นายตำรวจเกียรติยศ

เมื่อครั้งรัฐบาลได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดงานเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2549

รัฐบาลได้กราบทูลพระประมุข พระราชาธิบดี พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนกษัตริย์ เป็นพระราชอาคันตุกะมาร่วมถวายพระพรฯ และร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติต่างๆ ระหว่างวันที่ 11 มิถุนายน ถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2549

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักดำเนินการในเรื่องการรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกในเรื่องการจราจรให้กับพระประมุขและคณะผู้ติดตามทุกประเทศ

ในการนี้ ได้มีการจัดนายตำรวจเกียรติยศถวายงานพระราชอาคันตุกะทั้งหมด 25 ประเทศ

พระประมุขและพระราชวงศ์ที่เสด็จฯ มาร่วมพระราชพิธีเป็นพระประมุขจำนวน 12 ประเทศ เป็นผู้แทนพระองค์ซึ่งเป็นพระราชวงศ์ชั้นสูง 13 ประเทศ เป็นการมาร่วมชุมนุมของกษัตริย์มากที่สุดในโลก

พระราชอาคันตุกะ อาทิ สมเด็จพระราชาธิบดี และสมเด็จพระราชินีบรูไน สมเด็จพระราชาธิบดีสวีเดน สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จจักรพรรดินีญี่ปุ่น สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีมาเลเซีย สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีสวีเดน สมเด็จพระราชาธิบดีจอร์แดน พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี กัมพูชา

เจ้าชายเฮนริก พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถแห่งเดนมาร์ก สมเด็จพระราชินีโซเฟียแห่งสเปน เจ้าชายจิกมี มกุฎราชกุมารแห่งภูฏาน เจ้าชายวิลเลียม มกุฎราชกุมารแห่งเนเธอร์แลนด์ เจ้าชายโฮกุน มกุฎราชกุมารแห่งนอร์เวย์ เจ้าชายฟิลิปส์ มกุฎราชกุมารแห่งเบลเยียม เจ้าชายแอนดรูว์ สหราชอาณาจักรบริเตนฯ ฯลฯ

นายตำรวจเกียรติยศ คือนายตำรวจที่จะทำหน้าที่เหมือนเป็นราชองครักษ์ประจำพระราชอาคันตุกะทุกพระองค์ ปฏิบัติหน้าที่ติดตามตลอดระยะเวลาที่ประทับอยู่ในประเทศไทย

เป็นหัวหน้าชุดทำหน้าที่ถวายความปลอดภัย อำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ถวายพระเกียรติ ถวายงานตามพระราชประสงค์ ควบคุมขบวนรถพระที่นั่ง และประสานงานในทุกเรื่อง

เริ่มตั้งแต่รับเสด็จเมื่อเดินทางมาถึง อยู่ปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมงจนส่งเสด็จกลับ

พล.ต.อ.อิสระพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รอง ผบ.ตร.ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจรักษาความปลอดภัยและการจราจร เป็นผู้รับผิดชอบคัดเลือกและฝึกอบรม

พล.ต.อ.อิสระพันธ์มีประสบการณ์การเคยปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายตำรวจราชสำนักประจำมาก่อน มีความรู้ ความสามารถในเรื่องการรักษาความปลอดภัยบุคคล การอารักขาบุคคลสำคัญ และเคยเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ มีความสามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารเป็นอย่างดี

เริ่มการดำเนินการคัดเลือกนายตำรวจยศ พ.ต.อ.จากทั่วประเทศ ที่มีความรู้ ความสามารถ บุคลิกลักษณะเหมาะสม และมีทักษะทางภาษาต่างประเทศ

สอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์ คัดเลือกนายตำรวจเกียรติยศชาย 35 นาย และนายตำรวจเกียรติยศหญิง 19 นาย ซึ่งจะทำหน้าที่ถวายความปลอดภัยประจำพระองค์พระราชินีหรือพระชายาที่เสด็จฯ แทนพระองค์ หรือเสด็จฯ พร้อมพระราชสวามี

เมื่อคัดเลือกได้ตัวนายตำรวจเกียรติยศแล้ว จัดเข้ารับการอบรมหลักสูตรชุดนายตำรวจเกียรติยศ เป็นหลักสูตรที่มีความเข้มข้นทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เข้าค่ายฝึกอบรมทั้งกลางวันและกลางคืน

ภาคทฤษฎี สำนักพระราชวัง สำนักราชเลขาธิการ กรมราชองครักษ์ และกระทรวงการต่างประเทศ ได้กรุณาจัดส่งวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาบรรยายให้ความรู้ด้านต่างๆ

