รอของขวัญปีใหม่ของรัฐบาล

ใกล้จะสิ้นปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและการพักผ่อน รวมถึงเป็นเทศกาลมอบของขวัญให้กับชีวิต เพื่อน และครอบครัว

ดังนั้น ช่วงเวลาสิ้นปีจึงเปรียบเสมือนช่วงเวลาใช้เงิน และมีเงินสะพัดมากกว่าช่วงเวลาปกติ และในเวลานี้บรรดาห้างร้านก็จะมีการจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม เพื่อกระตุ้นยอดขาย และเป็นการคืนกำไรให้กับลูกค้า

เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินเม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 พบว่า น่าจะมีมูลค่าการใช้จ่ายรวมอยู่ที่ประมาณ 30,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อนหน้าที่ภาพรวมการใช้จ่ายช่วงปีใหม่ที่หดตัวประมาณ 4.4% โดยในช่วงปีใหม่ ’65 นี้คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เลือกออกไปใช้จ่ายนอกบ้านมากขึ้นตามการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

นี่แค่เพียงตัวเลขประมาณการเฉพาะในพื้นที่ กทม.เท่านั้น ซึ่งหากยึดข้อมูลในปีที่ผ่านๆ มา จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ตามปกติคนไทยจะมีการใช้จ่ายเงินช่วงปีใหม่อยู่ระหว่าง 1.3-1.5 แสนล้านบาท

แน่นอน คาดว่าในปีนี้ตัวเลข 1.5 แสนล้านก็มีความเป็นไปได้ เพราะรัฐบาลมีการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น แม้โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่ก็เชื่อว่าด้วยระบบที่มีการรับมือและเตรียมการไว้ รวมถึงการฉีดวัคซีนที่ทำได้ครอบคลุมก็อาจจะช่วยลดความเสี่ยงในการระบาดได้

แต่ถึงอย่างไรก็ดี การจะรอลุ้นให้ประชาชนควักเงินออกมาจ่ายอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ เพราะอาจจะไม่มีแรงจูงใจพอ

ทางภาคเอกชนก็หวังที่จะให้ภาครัฐออกแพ็กเกจมากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมบ้าง เพราะมาตรการอย่างคนละครึ่ง และช้อปดีมีคืน ก็ใกล้จะหมดเวลา และเริ่มอ่อนแรงแล้ว ดังนั้นควรจะมีมาตรการมากระตุ้นในช่วงโค้งสุดท้ายของปีแบบนี้

โดยเฉพาะโครงการที่กลุ่มค้าปลีกรอมากที่สุดคือ ช้อปดีมีคืน ซึ่งถือเป็นมาตรการที่ค่อนข้างได้ผล และช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้จริง ซึ่งจากสถานการณ์แบบนี้ ทางนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยก็ระบุว่า ในปีนี้รัฐบาลใจป้ำ เพิ่มวงเงินจากที่เคยให้คนละ 30,000 บาท เป็น 50,000 บาท จะสามารถช่วยให้เกิดการใช้จ่ายจนเงินสะพัดในช่วงสัปดาห์สุดท้ายถึงหลัก 50,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

ขณะเดียวกัน ทาง “สมาคมผู้ค้าปลีกไทย” ก็ระบุว่า โครงการช้อปดีมีคืน หรือช้อปช่วยชาติ จะช่วยให้มีเงินสะพัดได้ไม่น้อยกว่า 3-4 แสนล้านบาท และส่งผลไปยังตัวเลขจีดีพี หรือเศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้ถึงระดับ 0.7-1% และยังเกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างมหาศาล โดยใช้งบประมาณไม่มาก หรือเพียงแค่ 15,000-20,000 ล้านบาท

เรื่องนี้คงต้องจับตาดูว่าแพ็กเกจของขวัญที่ลือกันว่าจะมีการนำเสนอมาตรการในที่ประชุม ครม. วันที่ 21 ธ.ค.นี้ จะมีโครงการนี้หรือไม่ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนกำลังรอคอยกันมากที่สุด

รวมไปถึงแว่วๆ มาว่าจะมีการออกทั้งมาตรการผ่อนดีมีคืนของธนาคารรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งบางแบงก์ก็มีการประกาศไปบ้างแล้ว ยังรวมถึงโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 ที่จะมาแทนเฟส 3 ซึ่งจะหมดปลายปี 64 นี้

ทั้งหมดนี้จะต้องไปรอลุ้นกันในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่จากการเกริ่นๆ ของกระทรวงการคลัง ก็เชื่อว่าจะมีมาตรการเด็ดๆ ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจแน่ๆ แต่จะโดนใจแค่ไหนจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป.

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

“หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท

เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหนต่อ

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเวลานี้เหมือนคนป่วยโรคเรื้อรัง ที่อาการแค่ดีขึ้นเล็กน้อย แต่รักษายังไม่หายขาด ส่งผลให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ยังคงติดๆ ขัดๆ นับตั้งแต่ผ่านพ้นจากวิกฤตโควิดมากว่า 2 ปี

ไทยจะเป็นฮับเอทานอล

ประเทศไทยหลังจากที่ผลัดเปลี่ยนรัฐบาลชุดนี้ ก็ตั้งเป้าการทำงานที่หลากหลายและแปลกตามากขึ้น แน่นอนว่าหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล

เดินให้สุดทำอย่างจริงจัง

ปัจจุบันพบปัญหาถังก๊าซหุงต้มในท้องตลาดเสื่อมสภาพและหมดอายุตกค้างอยู่ในระบบจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการลักลอบนำถังก๊าซหุงต้มมาเติมในสถานีบริการ LPG เป็นระยะ ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว

ดันสงกรานต์ไทยสู่เทศกาลโลก

หลังจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงมหาดไทย จับมือจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567”