'หมอธีระวัฒน์' ไล่เรียง 'ลองโควิด'

'หมอธีระวัฒน์' ไล่เรียงความเป็นมาของลองโควิด เผยศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ จุฬาฯ กำลังศึกษาดัชนีชี้วัด

20 ก.ค.2565 - ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “ลองโควิด” ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2020 ที่เริ่มมีการระบาดใหม่ๆ ประเทศหรือพื้นที่ที่เริ่มมีเวลาหายใจหายคอจากการทะลักทลายของผู้ป่วยหนักเข้าโรงพยาบาล ก็มีเวลาสังเกตและเจอคนที่เรียกว่าหายแล้ว นั่นก็คือออกจากโรงพยาบาลได้ ตรวจไวรัสไม่เจอว่ามีการปล่อยออกมาจากร่างกาย แต่อาการกลับไม่หายจริงและเกิดยืดยาวต่อเนื่อง หรือสงบแล้วปะทุใหม่เป็นพักๆ ทั้งนี้ ไม่จำกัดอยู่แต่เพียงว่าอาการในครั้งแรกต้องหนักมากเสมอไป แม้แต่กลุ่มที่อาการน้อยก็มีความผิดปกติทอดยาวออกไปอีก และตั้งชื่อว่าเป็นหนังยาวของโควิด หรือลองโควิด (long Covid)

รูปแบบลักษณะดังกล่าวนี้ทับซ้อนกับปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Myalgic Encephalomyelitis (ME)/Chronic fatigue syndrome (CFS) โดยลักษณะประกอบไปด้วยอาการปวดกล้ามเนื้อที่มีส่วนเกี่ยวโยงกับกระบวนการอักเสบที่เกิดขึ้นในสมองและระบบประสาทส่วนกลาง รวมทั้งมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ตลอดเวลา มีอาการเหนื่อยล้า ทำงานไม่ได้ ขาดสมาธิ มีความผิดปกติทางระบบประสาทอัตโนมัติและไม่สามารถออกกำลังได้เลย
ตามประวัติศาสตร์สามารถสืบย้อนไปได้ตั้งแต่ในปี 1934 (88ปี) ในนครลอสแอนเจลิส ปี 1948 (74ปี)ที่ไอซ์แลนด์ ปี 1955 (67 ปี) ที่ลอนดอน และในปี 1984 (38ปี) ที่เนวาดา

ในปี 1955 คุณหมอจากไอซ์แลนด์ได้เริ่มใช้เทอมหรือคำเรียก ME จากการเทียบเคียงลักษณะความผิดปกติในน้ำไขสันหลังระหว่างผู้ป่วยที่เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลรอยัลฟรีในลอนดอน และผู้ป่วยในปี 1948 ที่ไอซ์แลนด์ Akureyri โดยลักษณะอาการบ่งบอกถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมองและไขสันหลังร่วมกับมีอาการปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงและมีอ่อนแรงและมีตะคริวร่วมด้วย

และจากหลายเหตุการณ์ต่อมาจนกระทั่งในปี 1984 ถึง 1985 ที่หมู่บ้าน Incline ในรัฐเนวาดาก็เกิดลักษณะที่คล้ายกันเช่นเดียวกัน โดยทั้งหมดนี้มีอาการเริ่มต้นเป็นแบบติดเชื้อด้วยไวรัสทั้งหมด

และเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า chronic fatigue syndrome หรือ CFS ทั้งนี้ โดยเชื่อว่ากลุ่มอาการทั้งสองแบบนั้นน่าจะมีรากฐานเกี่ยวพันกับกระบวนการอักเสบในระบบประสาท

ฉบับยาวอาจมีได้สูงถึง 50% หรือถึงครึ่งหนึ่งของผู้ที่หายจากโควิดฉบับสั้นไปแล้ว และอาการที่เกิดขึ้นมีได้เป็น 100 อย่างและครอบคลุมแทบจะทุกอวัยวะของร่างกาย โดยมีตัวร่วมโดยเฉพาะความแปรปรวนทางสมอง จิตและอารมณ์ แต่ขณะเดียวกันก็มีความคล้องจองเหมือนกับ ME/CFS ที่กล่าวแต่ต้น

