
หลังจากง้างมานาน ในที่สุดรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติชัดเจนอนุมัติแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (รถอีวี) ซึ่งรายละเอียดของมาตรการแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ มาตรการระยะแรก ตั้งแต่ปี 2565-2566 รัฐบาลจะมีมาตรการสนับสนุนทั้งรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ (CKD) และรถยนต์ที่นำเข้าทั้งคัน (CBU) โดยลดอัตราภาษีศุลกากรและภาษีสรรพสามิต ส่วนมาตรการระยะกลาง ตั้งแต่ปี 2567-2568 จะลดภาษีเฉพาะรถยนต์ที่ประกอบในประเทศ
สำหรับมาตรการระยะแรกให้นำเข้ารถ CBU/CKD เพื่อสนับสนุนการทดลองตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ คือ รถยนต์ที่นำเข้าแบบ CBU ที่ได้รับสิทธิ์จะต้องมีราคาขายปลีกแนะนำดังนี้ ราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท ลดอากรสูงสุด 40% ลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% ซึ่งแบ่งตามความจุแบตเตอรี่ พ่วงด้วยเงินอุดหนุน 70,000 บาท
สำหรับความจุแบตเตอรี่ 10-30 kWh และเงินอุดหนุน 150,000 บาท สำหรับความจุแบตเตอรี่มากกว่า 30 kWh ราคา 2-7 ล้านบาท ลดอากรสูงสุด 20% สำหรับความจุแบตเตอรี่มากกว่า 30 kWh ส่วนรถกระบะ ราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท ลดภาษีสรรพสามิต 0% และเงินอุดหนุน 150,000 บาท แบตเตอรี่มากกว่าหรือเท่ากับ 30 kWh
ส่วนระยะกลาง (2567-2568) อนุญาตให้นำเข้าชิ้นส่วน CKD เพื่อส่งเสริมการผลิตในประเทศ โดยรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องมีราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท อากรขาเข้าชิ้นส่วน BEV 0% ลดภาษีสรรพสามิต 8% เหลือ 2% พ่วงด้วยเงินอุดหนุน 70,000 บาท สำหรับความจุแบตเตอรี่ 10-30 kWh และเงินอุดหนุน 150,000 บาท สำหรับความจุแบตเตอรี่มากกว่า 30 kWh ส่วนราคา 2-7 ล้านบาท อากรขาเข้าชิ้นส่วน BEV 0% มากกว่าหรือเท่ากับ 30 kWh
ส่วนรถกระบะ ราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท อากรขาเข้าชิ้นส่วน BEV 0% ลดภาษีสรรพสามิต 0% และเงินอุดหนุน 150,000 บาท แบตเตอรี่มากกว่าหรือเท่ากับ 30 kWh
ทั้งหมดคือ มาตรการที่รัฐออกมาส่งเสริม ซึ่งแน่นอนมันคือจุดเริ่มต้นของการสร้างอุตสาหกรรมรถยุคใหม่ ที่กำลังจะเปลี่ยนยุคจากเครื่องยนต์สันดาปมาเป็นรถขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า
แน่นอน มาตรการนี้กระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ขณะเดียวกันก็หนุนให้ค่ายรถยนต์ต้องปรับตัว ซึ่งมีการประเมินคร่าวๆ ว่าในช่วงแรกน่าจะเป็นการแข่งขันของค่ายรถยนต์ 3 ค่าย จีน 2 ญี่ปุ่น 1 นั่นก็คือ MG, GWM และนิสสันจากญี่ปุ่น เนื่องจากทั้ง 3 ค่ายนี้ มีสินค้าที่พร้อมขายแล้วในตลาด ซึ่งมีการประเมินว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่จะขายจะมีราคาราว 8-1.2 ล้านบาท ซึ่งอาจจะเป็นราคาที่ยังพอจับต้องได้ สำหรับประชาชน ส่วนเจ้าตลาดอย่างโตโยต้าหรือฮอนด้าอาจจะเห็นรถยนต์ไฟฟ้าของค่ายนำเข้ามาขายในช่วงปลายปี
ทั้งนี้ นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิตให้สัมภาษณ์ว่า หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ ทางกรมฯ จะมีการลงนามสัญญาความร่วมมือกับค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการได้ในช่วงเดือน มี.ค.65 โดยในปีแรกจะใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาทเพื่ออุดหนุน และหากมีความต้องการมากกว่านั้นจะมีการพิจารณาขอขยายกรอบงบประมาณอีกครั้ง ส่วนวงเงินที่เหลืออีก 40,000 ล้านบาท ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นผู้จัดหาแหล่งงบประมาณ ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายว่าในปี 2573 ต้องมีการผลิตรถยนต์อีวี 30% ของกำลังการผลิตรถน้ำมัน
