“ส่งออกข้าวไทยปี67”เสี่ยงโคม่า

เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ นั่นคือ “สถานการณ์การส่งออกข้าวไทย” ที่ในปี 2567 นี้ มีการคาดการณ์การส่งออกข้าวไทย อยู่ที่ปริมาณ 7.5 ล้านตัน และไทยยังรั้งอันดับ 2 ของโลกในการเป็นผู้ส่งออกข้าว โดยปริมาณ 7.5 ล้านตันดังกล่าวนั้น เท่ากับปริมาณการส่งออกของเวียดนาม รองจากอินเดียที่ 16.5 ล้านตัน จึงเป็นความเสี่ยงของไทยที่จะต้องรักษาอันดับการเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก

ก่อนหน้านี้ ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า โอกาสที่เวียดนามจะแซงไทยเริ่มเห็นชัด เพราะตัวเลขการส่งออกข้าวของเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากปกติส่งออกเพียง 6 ล้านตันต่อปี แต่ในปี 2566 เวียดนามส่งออกได้ถึง 8.1 ล้านตัน

และเริ่มทำตลาดมากขึ้นในปีนี้ โดยต้นปี 2567 เวียดนามสามารถประมูลข้าวจากอินโดนีเซียได้ถึง 4 แสนตัน จากการประมูลทั้งสิ้น 5 แสนตัน ส่วนที่เหลือเป็นของปากีสถานและเมียนมา ส่วนไทยไม่ได้ เพราะราคาข้าวแพงกว่า

 “ยังต้องติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยในปีนี้ คือ นโยบายการชะลอส่งออกข้าวของอินเดีย ภายหลังจากที่มีการเลือกตั้งแล้ว และปริมาณข้าวของเวียดนาม และปัจจุบันจีนได้พัฒนาและเพิ่มการขยายผลผลิตข้าวภายในประเทศมากขึ้น โดยผู้ส่งออกคาดการณ์ว่าการส่งออกข้าวไทยในไตรมาส 1 จะอยู่ที่ปริมาณ 2.2-2.3 ล้านตัน หรือเฉลี่ยเดือนละ 800,000 ตัน เป็นผลมาจากการส่งมอบข้าวให้กับฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปีนี้ แต่ในไตรมาส 2 ประเมินว่าการแข่งขันจะรุ่นแรงมากขึ้น ทั้งในเรื่องราคาและผลผลิต”

ในส่วนของรัฐบาล โดย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ตั้งธงว่าในปีนี้จะเน้นการเพิ่มระดับราคาข้าวให้มากขึ้น โดยจะเดินหน้าเจรจาขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และเอกชน ซึ่งแม้ว่าหลายฝ่ายจะกังวลว่าการขายข้าวแบบจีทูจี คนจะยึดติดภาพเดิมที่รัฐไปขายเองในราคาถูก แต่อยากให้มองใหม่ เพราะได้ปรับเปลี่ยนเป็นภาครัฐนำ ภาคเอกชนตาม โดยรัฐจะไปเป็นประกันให้ว่าถ้าซื้อแบบจีทูจี จะมีการส่งมอบข้าวแน่นอน รัฐบาลเป็นหัวหอกไปเจรจา แต่เอกชนเป็นผู้สนับสนุน

ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกบทวิเคราะห์ โดยระบุว่า ประเมินว่าภาพรวมการส่งออกข้าวไทยในปี 2567 คงลดลง จากคำสั่งซื้อใหม่ของผู้ซื้อหลักที่อาจลดลงจากที่ได้เร่งนำเข้าไปแล้วในปีก่อน แม้ว่าบางส่วนจะถูกชดเชยด้วยการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับอินโดนีเซีย และจีน ขณะที่ไทยยังคงเผชิญเอลนีโญในช่วงไตรมาสแรกของปี ที่จะทำให้เกิดภัยแล้ง สะท้อนจากข้อมูลของ NOAA ที่คาดว่าเอลนีโญที่กำลังดำเนินอยู่จากดัชนี Ocean Nino Index (ONI) ที่สูงกว่า 0.5 องศาเซลเซียส อาจต่อเนื่องถึงเดือน มี.ค. 2567 อีกทั้งปริมาตรน้ำใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ ณ 7 ก.พ. 2567 ลดลง 8% กดดันผลผลิตข้าวนาปรัง

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่เอลนีโญจะอ่อนกำลังลงและเข้าสู่ภาวะเป็นกลางมากขึ้นตั้งแต่เดือน เม.ย. 2567 จึงอาจกระทบผลผลิตข้าวนาปีไม่มาก ส่งผลต่อภาพรวมผลผลิตข้าวไทยในปีนี้ให้ยังอยู่ใสระดับสูงที่ราว 31 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งมีเพียงพอเพื่อการส่งออก

ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำคัญอย่าง “นโยบายส่งออกข้าวอินเดีย ในปี 2567” จะกระทบกับการส่งออกข้าวไทยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากอินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวหลักอันดับ 1 ของโลก ที่ครองสัดส่วนปริมาณส่งออกราว 40% โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มีความเป็นไปได้ที่อินเดียจะยกเลิกการห้ามส่งออกข้าวขาวในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 หลังผ่านพ้นการเลือกตั้งในเดือน เม.ย.-พ.ค. นี้ ประกอบกับ USDA คาดว่าผลผลิตข้าวของอินเดียในปีนี้อาจลดลงไม่มากที่ 2.8% ดังนั้น จากการที่อินเดียน่าจะกลับมาส่งออกข้าว ทำให้ไทยเผชิญการแข่งขันด้านราคากับอินเดีย จะกดดันการส่งออกข้าวขาวไทยในปีนี้ ให้ลดลง 17% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นประเภทข้าวที่ไทยส่งออกมากที่สุด

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในปี 2567 ภาพรวมมูลค่าการส่งออกข้าวไทย อาจลดลง 13% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จาก 5,144 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เป็น 4,495 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เนื่องจากปริมาณการส่งออกข้าวที่ลดลง 10% จาก 8.8 ล้านตัน เป็น 7.9 ล้านตัน และราคาส่งออกข้าวเฉลี่ยลดลง 3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จาก 587 ดอลล่าร์สหรัฐต่อตัน เป็น 569 ดอลล่าร์สหรัฐต่อตัน โดยสาเหตุหลักมาจากแรงฉุดของมูลค่าการส่งออกข้าวขาวที่ลดลงทั้งในด้านปริมาณและราคา เนื่องจากอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวหลังการเลือกตั้ง

 

ครองขวัญ รอดหมวน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เร่งแก้ “แต่ไร้ผล”

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมานานหลายปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ที่เมื่อความกดอากาศสูง มีกำลังอ่อนลง และเมื่อลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ จะส่งผลทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

30@30 โอกาส SME

สำหรับนโยบาย 30@30 เป็นที่พูดถึงมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 จนมาถึงปัจจุบันที่นวัตกรรมและเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยแพร่หลายมากขึ้น และ EV ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

อวดชาวโลกสีสันสงกรานต์2567

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี จะมีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ประชาชนส่วนใหญ่นิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัด และเดินทางกลับภูมิลำเนา แต่กรุงเทพมหานครก็ได้จัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมเชิญชวนชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าร่วมงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” บริเวณถนนราชดำเนินกลางและท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 11–15 เมษายนนี้