วิกฤตยูเครนส่งผลถึงไทย

สถานการณ์ความตึงเครียดจากการที่รัสเซียใช้กำลังทหารกรีธาทัพเข้าไปในประเทศยูเครน ซึ่งขณะนี้เวลาก็ผ่านมากว่า 5 วันแล้ว ดูเหมือนสถานการณ์การสู้รบยังคงดุเดือดและยังไม่มีท่าทีที่จะสงบลงง่ายๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีคือ แรงกระเพื่อมต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดเงิน ตลาดทุน ที่ดิ่งพร้อมกันทั่วโลก รวมไปถึงเงินสกุลดิจิทัลที่พร้อมใจกันดิ่งลงเหว ขณะเดียวกันสิ่งที่กระทบทันทีคือราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้น

 แน่นอนการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันกลายเป็นปัญหาโดยตรงที่ได้รับผลกระทบจากการทำสงครามของทั้งสองประเทศ และอย่างที่ทราบ น้ำมันเป็นต้นทางของการผลิต ซึ่งเมื่อราคาขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อและค่าครองชีพ

ล่าสุด มีการประเมินว่าหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่นอกจากจะพุ่งสูงขึ้นแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยด้วย เนื่องจากในขณะนี้ก็มีความชัดเจนว่านานาชาติต่างก็เริ่มที่จะใช้กระบวนการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน

โดยทางธนาคารกสิกรไทยได้ออกมาแจ้งเตือนภาคธุรกิจให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (Economic Sanctions) จากประเทศต่างๆ ที่จะนำมาใช้กับรัสเซีย ซึ่งจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจและตลาดเงินของรัสเซีย และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานในยุโรป รวมถึงสถาบันการเงินและภาคธุรกิจของยุโรปที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจในรัสเซีย ซึ่งอาจทำให้การค้าระหว่างไทย-รัสเซีย-ยูเครนมีอุปสรรคในการทำธุรกรรมทางการเงิน ทั้งการหาธนาคารรับรอง การเปิดบัญชีธุรกิจข้ามชาติ (แอล/ซี) การชำระเงิน การโอนเงินต่างๆ เป็นต้น

และหากสถานการณ์พลิกผันไปสู่สงครามที่ขยายวงกว้าง เศรษฐกิจโลกอาจจะเข้าสู่ภาวะหดตัว และเกิดภาวะเงินเฟ้อในระดับสูงจากราคาพลังงานที่พุ่ง (Stagflation) แต่เชื่อว่าหลายฝ่ายมีความพยายามที่จะเจรจาให้มีข้อยุติโดยเร็ว โดยธนาคารกสิกรไทยจะเฝ้าระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจของลูกค้า และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์พบว่า ไทยส่งออกไปรัสเซียมีมูลค่าประมาณ 1,028 ล้านดอลลาร์ฯ เติบโตสูงถึง 42% โดยการส่งออกไปรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนราว 0.4% ของมูลค่าการส่งออกไทยไปตลาดโลก ขณะที่สินค้าส่งออกหลักของไทยไปตลาดรัสเซียได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกล ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ซึ่งสินค้าเหล่านี้หลายรายการเป็นการส่งออกภายใต้สิทธิ์ GSP ที่ไทยได้รับจากกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช หรือ CIS (Commonwealth of Independent States มีสมาชิก 12 ประเทศ รวมรัสเซีย)

ส่วนยูเครนนั้น ในปี 2564 ไทยส่งออกไปเป็นมูลค่าประมาณ 135 ล้านดอลลาร์ฯ เติบโตสูง 35.7% เช่นกัน แต่สัดส่วนยังน้อยอยู่มาก โดยสินค้าส่งออกหลักได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เม็ดพลาสติก เป็นต้น

จากสถานการณ์แบบนี้ การส่งออกย่อมได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวเองก็จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเช่นกัน โดยนักท่องเที่ยวรัสเซียก็ถือเป็นนักท่องเที่ยวที่เข้าไทยติดอันดับ TOP5 ซึ่งหลังเกิดเหตุการณ์ที่สายการบินไม่สามารถบินผ่านน่านฟ้าได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างไม่ต้องสงสัย ยังไม่นับรวมถึงนักท่องเที่ยวจากยุโรปที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการปิดน่านฟ้าที่ทำให้ต้องเปลี่ยนเส้นทางบิน และทำให้ต้องใช้ระยะทางที่ไกลขึ้นไปกระทบกับค่าตั๋ว เป็นต้น

 นี่คือ วิกฤตซ้อนวิกฤตที่เข้ามาในช่วงไทยกำลังเจอการระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างหนัก ซึ่งแม้ในขณะนี้จะไม่มีมาตรการล็อกดาวน์หรือปิดประเทศ แต่การฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ถือเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้แบบปกติอยู่แล้ว ยิ่งมาจาก 2 เรื่องหนักๆ ทั้งภายใน ภายนอกแบบนี้ รัฐบาล และทีมเศรษฐกิจก็ควรจะต้องวางแผนรับมือให้ดี ไม่ควรปล่อยให้มันเป็นไปตามยถากรรม.

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เดินให้สุดทำอย่างจริงจัง

ปัจจุบันพบปัญหาถังก๊าซหุงต้มในท้องตลาดเสื่อมสภาพและหมดอายุตกค้างอยู่ในระบบจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการลักลอบนำถังก๊าซหุงต้มมาเติมในสถานีบริการ LPG เป็นระยะ ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว

ดันสงกรานต์ไทยสู่เทศกาลโลก

หลังจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงมหาดไทย จับมือจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567”

เน้นเชิงรับมากกว่าเชิงรุก

ก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas) หรือก๊าซ LPG ด้วยคุณสมบัติพิเศษของมันก็คือ การที่มีสารโพรเพนและบิวเทนอยู่ในตัว ซึ่งสารสองนี้เป็นสารที่ติดไฟง่าย

เจาะลึกพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวไทย

ในช่วงที่ผ่านมาได้มีผลการวิจัยของมินเทล (Mintel) พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยหันมาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้นในการหาแรงบันดาลใจด้านการท่องเที่ยว และแบ่งปันประสบการณ์ท่องเที่ยวของตนเอง

วิกฤตเลวร้ายกว่าต้มยำกุ้ง?

ตกเป็นประเด็นอีกครั้ง สำหรับเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจของไทย เพราะล่าสุด 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรีได้มาพูดย้ำว่า ประเทศไทยตอนนี้มันยากกว่าสมัยช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะมีความซับซ้อนและยากมากกว่า และมองว่าการแก้ไขมันต้องมีการเปลี่ยน เพราะโลกมันเปลี่ยนไม่เหมือนเดิม

จับชีพจร“ท่องเที่ยวไทย”เริ่มฟื้นตัว

“ท่องเที่ยว” ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนและกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ เรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมหลักๆ ที่สร้างรายได้มหาศาลให้ประเทศตลอดช่วงที่ผ่านมา