ต่อมาได้ยกให้สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ พระอนุชาธิราช

ตำหนักจิตรลดา เป็นอาคารสูง 2 ชั้น รูปแบบอาร์ต นูโว แบบอิตาลี ศิลปะสมัยใหม่ที่นิยมช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ 20 ผู้ออกแบบคือ นายมาริโอ ตามาญโญ นายช่างเอกแห่งกรมโยธาธิการ ก่อสร้างเสร็จปี พ.ศ.2449
               เป็นอาคารที่มีสถาปัตยกรรมสวยงาม ทั้งภายนอกและภายใน ประดับตกแต่งด้วยลายปูนปั้นและลายฉลุไม้

วังปารุสกวัน หรือชื่อย่อวังปารุสก์ มีเรื่องราวอันเป็นประวัติศาสตร์ที่สนใจอย่างยิ่ง ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราช จนถึงสมัยประชาธิปไตย

พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรสพระองค์เดียวในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าภูวนารถได้ทรงนิพนธ์หนังสือชื่อ เกิดวังปารุสก์ เป็นหนังสืออัตชีวประวัติของพระองค์ มีเนื้อหาสอดแทรกเกร็ดประวัติศาสตร์ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ทรงเล่าเรื่องราวชีวิตภายในราชสำนัก และเรื่องราวที่เกี่ยวกับการเมืองไทยในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 9

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2494 หรือ 70 ปีมาแล้ว ได้รับความนิยมจากผู้อ่านมาก เป็น Best Seller มีการจัดพิมพ์เพิ่มเติมถึง 18 ครั้ง ใช้เป็นหนังสืออ้างอิงประวัติศาสตร์ไทยอย่างแพร่หลาย

สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง วังปารุสกวันได้ถูกใช้เป็นสถานที่ราชการ ที่ทำงานของอธิบดีกรมตำรวจ และอยู่ในความดูแลของตำรวจตลอดมา

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2473 ตำรวจได้เริ่มดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ตำรวจเพื่อเก็บของกลางในคดีอาญามาเก็บรักษา เก็บของหายได้คืน

พ.ศ.2499 ได้แยกพิพิธภัณฑ์เป็น 2 ประเภท พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับคดีเก็บรวบรวมภาพ วัตถุในคดีอาญา เพื่อประโยชน์ในการศึกษาหาความรู้พิพิธภัณฑ์ไม่เกี่ยวกับคดี เก็บประวัติความเป็นมาตำรวจ การจัดตั้งกรมตำรวจ ประวัติอธิบดีกรมตำรวจ วิวัฒนาการเครื่องแบบ เครื่องหมายยศอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ของตำรวจ

เดิมพิพิธภัณฑ์ตำรวจ ตั้งอยู่ภายในกรมตำรวจ ปทุมวัน เคยย้ายไปตั้งอยู่ที่อาคาร สปอ. (ซีอาโต้) ข้างสนามมวยราชดำเนิน แล้วก็ย้ายกลับมาที่กรมตำรวจอีกครั้ง

สมัยก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ตำรวจสังกัดกรมตำรวจภูบาล ต่อมาสังกัดตำรวจสันติบาล ตำรวจสอบสวนกลาง ตำรวจวิทยาการ และกองทะเบียนประวัติอาชญากรรม ตามลำดับ

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 พิพิธภัณฑ์ตำรวจได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่ตำหนักจิตรลดา วังปารุสกวัน สังกัดกองสารนิเทศ รวบรวมประวัติศาสตร์ตำรวจไทย เป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างจิตสำนึกตำรวจที่ดี ประชาสัมพันธ์กิจการตำรวจสร้างความสัมพันธ์กับประชาชนที่มาเยี่ยมชม

พิพิธภัณฑ์ตำรวจชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลาหลายสิบปี ขาดการบำรุงรักษาและงบประมาณสนับสนุน

พล.ต.อ.พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ เป็น ผบ.ตร.คนแรก ที่ให้ความสนใจพิพิธภัณฑ์ตำรวจ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมตำหนักจิตรลดา และดำริให้ดำเนินการปรับปรุงให้เหมือนกับพิพิธภัณท์ตำรวจของต่างประเทศ