ขณะที่โบรกเกอร์อย่างบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) โดยนายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ ชี้ว่า มาตรการนี้มีเป้าหมายจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถอีวีประมาณ 3 แสนคัน ในระยะเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2565 ทำให้หุ้นที่ได้อานิสงส์เชิงบวกมีตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำของกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ ผู้นำเข้า ผู้ขนส่ง ผู้ผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ผู้ให้บริการสถานีชาร์จแบตเตอรี่ และผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีหุ้นขนาดใหญ่หลายตัวในตลาดรวม อาทิ หุ้นอีเอ ปตท. โออาร์ โดยจะเห็นว่าราคาปรับขึ้นมาตอบรับปัจจัยบวกดังกล่าวได้ค่อนข้างดี ซึ่งในระยะสั้นจะเห็นหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ธุรกิจนำเข้า ขนส่ง ท่าเรือ บวกขึ้นและสร้างบรรยากาศให้ดูดีนำไปก่อน จากนั้นในระยะยาวจะได้เห็นอานิสงส์เชิงบวกกับหุ้นที่เป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศได้จริง แต่มองว่าอาจต้องใช้เวลาสัก 1-2 ปีต่อจากนี้
ใครที่กำลังมองหารถยนต์ไฟฟ้าสำหรับเป็นทางเลือกของรถคันต่อไป มาตรการนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการซื้อ และเชื่อว่า งาน Motor Show 2022 ที่จะจัดขึ้นในช่วง 23 มีนาคม-3 เมษายนนี้ จะเป็นงานที่รถไฟฟ้าคึกคักที่สุด.
ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แผนดันเศรษฐกิจไทยด้วยซอฟต์เพาเวอร์
ในช่วงปีที่ผ่านมา คนไทยมักจะได้ยินคำว่าซอฟต์เพาเวอร์ (Soft Power) อย่าหนาหู เพราะมีกระแสเกิดขึ้นมากมาย ทำให้ผลผลิต สินค้า ผลิตภัณฑ์ และบริการของไทยนั้นได้รับความนิยมมากขึ้น
ล้อมคอกแท็กซี่นอกรีต
ดูเหมือนว่าปัญหาแท็กซี่เอารัดเอาเปรียบผู้โดยสารจะกลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้ง หลังจากโลกออนไลน์ได้มีการโพสต์ถึงพฤติกรรมแท็กซี่ไม่กดมิเตอร์-โก่งราคาผู้โดยสารชาวต่างชาติ หนักหนาสาหัสไปกว่านั้นคือไม่รับผู้โดยสารคนไทย ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นที่บริเวณอิมแพ็ค
ESGความยั่งยืนคือ“โอกาส”
ESG แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืนกำลังได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลกในปัจจุบัน และไม่ใช่แค่เทรนด์เท่านั้น เป็นแนวคิดระดับโลกที่ธุรกิจทุกขนาดจะต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้โลกของเราอยู่ได้อย่างยั่งยืน และธุรกิจสามารถดำเนินต่อได้ในอนาคต โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก
ยังต้องจับตาดูเศรษฐกิจรอบโลก
ดูเหมือนว่าจะยังมีหลายสถานการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ต้องเฝ้าจับตาดูในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะทางฝั่งของสหรัฐ ที่เฟดเผยว่าอาจไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงมาก
การจัดตั้งรัฐบาลในม่านหมอก
ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการเซ็น MOU ของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่ง MOU ฉบับนี้ถือเป็นข้อตกลงร่วมกันของรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคก้าวไกล โดยในเนื้อหาหลักของข้อตกลงนี้มีหลายประเด็น ทั้งในมิติด้านการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา สิ่งแวดล้อม และนโยบายด้านการต่างประเทศ
ปี66ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงเหนื่อย!
เทรนด์การดูแลสัตว์เลี้ยงในปัจจุบันที่มีรูปแบบการดูแลเสมือนคนในครอบครัว (Pet Humanization) มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง