บูรณาการแก้ของแพง

ช่วงนี้มองไปทางไหนก็เจอแต่ของแพง ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และราคาวัตถุดิบต่างๆ ก็ขยับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลทางจิตวิทยาจากราคาเนื้อหมูที่แพงจนสร้างประวัติศาสตร์ ยังไม่นับราคาพลังงาน ทั้งก๊าซหุงต้ม หรือ ราคาน้ำมันที่ก็ขยับตัวในขาขึ้นมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา

สิ่งเหล่านี้ล้วนกดดันทีมงานเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะต้องคิดและวางนโยบายในการแก้ปัญหา ทั้งในรายสินค้าและในส่วนของโครงสร้างมหภาค

ซึ่งต้องยอมรับว่า เสถียรภาพของรัฐบาลก็สั่นคลอนไม่ใช่น้อยจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ที่มาหลายระลอก ยังมาเจอซ้ำเติมกับปัจจัยราคาอาหารที่ปรับแพงขึ้นไปอีก ซึ่งทั้งหมดก็จะนำไปสู่การกระทบภาวะเศรษฐกิจในภาพใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องค่าครองชีพอันน่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาจัดการ ซึ่งภาระหน้าที่นี้เป็นของกระทรวงพาณิชย์และกรมการค้าภายในที่จะต้องทำงานอย่างหนัก ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ก็เตรียมจะเสนอของบกลางในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 ม.ค.2565 วงเงินประมาณ 1,400 ล้านบาท มาจัดทำโครงการพาณิชย์ลดราคา! ลดค่าครองชีพประชาชน เพื่อเพิ่มทางเลือก สร้างความสมดุลด้านราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพในตลาดและการบริโภคภาคครัวเรือนในสถานการณ์นี้ ซึ่งจะเป็นโครงการระยะ 90 วัน หรือ 3 เดือน

ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังก็เตรียมช่วยเพิ่มกำลังซื้อ ผ่านการอุดหนุนงบประมาณแบบร่วมจ่าย อย่างโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 ที่จะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนในวันวาเลนไทน์ที่จะถึงนี้ แล้วคาดว่าจะเริ่มใช้เงินได้ ช่วงต้นเดือนมีนาคม ซึ่งก็จะช่วยลดภาระการใช้จ่ายได้

แต่อย่างไรก็ดี มันเป็นโครงการที่แก้ไขได้เพียงระยะสั้น สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำคือ การสร้างภาพรวมของเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโต แข็งแกร่ง ซึ่งนี่จะช่วยให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ โดยเฉพาะการสร้างเศรษฐกิจ กระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน หรือการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาค่าครองชีพที่ยั่งยืนกว่า

แต่อย่างไรก็ดียังมีสิ่งที่รัฐบาลจะต้องคิดให้รอบคอบ นั่นก็คือ เรื่องอัตราเงินเฟ้อ เพราะต้องยอมรับว่าจากราคาสินค้าที่แพงขึ้นพร้อมๆ กันหลายรายการ ย่อมส่งผลกระทบไปยังเรื่องเงินเฟ้อด้วย โดยการที่เงินเฟ้อมากไปก็จะไม่ส่งผลดี ซึ่งตอนนี้ในหลายประเทศก็กำลังเจอภาวะเงินเฟ้อเล่นงานอย่างหนัก ทั้งในสหรัฐอเมริกาหรือในอินเดีย

ขณะที่ในส่วนของไทย กระทรวงพาณิชย์มีการคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2565 เดิมคาดไว้ว่าจะอยู่ในช่วง 0.7-2.4% ซึ่งก็เป็นอัตราที่ยังไม่สูง แต่การได้เห็นระดับราคาสินค้าขยับสูงอย่างต่อเนื่องก็อาจจะต้องเข้าไปจัดการในท้ายที่สุด

ซึ่งปัญหานี้เหมือนทางสองแพร่ง เพราะการจัดการเงินเฟ้อจะต้องใช้นโยบายการเงินอย่างการขึ้นดอกเบี้ยมาเป็นตัวช่วย แต่ว่าสิ่งที่น่าห่วงคือ สภาพเศรษฐกิจไทยยังมีความอ่อนแอ และยังจะต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำในการดูแลเศรษฐกิจ ดังนั้นการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อก็จะกลายเป็นการสกัดเศรษฐกิจไปในตัวด้วย โดยประเด็นนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องเข้าไปดูแล แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าฝีมือรัฐบาลจะจัดการปัญหาราคาสินค้าได้ดีแค่ไหนด้วย

ดังนั้นถึงย้ำว่า เป็นงานหนักของรัฐบาลที่จะต้องร่วมช่วยกันแก้ปัญหา จะต้องหาทางออกในเรื่องนี้ให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาใหญ่ตามมา เพราะเป็นเรื่องปกติที่ของยิ่งแพงยิ่งทำให้คนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ส่งผลให้ความต้องการในการฟื้นเศรษฐกิจทำได้ยากยิ่งขึ้น

 ดังนั้น ต้องวัดฝีมือของรัฐบาลที่จะบูรณาการแก้ปัญหาราคาสินค้าแพง เพื่อไม่ให้ไปกระทบกับอัตราเงินเฟ้อ และนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น.

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เดินให้สุดทำอย่างจริงจัง

ปัจจุบันพบปัญหาถังก๊าซหุงต้มในท้องตลาดเสื่อมสภาพและหมดอายุตกค้างอยู่ในระบบจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการลักลอบนำถังก๊าซหุงต้มมาเติมในสถานีบริการ LPG เป็นระยะ ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว

ดันสงกรานต์ไทยสู่เทศกาลโลก

หลังจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงมหาดไทย จับมือจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567”

เน้นเชิงรับมากกว่าเชิงรุก

ก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas) หรือก๊าซ LPG ด้วยคุณสมบัติพิเศษของมันก็คือ การที่มีสารโพรเพนและบิวเทนอยู่ในตัว ซึ่งสารสองนี้เป็นสารที่ติดไฟง่าย

เจาะลึกพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวไทย

ในช่วงที่ผ่านมาได้มีผลการวิจัยของมินเทล (Mintel) พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยหันมาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้นในการหาแรงบันดาลใจด้านการท่องเที่ยว และแบ่งปันประสบการณ์ท่องเที่ยวของตนเอง

วิกฤตเลวร้ายกว่าต้มยำกุ้ง?

ตกเป็นประเด็นอีกครั้ง สำหรับเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจของไทย เพราะล่าสุด 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรีได้มาพูดย้ำว่า ประเทศไทยตอนนี้มันยากกว่าสมัยช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะมีความซับซ้อนและยากมากกว่า และมองว่าการแก้ไขมันต้องมีการเปลี่ยน เพราะโลกมันเปลี่ยนไม่เหมือนเดิม

จับชีพจร“ท่องเที่ยวไทย”เริ่มฟื้นตัว

“ท่องเที่ยว” ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนและกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ เรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมหลักๆ ที่สร้างรายได้มหาศาลให้ประเทศตลอดช่วงที่ผ่านมา