แผนยกทักษะคนวัย 40 ขึ้น ตั้งรับยุค AI ของสิงคโปร์

ถ้าเราจะช่วยให้คนไทยแปร “ภัยคุกคาม” อันเกิดจากเทคโนโลยีเป็น “โอกาส” ก็ต้องมีการฝึกทักษะใหม่ให้แก่คนที่มีหน้าที่การงาน ที่อาจจะถูกทดแทนโดยวิทยาการสมัยใหม่

รัฐบาลไม่ควรแจกปลาให้ประชาชน แต่ควรจะสอนวิธีตกปลาเพื่อให้เขาหากินด้วยตนเองได้

นั่นคือการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อปรับตัวให้ทันกับอาการ “ป่วน” ที่ทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่

รัฐบาลสิงคโปร์เพิ่งประกาศว่า คนสิงคโปร์ทุกคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จะได้รับเครดิต SkillsFuture มูลค่า  4,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 1 แสนบาท) ในเดือนพฤษภาคมนี้

เพื่อส่งเสริมให้คนทำงานระดับกลางได้ฟื้นฟูทักษะและความก้าวหน้าในอาชีพของตน...พูดง่ายๆ คือจะได้ไม่ตกงานในยามกลางคน

เงินอุดหนุนก้อนนี้ไม่แจกเป็นเงินสด แต่ชี้เฉพาะให้ไปเรียนหนังสือและแสวงหาทักษะฟรี

เป็น “เครดิต” ของรัฐบาลให้ทุกคนไปฝึกฝนเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ด้วยการไปศึกษาต่อในระดับอนุปริญญาเต็มเวลาอีกหลักสูตรหนึ่งที่โพลีเทคนิค สถาบันการศึกษาด้านเทคนิคและสถาบันศิลปะ ตั้งแต่ปีการศึกษาหน้าเป็นต้นไป

โครงการนี้ชื่อ SkillsFuture Level-Up

เป็นการขยายวงเงินและกรอบการเรียนรู้ในโครงการฝึกอบรมที่จะช่วยการจ้างงานที่ดีขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นระดับอนุปริญญานอกเวลาและเต็มเวลา ตลอดจนหลักสูตรต่อยอดจากอนุปริญญาและระดับปริญญาตรี

เงินอุดหนุนก้อนนี้ไม่มีวันหมดอายุ ใครมีอายุ 40 ปีขึ้นไปจะได้รับเบี้ยเลี้ยงการฝึกอบรมทุกเดือน เมื่อลงทะเบียนในหลักสูตรเต็มเวลาที่เลือกตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป

เป็นการชดเชยการสูญเสียรายได้บางส่วนจากการลางาน

หลักสูตรที่มีสิทธิ์ ได้แก่ หลักสูตรเต็มเวลา SkillsFuture Career Transition Program

รวมถึงหลักสูตรเต็มเวลาที่ได้รับทุนสนับสนุนจากภาครัฐ ที่สถาบันการศึกษาระดับสูงและสถาบันศิลปะจนถึงระดับปริญญาตรี

ทุกคนสามารถรับเงินค่าฝึกอบรมได้สูงสุด 24 เดือนตลอดชีวิต

ใครว่างงานเกินหนึ่งปีจะไม่ได้รับเงินค่าฝึกอบรม

นายจ้างจะได้ประโยชน์ด้วย เพราะการฝึกอบรมและการยกระดับทักษะสามารถขยายโอกาสทางอาชีพและผลงานให้แก่พนักงานได้

มันคือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Life-long learning ซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับคนในยุคปัจจุบัน

รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง ลอเรนซ์ หว่อง (ว่าที่นายกฯ คนต่อไป) แจ้งว่ารัฐบาลจะทุ่มทุนในการสร้าง “ทุนมนุษย์”

               เพราะในยุคสมัยนี้การเรียนรู้ไม่สามารถหยุดลงเมื่อการศึกษาในระบบสิ้นสุดลง

นั่นแปลว่าเรียนจบในระบบการศึกษาแล้วเป็นเพียงการเริ่มต้นเรียนรู้เท่านั้น

เพราะหลักสูตรในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยไม่อาจจะปรับตัวได้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงที่เห็นอยู่ทุกวันนี้