พล.ต.ท.รณรงค์ ยั่งยืน ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. (ทำหน้าที่ หน.ฝ่ายอำนวยการประจำ ผบ.ตร.) อดีตผู้บังคับการสารนิเทศ ได้ริเริ่มให้มีการดำเนินจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ตำรวจขึ้นใหม่

พล.ต.ท.รณรงค์ เล่าให้ฟังว่า เคยเป็นผู้ช่วย นว.ผบช.น. ขณะนั้นตำหนักจิตรลดา วังปารุสกวัน อยู่ในความดูแลของกองบัญชาการตำรวจนครบาล

ได้ติดตามผู้บังคับบัญชาเข้ามาประชุม ประทับใจในความสวยงามของตำหนักจิตรลดา ด้วยความรักและความชื่นชอบในด้านสถาปัตยกรรม พยายามจะปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่มีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ

ปี พ.ศ.2550 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็น ผบ.ตร.ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยแต่งตั้ง พล.ต.อ.ชาญวุฒิ วัชรพุกก์ รอง ผบ.ตร.เป็นประธาน พล.ต.ต.เรืองศักดิ์ จริตเอก เป็นเลขานุการ พล.ต.ท.รณรงค์ และผู้แทนตำรวจหน่วยต่างๆ เป็นกรรมการอีกหลายคน

ผมได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการด้วย ร่วมกับกรรมการที่เป็นผู้แทนหน่วยอื่นๆ เช่น ผู้แทนกรมศิลปากร ผู้แทนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงบประมาณ ฯลฯ

การประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2550 มีมติให้ดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ตำรวจ บริเวณพระตำหนักจิตรลดา วังปารุสกวัน ซึ่งประกอบด้วย อาคารที่ก่อสร้างใหม่ อาคารเดิมบางอาคาร รวมทั้งพระตำหนักจิตรลดา และปรับปรุงภูมิสถาปัตย์โดยรอบ

พล.ต.อ.เสรีพิสุทธ์ได้อนุมัติเงินงบประมาณเบื้องต้น 80 ล้านบาทให้ดำเนินการ และให้ของบประมาณเพิ่มเติมในปีต่อไป เพื่อรองรับให้เพียงพอต่อค่าก่อสร้างตามแบบที่ดำเนินการอยู่ เร่งรัดให้ดำเนินการให้เสร็จเร็วที่สุด

พล.ต.อ.เสรีพิสุทธ์พ้นจากตำแหน่งไป การดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ไม่แล้วเสร็จ

ปี พ.ศ.2554 พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เป็น ผบ.ตร.ได้แต่งตั้งผมเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการพิพิธภัณฑ์ตำรวจ บูรณะ ปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ต่อ ผมได้เชิญ พล.ต.ท.รณรงค์ ที่เกษียณอายุราชไปแล้ว มาเป็นที่ปรึกษาด้วย

ได้ดำเนินการบูรณะอาคารตำหนักจิตรลดา ด้วยวิธีการอนุรักษ์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และปรับปรุงอาคารส่วนพิพิธภัณฑ์ตำรวจ (อาคารกระจก) เป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ โดยใช้โครงสร้างเดิมของอาคารกองตำรวจสื่อสาร จัดพิพิธภัณฑ์ตามหลักการแนวทางการจัดพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่

โดยมีผู้เชี่ยวชาญงานพิพิธภัณฑ์จากกรมศิลปากรมาเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด จนการบูรณะพิพิธภัณฑ์เสร็จเรียบร้อย

วันที่ 28 มีนาคม 2556 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็น ผบ.ตร.ได้กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดพิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน

สมเด็จพระเทพฯ ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์และการแสดงกลางแจ้งต่างๆ ที่จัดขึ้นถวาย ด้วยความสนพระราชหฤทัย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่เหล่าบรรดาข้าราชการตำรวจที่เฝ้าฯ รับเสด็จเป็นอย่างยิ่ง