พล.ท.ม.ล.ทศนวอมร เทวกุล รอง ผอ.สำนักงานราชองครักษ์ประจำ เป็นวิทยากรแนะนำประสบการณ์การปฏิบัติหน้าที่ในการถวายความปลอดภัย

คุณจันทนี ธนรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ 10 สำนักราชเลขาธิการ เป็นวิทยากรแนะนำแบบธรรมเนียมการถวายงานและภาษาอังกฤษที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่

นายปสันน์ เทพรักษ์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ เป็นวิทยากรแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ทางพิธีการทูต และกรณีศึกษากำหนดการและกรณีส่วนพระองค์

นอกจากนี้ นายตำรวจเกียรติยศต้องเรียนรู้เกี่ยวกับระเบียบ พิธีการ ธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติต่างๆ ขนบธรรมเยียมประเพณีของแต่ละประเทศ และข้อมูลเกี่ยวกับพระประมุขทุกพระองค์อย่างละเอียดที่สุด

เพื่อให้นายตำรวจเกียรติยศสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและสมพระเกียรติ

ภาคปฏิบัติ มีการฝึกสอนทบทวนการใช้อาวุธปืน และการถวายความคุ้มครองป้องกันพระประมุขให้มีความปลอดภัยสูงสุด ฝึกการต่อสู้ป้องกันตัว ฝึกการติดตั้งวิทยุสื่อสาร อาวุธและอุปกรณ์ประจำกายที่ต้องใช้ในการรักษาความปลอดภัย

พล.ต.อ.อิสระพันธ์เป็นครูและเป็นพี่เลี้ยง ทุ่มเท เอาใจใส่ ควบคุม กำกับ ดูแล การฝึกอบรมนายตำรวจเกียรติยศด้วยตนเองอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ทั้งการฝึกอบรมปกติและการฝึกซ้อมการปฏิบัติทุกครั้ง

มีคำกล่าวว่าการคัดเลือกและฝึกอบรมนายตำรวจเกียรติยศครั้งนี้เปรียบกับการเจียระไนเพชรเลยทีเดียว

นับเป็นมิติใหม่ของการอารักขาบุคคลสำคัญ ซึ่งต้องไม่มีความผิดพลาดโดยเด็ดขาด และต้องคำนึงถึงพระเกียรติยศของพระประมุขและพระราชวงศ์ทุกพระองค์

วันที่ 11 มิถุนายน 2549 พระประมุขและผู้แทนพระองค์แต่ละประเทศเริ่มทยอยเดินทางเสด็จฯ ถึงสนามบินกองทัพอากาศและสนามบินดอนเมือง ในการนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระ

เทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นผู้แทนพระองค์รับเสด็จทุกพระองค์

นายตำรวจเกียรติยศซึ่งเป็นหัวหน้าชุดจะนำทีมงานเข้าถวายความปลอดภัยทันที

พร้อมกันนี้ก็จะแจ้งประสานชุดถวายความปลอดภัยเส้นทางตามเส้นทางเสด็จฯ ชุดสืบสวนหาข่าว ชุดอำนวยความสะดวกจราจร

รวมไปถึงชุดถวายความปลอดภัยโรงแรมที่ประทับ ที่เป็นศูนย์รวมของหน่วยยุทธการ หน่วยปฏิบัติการทางเทคนิค และหน่วยสนับสนุนด้านต่างๆ ที่เตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้าแล้ว เริ่มปฏิบัติงานทันทีเช่นกัน

วันที่ 12 มิถุนายน 2549 เป็นวันแรก มีหมายกำหนด 2 หมาย

เวลา 14.00 น. เสด็จฯ ทรงร่วมพิธีถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

เวลา 18.00 น. เสด็จฯ ทอดพระเนตรขบวนเรือพระราชพิธี ณ ราชนาวิกสภา และเสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ณ หอประชุมกองทัพเรือ

วันที่ 13 มิถุนายน 2549 เวลา 19.30 น. มีหมายกำหนดการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ พระราชทานเลี้ยงถวายพระกระยาหารค่ำแด่พระประมุขและพระราชวงศ์ทุกพระองค์ ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร

ขบวนรถพระประมุขทั้ง 25 ขบวน แต่ละขบวนประกอบด้วยรถจักรยานยนต์ รถยนต์เบิกทาง รถยนต์นำขบวน รถยนต์เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ รถยนต์พระที่นั่ง รถยนต์ชุดรักษาความปลอดภัย รถตู้คณะผู้ติดตาม และรถยนต์ปิดท้ายขบวน ฯลฯ จำนวนตั้งแต่ 10 คันขึ้นไป

ศูนย์ควบคุมจราจร (บก.02) ได้บริหารจัดการ ควบคุม สั่งการให้ขบวนรถพระประมุขเดินทางถึงที่หมายแต่ละที่หมาย ได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เรียงตามลำดับอาวุโสของการครองราชย์จากพระประมุขอาวุโสน้อยสุดจนถึงพระประมุขอาวุโสสูงสุด ได้ถูกต้องแม่นยำ ตรงต่อเวลา

