ปัญหาเมื่อคนไทยเกิดน้อยลง

เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศข้อมูลทะเบียนราษฎร ณ สิ้นปี 66 พบว่า มีคนไทย 66,052,615 คน ลดลง 37,860 คน เทียบกับปี 65 จากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าไทยกำลังเผชิญวิกฤตปัญหาประชากรคล้ายๆ กับอีกหลายประเทศซึ่งเจอภาวะแบบนี้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน หรือสิงคโปร์

ซึ่งตัวเลขนี้ไม่ใช่เรื่องดีนัก โดยจากข้อมูลวิชาการจากคณาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ฯ ที่ทำการศึกษาไว้เมื่อปีที่ผ่านมา มีข้อสรุปออกมาได้อย่างน่าสนใจ 4 ประเด็น คือ (1) จำนวนประชากรของประเทศไทยจะลดลงจาก 66 ล้านคนในปี ค.ศ.2023 เหลือเพียง 33 ล้านคนในปี ค.ศ.2083 (ราวๆ 60 ปีข้างหน้า)

(2) จำนวนประชากรวัยแรงงาน (ช่วงอายุ 15 ถึง 64) จะลดลงจาก 46 ล้านคนในปี ค.ศ.2023 เหลือเพียง 14 ล้านคนในปี ค.ศ.2083 (3) จำนวนประชากรวัยเด็ก (ช่วงอายุ 0 ถึง 14) จะลดลงจาก 10 ล้านคนในปี ค.ศ.2023 เหลือเพียง 1 ล้านคนในปี ค.ศ.2083 (4) ประเทศจะเต็มไปด้วยผู้สูงวัย (65+) เพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคนในปี ค.ศ. 2023 ไปเป็น 18 ล้านคนในปี ค.ศ.2083 โดยสัดส่วนประชากรสูงวัยจะมากกว่าร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ

เรื่องปัญหาประชากรกำลังจะเป็นปัญหาหลักที่จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศในหลายๆ ด้าน ยกตัวอย่างที่ชัดเจน เมื่อวัยหนุ่มสาวลดลง การบริโภคและกำลังซื้อก็มีแนวโน้มที่จะลดลง แถมค่าจ้างแรงงานก็อาจจะแพงขึ้น ซึ่งไม่ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ

และเมื่อวัยแรงงานมีน้อยลง กำลังการผลิตก็มีแนวโน้มจะลดน้อยลง ทำให้ธุรกิจขยายตัวได้ช้าและตลาดมีขนาดเล็กลง เศรษฐกิจจะไม่เติบโต และเมื่อมามองเรื่องการหารายได้ของรัฐ เมื่อประชากรมีจำนวนลดลง รัฐบาลก็จำเป็นต้องไปเก็บภาษีจากบริษัทและคนทำงานมากขึ้น ซึ่งก็ส่งผลต่อแรงจูงใจในการทำงานก็จะยิ่งน้อยลง

เห็นได้ชัดว่า นี่กำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลอาจจะต้องแก้ไขโดยด่วน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีกระแสข่าวมาอย่างต่อเนื่องว่ารัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข เตรียมจะกระตุ้นให้คนไทยมีลูก ผ่านการผลักดันในหลายแนวทางที่มีการยกระดับให้เรื่องนี้กลายเป็นวาระแห่งชาติ โดยเบื้องต้นเคยมีการระบุว่ารัฐบาล โดย สธ.จะสนับสนุนให้โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งจัดตั้งคลินิกส่งเสริมการมีบุตร บริการให้คำปรึกษา วางแผนการตั้งครรภ์ วินิจฉัยและรักษาภาวะมีบุตรยาก รวมถึงพยายามออกกฎระเบียบเรื่องความสมดุลการทำงานกับการดูแลครอบครัว การแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระในการเลี้ยงดูบุตร การช่วยเหลือคนที่มีบุตรยาก รวมไปถึงการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ในกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มหนุ่มโสด สาวโสดที่อยากมีบุตรแต่ไม่อยากมีคู่ ให้มีโอกาสที่จะมีบุตรได้

แน่นอนว่า ปัญหานี้ไม่สามารถจะแก้ไขได้ง่ายๆ เพราะในหลายประเทศก็มีการผลักดันมาตรการใหม่ๆ มากมาย อย่างในประเทศจีน มีการยกเลิกนโยบายที่ให้มีลูกแค่ 1 คน ซึ่งมีมากว่า 30 ปี และล่าสุดก็สนับสนุนให้มีลูกได้ถึง 3 คน รวมถึงพยายามลดภาระค่าใช้จ่ายสำหรับการมีลูก เช่น ค่าเรียนกวดวิชา หรือรัฐบาลสิงคโปร์จะมอบเงินสด 1.4 แสนบาทต่อบุตร 1 คน และจะเพิ่มเป็น 1.9 แสนบาทต่อคนสำหรับบุตรคนที่ 3 ขึ้นไป

ขณะที่ รัฐบาลเกาหลีใต้ให้โบนัสสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เป็นเงิน 8,000 บาทต่อเดือน ให้ค่าใช้จ่ายสำหรับเตรียมคลอด 54,000 บาท รวมถึงพ่อและแม่สามารถลางานเพื่อดูแลลูกได้ 3 เดือน รวมถึงหากพ่อแม่เปิดบัญชีเพื่อลูกกับธนาคารที่กำหนด จะได้รับเงินสมทบอีกเท่าตัวจากรัฐบาล ตั้งแต่ 1.4 ถึง 4.4 แสนบาทด้วย

ด้านของญี่ปุ่นก็มีการเพิ่มสิทธิให้กับผู้หญิงในการเลี้ยงดูบุตร เพิ่มศูนย์รับเลี้ยงเด็กทั่วญี่ปุ่น เพื่อลดภาระของพ่อแม่ และส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ชายเข้ามามีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูลูกมากขึ้น รวมถึงมีการอัดฉีดเม็ดเงินอีกมากมาย

แต่ทุกประเทศก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มจำนวนประชากรได้ตามที่วางแผนเอาไว้ ซึ่งจะบอกว่านี่ถือเป็นนโยบายที่คิดง่ายแต่เกิดผลยากจริงๆ เพราะปัญหาของคนยุคนี้ที่ไม่ยอมมีบุตร เพราะด้วยเรื่องของความเครียด คุณภาพชีวิต และการค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตที่อยู่ในระดับสูง ทำให้คนไม่ยอมมีทายาทเพิ่มสูงขึ้น

ดังนั้นก็คงต้องจับตาว่านโยบายของรัฐบาลจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องนี้แบบไหน อย่างไร หรือจะหันไปใช้แนวทางเหมือนบางประเทศ คือเปิดรับชาวต่างด้าวที่มีศักยภาพเข้ามาเป็นแรงงานทดแทน

ทั้งหมดนี้คงต้องจับตาก้าวต่อไปของรัฐบาล ในเรื่องการผลักดันนโยบายด้านโครงสร้างประชากรต่อไป.

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เร่งแก้ “แต่ไร้ผล”

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมานานหลายปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ที่เมื่อความกดอากาศสูง มีกำลังอ่อนลง และเมื่อลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ จะส่งผลทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

“หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท

เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหนต่อ

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเวลานี้เหมือนคนป่วยโรคเรื้อรัง ที่อาการแค่ดีขึ้นเล็กน้อย แต่รักษายังไม่หายขาด ส่งผลให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ยังคงติดๆ ขัดๆ นับตั้งแต่ผ่านพ้นจากวิกฤตโควิดมากว่า 2 ปี