เทรนด์ส่งข้อความกับการขับเคลื่อนธุรกิจ

ในอดีตผู้คนและธุรกิจจำกัดการสื่อสารอยู่แค่การติดต่อกันแบบเห็นหน้า หรือผ่านการคุยโทรศัพท์หรือทางอีเมลเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น พฤติกรรมผู้บริโภคที่แปรเปลี่ยนย่อมทำให้รูปแบบการสื่อสารเปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงสถานที่และวิธีที่ธุรกิจต่างๆ สื่อสารกัน ยิ่งในโลกยุคดิจิทัลที่การสื่อสารผ่านมือถือคือหัวใจสำคัญ ธุรกิจต่างๆ จึงจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การสื่อสารให้ทันท่วงที เพื่อตอบสนองความต้องการ ความคาดหวังของลูกค้าที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกนี้ มีโอกาสในการเติบโตครั้งสำคัญซ่อนอยู่อย่างแน่นอน

จากผลศึกษาล่าสุด ผู้บริโภคเปิดเผยว่าพวกเขามักโต้ตอบกับธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและแอปส่งข้อความที่พวกเขาใช้ประจำเป็นช่องทางหลัก โดย 50% ของลูกค้าให้ความสำคัญกับประสบการณ์ที่ได้รับจากการพูดคุยกับธุรกิจในปีนี้มากกว่าปีก่อนหน้า และ 70% รู้สึกใกล้ชิดกับธุรกิจมากขึ้น เมื่อส่งข้อความหาธุรกิจได้โดยตรง

ซึ่ง Meta มองเห็นเทรนด์นี้ตั้งแต่แรกเริ่ม จึงได้พัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการทักแชตธุรกิจ (Business Messaging) ที่ผสานเครื่องมือและโซลูชันที่หลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน พร้อมต่อยอดเทคโนโลยี AI การบูรณาการโฆษณาเชิงกลยุทธ์ และวิธีการรายงานผล เพื่อนำพาธุรกิจและผู้คนให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น

ในงานสัมมนา Business Messaging Summit Thailand 2023 ได้แชร์เทรนด์ล่าสุด รวมถึงกลยุทธ์และคำแนะนำต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่าโซลูชันจาก Meta ช่วยพัฒนาการเติบโตของธุรกิจอย่างไร ด้วยการเปิดโลกแห่งการเชื่อมต่อแบบส่วนตัว เพิ่มโอกาสในการขับเคลื่อนยอดขาย และครองใจลูกค้าผ่านบทสนทนาได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

ในแต่ละสัปดาห์ผู้คนกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลกเชื่อมต่อกับธุรกิจผ่านบริการส่งข้อความจาก Meta และในแต่ละวันผู้คนและธุรกิจมีบทสนทนากันกว่า 600 ล้านครั้ง นอกจากนี้ 71% รู้สึกว่าการส่งข้อความถึงธุรกิจโดยตรงนั้นง่ายกว่าการติดต่อผ่านเว็บไซต์ และ 69% มีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าหรือทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการซื้อขายกับบริษัทที่พวกเขาสามารถติดต่อได้ผ่านการส่งข้อความ

สำหรับในประเทศไทย ข้อมูลระบุว่า 78% ของคนไทยที่ใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์ส่งข้อความหาธุรกิจอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์, 81% ของคนไทยรู้สึกใกล้ชิดกับธุรกิจมากขึ้น เมื่อพวกเขาสามารถส่งข้อความหาธุรกิจได้โดยตรง, 62% ของคนไทยใช้งานแอปพลิเคชันการส่งข้อความในเครือของ Meta เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจ สินค้า หรือบริการ ก่อนตัดสินใจซื้อ และ 58% ของคนไทยสั่งซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชันการส่งข้อความในเครือของ Meta

เรียกได้ว่า เทรนด์ระดับโลกในการส่งข้อความเชิงธุรกิจนั้นเข้ามามีบทบาทที่สำคัญอย่างรวดเร็วในชีวิตของผู้บริโภคทั่วเอเชียแปซิฟิก โดยมีอัตราการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้เฉพาะในประเทศไทยราว 70% โดย ดรูฟ โวห์รา กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจ Meta ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวเน้นย้ำถึงเทรนด์นี้ว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำในอันดับต้นๆ ของโลกสำหรับเทรนด์การทักแชตธุรกิจและการสร้างช่องทางใหม่ๆ ในการพูดคุยกับธุรกิจ ปรากฏการณ์ที่ธุรกิจและผู้บริโภคมีการพูดคุยกันโดยตรงและก่อให้เกิดการเชื่อมต่อด้วยวิธีใหม่ๆ มากขึ้นนั้นเริ่มต้นมาจากประเทศไทย และขณะนี้ก็กำลังแผ่ขยายความนิยมไปทั่วโลก ทั้งนี้ กว่า 44% ของผู้บริโภคชาวไทยมีการพูดคุยและทักแชตธุรกิจหรือแบรนด์อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และปัจจุบันมีผู้คนกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลกที่ได้ส่งข้อความหาธุรกิจบนแพลตฟอร์มของบริษัทเป็นประจำทุกสัปดาห์ด้วย

แต่ขณะเดียวกัน ไม่ใช่ทุกธุรกิจที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มากขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาได้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาธุรกิจต่างๆ ได้รับแรงกดดัน ทำให้ต้องสร้างสมดุลระหว่างประสบการณ์ที่ดีขึ้นของลูกค้า ประสิทธิภาพการดำเนินงาน และผลตอบแทนจากการลงทุนที่วัดผลได้ โดยธุรกิจจำนวนมากกว่า 1 ใน 3 กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องรู้ว่าเงินแต่ละบาทที่พวกเขาจ่ายไปจะทำกำไรกลับมาได้เท่าไร ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ธุรกิจต่างต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงแรงต้านในการทำธุรกิจจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายคุ้มครองข้อมูล และกฎระเบียบต่างๆ เช่น ล่าสุดได้มีการปิดกั้นการใช้คุกกี้บนหน้าเว็บไซต์จากบุคคลที่สาม เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การส่งข้อความเชิงธุรกิจจาก Meta เป็นโซลูชันที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถติดต่อธุรกิจได้ในรูปแบบที่ต้องการ และเวลาใดก็ตามที่ต้องการ โดยมีผลศึกษาที่จัดทำขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2565 แสดงให้เห็นว่าการที่ธุรกิจใช้แอปพลิเคชันส่งข้อความในเครือของ Meta นั้นได้ผลดีกว่าช่องทางการติดต่ออื่นๆ ถึง 61% และมีมูลค่าการสั่งซื้อจากลูกค้าสูงขึ้น 22.1% สะท้อนชัดเจนว่าการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อนั้นสามารถสร้างเส้นทางการซื้อสินค้าที่ดีขึ้น และขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจได้.

 

รุ่งนภา สารพิน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เร่งแก้ “แต่ไร้ผล”

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมานานหลายปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ที่เมื่อความกดอากาศสูง มีกำลังอ่อนลง และเมื่อลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ จะส่งผลทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

30@30 โอกาส SME

สำหรับนโยบาย 30@30 เป็นที่พูดถึงมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 จนมาถึงปัจจุบันที่นวัตกรรมและเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยแพร่หลายมากขึ้น และ EV ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

Gen AI ความท้าทายยุคใหม่

การก้าวตามเทคโนโลยีใหม่อย่าง Generative AI ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่ากลัว โดยไม่มีใครรู้เลยว่าบริษัทที่ใช้แนวทาง "รอดูไปก่อน" จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังในขณะที่ระบบดิจิทัลเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเริ่มต้นของโควิด-19