การแสดงพิพิธภัณฑ์จัดเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ตำหนักจิตรลดา จัดนิทรรศกาลภายในอาคาร จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีต่อข้าราชการตำรวจ เป็นห้องๆ ดังนี้

บริเวณชั้นล่าง เดิมเป็นท้องพระโรง (ห้องประชุม) การตกแต่งแบบเป็นทางการ ประตูหน้าต่างกรอบไม้ ภายในห้อง ผนังทำเป็นลายลูกฟัก เพดานประดับด้วยรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสภายในบรรจุดวงดอกไม้ปิดทองสถาปัตยกรรมคลาสสิก

มีห้องรับแขกขนาดเล็กอยู่ข้างๆ ประตู หน้าต่างตกแต่งด้วยลายปูนปั้น เช่นเดียวกับผนังและเพดานที่ตกแต่งด้วยโครงสร้างลายพรรณพฤกษาที่ดูเรียบง่ายทันสมัยแบบอาร์ตนูโว

ห้องนิทรรศการ 1 จัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์เกี่ยวกับตำหนักจิตรลดา ตั้งแต่เป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 6 จัดแสดงรูปแบบสถาปัตยกรรมห้องต่างๆ และแบบจำลองอาณาบริเวณโดยรอบของตำหนักจิตรลดา แสดงภาพภูมิทัศน์และแผนผังบริเวณวังปารุสกวัน

ห้องนิทรรศการ 2 "ชีวิตในวังปารุสก์กับห้วงเวลาในอดีต" จัดแสดงเป็นเรื่องราวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวังปารุสกวัน มารีโอ ตามัญโญ นายช่างผู้ออกแบบ มหาดเล็กในวังปารุสกวัน พลตระเวนสมัยรัชกาลที่ 5 นายทหารยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง และนายตำรวจสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2

ห้องนิทรรศการ 3 ชั้น 2 "ธ สถิตในดวงใจตำรวจทั่วหล้า" จัดแสดงภาพพระบรมฉายาลักษณ์ และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เกี่ยวข้องกับกิจการตำรวจ คือ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีสวนสนามของข้าราชการตำรวจ ทอดพระเนตรการแสดงของตำรวจพระราชทานธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วยตำรวจ

ห้องนิทรรศการ 4 ชั้น 2 "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ราชาผู้พิทักษ์" จัดแสดงภาพพระบรมฉายาลักษ์ และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณและพระบรมราชานุเคราะห์ที่ทรงโปรดเกล้าต่อตำรวจ คือ เสด็จฯ เปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชดำเนินตรึงมุดธงชัยประจำหน่วยตำรวจ

ห้องนิทรรศการ 5 ชั้น 2 "พระเจ้าอยู่หัวกับงานตำรวจ" จัดแสดงภาพพระราชกรณียกิจ พระราชทานความช่วยเหลือกิจการตำรวจโครงการพระราชดำริ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานคร และการสื่อสารของรัชกาลที่ 9 กับตำรวจสื่อสาร

ห้องนิทรรศการ 6 ชั้น 2 "พระเจ้าอยู่หัวกับงานตำรวจตระเวนชายแดน"  จัดแสดงภาพพระบรมฉายาลักษณ์ และพระราชกรณียกิจเสด็จเยี่ยมตำรวจตระเวนชายแดนและประชาชนในถิ่นทุรกันดารหลายครั้ง

ส่วนที่สอง อาคารพิพิธภัณฑ์ตำรวจ ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาต่างๆ เกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ตำรวจ และพิพิธภัณฑ์ตำรวจ

โซน 1 “จากอดีตถึงปัจจุบันของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” จัดแสดงประวัติศาสตร์ตำรวจ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา และต้นรัตนโกสินทร์ เริ่มกิจการตำรวจสมัยใหม่ พัฒนาเปลี่ยนแปลงมาจนถึงปัจจุบัน

โซน 2 “หน้าที่ตำรวจไทยในทุกวิถีชีวิต” จัดแสดงบทบาทหน้าที่ของตำรวจหน่วยต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นภารกิจอันหลากหลายของตำรวจที่คอยปกป้องและคุ้มครองประชาชนด้วยการปฏิหน้าที่ในรูปแบบต่างๆ

โซน 3 “เกียรติยศตำรวจไทย” จัดแสดงอุดมคติของตำรวจ สดุดีและเชิดชูวีรกรรมของตำรวจไทยที่สละชีพเพื่อพิทักษ์สันติราษฎร์ แสดงให้เห็นถึงความสามารถ ความเสียสละ และความมีคุณธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อมุ่งบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อปวงชนและเป็นตัวอย่างที่ดีของตำรวจไทย ทำให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความเสียสละในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ

โซน 4 “ตำรวจคือประชาชน ประชาชนคือตำรวจ” จัดแสดงการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการปฏิหน้าที่ของตำรวจ อันนำมาซึ่งความสำเร็จในการช่วยเหลือเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย โดยสร้างบรรยากาศของการกระทำผิดและมีจุดรับแจ้งเหตุ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญและสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่พลเมืองดี นำเสนอการจดจำสถานที่เกิดเหตุ และรูปพรรณสัณฐานคนร้าย

โซน 5 “สน.วังปารุสก์” จัดแสดงขั้นตอนการดำเนินคดี ตั้งแต่การสืบสวนสอบสวน ป้องกันปราบปรามอาชญากรรม นิติวิทยาศาสตร์ และยุทธวิถีของตำรวจ โดยสร้างสถานการณ์การปฏิบัติหน้าที่ ทั้งในสถานีตำรวจและนอกสถานีตำรวจ นำเสนอแฟ้มคดีสำคัญที่แสดงให้เห็นความสามารถตำรวจที่สามารถคลี่คลายคดี และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

โซน 6 “เมื่อฉันอยากเป็นตำรวจ”จัดแสดงข้อมูลหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผ่านการเชื่อมโยงทางเว็บไซต์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ทันสมัยตลอดเวลา ประวัติและผลงานของอดีตผู้บังคับบัญชาสูงสุดของตำรวจตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตรา เครื่องหมายสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับตำรวจ

พิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2532 และได้รับรางวัลจากการดำเนินการหลายรางวัล เช่น รางวัล MUSEUM THAILAND AWARDS 2017 และรางวัลวัฒนคุณาธร จากกระทรวงวัฒนธรรม

ขอเชิญชวนประชาชนผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมความงดงามของตำหนักจิตรลดา วังปารุสกวัน และพิพิธภัณฑ์ตำรวจ ได้ตั้งแต่วันอังคารพุธถึงวันศุกร์ ระหว่างเวลา 10.00-16.00 น. ครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตำรวจนักเก็บกู้ระเบิด (EOD)

สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การก่ออาชญากรรม ก่อวินาศกรรม หรือก่อการร้าย หากคนร้ายใช้วัตถุระเบิดเป็นอาวุธ แรงระเบิด สะเก็ดระเบิดและความร้อน จะเป็นภยันตรายก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สินอย่างร้ายแรงที่สุด

ตำรวจ ศชต.

“ท่ามกลางสถานการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ทรงตัวมานานเกือบ 20 ปี สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ต้องอาศัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น”

ตชด.กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“เศรฐกิจพอเพียงจริงๆ คือหลักการดำเนินชีวิตที่จริงแท้ที่สุดกรอบแนวคิดและปรัชญามุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนาคือ สามารถประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตลอดจนให้ความสำคัญกับคำว่าพอเพียง ที่ประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไข ความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม”

ตำรวจพลร่ม

ตำรวจพลร่มเป็นตำรวจซึ่งมีการฝึกอบรมอย่างหนัก ทำให้ตำรวจหน่วยนี้มีวินัย เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ชื่นชมและยกย่องตลอดมา

หมอนิติเวชตำรวจ

พลตำรวจโทนายแพทย์ประเวศน์ คุ้มภัย อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิต

เครื่องจับเท็จ

มหากาพย์คดีฆาตกรรม น้องชมพู่ เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ สื่อมวลชนให้ความสนใจ