แม้ว่าคนสิงคโปร์จะเชื่อว่าตัวเองอยู่ในอันดับที่สูงในแง่ของทักษะและความสามารถทางเทคนิค แต่ความเชี่ยวชาญเดิมๆ ไม่อาจจะตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานใหม่ๆ ที่ปรับเปลี่ยนไปตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ไม่รอใคร

ความจริงสิงคโปร์เริ่มโครงการ SkillsFuture  มาตั้งแต่เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว เพราะเขาเห็น “ภัยคุกคาม” จากเทคโนโลยีตั้งแต่ตอนนั้น

จากนั้นเป็นต้นมา งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในด้านการศึกษาและการฝึกอบรมต่อเนื่องก็เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเป็น 900 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 23,000 ล้านบาท) ในปีที่ผ่านมา

และจะยังมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกมาก เพราะ "การยกระดับทักษะอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตมีความสำคัญมากกว่าที่ผ่านมา”

ภายใต้โครงการ SkillsFuture จะมีการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่คนงานที่ “ว่างงานโดยไม่สมัครใจ”

หมายถึงคนที่อยากทำงาน แต่ตลาดงานเปลี่ยนไปจนตัวเองไม่อาจจะตามได้ทัน

เป็นหน้าที่รัฐบาลต้องช่วยเหลือคนเหล่านี้

แต่ต้องเป็นการวางเงื่อนไขที่เหมาะสม ไม่ “อุ้มเกินเหตุ” แต่ขณะเดียวกันก็มีความช่วยเหลือที่ตอบโจทย์ของสังคมให้ได้อย่างเหมาะควร

เพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดที่ประเทศอื่นๆ ประสบเมื่อมีการเสนอสิทธิประโยชน์การว่างงานที่ถูกใช้ไปในทางที่เสียหายและเปลืองเปล่า

เพราะขณะที่ในบางภาคส่วนของเศรษฐกิจ บริษัทต่างๆ จะต้องปล่อยพนักงานออกไป ในขณะที่ในภาคส่วนอื่นๆ จะมีการสร้างงานใหม่

โจทย์ใหญ่คือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถฝึกคนเก่าให้มีทักษะใหม่เพื่อลดตัวเลขคนว่างงาน

นี่คือหนึ่งในตัวอย่างของการบริหาร “ทุนมนุษย์” ของประเทศที่มีประชากรน้อยและต้องพึ่งพาทั้งทุนและบุคลากรจากต่างประเทศอย่างสิงคโปร์

อาจจะเป็นเพราะเขามีความขาดแคลน จึงต้องดิ้นรนหาทางที่จะอยู่ในสภาพ “เตรียมพร้อมรับวิกฤต” ตลอดเวลา

 ขณะที่เรายังคลำทางที่จะเกาะติดความเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างยุทธศาสตร์เรื่อง “ทุนมนุษย์” ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังโหมกระหน่ำใส่เราอย่างหนักหน่วง

ใครได้ฟังคำอภิปรายของรัฐมนตรีและ สส.ในสภาของสิงคโปร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ จะเห็นว่าเขาติดตามข่าวสารระดับโลกอย่างทันท่วงที

และแปรเอาข้อมูลเหล่านั้นมาปรับเป็นนโยบายที่ต้องก้าวให้ทันกับคลื่นลูกใหม่ ที่จะมีผลต่ออนาคตของประเทศเขาตลอดเวลา

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า “วิสัยทัศน์” นั้น ถ้าไม่มี “แผนปฏิบัติการ” ที่เป็นรูปธรรมก็เป็นเพียง “ความฝัน”  ลมๆ แล้งๆ เท่านั้น!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมียวดี: สงคราม, ทุนสีเทา, กาสิโน, มาเฟียและยาเสพติด

สงครามในเมียวดีตรงข้ามแม่สอดของจังหวัดตากของไทยซับซ้อนกว่าเพียงแค่การสู้รบแย่งชิงพื้นที่ระหว่างฝ่ายกองทัพพม่ากับฝ่ายต่อต้านเท่านั้น

งบมะกันก้อนใหม่จะช่วยยูเครน พลิกสถานการณ์สู้รบได้แค่ไหน?

แม้ว่ารัฐสภาสหรัฐฯจะเปิดไฟเขียวให้งบประมาณช่วยเหลือทางทหารก้อนใหม่ แต่ยูเครนก็ยังต้องดิ้นรนไม่ให้แพ้สงครามกับรัสเซีย

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร