แค้นต้องชำระ

สงสัยแต่คนอื่น

แต่ไม่เคยคิดสงสัยพฤติกรรมของตัวเอง

ก็เรื่องที่ พรรคก้าวไกล ยื่นหนังสือให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอญัตติด่วนขอให้สภาฯ ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและขอบเขตอำนาจนิติบัญญัติ นั่นแหละครับ

เข้าทำนองแค้นนี้ต้องชำระ!

เรื่องมัน สืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คดีล้มล้างการปกครอง ที่พรรคก้าวไกล และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์  เสนอแก้ ม.๑๑๒ โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง

เป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย สถาบันพระมหากษัตริย์

พรรคก้าวไกลข้องใจ มองว่าศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจเกินขอบเขต แม้ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะอธิบายพฤติกรรมไว้อย่างละเอียดก็ตามที 

ย้อนกลับไปดูอีกครั้งครับ

"...การที่ผู้ถูกร้องเสนอให้ความผิด มาตรา ๑๑๒ ยอมความได้ โดยเพิ่มความในมาตรา ๑๓๕/๙ วรรคหนึ่งว่า เป็นความผิดยอมความได้ และวรรคสอง ให้สำนักพระราชวังร้องทุกข์ และถือว่า เป็นผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติพระมหากษัตริย์นั้น และให้สำนักพระราชวัง ในฐานะผู้เสียหายร้องทุกข์

มุ่งหมายให้การกระทำผิดตามมาตรา ๑๑๒ กลายเป็นความผิดในเรื่องส่วนพระองค์ของสถาบันฯ เป็นการลดสถานะความคุ้มครองของสถาบันฯ ให้รัฐไม่ต้องเป็นผู้เสียหายในเรื่องดังกล่าวโดยตรง และให้สถาบันฯ เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน และจะเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖ ส่งผลให้การกระทำผิด มาตรา ๑๑๒ ไม่ใช่การกระทำผิดที่กระทบต่อชาติ และประชาชน

ทั้งที่การกระทำผิดดังกล่าว ย่อมเป็นการทำร้ายจิตใจของชนชาวไทย ที่มีความเคารพสถาบันฯ เพราะทรงเป็นประมุข และศูนย์รวมความเป็นชาติ ที่รัฐต้องคุ้มครอง และรัฐต้องเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา..."

"...การที่ผู้ถูกร้อง เสนอแก้ไขมาตรา ๑๑๒ เพื่อลดสถานะของสถาบันฯ เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้นโยบายพรรคโดยนำสถาบันฯ หวังผลคะแนนเสียง และประโยชน์ในการชนะเลือกตั้ง

มุ่งหมายให้สถาบันฯ อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน  ทำให้สถาบันฯ เป็นฝักใฝ่ ต่อสู้ แข่งขัน หรือรณรงค์ทางการเมือง อันอาจนำมาซึ่งการโจมตี ติเตือน ไม่คำนึงหลักการพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีหลักสำคัญว่า พระมหากษัตริย์ต้องดำรงฐานะอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมือง

การที่ผู้ถูกร้อง เสนอแก้ไข มาตรา ๑๑๒ และใช้เป็นนโยบายพรรคหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าว มีเจตนา เซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันฯ เป็นเหตุให้สถาบันฯ ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เป็นเหตุให้นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องทั้ง ๒ ฟังไม่ขึ้น..."

การให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับประชาชน แค่นี้ก็เห็นชัดเจนแล้วว่า พรรคก้าวไกลมีเจตนาทำลาย

ลองให้การแก้ ม.๑๑๒ เป็นไปตามแนวทางของพรรคก้าวไกลสิครับ มวลชนพรรคก้าวไกล อาจรวมถึงนักการเมืองในพรรคก้าวไกล ดาหน้าแสดงตัวเป็นคู่ขัดแย้งสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแน่นอน

สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น คงเลี่ยงไม่ได้ คือการนองเลือดครั้งใหญ่

เพราะประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ไม่ได้คิดแบบพรรคก้าวไกล

คดีแก้ ม.๑๑๒ ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยไปตามอำนาจหน้าที่ ไม่มีอะไรบกพร่องเลย

ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจทำอะไรได้บ้าง

รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ กำหนดหน้าที่และอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไว้ดังนี้

หน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการเป็นองค์กรที่พิทักษ์ความเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ด้วยการทำหน้าที่ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ตรวจสอบร่างกฎหมายก่อนมีการประกาศใช้ ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของเงื่อนไขการตราพระราชกำหนดและตรวจสอบกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้ว

คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ระบอบการปกครอง และความมั่นคงและบูรณภาพแห่งรัฐ

หน้าที่และอำนาจในการพิจารณาว่า ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี มีการกระทำใดที่มีผลต่อการใช้งบประมาณรายจ่าย

การวินิจฉัยการสิ้นสุดสมาชิกภาพหรือคุณสมบัติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา

หน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐

การพิจารณาวินิจฉัยมติคณะรัฐมนตรีหรือการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี ตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐

โดยการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี  หรือองค์กรอิสระ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๑๐ วรรคหนึ่ง (๒) ได้บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร  วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ โดยไม่จำเป็นต้องเกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กร ดังเช่นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐

หน้าที่และอำนาจทั้งหมดของศาลรัฐธรรมนูญที่กล่าวมานี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งการรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ

สร้างความถูกต้องตามหลักนิติธรรม

ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

และธำรงไว้ซึ่งหลักการอันเป็นสาระสำคัญแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นี่คือสิ่งที่พรรคก้าวไกลต้องทำความเข้าใจเสียก่อน

ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ศาลเตี้ย ที่ไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์  นึกจะเล่นงานใครก็ทำได้ตามใจชอบ

หลายกรณีพรรคก้าวไกลได้ประโยชน์จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในช่วงเวลาดังกล่าวคิดจะตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง รวมทั้งมีคำวินิจฉัยที่เป็นคุณกับพรรคก้าวไกลก็หลายกรณี

ฉะนั้นอย่ามองเหรียญด้านเดียว

แน่นอนครับ หากญัตติด่วนของพรรคก้าวไกล ถูกนำไปพิจารณาในสภา จะมีการใช้สภาโจมตีการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งๆ ที่ รัฐธรรมนูญทุกฉบับที่มีศาลรัฐธรรมนูญ ต่างก็บัญญัติเหมือนๆ กันว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐ

แต่พรรคก้าวไกลไม่ยอม

อยากจะรื้อขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญเสียใหม่

พรรคก้าวไกลอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญขยายอำนาจในการตีความ ก้าวก่าย และล้ำแดนฝ่ายนิติบัญญัติ

นี่หรือนักการเมืองรุ่นใหม่ที่อ้างว่าโปร่งใส พร้อมให้ตรวจสอบ

แต่กลับมีพฤติกรรม ที่พร้อมจะตัดแขนตัดขาองค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบ        

เหม็นขี้ฟันจริงๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ครม.ทักษิณาฐา'

ส่องกันอยู่ร่วมเดือน รัฐมนตรี ว่าที่รัฐมนตรี ลุ้นกันชนิดกินข้าวไม่ได้นอนไม่หลับกันหลายวัน เพราะคนที่อยู่ไม่รู้ว่าจะหลุดหรือไม่ ส่วนคนมาใหม่ไม่รู้จะได้เสียบหรือเปล่า

'นักโทษ'ตรวจการบ้าน

ยกประเทศให้ไปเลยดีมั้ยครับ นานๆ ประชดที เพราะทนเห็นบางคนยังใช้สันดานเดิม เป็นสันดานที่ทำให้ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศนานถึง ๑๗ ปีไม่ได้

เลือกคุกจะได้คุก

ว่อนสิครับ! หนังสือจาก "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ตายหมู่ไปกับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

ในที่สุดก็ชัดเจน ถือเป็นความรับผิดร่วมกันของคณะรัฐมนตรี โดยมิอาจมีใครปฏิเสธในภายหลังได้เลยว่า ไม่มีส่วนรับรู้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนหัวละ ๑ หมื่นบาท ด้วยงบประมาณกว่า ๕ แสนล้านบาท

มันมากับความเงียบ

งานเลี้ยงใกล้เลิกรา... สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคมนี้แล้วครับ