'นพ.ธีระ' ชี้โควิดระลอกใหม่ๆ เด็กโตติดมากกว่าเด็กเล็ก!

หมอธีระเผยผลวิจัยโควิดเด็กทั่วโลก ชี้อัตราติดเชื้อกระโดดสูงโดยเฉพาะในระลอกใหม่ เด็กโตติดมากกว่าเด็กเล็ก วัคซีน mRNA ฉีดในเด็กอายุ 5-11 ปีให้ผลดี

26 ม.ค.2566 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด 19 ประจำวันที่ 26 มกราคม 2566 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 171,902 คน ตายเพิ่ม 849 คน รวมแล้วติดไป 673,903,961 คน เสียชีวิตรวม 6,750,876 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน บราซิล และสหรัฐอเมริกา

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 80.27 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 67.02

...สถานการณ์โควิดในเด็กทั่วโลก
Naeimi R และคณะ จากอิหร่าน ได้เผยแพร่ผลการศึกษาทบทวนข้อมูลวิชาการตั้งแต่ปี 2563 ที่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 จนถึงกรกฎาคม 2565 ลงตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ eClinicalMedicine ฉบับกุมภาพันธ์ 2566 โดยมีงานวิจัย 247 ชิ้น จาก 70 ประเทศทั่วโลก พบว่า อัตราความชุกของการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กนั้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมมีอัตราติดเชื้อราว 7.3% ในระลอกแรก ได้เพิ่มขึ้นเป็น 37.6% ในระลอกที่ 5 และสูงขึ้นไปเป็น 56.6% ในระลอกที่ 6 เมื่อปีที่แล้ว

เด็กโตติดเชื้อมากกว่าเด็กเล็ก ทวีปที่มีอัตราติดเชื้อสูงได้แก่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (17.9–81.8%) และแอฟริกา (17.2–66.1%) ในขณะที่ภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกมีอัตราติดเชื้อต่ำสุดผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นถึง ความสำคัญของการที่จะช่วยกันดูแล ป้องกันเด็กๆ เพราะยังมีเด็กอีกจำนวนมากเกือบครึ่งที่ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้การพาเด็กๆ ไปรับวัคซีน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการป่วยและเสียชีวิตก็มีความจำเป็น

...อัพเดตประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี
Watanabe A และคณะ จากประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการเผยแพร่ผลการศึกษาทบทวนข้อมูลวิชาการอย่างเป็นระบบและวิเคราะห์อภิมาน ลงในวารสารกุมารแพทย์ระดับสากล JAMA Pediatrics เมื่อ 23 มกราคม 2566 โดยมีงานวิจัยทั้งหมด 17 ชิ้นทั่วโลก และทำการเปรียบเทียบผลของการฉีดวัคซีน mRNA ในเด็กอายุ 5-11 ปี ทั้งมีเด็กที่ได้รับวัคซีนไป 10,935,541 คน เปรียบเทียบกับเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีน 2,635,251 คน พบว่า การได้รับวัคซีนช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ, ป่วยนอนรพ., เสียชีวิต, รวมถึงการเกิดภาวะอักเสบหลายอวัยวะทั่วร่างกาย (MIS-C) ได้อย่างมีนัยสำคัญ

ในขณะที่อาการไม่พึงประสงค์รุนแรงจากการฉีดวัคซีนนั้น เกิดขึ้นในอัตราที่น้อยมาก ผลการศึกษานี้จึงช่วยยืนยันเรื่องประโยชน์จากการฉีดวัคซีน mRNA ในเด็กอายุ 5-11 ปี และเรื่องความปลอดภัยจากการฉีดวัคซีน การฉีดวัคซีนนั้นเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้น น่าจะทำให้คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองของเด็กๆ ได้ทราบข้อมูลวิชาการที่ถูกต้อง

...การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อซ้ำ ย่อมดีที่สุด การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
อ้างอิง
1. Naeimi R et al. SARS-CoV-2 seroprevalence in children worldwide: A systematic review and meta-analysis. eClinicalMedicine. February 2023.
2. Watanabe A et al. Assessment of Efficacy and Safety of mRNA COVID-19 Vaccines in Children Aged 5 to 11 Years: A Systematic Review and Meta-analysis. JAMA Pediatrics. 23 January 2023.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอธีระวัฒน์' แจง 5 ข้อ พูดเรื่องผลกระทบการวัคซีนโควิดทำไม ในเมื่อมันผ่านไปแล้ว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

‘หมอมนูญ’ เตือนโควิดหลังสงกรานต์เปลี่ยนไป ใครมีอาการแบบนี้รีบตรวจ ATK

อาการของโรคโควิดเปลี่ยนไป ส่วนใหญ่เป็นอาการของทางเดินหายใจส่วนบน คอ จมูก มากกว่าทางเดินหายใจส่วนล่าง หลอดลม และปอด

'นิสิตเก่าจุฬาฯ' ตามบี้ 'วิทยานิพนธ์ณัฐพล' อุทธรณ์คำสั่ง ให้จุฬาฯเปิดเผยมติสอบสวน

นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในฐานะนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก

‘หมอมนูญ’ เผยผลติดตามสถานการณ์ 5 โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ

ข้อมูลของโรงพยาบาลวิชัยยุทธที่ติดตามโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ไวรัสไข้หวัดใหญ่  ไรโนไวรัส (Rhinovirus) อาร์เอสวี (RSV) และ ฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส Human metapneumovirus (hMPV)