มาตรฐานคุมเหตุระทึกขวัญ!

ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านโทรศัพท์มือถือจะมีการพัฒนาไปได้ไกลอย่างก้าวกระโดดแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่มักพ่วงมาด้วยเสมอกับการใช้งานโทรศัพท์ก็คือแบตเตอรี่ ซึ่งนับว่าเป็นหัวใจสำคัญในการใช้งานสมาร์ทโฟน ที่ต้องมีการรับเข้า ส่งออกข้อมูลและสัญญาณอยู่ตลอดทั้งวัน แม้ว่าในยุคนี้ผู้ผลิตจะมีการคำนึงถึงเรื่องดังกล่าว และพัฒนาระบบให้สามารถมีอายุที่ยาวนานขึ้นตลอดทั้งวัน แต่รูปแบบการใช้งานของกลุ่มผู้บริโภคก็แตกต่างกันไป และอาจจะส่งผลให้แม้ว่าจะมีแบตเตอรี่ความจุมากเพียงใด ก็ไม่สามารถเพียงพอต่อการใช้งานได้ อุปกรณ์เสริมที่เข้ามามีบทบาทในช่วงก่อนหน้านี้จนถึงปัจจุบันก็คือแบตเตอรี่สำรอง หรือที่เรารู้จักกันในนามเพาเวอร์แบงก์

เป็นอุปกรณ์เสริมที่เข้ามาทำให้การใช้งานสมาร์ทโฟนในปัจจุบันไม่ติดขัด และสามารถอยู่ได้ตลอดทั้งวัน แต่ด้วยตัวเพาเวอร์แบงก์เองก็ถือว่าเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่สามารถสร้างผลกระทบให้กับผู้ใช้และสิ่งแวดล้อมได้ จึงจำเป็นต้องมีมาตรฐานเข้ามากำกับเช่นเดียวกับหม้อ กระทะ กาต้มน้ำ หรืออุปกรณ์ระบบไฟฟ้าทั้งหลาย และเมื่อเร็วๆ นี้ก็เกิดเหตุที่น่าตกใจกับระดับผู้บริหารกระทรวงที่นั่งดูแลโดยตรงกับหน่วยงานที่ต้องออกมาตรฐานกำกับเพาเวอร์แบงก์อย่าง น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม

ที่ล่าสุดเกิดเหตุเพาเวอร์แบงก์ของผู้โดยสารระเบิดบนเครื่องบินโดยสาร ขณะที่กำลังบินจากสนามบินดอนเมือง มุ่งหน้านครศรีธรรมราช ของสายการบินไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบิน FD3188 ออกเดินทางจากดอนเมือง เวลา 07.20 น. ของวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมีผู้โดยสารเต็มลำ 186 ชีวิต และรัฐมนตรีพิมพ์ภัทราที่กำลังเดินทางไป จ.นครศรีธรรมราช เพื่อลงพื้นที่ทำงาน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้โดยสารอย่างมาก ด้วยเหตุนี้เองส่งผลสะท้อนมายังการเลือกใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ที่ต้องได้มาตรฐาน

โดยหลังจากนั้น น.ส.พิมพ์ภัทรา จึงสั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เข้มงวดในการตรวจควบคุมเพาเวอร์แบงก์ทุกขนาด ทุกยี่ห้อที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดและทางออนไลน์ต้องได้มาตรฐาน เนื่องจากเพาเวอร์แบงก์เป็นหนึ่งในสินค้าในจำนวน 144 รายการ ที่เป็นสินค้าควบคุมของ สมอ. โดยเฉพาะเพาเวอร์แบงก์ที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ให้เพิ่มความถี่ในการตรวจควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สินค้าอย่างปลอดภัย และขอฝากถึงประชาชนให้เลือกใช้เพาเวอร์แบงก์ที่มีเครื่องหมาย มอก. และ QR Code ที่ปรากฏอยู่บนสินค้าเท่านั้น

โดยสามารถสแกนเพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของผู้ผลิตและผู้จำหน่าย รวมถึงคุณภาพของสินค้าว่าเป็นไปตามที่ระบุหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามที่ระบุสามารถร้องเรียนกลับมาที่ สมอ.ได้ทันที

ด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ต่อกรณีดังกล่าว สมอ.มิได้นิ่งนอนใจ หลังจากได้รับข้อสั่งการจากท่านรัฐมนตรีพิมพ์ภัทรา ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ประสานเพื่อตรวจสอบขยายผลอย่างเร่งด่วนถึงแหล่งที่มา รายละเอียดสินค้า และการขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้อง สมอ.จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ประกอบการรายนี้อย่างถึงที่สุด เนื่องจากเพาเวอร์แบงก์เป็นสินค้าควบคุมของ สมอ. การทำและนำเข้าจะต้องได้รับอนุญาตจาก สมอ.ก่อน

รวมถึงผู้จำหน่ายจะต้องขายเฉพาะสินค้าที่ได้มาตรฐานเท่านั้น มิฉะนั้นจะมีความผิดตามกฎหมาย ปัจจุบันมีผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตแล้วจำนวน 97 ใบอนุญาต แบ่งเป็นผู้ผลิตในประเทศจำนวน 8 ใบอนุญาต และผู้นำเข้าจำนวน 89 ใบอนุญาต สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้รับใบอนุญาตได้ที่เว็บไซต์ สมอ. www.tisi.go.th โดยเพาเวอร์แบงก์ที่ได้มาตรฐานจะผ่านการตรวจสอบจากห้องแล็บอย่างเข้มข้นประมาณ 20 รายการ เช่น สามารถทนความร้อนได้สูงถึง 70 องศาเซลเซียส หากลืมวางไว้ในรถยนต์ที่จอดตากแดด หรือที่ที่มีอุณหภูมิสูง ก็ยังอยู่ในสภาพปกติ ไม่บวมพอง หรือโก่งงอ ทนต่อการตกกระแทก ไม่แตกหักเสียหายง่าย ทนต่อความดันอากาศต่ำ

และ สมอ.ได้ฝากมายังผู้ประกอบการ หากท่านทำหรือนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐานจะถูกดำเนินคดี มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.

 

ณัฐวัฒน์ หาญกล้า

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เร่งแก้ “แต่ไร้ผล”

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมานานหลายปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ที่เมื่อความกดอากาศสูง มีกำลังอ่อนลง และเมื่อลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ จะส่งผลทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

“หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท

เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหนต่อ

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเวลานี้เหมือนคนป่วยโรคเรื้อรัง ที่อาการแค่ดีขึ้นเล็กน้อย แต่รักษายังไม่หายขาด ส่งผลให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ยังคงติดๆ ขัดๆ นับตั้งแต่ผ่านพ้นจากวิกฤตโควิดมากว่า 2 ปี