ทั้งนี้ โควิดเก่งกว่ารุ่นแรกๆ ตั้งแต่ปี 1934 ทั้งนี้ เพราะกระทบในคนมากมายกว่า และอาการดูเหมือนจะรุนแรงมากกว่าที่เคยปรากฏมาก่อนในรุ่นแรกๆ

จากหลักฐานของ ME/CFS ที่ได้จากรุ่นแรกๆ ซึ่งอาจจะนำมาใช้อธิบายในโควิดนั้น โดยเป็นไปได้ว่า การอักเสบที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อ เกิดขึ้นนอกสมองและระบบประสาท แต่สมองรับรู้โดยตอบโต้กับโมเลกุล ชิ้นส่วนเล็กๆของอนุภาคการอักเสบเหล่านี้ในเลือดและอาจเป็นไปได้ที่มีการส่งผ่านโมเลกุลเหล่านี้ผ่านผนังเส้นเลือดเข้าไปในสมอง ทั้งจากการนำพาเข้าไปหรือซึมผ่านเข้าสมองโดยตรงในบริเวณที่ผนังกั้นไม่แข็งแรงและนอกจากนั้นโมเลกุลของการอักเสบเหล่านี้ยังพบได้ในเส้นประสาทเวกัส หรือเส้นประสาทสมองเบอร์ 10 ที่ทอดยาวลงมายังลำไส้และสามารถส่งผ่านการอักเสบเหล่านี้ขึ้นไปจนกระทั่งถึงก้านสมองในวงจรของ NTS (nucleus tractus solitarius) ที่ควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ รวมทั้งเส้นเลือดและหัวใจ เป็นต้น และน่าจะมีผลตามติดต่อเนื่องไปถึงกระบวนการควบคุมการทำงานของฮอร์โมนต่างๆ ที่มีการควบคุมจากสมองตั้งแต่ในส่วนของ ไฮโปธาลามัส (hypothalamus) ต่อมใต้สมอง (pituitary) และต่อเนื่องมาถึงระบบควบคุมฮอร์โมนต่างๆในร่างกายจนกระทั่งถึงต่อมหมวกไต

ปรากฏการณ์โควิดฉบับยาวจะกลายเป็นภาระสำคัญของระบบสาธารณสุขของทุกประเทศที่มีการระบาดของโควิด ทั้งนี้ เนื่องจากคนที่ถูกกระทบจะมีได้ทุกอายุไม่จำกัดเพศ และเกิดจากการติดเชื้อโควิดแบบรุนแรงและไม่รุนแรง ด้วยอาการที่เกิดขึ้นจะบั่นทอนคุณภาพชีวิต ประสิทธิภาพของการทำงาน กระบวนการของความคิด แม้กระทั่งสมาธิ สติปัญญา ความจำจะถดถอย และรุนแรงถึงขนาดที่ต้องมีการปรึกษา หรือได้รับการรักษาจากแพทย์ในแทบทุกแขนง รวมกระทั่งถึงจิตแพทย์ เพราะมีความรู้สึกหดหู่ ปฏิเสธสิ่งรอบข้างจนกลายเป็นก้าวร้าว หรือมีปัญหา ทางสังคมแบบในปรากฏการณ์หลังจากที่มีภาวะเครียดอย่างรุนแรง (post traumatic stress syndrome)

ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์จุฬา กำลังทำการศึกษาหาดัชนีชี้วัด ไม่เฉพาะแต่การอักเสบที่อยู่ในเลือด แต่รวมถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นในสมองและทำให้สมองแปรปรวนและถูกทำลาย ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวง อว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอธีระวัฒน์' ประกาศลาออกจาก หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก

'นิสิตเก่าจุฬาฯ' ตามบี้ 'วิทยานิพนธ์ณัฐพล' อุทธรณ์คำสั่ง ให้จุฬาฯเปิดเผยมติสอบสวน

นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในฐานะนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก

'เทพมนตรี' เผยเหตุผู้บริหารจุฬาฯ ไม่กล้าถอดวิทยานิพนธ์-ป.เอก ของณัฐพล ใจจริง

นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก กล่าวถึงกรณีสอบสวนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก "การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)" ของนายณัฐพล ใจจริง จุฬาฯ ว่า