เจ้าหญิงมาทิลด์ พระชายามกุฎราชกุมารแห่งเบลเยียม ได้ตรัสถาม พ.ต.อ.พิทยา ศิริรักษ์ นายตำรวจเกียรติยศประจำพระองค์ว่า “เขาทำกันได้อย่างไร” แสดงให้เห็นความสามารถในการจัดระบบจราจรและการฝึกซ้อมของเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกฝ่ายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ภารกิจของนายตำรวจเกียรติยศไม่ได้มีเฉพาะตามหมายกำหนดการเท่านั้น ยังมีภารกิจส่วนพระองค์และคู่สมรสอีกหลายประการ ไม่ว่าจะไปพบปะกันเองระหว่างพระประมุข พบกับเอกอัครราชทูตและประชาชนของแต่ละประเทศ องค์กรการกุศลต่างๆ

ตลอดจนท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ นายตำรวจเกียรติยศและคณะต้องติดตามไปปฏิบัติหน้าที่โดยตลอดจนกว่าจะส่งเสด็จเดินทางกลับ

นายตำรวจเกียรติยศได้บอกเล่าประสบการณ์ถวายอารักขาอันประทับใจในการปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญ และการได้รับพระราชไมตรีที่ทุกพระองค์พระราชทาน อาทิ

พ.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี และ พ.ต.อ.(ญ.) บุษบง เมฆวิชัย นายตำรวจเกียรติยศประจำพระองค์ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ แห่งประเทศญี่ปุ่น

“สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งประเทศญี่ปุ่นทรงมีพระจริยวัตรเรียบง่าย ทรงเป็นกันเองกับเจ้าหน้าที่ร่วมถวายงานทุกคน พระองค์จะตรัสถามทุกครั้งที่เสด็จฯ ว่า เราตรงเวลาหรือไม่ ช้าไปหรือไม่ ทุกอย่างเรียบร้อยนะ

สมเด็จพระจักรพรรดิจะตรัสถามวิธีเปิดกระจก และจะเปิดกระจกเพื่อโบกพระหัตถ์ให้กับประชาชนที่ยืนอยู่ข้างถนนตลอดเส้นทางเสด็จฯ แม้บางครั้งจะมีประชาชนเพียง 2-3 คน เป็นที่ประทับใจยิ่ง ภูมิใจที่ทำหน้าที่สำคัญนี้”

พ.ต.อ.ภาคภูมิ สัจจพันธ์ และ พ.ต.ต.(ญ.) ธัญญาวรรณ ธนามี นายตำรวจเกียรติยศประจำพระองค์ สมเด็จพระราชาธิบดีโบลเกียห์ สมเด็จพระราชินีซาเลฮา แห่งประเทศบรูไน

“สมเด็จพระราชาธิบดีบรูไนทรงเข้าใจบทบาทหน้าที่ของนายตำรวจเกียรติยศเป็นอย่างดี เวลาโดยสารลิฟต์ด้วยกัน แม้ลิฟต์ที่ประทับจะคับแคบก็มิได้แสดงท่าทีอึดอัดแต่อย่างใด ทรงแย้มพระสรวลให้ทุกคนที่ถวายงานในวันเสด็จกลับ ทรงกล่าวขอบใจและพระราชทานพระหัตถ์ให้สัมผัส เป็นวินาทีแห่งความปราบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง”

พ.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ พ.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร และ พ.ต.ต.(ญ.) เนตรดาว สมเกิด นายตำรวจเกียรติยศประจำพระองค์ เจ้าหญิงลัลลา ซัลมา พระชายาสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งประเทศโมร็อกโก

“เจ้าหญิงลัลลาทรงมีพระสิริโฉมและพระจริยาวัตรงดงาม ทรงให้ความเป็นกันเองกับผู้ถวายงาน การได้มีโอกาสเป็นตัวแทนคนไทยถวายงานพระองค์ นับเป็นเกียรติสูงสุดและเป็นความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต”

พ.ต.อ.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ และ ร.ต.อ.(ญ.) อรุชา จันทร์คง นายตำรวจเกียรติยศประจำพระองค์ เจ้าชายจิกมี มกุฎราชกุมารแห่งภูฏาน

“มกุฎราชกุมารแห่งภูฏานทรงมีพระจริยาวัตรที่งดงาม และทรงวางพระองค์อย่างนอบน้อมถ่อมตนต่อกษัตริย์และพระราชวงศ์ต่างรัฐ ใครก็ตามอยู่ใกล้ชิดพระองค์ต้องหลงรักท่านอย่างแน่แท้ นายตำรวจเกียรติยศพลอยปลาบปลื้มไปด้วยที่ได้มีโอกาสรับใช้ใกล้ชิดพระองค์ท่าน”

พ.ต.อ.ยิ่งยศยังได้บันทึกเรื่องราวประสบการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่นายตำรวจเกียรติยศประจำพระองค์ เจ้าชายจิกมี ในหนังสือชื่อ 10 วันกับเจ้าชาย…ในฝัน” บางช่วงบางตอน งดงามและน่าประทับใจมาก (คัดลอกบางตอน)

“ขอบคุณสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง ขอบคุณจริงๆ หวังว่าเราคงได้มีโอกาสพบกันอีก ขอให้รักษาความสัมพันธ์ที่ดีเช่นนี้ไว้ตลอดไป”

เป็นประโยคสุดท้ายที่มงกุฎราชกุมาร ซึ่งกำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยแห่งราบอาณาจักร Bhutan ในอีกสองปีข้างหน้าตรัสกับผม พลางใช้สองมือจับที่มือขวาผม พร้อมเขย่าเบาๆตลอดเวลา

ผมจำไม่ได้ว่าตอบอะไรกลับไป แต่ความรู้สึกในขณะนั้นเหมือนคนล่องลอย ไม่ไช่เพราะสติไม่อยู่กับเนื้อกับตัว แต่น่าจะเป็นอาการที่เรียกว่า “ใจหายมากกว่า”

ปัจจุบันนายตำรวจเกียรติยศหลายคนได้เจริญเติบโตเป็นลำดับ ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายตำรวจชั้นนายพลเกือบหมดทุกคน เช่น พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ท.ชินภัทร สารสิน ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.ภาคภูมิ สัจจาพันธ์ ผบช.สตม., พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผบช.รร.นรต., พล.ต.ท.นรรัชต์ เจริญรัชต์ภาคต์, พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพ

จำนงค์ โฆษกตำรวจ, พล.ต.ต.วรวัฒน์ อมรวิวัฒน์ รอง ผบช.ส., พล.ต.ต.เขมรินทร์ หัสศิริ ผบก.ตท. ฯลฯ

นายตำรวจเกียรติยศที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว เช่น พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตรสุขศรี, พล.ต.ท.พิทยา ศิริรักษ์, พล.ต.ท.ไชยยันต์ วงษ์สุวรรณ, พล.ต.ท.มนตรี สัมบุญญานนท์, พล.ต.ท.ทนงศักดิ์ ทั่งทอง, พล.ต.ท.สัญชัย สุนทรบุระ ฯลฯ

นายตำรวจเกียรติยศทุกนายจะต้องจดจำไปตลอดชีวิต ครั้งหนึ่งในชีวิตราชการตำรวจ เป็นตัวแทนแห่งเกียรติยศและความภาคภูมิใจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ได้มีโอกาสปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยพระประมุขต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เป็นประสบการณ์ที่ต้องประทับไว้ในความทรงจำมิรู้เลือน

สำคัญที่สุด นายตำรวจเกียรติยศทุกนายได้ปฏิบัติหน้าที่เป็น “ตำรวจของในหลวง” แสดงความจงรักภักดี สนองพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพรักยิ่งของปวงชนชาวไทยทุกคน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตำรวจนักเก็บกู้ระเบิด (EOD)

สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การก่ออาชญากรรม ก่อวินาศกรรม หรือก่อการร้าย หากคนร้ายใช้วัตถุระเบิดเป็นอาวุธ แรงระเบิด สะเก็ดระเบิดและความร้อน จะเป็นภยันตรายก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สินอย่างร้ายแรงที่สุด

ตำรวจ ศชต.

“ท่ามกลางสถานการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ทรงตัวมานานเกือบ 20 ปี สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ต้องอาศัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น”

ตชด.กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“เศรฐกิจพอเพียงจริงๆ คือหลักการดำเนินชีวิตที่จริงแท้ที่สุดกรอบแนวคิดและปรัชญามุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนาคือ สามารถประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตลอดจนให้ความสำคัญกับคำว่าพอเพียง ที่ประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไข ความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม”

ตำรวจพลร่ม

ตำรวจพลร่มเป็นตำรวจซึ่งมีการฝึกอบรมอย่างหนัก ทำให้ตำรวจหน่วยนี้มีวินัย เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ชื่นชมและยกย่องตลอดมา

หมอนิติเวชตำรวจ

พลตำรวจโทนายแพทย์ประเวศน์ คุ้มภัย อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิต

เครื่องจับเท็จ

มหากาพย์คดีฆาตกรรม น้องชมพู่ เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ สื่อมวลชนให้ความสนใจ